ปลดหนี้หลักล้านใน 5 ปี สร้างตัวด้วยธุรกิจแฟรนไชส์ ผัดไทยชาววังตะวันดา มีกว่า 100 สาขาทั่วไทย

TEXT : จีราวัฒน์ คงแก้ว

 

     ไม่มีความสำเร็จใดได้มาง่ายๆ และไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ แต่ทุกธุรกิจล้วนต้องผ่านการเรียนผิดลองถูก สั่งสมประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ จนเดินสู่สนามแห่งความสำเร็จได้ เช่นเดียวกับธุรกิจแฟรนไชส์ผัดไทยชาววังตะวันดา ที่เสิร์ฟความอร่อยมานานกว่า 10 ปี เติบโตจนมีกว่าร้อยสาขาทั่วประเทศ พวกเขาทำธุรกิจอย่างเป็นระบบ ก้าวย่างอย่างมีแบบแผน เติบโตอย่างมั่นคง ก่อนส่งต่อความสำเร็จด้วยระบบแฟรนไชส์ จนล้างหนี้หลายล้านได้ในเวลาเพียง 5 ปี   

จากร้านอาหารตามสั่งสู่แฟรนไชส์ผัดไทยเจ้าเด็ด

     “ผัดไทยชาววังตะวันดา” ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจจากหนึ่ง แต่เกิดจากคนที่ชีวิตติดลบ มีหนี้สินท่วมตัวหลายล้านบาท ผลพวงจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เธอคือ “สุภาดา ตะวันดา” ผู้ก่อตั้ง บริษัท ตะวันดา กรุ๊ป จำกัด ที่วันนี้เป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ “ผัดไทยชาววังตะวันดา” และ “บัวกัญชา” ก๋วยเตี๋ยวตุ๋นสมุนไพรใบกัญชา ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสนิยมขณะนี้

     สุภาดามีฝีมือในการทำอาหาร เธอเริ่มจากเปิดร้านอาหารตามสั่ง ขายอยู่ตรงศูนย์การค้าไชน่าเวิลด์ วังบูรพา เธออยากเกิดใหม่ ฝันอยากทำแฟรนไชส์ แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นจากอะไร จนพบว่าเมนูที่อร่อยและขายดีที่สุดในร้านคือ “ผัดไทย”

     “ตอนนั้นมีหนี้หลักสิบล้านบาทอยู่กับตัว แต่ความฝันก็ยังไม่ทิ้ง แต่จะทำอย่างไร จะเริ่มอย่างไร เพราะเราไม่มีทุนในการทำธุรกิจ ไม่มีแม้กระทั่งทุนไปจ่ายค่าอบรมอะไรด้วยซ้ำ ตอนนั้นแฟรนไชส์คืออะไรก็ยังไม่รู้เลย แต่อยากทำ จนเปิดร้านแรกเสร็จ และรู้ว่าจุดเด่นของเราคือผัดไทย จึงแยกเมนูผัดไทยออกมาเป็นอีกร้าน แล้วทำระบบของเราขึ้นมาเองก่อน เป็นที่มาของร้านผัดไทยชาววังตะวันดาสาขาแรก ซึ่งเป็นเหมือนร้านต้นแบบอยู่บนห้างฯ

     จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาโดยในเรื่องของวัตถุดิบนั้นไม่มีปัญหา เพราะเป็นสูตรของเราเอง แต่เรามาพัฒนารูปแบบร้าน พัฒนาระบบ ทำจนร้านนี้ขายได้ มีกำไร แล้วอยากรู้ว่าระบบที่เราทำขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่ จึงตัดสินใจเปิดสาขาที่สอง เป็นการขยายสาขาด้วยตัวเองอีกเช่นกัน โดยสาขานี้เราขยายออกไปให้ไกลกว่าเดิม เพราะต้องการรู้ว่า ถ้ามีคนซื้อแฟรนไชส์ของเราไปเขาจะเจอกับปัญหาอะไรบ้าง เป็นการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง โดยเราเป็นทั้งแฟรนไชซอร์และแฟรนไชส์ซีในเวลาเดียวกัน” เธอบอกจุดเริ่มต้น

     การมีสาขาที่สองที่อยู่ไกลออกไป ทำให้ค่อยๆ เห็นปัญหา ทั้งการจัดส่งและจัดเก็บสินค้า จึงเริ่มนำทุกๆ ปัญหามาแก้ไข โดยมีแนวคิดว่าทุกปัญหา ทุกคำถามของแฟรนไชซีต้องมีคำตอบและทางออก การทำสาขาที่สองเป็นสนามทดลองรูปแบบแฟรนไชส์ ทำให้เริ่มตกแต่งร้านออกมาเป็นรูปแบบที่ถูกต้องตามระเบียบ การทำร้านให้มีระบบ มีขั้นมีตอน เช่น การล้าง การจัดเก็บภาชนะ ความสะอาดภายในร้าน กฎระเบียบต่างๆ ตลอดจนการจัดการภายในร้าน

     “อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่แฟรนไชซอร์ต้องสอนแฟรนไชซีในวันข้างหน้า ซึ่งการที่เราลงมือทำเองทั้งหมด จะทำให้รู้ปัญหา และตอบคำถามแฟรนไชซีได้ ซึ่งเมื่อสาขาที่สองสำเร็จ เราก็เปิดสาขาที่สามที่ไกลออกไปอีก ทีนี้ปัญหาที่ตามมาคือระบบการบริหารจัดการ เราสวมหมวกเป็นทั้งเจ้าของแฟรนไชซอร์ในวันที่ต้องจัดส่งวัตถุดิบ และเป็นทั้งแฟรนไชซีในวันที่ต้องอยู่หน้าร้าน ถ้าแฟรนไชซีเขาทำร้านเป็นอาชีพเสริม เขาต้องบริหารจัดการอย่างไร โดยที่ไม่ต้องเข้าร้านก็ได้ เราก็ทำระบบออกมาที่ช่วยให้เขาไม่ต้องมายุ่งกับในร้านเลย โดยใช้ระบบการจัดการที่เราได้ทดลองทำเองมาก่อน ด้วยการดีลกับตลาด ดีลกับซัพพลายเออร์ที่ส่งของให้ โดยที่ลูกน้องไม่มีสิทธิ์แตะเงินสักบาทเลยด้วยซ้ำ พอสาขาสามตอบโจทย์ เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ในเรื่องของการจัดส่งสินค้า เรียนรู้ทุกสิ่งอย่างตามมา พอทำสำเร็จก็เริ่มขายแฟรนไชส์” เธอบอกสะเต็ปการทำธุรกิจ ที่เริ่มจากคิด เรียนรู้ และลงมือทำด้วยสองมือ

     ระบบแฟรนไชส์ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง และเซ็ตอัพขึ้นมาเองจากประสบการณ์ สามารถขายไปได้ถึงกว่า 50 สาขาทั่วประเทศ หลังจากนั้นจึงมาเรียนรู้การทำระบบแฟรนไชส์อย่างจริงจัง จนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานแฟรนไชส์ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และมีสาขาก่อนโควิด ถึงกว่าร้อยสาขาทั่วประเทศ

              แฟรนไชซีไม่ใช่คู่ค้าแต่คือครอบครัว

     ใครที่คุ้นชินกับแฟรนไชส์ที่ต้องมีทั้ง ค่าแฟรนไชส์ ค่ารอยัลตี้ฟี (Royalty Fee) ค่าต่อสัญญา ส่วนแบ่งการขาย ค่าการตลาด สารพัดค่าใช้จ่ายจากการซื้อแฟรนไชส์แต่ละครั้ง ภาพจำเหล่านั้นจะหายไปเพราะสำหรับแฟรนไชส์ผัดไทยชาววังตะวันดา พวกเขาคิดค่าแฟรนไชส์ที่จ่ายเพียงครั้งเดียว เริ่มต้นแค่หลักหมื่นบาท แถมยังใช้ได้ตลอดชีพ โดยไม่มีการเก็บส่วนแบ่งยอดขายหรือส่วนแบ่งการตลาดใดๆ ทั้งสิ้น และยังดูแลแก้ไขปัญหาของร้านสาขาแฟรนไชส์อย่างใกล้ชิดไม่ทอดทิ้ง เหมือนคนในครอบครัวเดียวกันอีกด้วย

     “โมเดลของเราจะปรับตามลูกค้า อย่าไปปรับอะไรตามทฤษฎีเลย มันไม่ใช่ เพราะในทางปฏิบัติจริง แฟรนไชซีคือตัวต้นแบบ เมื่อก่อนแฟรนไชส์ของเราเริ่มต้นที่ 89,000 บาท โดยที่เราจัดการทุกอย่างให้หมด กระทั่งการจัดหาพนักงานและสัมภาษณ์พนักงานให้ ตอนหลังเริ่มมีลูกค้าที่เขาทำร้านอาหารอยู่แล้ว แต่สนใจแบรนด์ของเราติดต่อเข้ามา เขาต้องการแค่แบรนด์เราเข้าไปในร้านของเขาแต่มีทุกอย่างครบอยู่แล้ว เราก็มาปรับโดยขายแบรนด์ในราคาแค่ 49,000 บาท เขาได้ชื่อของเราไป แล้วก็มีวัตถุดิบเริ่มต้นให้ด้วย รวมถึงไฟล์ภาพที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที ถามว่าทำไมขายถูก เพราะเป้าหมายของเรา เราทำแฟรนไชส์ครั้งแรกเราต้องการเงินก็จริง แต่พอทำไปเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญอันดับแรกอีกแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เรายืนอยู่ได้ในทุกวันนี้ คือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับแฟรนไชส์ซี

     ยิ่งพอเกิดสถานการณ์โควิดยิ่งทำให้รู้เลยว่าเราคิดถูกต้องแล้ว เพราะที่ผ่านมามีคนที่ต้องล้มหายตายจาก แต่เขาฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ เพราะแฟรนไชส์ที่เราให้ติดตัวเขา บางท่านต้องลงจากห้างฯ มาขายอยู่ข้างถนน แต่เพราะเราทำให้เขายังทำอาชีพของเขาต่อไปได้ และเราก็ยังให้ความช่วยเหลือ โฆษณาเรายังทำให้ มันเหมือนมองข้ามคำว่าคู่ค้าไปแล้ว แต่เขาเหมือนคนในครอบครัว เราช่วยเหลืออะไรได้ ก็อยากช่วย เพื่อให้เขายังคงมีอาชีพ และทำธุรกิจต่อไปได้” เธอบอก

     นอกจากขายแฟรนไชส์แบบไม่เอาเปรียบ สุภาดายังเปิดสอนอาชีพ เปิดสอนการทำแฟรนไชส์ให้กับผู้สนใจกันแบบฟรีๆ โดยไม่กลัวด้วยซ้ำว่าผู้เรียนจะกลายมาเป็นคู่แข่งในอนาคต

     “เราไม่กลัวเลยว่าจะสร้างคู่แข่งขึ้นมาในตลาด เพราะตลาดนี้กว้างเหมือนมหาสมุทร คนที่กินเขาใช้ช้อนลงไปตักซึ่งตักเท่าไรก็ไม่หมด ฉะนั้นทุกคนไม่ใช่คู่แข่ง มองว่า SME หรือแฟรนไชส์ เหมือนพี่เหมือนน้อง เหมือนครอบครัวเดียวกันทั้งหมด ฉะนั้นเราต้องช่วยเหลือกัน ถามว่าทำอย่างนี้แล้วได้อะไร ที่แน่ๆ ทำแล้วเรามีความสุข เนื่องจากอายุเราก็ไม่ใช่น้อยแล้ว ก็อยากใช้องค์ความรู้ที่มี ประสบการณ์ทั้งหมดในการดำเนินธุรกิจ  มาสอนคนอื่น เพื่อเป็นการทดแทนคุณแผ่นดิน”

 

ต่อยอดสู่ “บัวกัญชา” ภาคต่อธุรกิจใต้การนำของทายาท

     นอกจากแฟรนไชส์ผัดไทยที่อยู่ในตลาดมาหลายปี ล่าสุดตะวันดา กรุ๊ป ยังได้แตกแบรนด์ใหม่ มาทำแฟรนไชส์ “บัวกัญชา” ก๋วยเตี๋ยวตุ๋นสมุนไพรใบกัญชา แฟรนไชส์น้องใหม่ที่กำลังอยู่ในกระแสนิยม โดยมีทายาทสาว “บัว-จุฑานพรัตน์ ธนพรชยางกูร” เป็นผู้ดูแลแบรนด์บัวกัญชา ขับเคลื่อนอนาคตด้วยวิสัยทัศน์ของคนรุ่นใหม่  

     สุภาดาบอกเล่าถึงแผนธุรกิจในอนาคต หลังได้รับคัดเลือกไปออกงานที่ประเทศสิงคโปร์ โดยบอกว่าจากนี้ธุรกิจจะขยายสู่ตลาดอินเตอร์มากขึ้น ภายใต้การนำของทายาท

     “วันนี้ธุรกิจเป็นของเจเนอเรชันที่สองแล้ว โดยลูกจะเข้ามาปัดฝุ่นธุรกิจ เพื่อที่จะทำส่งออกให้มากขึ้น ตอนนี้เขากำลังคิดวางแผนกันอยู่ เป็นยุคของทายาทที่จะนำพาธุรกิจของเราให้ไปต่อ ทำอย่างไรที่จะทำส่งออกได้ ซึ่งแบรนด์ของเรามีมาสเตอร์แฟรนไชส์อยู่แล้วที่กัมพูชา และที่ลาว ขณะที่ออสเตรเลียเรายังส่งสินค้าไปไม่ได้ ก็ใช้วิธีสอนเขาให้จบ จ่ายจบก้อนใหญ่ แล้วสามารถไปทำที่ต่างประเทศได้เลย เรียกว่าเป็นรูปแบบที่จะปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นโจทย์ที่ลูกๆ จะมาต่อยอด” เธอบอกก้าวต่อจากนี้ของตะวันดา

อย่าจมกับปัญหา ทุกวิกฤตมีทางออกเสมอ

     ก่อนปิดบทสนทนา เราให้สุภาดาแบ่งปันประสบการณ์ ปลดหนี้หลายล้านด้วยแฟรนไชส์ เธอบอกว่า ตอนนั้นมีหนี้เยอะมากเป็นหลักหลายๆ ล้านบาท ตนเองต้องการกลับมาเกิดใหม่ แต่จะทำอย่างไรเพราะไม่มีทุน แฟรนไชส์ที่ทำจึงไม่ได้เริ่มต้นจากการใช้ต้นทุนสูงเลย เพราะทำเองทั้งหมดไม่ได้จ้างใคร  

     “สิ่งสำคัญคือเราต้องเริ่มจากการวางเป้าหมาย อย่าเพิ่งไปมองอะไรทั้งสิ้น ให้มองที่ตัวเองก่อน โฟกัสที่ตัวเอง ถ้าเรามีความคิดอย่าคิดร้าย อย่าคิดลบ อย่าท้อ ต้องวางแผน หนี้ในระบบต้องใช้ แต่ว่าอย่าเพิ่งรีบใช้ ให้วางไว้ก่อน แล้วสู้กับความคิดตัวเองก่อน เพราะว่าเราจะต้องโตต่อไป โตในธุรกิจโตในเรื่องอะไรก็ตาม แต่อย่าท้อและเงินที่ได้มาต้องวางแผนดีๆ เพื่อการต่อยอดธุรกิจ  เราใช้เวลา 5 ปีสามารถล้างหนี้ได้หมด โดยการเจรจากับเจ้าหนี้ เราไปคุยกับธนาคารว่าถ้าเราจะจ่ายจบจะลดหนี้ได้เท่าไหร่ ซึ่งธนาคารก็ลดหนี้ให้เยอะมาก จนสามารถปิดหนี้ได้ ในขณะที่เราปิดหนี้ได้ แต่เรามีมูลค่าสินทรัพย์มากกว่าหนี้ที่เรามี สำคัญที่สุดคือการวางระบบทุกอย่าง แล้วยังต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย

     วันนี้ทุกคนกำลังประสบปัญหา แต่อย่าให้ความสำคัญกับปัญหามาก เพราะว่าถ้าเราไปโฟกัส ปัญหาก็จะใหญ่ขึ้นจนปิดตาเราไปหมด ฉะนั้นทุกปัญหามีทางแก้เสมอ ถ้าเรามัวแต่จมอยู่กับปัญหาเราจะไม่เห็นทางแก้ แต่ถ้าเราลุกออกมาเราก็จะมองเห็นทางออก ทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่ วันนี้คุณไม่ได้ล้มเพียงแค่สะดุดแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ จงมองปัญหาให้เป็นขนมหวานมันก็จะเป็นของง่ายในการแก้ ขอแค่อย่ายอมแพ้ อย่าอ่อนแอ อย่าหวั่นไหว เพราะว่าทุกคนมีหัวใจเท่ากัน” เธอบอกในตอนท้าย

ข้อมูลติดต่อ

ID Line : tawanda995

เฟซบุ๊ก : padthaitawanda

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย