ในการทำธุรกิจสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ เรื่องภาษี เพราะว่าต้องจ่ายทุกปี ซึ่งการจ่ายภาษีทำให้ค่าใช่จ่ายที่เพิ่มขึ้น วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูว่าค่าใช่จ่ายอะไรบ้างที่สามารถนำเอามาลดหย่อนภาษีได้
1. ค่าจดทะเบียนบริษัท ค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชี
เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบ ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบฯ ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี เป็นเวลา 5 รอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
- สำหรับบริษัทที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
- สำหรับบริษัทที่มีกำไรสุทธิเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 ล้านบาท อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็นร้อยละ 15
- สำหรับบริษัทที่มีกำไรสุทธิเกิน 3,000,000 ขึ้นไป อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็นร้อยละ 20
2. ค่าระบบและอุปกรณ์ที่สนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ธุรกิจ SME ที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายที่ซื้อหรือจ้างทำระบบและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาหักออกจากรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามที่จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในแต่ละรอบฯ ปี 2564 และ 2565 โดยสามารถใช้สิทธิในแต่ละรอบ และต้องไม่เป็นโปรแกรมประเภทเดียวกัน ซึ่งสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า
3. ค่าเสื่อมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์
- หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้รับทรัพย์สินมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน
- ส่วนมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือ ให้หักภายใน 3 รอบฯ นับตั้งวันที่ได้ทรัพย์สินมา
4. ค่าเสื่อมอาคาร โรงงาน
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีแรงงานไม่เกิด 200 คนสามารถลดหย่อนภาษีค่าเสื่อมอาคารโรงงานได้ดังนี้
- หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้รับทรัพย์สินมาในอัตราร้อยละ 25 ของมูลค่าต้นทุน
- มูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือ ให้หักในแต่ละรอบฯ ไม่เกินร้อยละ 5 นับตั้งแต่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
5. ค่าเสื่อมเครื่องจักร และอุปกรณ์ของเครื่องจักร
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีแรงงานไม่เกิด 200 คนสามารถลดหย่อนภาษีค่าเสื่อมอาคารโรงงานได้ดังนี้
- หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้รับทรัพย์สินมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน
- มูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือ ให้หักในแต่ละรอบฯ ไม่เกินร้อยละ 20 นับตั้งแต่ได้รับทรัพย์สินนั้นมา
6. ค่าจ้างงานผู้สูงอายุ
ธุรกิจ SME ใดที่จ้างผู้สูงอายุมาทำงานในบริษัทสามารถเอาค่าจ้างผู้สูงอายุมาเป็นรายจ่ายของนิติบุคคลได้ ซึ่งสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่พนักงานผู้สูงอายุต้องมีเงื่อนไขดังนี้
- มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- เป็นลูกจ้างบริษัทอยู่ก่อนแล้วหรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
- ค่าจ้างจะต้องไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
- มีการจ้างงานผู้สูงอายุไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด
- ผู้สูงอายุต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จ้างหรือบริษัทในเครือ
7. ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน
ธุรกิจ SME ที่ส่งพนักงานไปฝึกอบรม เพื่อเป็นการส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
กรณีส่งพนักงานเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม
- ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเช่น ค่าเล่าเรียน หรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เช่น ค่าลงทะเบียน รวมถึงค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมเรียกเก็บจากบริษัท
- มีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรม
- กำหนดเงื่อนไขให้เข้าทำงานหลังศึกษาหรือฝึกอบรมเสร็จ
- จัดทำรายงานหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าว
กรณีฝึกอบรมให้ลูกจ้างของตนเอง
- เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาแรงงานหรือฝีมือของลูกจ้าง ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน และค่าใช้จ่ายเป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
- ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการ
- ต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างเพื่อเป็นหลักฐานการทำงาน
- กำหนดเงื่อนไขให้เข้าทำงาน
- อุปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกอบรมต้องกำหนดขนาดและคุณสมบัติ เพื่อมิให้ปะปนกับที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติของบริษัท
8. ค่าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ธุรกิจ SME ที่ต้องการใชสิทธิลดหย่นภาษีรายจ่ายที่จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ต้องยื่นโครงการต่อ สวทช. เพื่อตรวจสอบและรับรอง และสามารถนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
9. เงินบริจาค
ธุรกิจ SME ที่บริจาคเงินให้กับองค์กร มูลนิธิ หรือที่อื่น ๆ สามารถเอามาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่มีเงื่อนไขดังนี้
- บริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำมาหักรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเงินหรือมูลค่าที่บริจาค แต่ต้องไม่เกิน 2 % ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
- บริจาคให้กับสถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐ, เอกชน และสถาบันอุดมศึกษาสามารถนำมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล
- บริจาคให้กับกองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค เมื่อรวมกับรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
และนี่คือ 9 ค่าใช้จ่ายที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจจ่ายเงินค่าภาษีที่ลดน้อยลงจากเดิม
ที่มา : https://www.rd.go.th/47331.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี