TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
ก่อนการระบาดของโควิด คาเฟ่หลายแห่งมักทำแคมเปญให้ลูกค้านำแก้วมาบรรจุเครื่องดื่มเองเพื่อแลกส่วนลด เชื่อว่าลูกค้าจำนวนมากเคยทำเช่นนั้น นอกจากได้เครื่องดื่มราคาถูกลงยังมีส่วนร่วมในการลดขยะจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับเจ้าของคาเฟ่แห่งหนึ่งหนึ่งในออสเตรเลียผู้จุดประกายให้เกิดกระแสแก้วกาแฟใช้ซ้ำด้วยแก้วรักษ์โลก “คีพคัพ” (KeepCup) แบรนด์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมไปทั่วโลก
เธอผู้นั้นมีชื่อว่า "แอบิเกล ฟอร์ซิธ" เป็นชาวเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย แอบิเกลจบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และเคยทำงานในสำนักงานกฏหมายระยะหนึ่งก่อนลาออกมาเปิดคาเฟ่ “บลูแบ็ก” (Bluebag) ในปี 1998 ร่วมกับเจมี่ซึ่งเป็นพี่ชาย ธุรกิจเติบโตดีจนสามารถขยายไป 6 สาขา
ย้อนไปช่วงเวลานั้น การซื้อกาแฟแบบ take away เพิ่งเป็นที่นิยม และคาเฟ่ของแอบิเกลก็เป็นเจ้าแรกๆ ที่นำแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งมาบริการ โดยแต่ละครั้งเธอต้องสั่งแก้วใช้ครั้งเดียวไม่ต่ำ 50,000 ใบเข้าร้าน
กระทั่งวันหนึ่งมีลูกค้าที่เป็นทนายมาซื้อกาแฟแล้วเปรยว่ารู้สึกผิดเล็กๆ ที่ดื่มกาแฟจากแก้ว take away แอบิเกลจึงเริ่มฉุกใจคิดถึงปัญหาขยะจากแก้วเครื่องดื่มแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งมีปริมาณมหาศาล ปี 2006 คาเฟ่บลูแบ็กจึงทดลองนำแก้วซุปสำหรับใส่เครื่องดื่มให้ลูกค้ายืม เมื่อลูกค้านำแก้วกลับมาคืนและซื้อใหม่จะได้ส่วนลด 50 เซนต์
การทดสอบครั้งนั้นพบว่ามีกลุ่มลูกค้าสายเขียวอนุรักษ์โลกจำนวนหนึ่งต้องการใช้แก้วซ้ำเพื่อลดขยะ ทำให้แอบิเกลมั่นใจว่าแก้วเครื่องดื่มใช้ซ้ำยังเป็นที่ต้องการในตลาด เธอเดินสำรวจตามห้างๆ เพื่อดูสินค้าแต่ไม่พบแก้วกาแฟแก้วชาที่ใช้สำหรับบรรจุกาแฟจากเครื่องชงของบาริสต้าและขนาดเหมาะสำหรับการพกพา
แอบิเกลจึงออกแบบเองและจ้างโรงงานผลิต แก้วเครื่องดื่มของเธอที่มีความใกล้เคียงกับแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งทำให้สะดวกทั้งบาริสต้า และคนดื่ม เนื่องจากออสเตรเลียนิยมบริโภคเครื่องดื่มร้อน แก้วที่แอบิเกลออกแบบจึงมีขนาดประมาณ 12 ออนซ์ มีฝาปิดที่ผู้ใช้จิบเครื่องดื่มจากฝาได้ พร้อมทั้งมีฉนวนกันร้อนครอบรอบแก้วด้วย
ปี 2009 เธอเปิดตัวแก้ว “คีพคัพ” ครั้งแรกที่งานแสดงสินค้าในเมลเบิร์น เพียง 6 ชั่วโมงแรกของการเปิดบู้ทก็ทำยอดขายไป 1,000 ใบ นับตั้งแต่นั้น แอบิเกลก็เริ่มหันมาผลิตแก้วคีพคัพอย่างจริงจัง สร้างรายได้ปีละกว่า 6 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 200 ล้านบาท ก่อนจะมีการพัฒนาดีไซน์ใหม่ๆ ออกมา โดยใช้วัสดุที่แตกต่าง ได้แก่ แก้ว พลาสติก และสแตนเลส และมีขนาดตั้งแต่ 120 มล.ไปจนถึง 474 มล.
กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งในปี 2017 เมื่อสถานีโทรทัศน์เอบีซีออกอากาศรายการสารคดีบลูแพลเน็ตเรื่อง “การทำสงครามขยะ” ทำให้เห็นว่าในแต่ละปีมีแก้วกาแฟใช้แล้วทิ้งมากถึง 1,000 ล้านใบหรือเฉลี่ยวันละ 2.7 ล้านใบที่กลายเป็นขยะในออสเตรเลีย กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันหาแก้วกาแฟทางเลือก ส่งผลให้แบรนด์คีพคัพได้รับอานิสงค์ไปด้วย แต่ก็มีแบรนด์อื่นที่เป็นคู่แข่งผลิตสินค้าออกมาชิงส่วนแบ่งตลาด
แอบิเกลเผยสินค้าภายใต้แบรนด์คีพคัพผลิตใน 2 ประเทศได้แก่ออสเตรเลีย และอังกฤษ ปัจจุบันทำยอดขายไปแล้วมากกว่า 12 ล้านใบใน 75 ประเทศทั่วโลก แม้แบรนด์จะเป็นที่รู้จักแล้ว แต่คีพคัพยังคงเดินสายตามงานแสดงสินค้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อเข้าถึงลูกค้าทั้งผู้บริโภคทั่วไป และลูกค้าองค์กรที่ต้องการผลิตแก้วเป็นของชำร่วยหรือของขวัญ รวมถึงคาเฟ่ต่างๆ ที่ต้องการแก้วรักษ์โลกพะยี่ห้อตัวเองไปวางขายในร้าน
ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจคีพคัพได้รับผลกระทบบ้างเนื่องจากคาเฟ่ต่าง ๆ ปิดบริการ และมีมาตรการยกเลิกการใช้แก้วซ้ำในร้านกาแฟ อย่างไรก็ตาม วิกฤติที่ว่าเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว การใช้แก้ว re-use ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นปรากฏการณ์ในสังคม
ในฐานะผู้บริหารคีพคัพ แอบิเกลยังเดินหน้ารณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด เธอนำเสนอความคิดให้คาเฟ่ต่างๆ คิดเงินเพิ่ม 50 เซนต์สำหรับลูกค้าที่สั่งเครื่องดื่มบรรจุแก้วใช้แล้วทิ้ง เป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้แก้วที่ใช้ซ้ำมากขึ้น แนวคิดนี้เหมือนการเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านสะดวกซื้อ ถ้าลืมพกถุงช้อปปิ้งไปก็ต้องยอมจ่ายเงินซื้อถุงพลาสติกจากแคชเชียร์ อาจถูกต่อต้านบ้าง แต่ใช้กันแพร่หลายก็จะเป็นความเคยชินและเป็นที่ยอมรับในที่สุด หากคาเฟ่ต่างๆ ร่วมใจใช้มาตรการนี้ จะทำให้ลดขยะจากแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้งมากถึง 8,000 ล้านใบต่อปีเลยทีเดียว
Source:
www.beanscenemag.com.au/abigail-forsyth-on-starting-a-movement-with-keepcup/
/www.bbc.com/news/business-52366981
www.celebrityspeakers.com.au/speakers/abigail-forsyth/
www.theceomagazine.com/executive-interviews/retail-wholesale/abigail-forsyth/
www.bit.iy/theceomagazine.com/executive-interviews/retail-wholesale/abigail-forsyth/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี