ทำไมตลาด Plant based Food น่าสนใจ ฟัง สุรพลฟู้ดส์ ธุรกิจอาหารแช่แข็งกว่า 45 ปี ลุยสินค้าปลอดเนื้อสัตว์

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

 

     “สุรพลฟู้ดส์” ดำเนินธุรกิจอาหารแช่แข็งและอาหารพร้อมทานมานานกว่า 45 ปี นำส่งผลิตภัณฑ์คุณภาพจากประเทศไทย ไปกระจายความอร่อยอยู่หลายประเทศทั่วโลกประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง และผลิตให้กับแบรนด์อาหารในหลายประเทศ ทำให้เห็นโอกาสของตลาดแพลนต์เบสฟู้ดที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องจึงต่อยอดความเชี่ยวชาญสู่ “WTM! WHAT THE MEAT” (วอท เดอะ มีท) ผลิตภัณฑ์ปลอดเนื้อสัตว์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าออกมาในจังหวะที่เหมาะสมที่สุดแล้ว

โอกาสใหม่รับเทรนด์สุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร

     “สุรพลฟู้ดส์” เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ติ่มซำ ของทอด อาหารทะเล และอาหารแช่แข็ง ให้บริการผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมากว่า 45 ปี โดยเป็นการส่งออกถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ไปยังตลาดทั้งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ และตลาดโลก เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มยุโรป เป็นต้น

     จากประสบการณ์ในการผลิตสินค้าให้กับลูกค้าหลายรายในต่างประเทศ ทำให้เห็นสัญญานแห่งโอกาสของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแพลนต์เบสฟู้ดที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่าง ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ จึงได้เวลาต่อยอดความเก่งและเชี่ยวชาญมาลงสนามที่ชื่อแพลนต์เบสฟู้ดเป็นครั้งแรก

     “เราตามเทรนด์ในเรื่องของ Health and Wellness มาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าเทรนด์ที่ใหญ่ที่สุดคือ การรักษาสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพจริงๆ ไม่แค่แพลนต์เบสเท่านั้น นอกจากนี้ยังเห็นแนวโน้มของคนที่เริ่มทานมังสวิรัติมากขึ้น รวมถึงกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า Flexitarian คือ การกินอาหารมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ซึ่งก็คือคนทานอาหารปกตินี่แหละ แต่บางครั้งก็จะทานอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์บ้าง อย่าง งดเนื้อสัตว์ทุกวันพระ หรือทานเจเป็นบางช่วง เป็นต้น

     "ส่วนเรื่องที่เราสนใจจริงๆ คือความมั่นคงทางอาหาร (Food security) หรือแหล่งที่มาของอาหาร (Food Supply) เนื่องจากเดิมธุรกิจเราทำซีฟู้ดเป็นหลัก ฉะนั้นเราจะเห็นซัพพลายของอาหารทะเล ที่บางช่วงขึ้นบางช่วงลง บางช่วงของขาด ที่เห็นชัดที่สุดในช่วงหลังก็คือหมู ซึ่งความมั่นคงทางอาหารคือเราต้องสามารถมีใช้ได้ตลอดโดยไม่ผันผวนมากนักจนกระทบกับธุรกิจ หรือแม้แต่เรื่องของราคาที่ผันผวน ทั้งหมดเป็นเหตุผลให้เราในฐานะผู้ผลิตอาหารต้องมองหาโปรตีนอื่นหรือวัตถุดิบอื่นที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์ซึ่งยั่งยืนกว่ามาใช้ และแพลนต์เบสก็เป็นหนึ่งในนั้น”

     อรรถพล ระตะนะอาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท สุรพลไฟน์เนสท์ จำกัด ในเครือของบริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) บอกจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ตลาดแพลนต์เบสของสุรพลฟู้ดส์

ต่อยอดจากความเก่งและเชี่ยวชาญ

     “แพลนต์เบส” อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับ สุรพลฟู้ดส์ แต่ก็ไม่ได้ห่างไกลจากสิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญหรือถนัด พูดกันตามตรง นี่เป็นการต่อยอดธุรกิจที่มาจากฐานของความเชี่ยวชาญในอดีตล้วนๆ

     “เมื่อทีม R&D เริ่มวิจัย เราก็มาคุยกันว่าจะต้องทำแพลนต์เบสอย่างไร แล้วจุดเด่นของเราเป็นแบบไหน สิ่งที่รู้คือต้องใช้โนว์ฮาวและฟาซิลิตี้ (Facility) ที่เรามี แล้วก็จุดเด่นที่เรามี เรารู้ว่าเราเก่งในเรื่องการทำพวกของกินเล่นและอาหารเรียกน้ำย่อย (Snack and appetizer) อย่างเช่น ซาลาเปา ขนมจีบ ฮะเก๋า ทอดมัน ที่เป็นชิ้นๆ นี่คือสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ ถนัดและทำได้ค่อนข้างดี จากนั้นเราก็ต่อยอดทำสิ่งพวกนี้ให้เป็นแพลนต์เบส โดยงานของ R&D คือต้องไปดูว่าจะปรับอย่างไร ทำกลิ่น สี รสชาติ เนื้อสัมผัสอย่างไร

     "โดยของเราจะต่างจากของแพลนต์เบสเจ้าอื่น  คือ เขาอาจเน้นเป็นเนื้อแพลนต์เบสที่นำไปปรุงต่อ แต่ของเราจะเอามาประยุกต์ในแต่ละตัวสินค้า ซึ่งไม่สามารถใช้แบบเดียวกันได้ในทุกๆ เมนู อย่าง บางอันใช้นึ่ง บางอันใช้ทอด หรือทอดมันก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นในการพัฒนาสินค้าแต่ละตัวจะแตกต่างกัน และเราไม่ได้บอกว่าแพลนต์เบสของเราเหมือนเนื้อสัตว์อะไร อย่างบางคนอาจบอกไปเลยว่า ขนมจีบกุ้งแพลนต์เบส หรือเนื้อไก่จากพืช อะไรอย่างนี้ แต่ของเรา เราตั้งใจบอกว่า มันคือพืชนะ แต่ยังมีความอร่อยอยู่” เขาบอกจุดต่าง

     ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากความถนัดของตัวเอง นำมาสู่แบรนด์น้องใหม่ที่ชื่อ “WTM! WHAT THE MEAT” (วอท เดอะ มีท) หรือตัวย่อ WTM! ประเดิมด้วย 4 เมนูความอร่อย 1.SHUMAI ขนมจีบจากพืช 2.BBQ BUN ซาลาเปาไส้บาร์บีคิวจากพืช 3.KATSU คัตสึจากพืช และ 4.GYOZA เกี๊ยวซ่าจากพืช ซึ่งจะเปิดตัวครั้งแรกใน งาน PLANT BASED Festival 2022 มหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ โดยราคาขายที่เขาบอกว่าใกล้เคียงกับเมนูปกติ เพราะอยากให้คนกินเข้าถึงได้ และถ้าขายแพงตลาดก็จะเล็กเกินไป ไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายของพวกเขา โดยการทำตลาดในประเทศไทยจะเริ่มจากช่องทางรีเทล อย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ก่อนไปสู่กลุ่มฟู้ดเซอร์วิส อาทิ เชนร้านอาหาร โรงแรม เคเทอริ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักและความถนัดของพวกเขา รวมถึงการทำตลาดผ่านร้าน "Stupid Fries ทอดโง่ๆ" แฟรนไชส์เกี๊ยวซ่าราคาย่อมเยาในเครือสุรพลฟู้ดส์ อีกด้วย

เติบโตตามเทรนด์ แข่งกับตัวเองสำคัญที่สุด

     สุรพลฟู้ดส์ ใช้จุดแข็งของตัวเองมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแพลนต์เบส โดยผลิตจากโรงงานมาตรฐานส่งออก การเลือกวัตถุดิบที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาของอาหาร (Food Traceability) ตลอดจนการคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานของบริษัท และมิติอื่นๆ ที่ใส่ใจในทุกขั้นตอน เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีมาตรฐานการผลิตระดับสากล

     แม้วันนี้ตลาดแพลนต์เบสจะเต็มไปด้วยคู่แข่งขัน ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก แม้แต่ Startup น้องใหม่ก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่พวกเขาบอกว่า ยังคงเน้นเติบโตแบบออร์แกนิก และแข่งกับตัวเองสำคัญที่สุด

     “สำหรับการทำธุรกิจของสุรพลฟู้ดส์ เราไม่เคยคิดว่าต้องแข่งกับใคร เพราะมองว่าตลาดยังใหญ่มากทั้งกลุ่มอาหารแช่แข็ง และแพลนต์เบส เราเชื่อว่า ยิ่งคนเข้ามาเยอะก็ยิ่งช่วยกระตุ้นตลาดให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งพอตลาดใหญ่ขึ้นทุกคนก็จะได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นต้องแข่งกันขนาดนั้น ผมมองว่าตลาดแพลนต์เบสยังมีอยู่เยอะมาก ยังมีช่องทางอีกเยอะที่เราไปได้ไม่หมด ฉะนั้นการแข่งขันตอนนี้จริงๆ คือเราแข่งกับตัวเราเองมากกว่า เพราะว่าเราทำในสิ่งที่เราถนัด โดยไม่ได้ดูว่าคนอื่นเขาทำอะไรกันอยู่ แต่มองว่าผู้บริโภคทานอะไร แล้วเริ่มจากตรงนั้น

     "บริษัทเราโตแบบออร์แกนิก คือโตช้าๆ แต่มั่นคง ไม่ใช่อะไรที่มาเร็วไปเร็ว หวือหวา หรือเป็นแฟชั่นอะไรแบบนั้น เพราะบางทีมันไม่ได้ยั่งยืน ซึ่งไม่เฉพาะการออกสินค้าเท่านั้น แต่การทำงานในทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น หลังบ้าน หน้าบ้าน การผลิต ทีมขาย ทีมซัพพอร์ต ตลอดจนการดูแลลูกค้า ทุกอย่างเราต้องพร้อมจริงๆ เราช้าแต่ชัวร์ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ พัฒนา อย่างแพลนต์เบส บางคนอาจมองว่าทำไมสุรพลฟู้ดส์ถึงมาช้ากว่าคนอื่น มาตอนนี้ในตลาดก็น่าจะมีเป็นสิบแบรนด์แล้ว จริงๆ เราเริ่มมานานแต่ยังไม่ได้เอาผลิตภัณฑ์ออกมา เพราะใช้เวลาในการพัฒนาในทุกๆ มิติ จนดูแล้วว่าเหมาะสมที่สุด บางครั้งเริ่มเร็วไปก็ไม่ดี เริ่มช้าไปก็ไม่ดี แต่ผมมองว่าตอนนี้ก็ยังไม่ช้าไป เพราะถ้ามองในมุมผู้เล่นอาจจะเห็นว่าเยอะ ใช่ แต่ถ้ามองในมุมตลาด ผมว่ามันยังไม่เริ่มต้นด้วยซ้ำ ถ้าเทียบกับต่างประเทศเรายังเล็กมากๆ เพราะฉะนั้นนี่จึงยังเป็นโอกาส” เขาบอก

     อรรถพล สะท้อนความคิดให้ฟังว่า แพลนต์เบสไทยยังมีโอกาสเติบโต และในอนาคจะมีผลิตภัณฑ์กลุ่มใหม่ๆ ออกมาอีกเยอะมาก โดยจะอยู่แบบยั่งยืนไม่ได้เป็นแค่กระแสแฟชั่น คนจะกลับมาบริโภคแพลนต์เบสเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เพราะความเชื่อ หรือเรื่องการรักษ์โลกเท่านั้น แต่เป็นการตอบโจทย์เรื่องโปรตีนทางเลือก สำหรับกลุ่มที่รักสุขภาพซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

     ใครอยากสัมผัสรสชาติความอร่อยในรูปแบบของแพลนต์เบส แบรนด์ “WTM! WHAT THE MEAT” (วอท เดอะ มีท) ที่เกิดจากประสบการณ์กว่า 45 ปี ของ สุรพลฟู้ดส์ ไปพบกับพวกเขาได้ที่งาน PLANT BASED Festival 2022" มหกรรมอาหารแห่งอนาคต ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 กันยายนนี้ ณ สามย่านมิตรทาวน์ ฮอลล์ ชั้น 5

สุรพลฟู้ดส์

เว็บไซต์ :  www.surapon.com

www.suraponfoodsonline.com

FB: suraponfoods

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย