ไอเดียเพิ่มยอดขายจาก 150 เป็น 300 ชามต่อวัน จากทายาทร้านก๋วยเตี๋ยวเมืองหนองคาย

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Siemnoodles

 

     การเพิ่มยอดขาย หรือเพิ่มรายได้ บางครั้งอาจทำได้ง่ายๆ แค่ลองปรับกระบวนการบริหารจัดการนิดหน่อย ก็สามารถเพิ่มยอดขายได้เป็นเท่าตัว เหมือนกับ “เซี๊ยม” ร้านก๋วยเตี๋ยวในตัวเมืองหนองคายที่เปิดขายมากว่า 40 ปี ที่วันนี้ได้ทายาทเข้ามาช่วยบริหารจัดการระบบหลังบ้านให้ ทำให้จากยอดขาย 150 ชามต่อวัน สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 300 ชามต่อวันได้ อยากรู้ทำได้ยังไงไปดูกัน

หั่นหมูแดง 10 ก.ก 3 ชั่วโมง ให้เหลือครึ่งชั่วโมง

      กมลฉัตร เตียวศิริชัยสกุล หรือ อีฟ หนึ่งในทายาทร้านเซี๊ยมที่เข้ามาช่วยพัฒนาปรับปรุงระบบหลังบ้านของร้าน ได้ยกตัวอย่างการเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงร้านให้ฟัง 1 – 2 เรื่อง เริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่

     โดยก่อนจะเล่าให้ฟัง เธอเท้าความให้ฟังก่อนว่าตัวเธอเองนั้นกลับมาช่วยกิจการร้านก๋วยเตี๋ยวของครอบครัว ซึ่งเป็นของอาโกว (ป้า) และอาแป๊ะ (ลุง) ได้ประมาณ 4 ปีที่แล้ว โดยรับอาสาเข้ามาช่วยดูแลระบบหลังบ้านให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่พี่ชาย ธนกร เตียวศิริชัยสกุล หรือ โอ๊ต เข้ามาช่วยดูแลด้านการสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ธุรกิจ โดยตั้งแต่เล็กได้เห็นอาโกวอาแป๊ะทำงานหนักมาโดยตลอด จึงคิดไว้ว่าวันหนึ่งหากมีโอกาสก็อยากเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้กับท่านทั้งสอง ตั้งแต่เลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เธอจึงเลือกเรียนสาขาการจัดการธุรกิจอาหารโดยตรง ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า เพราะอยากได้โนฮาวนำมาใช้จัดการธุรกิจ

     “อาโกวกับอาแป๊ะเป็นคนจีน จึงมีความเชื่อว่าชีวิตต้องอดทน ต้องทำงานหนัก ดังนั้นอะไรที่เคยใช้แรง ก็จะยังคงทำอยู่อย่างนั้น เพราะเขามองไม่ออกว่าถ้าไม่ทำแบบเดิม แล้วจะทำวิธีไหนได้อีก สิ่งที่เราทำได้ ก็คือ ลองเริ่มเปลี่ยนจากจุดเล็กๆ ให้เห็นก่อน เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เชื่อใจ

     “ยกตัวอย่างเช่น การทำหมูแดง ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำก๋วยเตี๋ยวของเรา จากเดิมหลังจากเลิกขายเสร็จ อาแป๊ะจะต้องรีบกลับบ้านไปต้มหมูแดงประมาณ 10 กิโลกรัม และยืนซอยทีละชิ้นๆ ใช้เวลา 3 - 4 ชั่วโมง ถึงจะเสร็จ ทั้งที่เป็นงานแค่อย่างเดียว เราเลยลองแนะนำว่าว่ามันมีเครื่องช่วยทุ่นแรงเป็นเครื่องสไลด์นะ ลองซื้อมาใช้ไหม ตอนแรกเขาก็ไม่เชื่อว่าจะเอามาใช้กับหมูต้มได้ เพราะคิดว่าเหมาะกับทำหมูกะทะหรือชาบูที่เป็นหมูดิบมากกว่า ตอนนั้นเราเลยลองไปซื้อมาใช้เลย ปรากฏว่าจากหมูสิบโล กลับหั่นเสร็จได้ภายในเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง ซึ่งต่างจากวิธีเดิมที่ทำหลายเท่าตัว ดังนั้นจึงต้องเริ่มทำจากจุดเล็กๆ ให้เห็นก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถช่วยให้เขาสะดวกสบายขึ้นได้ยังไง เพราะตอนหลังก็เริ่มมีลูกค้าจากแอพเดลิเวอรีเข้ามาด้วย” อีฟเล่าตัวอย่างเรื่องแรกให้ฟัง

เริ่มเปลี่ยนจากเรื่องเล็กๆ ไปสู่เรื่องใหญ่

     โดยจากทดลองเริ่มเปลี่ยนจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จนเมื่อได้รับความไว้วางใจมากขึ้น อีฟจึงเริ่มเจรจาเรื่องที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของธุรกิจ ซึ่งก็คือ การย้ายทำเลที่ตั้งร้านไปที่ใหม่ที่สะดวกและใหญ่ขึ้น เพื่อการบริหารจัดการธุรกิจอย่างลงตัวมากขึ้น

     “ด้วยความที่ร้านเดิมของเรามีพื้นที่ค่อนข้างเล็กและจำกัด เพียงพอที่จะเปิดขายและให้ลูกค้าเข้ามานั่งรับประทานได้แค่ 4 -5 โต๊ะเท่านั้น พอขายเสร็จทั้งอาโกวและอาแป๊ะก็ต้องขนของกลับเพื่อไปเตรียมวัตถุดิบที่บ้าน พอเช้าวันถัดไปก็ต้องยกกลับมาขายใหม่ เป็นแบบนี้อยู่ซ้ำๆ ซึ่งอาแป๊ะจะเป็นคนคอยยกขึ้นยกลง ดังนั้นเขาจะเหนื่อยมาก ดังนั้นเราจึงเสนออะไรที่ค่อนข้างจะเป็นไปไม่ได้ คือ ให้เขาย้ายทำเล หรือพูดง่ายๆ คือ ย้ายร้านไปตั้งที่ใหม่ เพื่อที่จะได้สามารถขายและเตรียมของได้ในที่เดียว ไม่ต้องยกไปยกมา และจะได้จัดตกแต่งร้านได้มากขึ้นด้วย เพราะตอนพี่ชายก็ช่วยดูเรื่องการสร้างแบรนด์ และปรับภาพลักษณ์ร้านให้ด้วย

     “ตอนแรกอาโกวและอาแป๊ะ ก็กังวลว่าแล้วลูกค้าเก่าที่เคยกินมานานจะหายไปได้ ถ้าเราย้ายร้าน และช่วงนั้นเป็นช่วงที่โควิดเริ่มระบาดด้วย เราจะขายได้เท่าเดิมไหม จะแบกรับค่าเช่าไหวหรือเปล่า เราก็พยายามอธิบายเหตุผลให้เขาฟังว่า การที่เราย้ายมาร้านที่ใหญ่ขึ้นมันช่วยลดงาน ลดเวลา และการใช้แรงให้เขาได้มากแค่ไหน เขาจะทำงานได้สบายขึ้น รวมถึงอาจมีไอเดียใหม่ๆ มาต่อยอดหารายได้เพิ่มขึ้นด้วยก็ได้ เช่น การเพิ่มเมนูใหม่ๆ เพิ่มช่องทางการขาย เพราะร้านใหญ่ขึ้น จึงสามารถทำอะไรได้เยอะขึ้น และจริงๆ ก็ห่างจากร้านเก่าไม่เกิน 500 เมตรเอง จนในที่สุดก็ยอม เราย้ายไปร้านใหม่กันเมื่อปลายปีที่แล้ว” อีฟเล่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของธุรกิจให้ฟัง

     จากการย้ายร้านไปยังที่ใหม่ ทำให้สามารถขยายลูกค้าเข้าร้านได้มากขึ้น จาก 4 - 5 โต๊ะ รองรับลูกค้าได้พร้อมกันเต็มที่ คือ 20 คน กลับเพิ่มเป็น 7 โต๊ะ รองรับลูกค้าได้กว่า 30 คน บวกกับการสร้างแบรนด์และจัดแต่งร้านใหม่กับพี่ชายที่มีการคุมธีมและสร้างแบรนด์มากขึ้น จึงทำให้บางช่วงโต๊ะไม่พอนั่ง ลูกค้าต้องยืนรอต่อคิว เพิ่มยอดขายจากร้านเดิม 100 – 150 ชามต่อวัน เป็น 300 ชามต่อวันได้ในที่สุด

ด้วยรักและผูกพัน

     สำหรับทายาทธุรกิจบางคนแล้ว การต้องมารับช่วงต่อกิจการที่ตัวเองไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มอาจกลายเป็นเรื่องลำบากใจ บางครั้งอาจถึงขั้นรู้สึกว่าโดนบังคับ แต่สำหรับอีฟที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นว่าอยากเข้ามาช่วยปรับปรุงธุรกิจของครอบครัว เธอมีความคิดเห็นอย่างไร

     “ตั้งแต่แรกเราเหมือนคนรู้ตัวเอง คือ รู้อยู่แล้วว่าอยากทำธุรกิจ อยากเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งก็ไม่รู้หรอกว่าจะทำอะไรดี  จนมานั่งทบทวนตัวเอง โดยรู้แค่ว่าการจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีได้ ต้องรู้จักธุรกิจได้ดีที่สุด โดยเราก็คลุกคลีกับร้านบะหมี่นี้มานานตั้งแต่เด็กๆ ได้ซึมซับอะไรมาเยอะ เลยมองว่าถ้าอย่างนั้น นี่ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของเรา โดยไม่ได้มีใครมาบังคับ แต่เรามองว่าเป็นต้นทุนที่ดีที่เรามีอยู่แล้ว

     “ซึ่งถ้าจะให้แนะนำทายาทคนอื่นๆ ว่าต้องทำยังไง เราคงแนะนำไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีปัจจัยไม่เหมือนกัน สิ่งที่บอกได้ คือ ขอให้เขารู้จักตัวเองให้ดีที่สุด และเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรัก โดยจะสานต่อ หรือไม่สานต่อก็ได้ ควรคุยกับครอบครัวให้เข้าใจ เพราะการทำธุรกิจมันควรเริ่มมาจากความรัก ความสนุกที่ได้ทำมากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วทุกธุรกิจย่อมเจอกับปัญหา แต่ด้วยความรัก ความสนุกที่เรามี จะทำให้เราสามารถผ่านมันไปได้” อีฟฝากเอาไว้

     สำหรับเธอแล้ว เซี๊ยม มีความหมายอย่างไร

     “เซี๊ยม คือ ครอบครัว คือ ความผูกพัน ตั้งแต่เด็กๆ จำได้ว่าเกือบทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทุกปิดเทอม เราจะไปช่วยอาโกวอาแป๊ะขายก๋วยเตี๋ยวที่ร้าน ช่วยเสิร์ฟลูกค้า ช่วยเตรียมของบ้าง เพราะทั้งอาโกวอาแป๊ะไม่มีลูก เวลามีอะไรเขาก็จะซัพพอตเราทุกอย่าง อยากกินขนมอะไร อยากซื้ออะไร ก็จะหามาให้ตลอด เลยกลายเป็นความผูกพัน เป็นครอบครัว”

     ในวันนี้แม้เธอต้องสูญเสียบุคคลที่รักอย่างอาแป๊ะ ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของร้านไป แต่เธอก็ได้ทำหน้าที่และพิสูจน์ตัวเองให้เห็นแล้ว

     “พี่ชายเคยพูดไว้ว่า ดอกไม้จะผลิบานเมื่อถึงเวลา เราเองก็ต้องอดทนรอ และพิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นเหมือนกัน และวันนี้เราก็ได้ทำให้เห็นแล้ว” อีฟกล่าวทิ้งท้าย

เซี๊ยม

FB : Siemnoodles

Tel. 088 562 0407

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย