TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
อนุมานได้ว่าชาเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของจีนก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ถูกค้นพบในยุคจักรพรรดิเสินหนง โดยครั้งหนึ่งน้ำดื่มที่ข้าราชบริพารนำมาถวายมีสีน้ำตาลและส่งกลิ่นหอม เพราะมีใบไม้ชนิดหนึ่งตกลงไปในหม้อต้มโดยบังเอิญ เมื่อลองเสวยดูก็พบว่า น้ำต้มนั้นมีรสชาติดี อีกทั้งยังให้ความรู้สึกสดชื่น หลังจากนั้นชาก็กลายเป็นที่รู้จักและนิยมดื่มกันทั่วไปในเมืองจีนจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ทราบหรือไม่ว่านอกจากชาแล้ว จีนยังขึ้นชื่อในเรื่องกาแฟอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของการปลูกกาแฟ
ณ มณฑลยูนนาน ดินแดนอันเป็นแหล่งผลิตชา นอกจากชาผู่เอ๋อซึ่งตั้งชื่อตามจังหวัดที่ปลูกจะเป็นชาที่ได้รับความนิยมและโด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ด้วยสภาพแวดภูมิศาสตร์ที่เป็นเทือกเขาสูง สภาพอากาศและอุณหภูมิเหมาะสมจึงทำให้เกษตรกรชาวยูนนานปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าควบคู่ไปด้วย ส่งผลให้ผู่เอ๋อกลายเป็นเมืองหลวงแห่งกาแฟของจีน และเป็นแหล่งผลิตกาแฟเพื่อป้อนตลาดขนาดใหญ่ รวมถึงกำลังกรุยทางไปสู่การปลูกกาแฟสเปเชียลตี้
หลายคนอาจสงสัย จีนเริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่เมื่อไร ข้อมูลระบุว่าย้อนหลังไปเมื่อร้อยกว่าปีก่อนหรือราวศตวรรษที่ 19 มิชชั่นนารีชาวฝรั่งเศสนามว่าอันเฟรด ลีเอทาร์ดเป็นผู้นำกาแฟอาราบิก้ามายังยูนนาน ระหว่างเผยแผ่ศาสนาที่หมู่บ้านจูกูล่า ใกล้กับเมืองต้าลี่ แต่ในเวลานั้น ยังไม่เริ่มปลูกอย่างเป็นล่ำเป็นสันจนกระทั่งหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 บรรดารัฐวิสาหกิจจึงเริ่มผลิตกาแฟเพื่อป้อนความต้องการของสหภาพโซเวียต และหยุดผลิตไปในทศวรรษ 1960-1970 เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองในยุคเหมาเจ๋อตง
ปี 1988 เกิดความร่วมมือระหว่างสหประชาติ รัฐบาลท้องถิ่นยูนนาน ธนาคารโลก และบริษัทเนสเล่ที่นำไปสู่การลงทุนที่มากขึ้นในอบรมเกษตรกรเพื่อผลิตกาแฟ ด้วยราคากาแฟที่สูงขึ้นในยุค 1990 เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกษตรกรในยูนนานหันมาปลูกกาแฟเพื่อส่งขายให้บริษัทต่างชาติ เช่น เนสเล่ ประจวบกับการเข้ามาของสตาร์บัคส์ เชนคาเฟ่ชื่อดังจากอเมริกาในปี 1999 ยิ่งทำให้ตลาดกาแฟในจีนขยายกว้างขึ้นเมื่อสตาร์บัคส์ใช้วัตถุดิบเป็นเมล็ดกาแฟท้องถิ่นจากยูนนาน
ขึ้นแท่นผู้ผลิตที่น่าจับตามอง
จีนเริ่มส่งออกกาแฟครั้งแรกช่วงกลางทศวรรษ 1990 ในปริมาณ 58,000 กระสอบที่บรรจุกระสอบละ 60 กก. และในปี 2019 กาแฟจากยูนนานทั้งกาแฟที่ผลิตเชิงพาณิชย์ และกาแฟสเปเชียลตี้ถูกส่งออกไปยัง 55 ประเทศทั่วโลกรวมถึงสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในสหภาพยุโรป และในปี 2020-2021 จีนก็ไต่อันดับกลายเป็นผู้ผลิตกาแฟอาราบิก้ารายใหญ่สุดของโลกลำดับที่ 9 โดยร้อยละ 99 ของผลผลิตดังกล่าวเป็นกาแฟที่ปลูกในจังหวัดผู่เอ๋อ ทั้งนี้ เกษตรกรผู่เอ๋อสามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้ 1.8 ล้านกระสอบ (60 กก.) โดยส่งออกจำนวน 1.13 ล้านกระสอบ หรือคิดเป็นร้อยละ 62.5 ของการผลิตทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตจะเพิ่มเป็น 2 ล้านกระสอบในปีนี้
จากที่เน้นกาแฟผลิตเชิงพาณิชย์สำหรับนำไปผสมกับกาแฟจากที่อื่น ต้นทศวรรษ 2010 อุตสาหกรรมสเปเชียลตี้ก็เริ่มเติบโตเคียงบ่าเคียงไหล่กับกาแฟเชิงพาณิชย์ กระทั่งปี 2015 เป็นครั้งแรกที่จีนสามารถส่งออกกาแฟสเปเชียลตี้จากยูนนานล้อตใหญ่ได้
การจะได้มาซึ่งความเป็นกาแฟสเปเชียลตี้จะต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยสมาคมกาแฟสเปเชียลตี้แห่งอเมริกาในเรื่องกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ คุณภาพ กลิ่นและรสชาติซึ่งต้องได้ 80 คะแนนขึ้นไปจาก 100 คะแนน จากการประเมินของบริษัทกาแฟใหญ่ระดับโลก อาทิ Sucafina ในสวิตเซอร์แลนด์ และ La Colombe ในสหรัฐฯ กาแฟสเปเชียลตี้จากแหล่งปลูกในยูนนานผ่านเกณฑ์ฉลุย
ชูจุดขายกาแฟสเปเชียลตี้
หลังได้รับการรับรองว่ากาแฟสเปเชียลตี้ที่ปลูกในยูนนานได้มาตรฐาน บรรดาคาเฟ่ที่เป็นโรงคั่วขนาดเล็กในต่างประเทศก็เริ่มให้ความสนใจ เช่น คาเฟ่ Super Joy Coffee ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน หยาง เหวินป๋อ ชายหนุ่มวัย 35 ปีจากมณฑลอันฮุยผู้เป็นเจ้าของเล่าว่าตั้งแต่เปิดบริการเมื่อปี 2018 กาแฟที่ใช้ในร้านจะมาจากหลายประเทศรวมถึงกาแฟจากจีนด้วย แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขาเน้นขายกาแฟจากจีน “ที่ขายกาแฟจีนเพราะผมเป็นคนจีนจึงต้องการแนะนำผลิตภัณฑ์จากประเทศบ้านเกิดให้ลูกค้าได้ลอง ทุกคนรู้ว่าจีนขึ้นชื่อเรื่องชา แต่อยากให้รู้ด้วยว่าเรามีดีที่กาแฟเช่นกัน”
หยางเล่าอีกว่าพอแนะนำว่าเป็นกาแฟจากยูนนาน ลูกค้าส่วนใหญ่ซื้อเพราะต้องการทดสอบรสชาติ ซึ่งหลังจากนั้น ลูกค้าจำนวนมากก็กลับมาซื้อซ้ำและถามหากาแฟจากจีน ที่ร้าน Super Joy Coffee หยางจะคัดเลือกเมล็ดกาแฟที่มีรสชาติเฉพาะ และเป็นเมล็ดกาแฟที่ผลิตด้วยกระบวนการธรรมชาติโดยไม่ใช้เครื่องจักร ปัจจุบัน หยางคั่วเมล็ดกาแฟจากจีนเพื่อใช้ในร้านเป็นหลัก คิดเป็นปริมาณ 2 เท่าเมื่อเทียบกับกาแฟจากภูมิภาคอื่น
ส่วนที่อังกฤษ โรงคั่วกาแฟ Girls Who Grind Coffee เคซีย์ ลาลอนด์ หุ้นส่วนร้านเปิดเผยได้คั่วกาแฟจีนขายไปแล้วกว่า 300 กิโลกรัมโดยสั่งตรงจากไร่กาแฟในยูนนาน “เป็นกาแฟที่น่าทึ่งมาก ได้รับการตอบรับจากลูกค้าล้นหลาม หลายคนถึงกับยกให้เป็นกาแฟยูนนานเป็นกาแฟแสนโปรดของพวกเขาเลยทีเดียว” เคซีย์กล่าวว่าตอนนี้บรรดาคาเฟ่ที่จำหน่ายกาแฟสเปเชียลตี้เริ่มรู้จักกาแฟจากยูนนานแล้วและนำมาเสนอแก่ลูกค้ามากขึ้น ด้านลูกค้าเองก็สนใจไม่ใช่เพราะกาแฟจีนเป็นของใหม่ แต่เพราะชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพด้วยเช่นกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี