หัวใจ พลังที่เป็นความหมายของชีวิต 5 หลักบริหารธุรกิจจากซีอีโอที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น

TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์

 PHOTO : Global.kyocera

 

     เส้นทางชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ อาจทำงานเป็นวิศวกรไปจนเกษียณอายุ หรือพบจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตเดินไปในอีกเส้นทาง เช่นเดียวกับที่ คาซูโอะ อินาโมริ วิศวกรหนุ่ม ได้พบจุดที่เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง กลายเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นซีอีโอที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น

     หากย้อนไปตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจนกระทั่งเข้าสู่วัยทำงาน ชีวิตของอินาโมริประสบกับความท้อแท้ เจ็บปวด ผิดหวังอยู่เสมอ จนใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยความรู้สึกหม่นหมอง เขาเรียนจบในช่วงที่งานหายากเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ พอได้งานทำ ก็พบว่าบริษัทกำลังย่ำแย่ ใกล้ล้มละลายเต็มที ตอนนั้นเองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นกับชีวิต เมื่ออินาโมริเปลี่ยนทัศนคติหันมาเผชิญหน้ากับงานและตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเลวร้ายแค่ไหน ก็จะอดทนทำงานอย่างเต็มที่ เขาทุ่มเทกับการวิจัยและพัฒนาจนสังเคราะห์เซรามิคเนื้อละเอียดได้เป็นคนแรกของญี่ปุ่น และต่อมาได้ก่อตั้งบริษัท เคียวเซร่า ตอนอายุ 27 ปี

     ในวัย 52 ปี อินาโมริยังก่อตั้งบริษัทด้านโทรคมนาคม ซึ่งต่อมาคือบริษัท KDDI ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมของญี่ปุ่นด้วย ทั้งสองบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่งกลายเป็นบริษัทมหาชนระดับโลกที่ขึ้นทำเนียบ FORTUNE  500 เขาได้ก่อตั้งมูลนิธิอินาโมริ และรางวัลเกียวโต มอบรางวัลให้กับบุคคลที่สร้างนวัตกรรมสำหรับเทคโนโลยีขึ้นสูงในสาขาต่างๆ รวมทั้งศิลปะและปรัชญา เพื่อบ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ และมุ่งถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดในการบริหารธุรกิจให้กับคนรุ่นหลัง

     ปี 1997 อินาโมริในวัย 65 ปี เข้าตรวจร่างกายตามปกติ พบมะเร็งกระเพาะอาหาร หลังจากนั้นเขาขึ้นรถไฟชินคันเซนไปเกาะฮอนชู กล่าวสุนทรพจน์และดื่มเหล้ากับนักเรียนตามกำหนดการ ภายหลังการผ่าตัดและรักษาตัวจนหายดี เขาประกาศเกษียณตัวเอง และบริจาคหุ้นส่วนตัวทั้งหมดของบริษัท KDDI ให้กับพนักงาน หันมามุ่งศึกษาพุทธศาสนาโดยบวชเป็นพระ ต่อมาในปี 2010 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอให้อินาโมริซึ่งขณะนั้นอายุ 77 ปี มาช่วยฟื้นฟูกิจการสายการบินแห่งชาติ เจแปนแอร์ไลน์ หรือ JAL ที่ล้มละลาย เขาเข้ามาเป็นซีอีโอโดยขอไม่รับเงินเดือน หลังจาก 424 วัน JAL ทำกำไรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และกลับเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งในเวลาเพียงสามปี  

    ปัจจุบันอินาโมริอายุ 90 ปี แม้จะเขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม ทว่า “หัวใจ พลังที่เป็นความหมายของชีวิต” เล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาในปี 2019 ตอนที่อินาโมริกลายเป็นชายชราวัย 87 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ความคิดตกผลึกสุกงอมที่สุด และย้อนมองกลับไปทบทวนชีวิตที่ผ่านมา 80 กว่าปี กลั่นกรองประสบการณ์บนเส้นทางการเป็นผู้บริหารกว่าครึ่งศตวรรษ เรื่องสำคัญที่อินาโมริอยากบอกกับผู้คน ได้ถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว ซึ่งทั้งหมดล้วนเกี่ยวกับ “หัวใจ” สรุปออกมาเป็น 5 หลักสำคัญที่เรานำมาใช้ในชีวิตและการทำธุรกิจได้

     1. สร้างรากฐานชีวิต

     เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนเป็นสิ่งที่หัวใจของเราดึงดูดเข้ามาและสร้างขึ้น  ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างไร และจัดการด้วยจิตใจแบบไหน ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตามให้รับมือกับทุกสิ่งด้วยความรู้สึกขอบคุณ ที่บ่มเพาะมาจากความถ่อมตัว การบ่นและแสดงความไม่พอใจจะส่งผลให้สิ่งที่บ่นย้อนกลับมาหาตัวเราเอง ทั้งยังดึงดูดสถานการณ์ที่เลวร้ายให้เข้ามาหาเราด้วย

     ในช่วงวัยเด็กจนเข้าสู่วัยทำงานที่อินาโมริใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากลำบากและอุปสรรค เอาแต่ตัดพ้อโชคชะตา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ไม่ราบรื่น แต่เมื่อเขาหันมายอมรับโชคชะตา ทุ่มเทให้กับการทำงาน ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดที่มีให้กับงานที่อยู่ตรงหน้า ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทันที  

     2. มีแรงจูงใจที่ดี ทำสิ่งต่างๆ ด้วยแรงจูงใจที่มาจากจิตใจที่เห็นแก่ผู้อื่น

     ชีวิตของอินาโมริตั้งแต่เด็กจนกระทั่งวัยทำงาน ล้วนพบแต่เรื่องผิดหวัง มีเพียงเรื่องเดียวที่ทำได้อย่างราบรื่นจนน่าประหลาดใจคือ การเร่ขายถุงกระดาษ ตอนเรียนมัธยมปลาย เมื่อบ้านและกิจการโรงพิมพ์ของครอบครัวเขาถูกไฟไหม้จากการโจมตีทางอากาศระหว่างสงคราม พ่อที่เคยทำงานขยันขันแข็งกลับกลายเป็นคนหมดอาลัยตายอยาก แม่ต้องขายชุดกิโมโนหาเงินมาใช้จ่ายในบ้าน อินาโมริจึงคิดหาเงินมาช่วยจุนเจือครอบครัวโดยเสนอให้พ่อทำถุงกระดาษ เขาจะเป็นคนเอาไปขายให้เอง ดังนั้นหลังเลิกเรียนเขาจึงปั่นจักรยานที่มีตระกร้าไม้ไผ่บรรจุถุงหลายขนาด ตระเวนไปขายรอบเมือง

     หลังจากนั้นเขาก็คิดวิธีขายของตัวเองขึ้นมา โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 เขต ในหนึ่งสัปดาห์จะเร่ขายตามร้านในเขตต่างๆ ไปตามลำดับ และฝากวางที่ร้านขายส่งด้วย ไม่นานก็ขายดีจนพ่อค้าขายถุงที่มาจากเมืองอื่นถอนตัวไป อินาโมริค้นพบว่าสาเหตุที่การเร่ขายถุงกระดาษสำเร็จราบรื่น เพราะเขาทำด้วยความรู้สึก “เห็นแก่ผู้อื่น” ถือว่ามีแรงจูงใจที่ดี

     ในช่วงแรกที่เริ่มก่อตั้งบริษัทก็เช่นกัน เป้าหมายที่ตั้งไว้คือเผยแพร่เทคโนโลยีเซรามิคเนื้อละเอียดที่เขาพัฒนาขึ้นให้เป็นที่รู้จัก และสร้างผลิตภัณฑ์ จึงถือว่าเคียวเซร่าก่อตั้งขึ้นจากแรงจูงใจที่อยากทำความฝันของตัวเองในฐานะวิศวกรให้เป็นจริง แต่หลังจากก่อตั้งมา 3 ปี ก็ต้องทบทวนวิสัยทัศน์ของบริษัทใหม่ เมื่อมีพนักงานกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ปรับปรุงสวัสดิการ ขึ้นเงินเดือน เพิ่มโบนัส และคุ้มครองอนาคต ไม่อย่างนั้นจะลาออก แต่บริษัทยังไม่มีศักยภาพพอจะทำตามข้อเรียกร้องได้ทั้งหมด และหากสัญญาในสิ่งที่ทำไม่ได้ก็ถือเป็นเรื่องไม่จริงใจ

     อินาโมริจึงพาพนักงานกลุ่มนั้นกลับไปบ้านหลังคับแคบที่เขาอาศัยอยู่ในตอนนั้น แล้วจับเข่าคุยกัน สามวันติดต่อกัน ในที่สุดทุกคนก็ยอมเข้าใจ ส่วนเขาเองก็ได้ข้อสรุปว่า บริษัทต้องไม่ดำรงอยู่เพื่อทำความคิดของตัวเองให้เป็นจริง แต่ต้องคุ้มครองความเป็นอยู่ของพนักงาน จึงกำหนดพันธกิจของบริษัทว่า “ทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขทั้งกายและใจ”

     การทำเพื่อผู้อื่นคือรากฐานของความสำเร็จ ผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพหลายคนเริ่มต้นธุรกิจเพราะต้องการเงินทองและชื่อเสียง แต่ถ้านำผลประโยชน์ส่วนตน ชื่อเสียง และความปรารถนาในการสร้างผลงาน มาเป็น “แรงขับเคลื่อน” ในการบริหาร แม้ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างราบรื่นในระยะหนึ่ง ก็จะไม่สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนได้

     3. ถ้าคิดว่า “ทำได้” ก็จะทำได้จริงๆ

     ต้องเริ่มจากคิดอย่างแน่วแน่ว่า “ทำได้” และเผชิญหน้ากับอุปสรรคโดยไม่ย่อท้อหรือถอดใจ เมื่อเราก้าวเดินด้วยหัวใจที่เข้มแข็งเช่นนั้น ก็จะเริ่มมองเห็นเส้นทางได้ชัดเจนขึ้นและค้นพบเบาะแสมากมายที่นำไปสู่ความสำเร็จ

     ในช่วงแรกที่เริ่มก่อตั้ง เคียวเซร่า ยังเป็นบริษัทที่ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีผลงานและความน่าเชื่อถือ จึงถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย แต่อินาโมริก็ไม่ยอมแพ้ เขาบอกลูกน้องว่า “ตอนที่คิดว่าไม่มีทางทำได้นี่แหละ คือจุดเริ่มต้นของการทำงาน” จุดเปลี่ยนที่ทำให้เคียวเซร่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจากตอนที่ได้รับคำสั่งซื้อชิ้นส่วนจากไอบีเอ็ม ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นความยากลำบากที่ทำให้บริษัทต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี เนื่องจากมาตรฐานของไอบีเอ็มสูงเกินกว่าเทคโนโลยีที่เคียวเซร่ามีอยู่ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะยกระดับบริษัทให้ทัดเทียมระดับโลก

    อินาโมริจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่า “ต้องทำให้สำเร็จให้ได้” หลังจากทำงานอย่างเหนื่อยยาก หามรุ่งหามค่ำ จนทำตัวอย่างสินค้าได้สำเร็จ ก็ถูกไอบีเอ็มตีกลับ ระบุว่าสินค้ามีตำหนิ สีเพี้ยน ต้องแก้ไขอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่าตัวอย่างสินค้าจะผ่านเกณฑ์ของไอบีเอ็มได้ก็กินเวลาไป 7 เดือนหลังจากได้รับคำสั่งซื้อ จากนั้นก็ต้องรีบเดินหน้าผลิตสินค้าตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ส่งได้ทันตามกำหนด

     เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ต้องเชื่อว่ามีหนทางให้ไปต่ออย่างแน่นอน และก้าวไปข้าวหน้าอย่างมุ่งมั่น เคล็ดลับของอินาโมริมีเพียงข้อเดียวคือ “หัวใจที่ไม่ยอมแพ้” แม้ระหว่างทางจะพบกับความยากลำบากหรืออุปสรรคแค่ไหน ทำให้สามารถเอาชนะความยากลำบากทุกรูปแบบและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ 

     4. ยึดมั่นในความถูกต้องสำหรับมนุษย์

     เกณฑ์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหาร คือ “ความถูกต้องสำหรับมนุษย์” ได้แก่ ความซื่อสัตย์ การไม่หลอกลวงผู้อื่น และ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่ใช่พิจารณาว่าถูกต้องสำหรับบริษัทหรือสำหรับตัวเองหรือไม่ ซึ่งเป็นจริยธรรมและศีลธรรมอันเรียบง่ายที่อินาโมริได้เรียนรู้จากพ่อแม่และครูมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะไม่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหาร เขาจึงใช้หลักการนี้มาตลอด ด้วยความเชื่อมั่นว่าเมื่อมีเกณฑ์ในการตัดสินใจ อย่างน้อยก็จะไม่นำบริษัทไปสู่เส้นทางที่ผิดพลาด      

     ตอนที่รับหน้าที่ฟื้นฟู JAL บริษัทสายการบินจะมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ JAL อยู่ในกลุ่มเครือข่ายที่เล็กที่สุด มีหลายคนเสนอว่าควรย้ายไปอยู่ในเครือข่ายที่ใหญ่และให้ผลประโยชน์มากขึ้น พนักงานส่วนใหญ่ก็เห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่อินาโมริยังคงใช้หลักเกณฑ์ “อะไรคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับมนุษย์” แม้การย้ายเครือข่ายพันธมิตรน่าจะเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด แต่ลูกค้าที่เคยใช้บริการมาโดยตลอดก็จะสูญเสียสิทธิพิเศษที่ควรได้รับจากเครือข่ายพันธมิตรเดิม เมื่อชี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคิดทบทวนอีกครั้ง ด้วยการพิจารณาด้านศีลธรรมว่าเป็นเรื่องดีหรือไม่ แทนการพิจารณาด้วยหลักเศรษฐศาสตร์ว่ากำไรหรือขาดทุน เพราะสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความเฉลียวฉลาดและความรอบรู้ ยังมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งเป็นสิ่งเรียบง่ายที่เรียนรู้ได้จากศีลธรรมและจริยธรรม อินาโมริยึดถือและปฏิบัติตามเกณฑ์ในการตัดสินใจนี้มาโดยตลอด เมื่อยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องสำหรับมนุษย์ ก็ทำให้ไม่รู้สึกละอายใจ และทำให้เขาบริหารธุรกิจได้อย่างราบรื่น และไม่เคยตัดสินใจผิดพลาดในเรื่องสำคัญเลย

     5.บ่มเพาะพื้นฐานจิตใจที่งดงาม

     อินาโมริมีสูตรของชีวิตและการทำงานตามสมการ

     ผลลัพธ์ของชีวิตและการทำงาน = ทัศนคติ x ความพยายาม x ความสามารถ

     ไม่ว่าจะมีความพยายามและความสามารถมากแค่ไหน แต่ถ้าทัศนคติติดลบ ผลลัพธ์ของชีวิตและการทำงานก็จะออกมาไม่ดี ดังนั้นเราจำเป็นต้องทบทวนและดูแลจิตใจตัวเองให้ดีงามอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ชีวิตราบรื่นดี หรือตอนที่ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตคือภาพสะท้อนของใจ ถ้าเราละเลยการดูแลจิตใจ ความคิดที่ไม่ดีหรือความคิดที่ผิดก็จะผุดขึ้นมาเช่นเดียวกับการปล่อยปละละเลยสวนจนทำให้มีวัชพืชขึ้นรก  

     ใจกำหนดทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้ชีวิตในตอนนี้ด้วยจิตใจแบบไหน ในแต่ละวันถ้าเราพยายามอย่างเต็มกำลังด้วยจิตใจที่เห็นแก่ผู้อื่น โชคชะตาก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย