TEXT : ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร
ปัจจุบันนี้กระแสความนิยมใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเพิ่มสูงขึ้นทำให้ในหลายๆ ธุรกิจโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มที่จะหันมาจับ Touch Point ในการเพิ่มจุดให้บริการชาร์จแบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Charger Station) ในพื้นที่ของตัวเองกันมากขึ้น เราจึงได้เห็นลานจอดรถในคอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ห้างสรรถสินค้า ฯลฯ เริ่มมีช่องจอดสำหรับชาร์จแบตเตอรี่กันไปบ้างแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าในอุตสาหกรรมโรงแรม ณ ปัจจุบันหลายๆ โรงแรมเริ่มมีช่องจอดสำหรับชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ให้บริการแขกผู้เข้าพัก
EV Charger Station จำเป็นแค่ไหน
แน่นอนว่า EV Charger Station ในการติดตั้งนั้นย่อมมีต้นทุนการดำเนินการที่ตามมาแต่ด้วยความที่เป็นธุรกิจบริการ การเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับแขกตั้งแต่ Journey แรกของการเดินทางมาถึงโรงแรมด้วยช่องจอดรถยนต์ที่เป็น EV Charger Station ถือเป็นอีกแต้มต่อหนึ่งของการเพิ่มความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้กับโรงแรมซึ่ง Trend การใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV นี้จะเป็น Trend ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตเพราะจากสถิติการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 3 ปีย้อนหลังพบว่าปี 2562 มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนรวม 25,804 คัน ปี 2563 มีจำนวน 28,520 คัน เพิ่มขึ้น +10.52% และ ปี 2564 จำนวน 40,710 คัน เพิ่มขึ้น +42.74% (ข้อมูลจาก กฟผ. กฟภ. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ทำให้คาดการได้ไม่ยากว่าในอนาคตจำนวนรถยนต์ EV มีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก ประกอบกับมาตรการส่งเสริมด้านภาษีรถยนต์ EV จากรัฐบาล ที่มีการให้ ส่วนลดให้ประชาชนที่สนใจซื้อรถ EV ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ในอัตรา 18,000 - 150,000 บาท/คัน จูงใจให้คนหันมาใช้รถ EV มากขึ้น (https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220401133608119)
ในมุมของธุรกิจโรงแรม เป็นอีกครั้งที่เราอาจจะต้องปรับตัวรับกับ Trend นี้ แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้มาแบบรวดเร็วและเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์จากเครื่องสันดาปไปเป็น EV แบบทันทีทันใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวโน้มนี้น่าจะเป็นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เพราะปัจจุบันนี้ Supply ด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีผู้เล่นในตลาดมากขึ้นทั้งรายเก่า รายใหม่ ด้วยเล็งเห็นโอกาสประกอบกับการส่งเสริมของรัฐบาลและแน่นอนว่าเมื่อมี Supply รองรับ Demand ที่เกิดขึ้นก็เติบโตล้อกันไปได้ไม่ยาก
การสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ในโรงแรมแม้จะเป็นการสร้าง Value Add ให้กับบริการของโรงแรมไปอีกขั้นแน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นส่วนสำคัญทีเดียวในการตัดสินใจเข้าพักหรือไม่เข้าพักในโรงแรมของแขกแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีบริการชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แขกที่ใช้รถยนต์ EV รู้สึกได้ถึงความแตกต่างและความใส่ใจในการให้บริการพวกเขาของโรงแรม การมี EV Charger Station ยังเป็นการเสริมภาพลักษณ์ในความเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนสอดรับ Trend ในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างทันท่วงที มีความเป็นผู้นำในการให้บริการใหม่ๆ ได้อีกด้วย
ธุรกิจโรงแรมต้องรู้อะไรเกี่ยวกับการสร้าง EV Charger Station
ในการจะสร้าง EV Charger Station ผู้ประกอบการต้องศึกษากฎระเบียบข้อบังคับหลักๆ คือ “วัตถุประสงค์ของการให้บริการ” ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสองกรณีคือ “เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบุคคลอื่น” หรือ “เพื่อใช้ไฟฟ้าภายในกิจการเองหรือส่วนบุคคล” ส่วนใหญ่แล้วเพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการด้านข้อกฎหมายและการขอใบอนุญาต ฯลฯ โรงแรมที่ติดตั้ง EV Charger Station จะจัดการให้บริการของตนเองอยู่ในกรณีที่สองคือ “เพื่อใช้ไฟฟ้าภายในกิจการเองหรือส่วนบุคคล” เนื่องจากไม่เข้าข่ายการประกอบกิจการพลังงานทำให้ไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าเหมือนกรณีแรกเพียงแค่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างอื่นเท่านั้น
แต่หากในกรณีที่บางโรงแรมมีลานจอดรถขนาดใหญ่เกินความต้องการใช้งานและต้องการใช้พื้นที่ลานจอดรถของโรงแรมปรับมาเป็น EV Charger Station หารายได้จากค่าบริการชาร์จแบตเตอรี่ ก็ถือเป็นอีกโอกาสทางธุรกิจได้เช่นกันเพราะในปัจจุบันธุรกิจโรงแรมต้องปรับวิธีคิดใหม่ให้ทุกส่วนของโรงแรมสามารถหารายได้หล่อเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้นจากการคาดหวังเพียง Room Revenue, F&B Revenue, เป็นหลักเพียงอย่างเดียว แต่การลงทุนนั้นก็ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลด้วยเช่นกัน อัตราค่าบริการในการชาร์จแบตเตอร์รี่อ้างอิงจาก ตามประกาศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) แบ่งเป็นช่วง Peak ที่มีการใช้งานหนาแน่นที่อัตรา 7.9778 บาท/หน่วย และช่วง Off Peak ที่มีการใช้งานไม่หนาแน่นที่ 4.5952 บาท/หน่วย ทั้งการชาร์จแบบ กระแสไฟฟ้าสลับ AC Charger – Wall Charger และกระแสไฟฟ้าตรง DC Charger (https://www.pea.co.th/Portals/0/Document/SNB/EV_Rate%2005_22.pdf) ตรงนี้ถือเป็นอีกส่วนที่ผู้ประกอบการต้องคำนวณให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจดำเนินการว่าจะ “ได้คุ้มเสียหรือไม่?”
นอกจากนี้ข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ระบุไว้ว่า หากต้องการสร้างสถานีชาร์จที่ติดตั้งเครื่อง EV Charger AC/DC 1 เครื่องพร้อมที่จอดรถ จะมีมูลค่าการลงทุนที่ 2.1 ล้านบาท มีต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรที่ 0.5 ล้านบาท/ปี ด้วยโมเดลนี้จะมีรายได้ค่าชาร์จ EV ปีละ 1.4 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนอยู่ที่ 2.3 ปี เงินที่ลงทุนไป 2.1 ล้านบาทกับระยะเวลาคืนทุนกว่าจะ Break Even Point ต้องใช้เวลาถึง 2.3 ปี
เงินจำนวนนี้ในสถานการณ์แบบนี้ถือว่ามากอยู่พอสมควรยิ่งถ้าเป็นเงินกู้ระยะเวลาคืนทุนก็อาจจะเกินกว่า 2.3 ปีเข้าไปอีก ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ยากสำหรับโรงแรมขนาดเล็กหรือแม้แต่โรงแรมขนาดใหญ่เองก็ตาม ยังไม่นับรวมขั้นตอนของการต้องขออนุญาตในการเป็นผู้ประกอบกิจการสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger Station ที่หากมีปริมาณการให้บริการ <1,000 kVA หรือ >1,000 kVA อาจเข้าข่ายจะต้องขอใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน ปี 2550 เข้าไปอีก ถือเป็นเรื่องที่มีขั้นตอนมากพอสมควร (https://www.ananindustry.com/ev-car-charger-article-install04.html)
ที่จริงแล้วหากต้องการติดตั้ง EV Charger Station ในช่วงเริ่มแรกอาจใช้กลยุทธ์การสร้าง Brand Collaboration ร่วมกันได้เช่นกันอย่างกรณีของ Marriott International ร่วมกับ PTTOR สร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า EV Station PluZ ในโรงแรมและรีสอร์ทของ Marriott กว่า 30 แห่งทั่วประเทศไทย (https://thaipublica.org/2022/06/or-marriott-ev-station-pluz/) ซึ่งอนาคตคาดว่าน่าจะมีอีกหลาย Brand ขนาดใหญ่ที่หันมาติดตั้งสถานีชาร์จ EV Station ในโรงแรมของตนเองมากขึ้นตาม Trend และกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไป
สิ่งที่น่าเป็นห่วงจะเป็นโรงแรมขนาดเล็กที่ไม่มีงบประมาณในการลงทุนติดตั้งเครื่องชาร์จทั้ง AC EV Charger หรือ DC EV Charger มากเท่าโรงแรมขนาดใหญ่แต่เชื่อว่าในปัจจุบันนี้มีบริษัทผู้ให้บริการรับติดตั้ง EV Charger ตามสถานที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน แนวทางในการปรับตัวของโรงแรมขนาดเล็กอาจเป็นไปในรูปแบบของการ “ร่วมทุน” ทางธุรกิจในลักษณะ Profit Sharing โดยใช้พื้นที่ของตนเองให้ผู้ให้บริการ EV Charger Station เข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จแล้วแบ่งผลกำไรกันซึ่งก็อาจเป็นอีกแนวทางที่ตอกย้ำว่า “ไปให้ไกลให้ไปด้วยกัน” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพราะบางครั้งโลกก็เปลี่ยนเร็วกว่าที่เราคาดคิด
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี