เบิกทางชีวิตติดลบ สู่เจ้าของธุรกิจผลิตอุปกรณ์ไต่ผารายใหญ่ของโลก

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

     สำหรับคนๆ หนึ่งที่ชีวิตเคยรุ่งเรืองแต่วันหนึ่งกลับดิ่งเหวเนื่องจากก้าวเดินผิดเส้นทางหลงอยู่ในวังวนยาเสพติดนาน 8 ปีจนเป็นคนไร้บ้านและติดคุกติดตาราง จากอนาคตที่ดูเหมือนมืดมน แต่เมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสในการทำงานให้ ไม่เพียงลืมตาอ้าปากได้ แต่ยังกลายเป็นใบเบิกทางที่นำไปสู่การเป็นเจ้าของบริษัทผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬาปีนผารายใหญ่สุดรายหนึ่งของโลกอีกด้วย เรากำลังพูดถึง "เอียน พาวเวลล์" ผู้ก่อตั้งบริษัทคิลเตอร์ กริปส์ ผู้ผลิตตัวจับสำหรับติดตั้งหน้าผาจำลองจากสหรัฐอเมริกา

     การใช้ชีวิตของเอียนนั้นมีหลากหลายครบทุกรสชาติ เขาเกิดเมื่อปี 1971 ที่เมืองแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย เขาจำได้ว่าชื่นชอบการปีนป่ายตั้งแต่ยังเล็ก แต่ชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่สบายนักเมื่อพ่อที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังเลือกปลิดชีวิตตัวเองตอนที่เอียนอายุเพียง 10 ขวบ แม่ของเขาจึงย้ายไปอยู่เท็กซัส และที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มกีฬาปีนหน้าผา

     ความฝันของเอียนคืออยากเป็นนักกีฬาปีนผาที่ได้เข้าร่วมแข่ง เขาถึงขั้นติดตามทีมชาติสหรัฐฯ อยู่ระยะหนึ่งก่อนถอดใจเมื่อโชคชะตาไม่เป็นใจให้เป็นนักกีฬามืออาชีพ ด้วยความที่ยังรักในกีฬาปีนหน้าผา เขาจึงเลือกที่จะยังวนเวียนในสายนี้

     ความที่มีพื้นฐานด้านศิลปะและการออกแบบ ประมาณต้นทศวรรษ 1990 เอียนได้งานที่บริษัทโบลเดอร์ โฮลส์ แอนด์ สเตรทอัพในเมืองโบลเดอร์ รัฐโคโรราโดซึ่งผลิต “ที่จับ” (hold) สำหรับติดหน้าผาจำลอง ก่อนที่เขาจะร่วมกับไท ฟูส เพื่อนในวงการปีนหน้าผาอีกคนออกมาทำ “ที่จับ” เองโดยตั้งบริษัทชื่ออี-กริปส์ (E-Grips) กลายเป็นว่าได้รับการตอบรับดีเนื่องจากนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่พวกเขาออกแบบขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของที่จับ หรือวัสดุที่ใช้ซึ่งเปลี่ยนจากโพลีเอสเตอร์เป็นยางยูรีเทนสังเคราะห์ที่ใช้งานดีกว่า

     เรียกได้ว่าช่วงนั้นเป็นช่วงชีวิตเฟื่องฟูสุดๆ เงินทองไหลมาเทมา รายได้ไม่ได้มาจากการขายที่จับอย่างเดียว แต่เอียนยังผลิตงานศิลปะด้วย ไม่ว่าจะสร้างสรรค์งานอะไรออกมาก็ดูจะขายออกง่ายดายแถมยังทำเงินดี เอียนหลงระเริงกับเงินทองและความสำเร็จจนถูกชักนำให้รู้จักยาเสพติด ซึ่งเขาลองแทบทุกชนิดทั้งโคเคน ยาไอซ์ และอื่น ๆ จนเสพติดงอมแงม ไม่สามารถทำงานได้ และต้องขายหุ้นในบริษัทอี-กริปส์ให้หุ้นส่วน

     ท้ายที่สุดก็หมดเนื้อหมดตัว บางช่วงต้องใช้ชีวิตเร่ร่อนข้างถนนจนกระทั่งถูกจับเข้าคุกข้อหาลักทรัพย์ และปลอมแปลงบัตรเครดิต เป็นเวลา 8 ปีที่ชีวิตเอียนพังพินาศและเข้าสู่จุดตกต่ำสุด แต่การอยู่ในเรือนจำมีข้อดีอย่างหนึ่งคือทำให้เขาสามารถเลิกยาเสพติดได้เด็ดขาด กระทั่งเขาเป็นอิสระจากเรือนจำและกำลังเคว้งอยู่นั้น แดน ฮาวลีย์ เพื่อนเก่าคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจยิมชื่อเดอะ สปอท (The Spot) ได้ชักชวนมาทำงานที่ยิม

     หน้าที่ของเอียน คือ ทำความสะอาดหน้าผาจำลอง ทำความสะอาดพื้น และงานจิปาถะทั่วไป วันหนึ่ง แดนนำโฟมมาให้และบอกกับเอียนให้ลองแกะโฟมดู เขาจึงซ้อมมือด้วยการแกะที่จับจากโฟม จังหวะและโอกาสเข้ามาอีกครั้งเมื่อทิม แฟร์ฟิลด์ นักปีนผาในตำนานได้ยื่นมือช่วยเหลือโดยการมอบเช็คมูลค่า 10,000 ดอลลาร์ให้เอียนกลับมาทำธุรกิจผลิตที่จับ

     ในปี 2013 เอียนและแจ็คกี้ ฮอฟเทิลซึ่งทำงานที่เดอะ สปอทด้วยกันก่อนจะกลายเป็นคู่รักกันก็ก่อตั้งบริษัทคิลเตอร์ กริปส์ด้วยเงินลงทุนที่ได้จากทิม เอียนผลิตที่จับออกมาชุดแรก 350 อันโดยมีแจ็คกี้ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายการตลาดช่วยขาย ยอดการผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เป็นการทำงานด้วยทีมเวิร์กที่ดี คนหนึ่งมีพรสวรรค์ในการออกแบบสินค้า อีกคนเก่งด้านการตลาด

     การเปิดบริษัทผลิตที่จับเรียกได้ว่าถูกเวลาเนื่องจากเป็นช่วงที่กีฬาปีนหน้าผากำลังได้รับความนิยม ถือเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้เนื่องจากมีการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ และแม้กระทั่งดีไซน์ของหน้าผาจำลองก็ทันสมัยขึ้น เช่นมีการนำวัสดุอย่างไฟเบอร์กลาสมาใช้

     เอียนสนุกกับการออกแบบที่จับรูปทรงต่าง ๆ แม้กระทั่งที่จับขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีการผลิตออกมา บริษัทเขาก็ทำออกมาขาย ราคาสินค้าจึงค่อนข้างสูงโดยเฉลี่ยชิ้นละ 120 ดอลลาร์ บางชิ้นราคาขยับไป 200-300 ดอลลาร์ก็มีซึ่งเป็นราคาที่สูงจนน่าตกใจเมื่อเทียบกับที่จับแบบเดิม ๆ ที่เคยผลิตในอดีต อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้กีฬาปีนหน้าผาเป็นที่นิยมต่อไป เอียนจะพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์มีราคาถูกลง

     จากชีวิตที่ตกต่ำสุดขีด เอียนสามารถถีบตัวเองขึ้นมาจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาเกี่ยวกับการปีนหน้าผาที่ใหญ่สุด ได้มาตรฐานสุด และมีชื่อเสียงระดับโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากพรสวรรค์ในการเป็นดีไซเนอร์ สิ่งที่ทำให้เขาก้าวมาถึงบันไดแห่งความสำเร็จขั้นนี้มาจากการได้รับโอกาสและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างในจังหวะเวลาที่ดี รวมถึงการมีคู่ชีวิตที่ส่งเสริมกันและกันนั่นเอง

Source:

https://gripped.com/profiles/the-perfect-hold-an-art-of-the-industry/

www.bbc.com/news/business-50270731

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย