TEXT : กองบรรณาธิการ
ในสายตาของผู้บริโภค เราอาจคุ้นชินกับแบรนด์ดังที่วางขายอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วยังมีแบรนด์ท้องถิ่นอีกมากที่เราไม่รู้จัก ซึ่งอาจเริ่มต้นธุรกิจขึ้นมาจากจุดเล็กๆ แต่ในวันนี้กลับทำรายได้เป็นหลักสิบหลักร้อยล้านบาทได้ แถมบางแบรนด์ไม่ได้จำหน่ายเฉพาะแค่ในเมืองไทย แต่ยังโกอินเตอร์ไปไกลถึงต่างประเทศ ลองมาเปิดรายได้และเส้นทางธุรกิจจาก 4 เคส Local Brand ตัวอย่างกันดูว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ได้ พวกเขาเริ่มต้นขึ้นมาจากอะไร และอะไรทำให้พวกเขาเดินทางมาจนถึงวันนี้ได้กัน
เส่งเฮง ต่อยอดจากจากเต้าหู้ตลาดสด ให้กลายเป็นเต้าตู้ขึ้นห้าง
รายได้ธุรกิจ : 60,965,890 บาท (ปี 2564)
จังหวัด : กรุงเทพฯ ย่านฝั่งธนบุรี
Story of Brand :
- เริ่มต้นจากเต้าหู้สูตรลับของครอบครัวด้วยกรรมวิธีผลิตแบบจีนโบราณ ใส่จักรยานปั่นไปขายในตลาดสดย่านฝั่งธนบุรี โดยแต่ละก้อนจะประทับตราด้วยไม้ปั๊มชื่อแบรนด์ลงไปและใช้ใบตองรองแต่ละแผ่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ให้คนจำได้และเรียกติดปากว่า “เต้าหู้ใบตอง” และกลายเป็นสัญลักษณ์แบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน
- ต่อมาจนถึงรุ่นที่ 2 ได้มีการนำเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์เข้ามาใช้ เปลี่ยนจากการห่อด้วยใบตองมาเป็นการห่อด้วยถุงสุญญากาศ ทำให้ช่วยยืดอายุของเต้าหู้ให้เก็บได้นานยิ่งขึ้น เริ่มมีการนำไปเสนอห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต จนในที่สุดสามารถเข้าวางจำหน่ายได้ มีการสร้างโรงงานผลิตของตัวเองขึ้นมาในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
- ในรุ่นที่ 3 ซึ่งเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูช่วงหลังจากที่บริษัทประสบปัญหา ได้มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น และขยายช่องทางไปสู่ตลาดส่งออก เช่น เต้าหู้ขาวแข็งออร์แกนิก ซึ่งเป็นสินค้าเรือธงเพื่อบุกตลาดจีน, เต้าหู้พร้อมรับประทาน, น้ำเต้าหู้ออร์แกนิก รวมถึงการรับจ้างผลิต (OEM) สินค้าจากเต้าหู้
กลยุทธ์แบบ Local Brand : มุ่งมั่นผลิตสินค้าที่ดีให้แก่ผู้บริโภค เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพ ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม และยังใช้วัตถุดิบธรรมชาติ โดยไม่ใส่วัตถุกันเสียหรือสารปรุงแต่งใดๆ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/4607.html?utm_source=dable
โกศล จากซอสพริกห้องเช่า สู่ซอสพริกโกอินเตอร์
รายได้ธุรกิจ : 41,250,986 บาท (ปี 2564)
จังหวัด : ชลบุรี
Story of Brand :
- เริ่มจากสูตรซอสพริกที่ทำกินกันในครอบครัวชาวจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดชลบุรี ประเทศไทย โดยการใช้วิธีผลิตแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น ใช้เตาฟืน, ใช้กระทะใบบัวต้ม, คัดสรรวัตถุดิบและนำมาหมักดองด้วยสูตรตัวเอง ต่อมาจึงได้ทดลองนำมาผลิตขายอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ แถบอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- โดยลูกชาย “โกศล คงชยาสุขวัฒน์” ได้นำซอสของแม่ใส่ขวดลงตะกร้าไปเดินเร่ขายแถวบ้าน และฝากขายในตลาด จนสินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักในชลบุรีเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดความคิดอยากขยายไปหาลูกค้าในเมืองกรุงดูบ้าง โดยใช้วิธีเปิดสมุดหน้าเหลืองติดต่อลูกค้า
- กระทั่งในปี 2518 ได้มีการก่อตั้ง “โรงงานโกศลพานิช” ขึ้น เริ่มส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศครั้งแรกในปี 2525 ที่ตลาดสหรัฐอเมริกา ในปี 2526 จึงเริ่มจดทะเบียนตำรับอาหารกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
- ต่อมาในปี 2536 ได้เปลี่ยนชื่อจากบริษัทเป็น “บริษัท โกศล-อัมพา จำกัด” โดยใช้ชื่อของเขากับภรรยามาตั้งเป็นชื่อกิจการ เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกคิดถึง
- ปัจจุบันส่งออกกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Shark Brand” ปัจจุบันถูกจัดอันดับให้เป็นซอสพริก 1 ใน 3 ของอเมริกา ที่ลูกค้าจดจำและชื่นชอบที่สุด
กลยุทธ์แบบ Local Brand : “4 ร.” คือ 1. รักษา - รักษาของเดิมที่บรรพบุรุษทำไว้ให้ ไม่ว่าโนว์ฮาว หรือฐานลูกค้า 2.รับ – เปิดรับสิ่งใหม่ๆ โนว์ฮาวและอินโนเวชั่นต่างๆ โดยไม่เปลี่ยนของเดิมไปมากนัก 3. ริเริ่ม - มองหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้ธุรกิจได้ไปต่อ 4. รุก - เมื่อครบทั้ง 3 สเต็ปแล้ว ก็รุกเลย
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/5593.html
หมีคู่ดาว แป้งข้าวโม่น้ำสำเร็จรูปแห่งภาคตะวันออกของไทย
รายได้ธุรกิจ : 582,827,436 บาท (ปี 2564)
จังหวัด : ชลบุรี
Story of Brand :
- ย้อนไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน สมัยที่แป้งข้าวโม่น้ำสำเร็จรูปกำลังได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซีย “พรชัย ไพศาลบูรพา” พ่อค้าชาวไทยได้มองเห็นโอกาสในการส่งออกจากวัตถุดิบที่มีมากมายอยู่ในประเทศ จึงผลิตแป้งโม่น้ำสำเร็จรูปแบรนด์หมีคู่ดาวออกมาจำหน่าย
- โดยเริ่มส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศก่อน ภายหลังต่อมาจึงนำกลับเข้ามาจำหน่ายในไทย เริ่มจากแถบภาคตะวันออก ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิต โดยถือเป็นโรงแป้งแห่งแรกๆ ของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP
- ปัจจุบันมีการส่งออกไปมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และยังเป็นผู้ผลิตแป้งประกอบอาหารรายแรกๆ ที่มีการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง โดยตั้งปณิธานไว้ว่าถึงจะไมใช่ผู้ผลิตแป้งเก่าแก่ที่สุดในไทย แต่ขอเป็นผู้นำด้านแป้งประกอบอาหารที่นำนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ง่ายและสะดวกที่สุด
กลยุทธ์แบบ Local Brand : มองไปข้างหน้าเสมอ อะไรที่ลูกค้าต้องการและตลาดต้องการ จะลงมือทำเลย โดยไม่รีรอ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/index.php/entrepreneur/6932.html
ตราแม่บ้าน ผักกาดดองตลาดนัด ที่ไปโตในตลาดโลก
รายได้ธุรกิจ : 35,147,118 บาท (ปี 2564)
จังหวัด : ราชบุรี
Story of Brand :
- เริ่มต้นจากอยากหาธุรกิจทำ จึงไปเดินงานแสดงสินค้า เห็นผักกาดดองวางขายในกะละมัง ขายดีมาก จึงได้ไอเดียมาหัดลองผิดลองถูกทำด้วยตัวเอง ขายตามตลาดสด ตลาดนัด
- ต่อมาเริ่มอยากพัฒนาขยายตลาดให้เติบโตขึ้น โดยมีความคิดว่าหากขายอยู่ในราชบุรีจะได้ลูกค้าพันคน หากอยากได้หมื่นคนต้องขายในจังหวัดรอบๆ ถ้าอยากได้ลูกค้าแสนคนต้องขายทั่วประเทศ และถ้าอยากได้ล้านคนต้องส่งออก
- โดยมีการเป็นกลุ่มลูกค้าออกเป็นกลุ่มตลาด A B C แบ่งแยกโรงงานผลิตไว้ 2 แห่ง แห่งแรก คือ ได้มาตรฐานตามปกติ เพื่อขายลูกค้าทั่วไปในประเทศ อีกแห่งเป็นโรงงานผลิตมาตรฐานสูง เพื่อการส่งออก อาทิ GMP HACCP, ISO 9001 และ ISO 22000
- นอกจากจะผลิตผักกาดดอง และของดองอื่นๆ แล้ว เช่น ไชโป้วหวาน, หน่อไม้ดอง, หน่อไม้ในน้ำใบย่านาง เป็นของตัวเองแล้ว ยังมีการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรับจ้างฆ่าเชื้อให้กับสินค้าของ SME ด้วยเครื่องรีทอร์ท (Retort) เพื่อให้อาหารอยู่ได้นานขึ้นได้ โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจได้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
กลยุทธ์แบบ Local Brand : ทำของกิน ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ พอทำดีแล้วตลาดจะตามมาเอง
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/6047.html
ชวนคิดแบบ Local Brand
จากเรื่องราวของทั้ง 4 แบรนด์ พอจะสรุปจุดเด่นของธุรกิจ Local Brand ได้ดังนี้
- ไม่ว่าจะเริ่มต้นจากเล็กหรือใหญ่ เสน่ห์ของธุรกิจ Local Brand ก็คือ ความจริงใจ มุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าที่ดีออกมาสู่ผู้บริโภค
- ตำนาน เรื่องราวการต่อสู้ทางธุรกิจ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจดีๆ และสร้างเสน่ห์ให้กับแบรนด์ได้
- การสร้างมาตรฐาน คือ สิ่งสำคัญในการสร้างจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจจากแบรนด์ท้องถิ่น สู่ตลาดโกอินเตอร์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี