ทายาทบริษัทยา 70 ปี ลุยธุรกิจกัญชงครบวงจร พร้อมสร้างกัญชงสายพันธุ์ไทย เหมาะกับผลิตเวชสำอาง

 

      หลังจากรัฐบาลไทยเปิดไฟเขียวให้ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่าง “กัญชา-กัญชง” ทำให้หลายภาคส่วนตื่นตัว มีหลายองค์กรที่เข้ามาลงสนามในพืชเศรษฐกิจชนิดนี้

     หนึ่งในนั้นคือทายาทของบริษัทผลิตยากว่า 70 ปีที่รู้จักมักคุ้นกันในนามโทนาฟ นอกจากจะสนใจพืชเศรษฐกิจตัวนี้เป็นพิเศษและมีความคุ้นเคยในการใช้สาร CBD รักษาอาการซึมเศร้า และอยากออกมาสร้างความท้าทายใหม่ๆ จึงได้ร่วมลงสนามการค้านี้ในนาม บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด เพื่อช่วงชิงตลาด CBD จากกัญชงทั่วโลก คาดการณ์ว่าการเติบโตของ ในอีก 5 ปี หรือราวปี 2027 จะมีมูลค่าสูงถึง 1.86 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ เป็นข้อมูลจาก www.theshelbyreport.com

จากความสนใจ ‘กัญชง’ สู่การจัดตั้งบริษัท

     ข่าวการที่ภาครัฐของไทยประกาศให้เริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องกัญชา-กัญชง ในปี พ.ศ. 2562  ในขณะนั้น ยิ่งยศ จารุบุษปายน มีความสนใจเรื่องกัญชง ประกอบกับภูมิหลังของครอบครัว ทำกิจการทางด้านฟาร์มาซูติคอล (Pharmaceuticals) ดำเนินกิจการผลิตยากว่า 70 ปี ที่รู้จักกันดีคือยาโทนาฟ บวกกับต้องการออกมาหาความท้าทายใหม่ๆ จึงได้ร่วมมือกับ เฉลิม เทร็ลล์ มีประสบการณ์การทำธุรกิจด้านการเกษตร (Agriculture) และทั้งสองมีความคิดเห็นตรงกันว่า สาร CBD ของกัญชง ให้ประโยชน์ได้หลายอย่างมาก จึงตัดสินใจร่วมกันก่อตั้งบริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด ขึ้นมาในเดือนมกราคม 2564

     ยิ่งยศ จารุบุษปายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฯ เปิดเผยว่า จากการศึกษากัญชงมาตั้งแต่ปี 2019 พบแนวโน้มการเติบโตของตลาดกัญชงโลกรวมถึงประเทศไทย ที่มีโอกาสไปได้ไกลในอนาคตอย่างชัดเจน โดยปัจจัยที่ไทยลีฟเล็งเห็นคือ

     1. สารสกัด CBD ของกัญชงพัฒนาใช้งานได้หลายด้าน มีประสิทธิภาพและมีคุณประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่ม Health Care & Wellness เช่น การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในไทย และอาการนอนไม่หลับโรคยอดฮิตคนไทย

     2. หลายๆ ประเทศมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจนจากภาครัฐทั้งฝั่งอเมริกาเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝั่งอเมริกาใต้บางส่วน ฝั่งยุโรป และฝั่งออสเตรเลีย ซึ่งประเทศเหล่านี้เล็งเห็นประสิทธิภาพการใช้งานในวงการแพทย์ รวมถึงการนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารเสพติด

     3. โอกาสของไทยในระดับมหภาค ซึ่งปัจจุบันต่างประเทศ รวมถึงประเทศในฝั่งเอเชียกำลังจับตามองประเทศไทยเนื่องจากไทยเปิดตลาดกัญชงเสรีมาแล้วร่วมปี

พัฒนาสายพันธุ์กัญชงสัญชาติไทย

     หนึ่งในเป้าหมายของ บริษัท ไทย ลีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด คือการพัฒนากัญชงสัญชาติไทย โดยบริษัทได้มีการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ซึ่งเป็น TOP 3 มหาวิทยาลัยของอเมริกาที่มีการวิจัยสายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์กัญชงมากว่า 30 ปี เพื่อพัฒนาสายพันธุ์และเมล็ดพันธุ์กัญชงให้มีความโดดเด่นทั้งด้วยความเหมาะสมกับสภาพอากาศในเมืองไทย การยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ไทยที่เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้

     ยิ่งยศ อธิบายเพิ่มว่าเมล็ดพันธุ์กัญชงที่ไทยลีฟร่วมพัฒนาและนำเข้าจะมีความโดดเด่นด้วยค่าสาร CBD (Cannabidiol) ที่สูงมาก อยู่ที่ร้อยละ 25-26 ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะเวลาที่ยาวนาน แตกต่างจากการปลูกกัญชงสายพันธุ์ของประเทศไทย เช่นที่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก จังหวัดสกลนคร จังหวัดเชียงราย ซึ่งจะให้ค่าสาร CBD ที่ต่ำอยู่ที่ร้อยละ 4 ทำให้ส่วนใหญ่เป็นกัญชงที่ให้พวกเส้นใยเหมาะในการไปทำเครื่องนุ่งห่มมากกว่าใช้เพื่อทางการแพทย์

     “นอกจากนี้มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ยังส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำการร่วมวิจัยกับไทยลีฟ ซึ่งในอนาคต ไทยลีฟ ตั้งใจจะเป็นผู้พัฒนาสายพันธุ์กัญชงสัญชาติไทยที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ พร้อมจดทะเบียนถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง”

ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม

     ไม่เพียงแต่นำเข้าเมล็ดพันธ์ บริษัทยังมีไร่ที่นครนายกเพื่อปลูกกัญชง รวมถึงมีหน่วยงานวิจัยเรียกได้ว่าผลิตแบบครบวงจรแล้ว บริษัทยังมีแผนที่จะต่อยอดเตรียมผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มแรกในปี 2023 ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มอาหารเสริม และกลุ่มเวชสำอาง รวมถึงการผลิตและจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งปัจจุบันมีสูตรยาที่มีกัญชงเป็นสารประกอบราว 40 ชนิด ทั้งนี้ ได้วางเป้าส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ที่ร้อยละ 10 พร้อมขยายสู่ผู้นำของตลาดฟาร์มาซูติคอลที่มีกัญชงเป็นส่วนประกอบของเอเชียในอนาคต 

     ยิ่งยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีสูตรยาที่มีกัญชงเป็นสารประกอบราว 40 ชนิด โดยเฉพาะการช่วยรักษาโรคยอดฮิตของคนไทย ได้แก่ โรคนอนไม่หลับ โรคพาร์กินสัน อาการปวดข้อเข่า โดยตามข้อมูลวิจัยพบว่าประชากรไทยร้อยละ 30 หรือกว่า 20 ล้านคน กำลังเผชิญกับโรคนอนไม่หลับซึ่งมีทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว มีสาเหตุคือความเครียดทั้งจากการทำงาน ความกดดันสูง และกรณีที่เครียดมากอาจส่งผลเป็นโรคแพนิค ออฟฟิศซินโดรม และอื่นๆ ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถรักษา หรือบรรเทาอาการได้ด้วยสารสกัด CBD เนื่องจากมีสารที่จะเข้ามาช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย สร้างสมาธิมากขึ้น และไม่ทำให้มึนเมา

     “ในประเทศไทยปีแรกคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ราว 3,800 – 7,200 ล้านบาท ยิ่งหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้อง ชี้แจงถึงสิ่งที่ทำได้ ทำไม่ได้ หรือชี้ให้เห็นข้อดีของกัญชงแก่ภาคประชาชน จะยิ่งช่วยยกระดับให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตได้รวดเร็วและเชื่อว่าไปได้ไกลกว่ากัญชาแน่นอน นอกจากนี้ ในปี 2566 มั่นใจว่าคนไทยจะเห็นภาพคุณประโยชน์ของกัญชงที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในภาพการแข่งขันและการลงทุนจะเห็นโอกาสทางธุรกิจกัญชงในตลาดอาหารเสริม และตลาดเฮลธ์แคร์ที่ชัดเจนมาก ซึ่งประเทศไทยตอนนี้เป็น Medical Hub ของโลกและเอเชีย มีการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ มีอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้า และเชื่อว่าจะได้เห็นการแข่งขันจากธุรกิจต่างๆ ที่เข้ามาในตลาดนี้อย่างคึกคักแน่นอน” ยิ่งยศ กล่าวทิ้งท้าย

ความแตกต่างลักษณะทางกายภาพ กัญชา-กัญชง

     กัญชา (Cannabis)  ใบมีลักษณะเป็นแฉก 5-7 แฉก ลำต้นเป็นพุ่ม เปลือกลอกยาก มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) 1-10% ซึ่งเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้ผู้เสพมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา และสาร THC ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท มีผลเสียต่อสมอง ร่างกาย และสามารถทำให้ขาดสติได้

     กัญชง (Hemp)  ใบมีลักษณะเป็นแฉก 7-8 แฉก ลำต้นสูงเรียว เปลือกเหนียวลอกง่าย ทำเส้นใยทอผ้า มีสาร THC น้อยกว่า 0.3% สามารถใช้ประโยชน์จากลำต้นมาทำเส้นด้ายและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และนำไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรมได้ (ข้อมูลอ้างอิงจาก มาตรการควบคุมกัญชง โดยสำนักงาน ป.ป.ส.)

  • ค่า CBD ในกัญชา-กัญชง

     ค่า CBD ย่อมาจาก Cannabidiol จัดเป็นสารในกลุ่มคานนาบินอยด์ (Cannabinoids) ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ พบในพืชสกุล Cannabis คือ กัญชา และกัญชง โดย CBD ไม่จัดเป็นยาเสพติด เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Non-psychoactive) ไม่ทำให้มึนเมา ยังไม่พบว่า CBD ทำให้เกิดการดื้อหรือติด สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา และอาหาร (ข้อมูลอ้างอิงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย