Text : นิตยา สุเรียมมา
Photo : เจษฎา ยอดสุรางค์
ความสำเร็จของการบริหารและจัดการธุรกิจแบบ TOYOTA กลายมาเป็นองค์ความรู้ และตำราที่ถูกเขียนขึ้นมาหลายต่อหลายเล่ม เพื่อเป็นต้นแบบและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการธุรกิจของการทำธุรกิจ และเพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ให้กระจายออกไปสู่ภาคธุรกิจอื่นๆ ได้มากขึ้น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จึงได้ริเริ่มการจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” หรือ Toyota Social Innovation (TSI) ขึ้นมา ด้วยปณิธานที่มุ่งสนับสนุนชุมชนอย่างยั่งยืน
โดยนำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ อันได้แก่ วิถีโตโยต้า, ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ธุรกิจท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน อันเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ถอดสูตรจากทฤษฎี สู่การเรียนรู้จริงนอกตำรา
บริษัท โตโยต้าฯ ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2559 ณ กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อต่อยอดนำองค์ความรู้ในการผลิต การทำงาน และปรัชญาของโตโยต้ามาถ่ายทอดต่อในรูปแบบการเรียนรู้จริงที่สามารถจับต้องได้ และล่าสุดได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งที่ 3 ขึ้นมา ณ บริษัท รตาวัน จำกัด จังหวัดเชียงราย ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ภายใต้แบรนด์ “องค์อร เฟอร์นิเจอร์” เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของภาคเหนือ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
โดยบริษัท รตาวัน ได้เข้าร่วมโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เพื่อปรับปรุงพัฒนาธุรกิจตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งในขณะนั้นปัญหาหลักของธุรกิจ ก็คือ การขาดการวางแผนงานที่เป็นระบบ จึงทำให้เสียโอกาสในการขาย ถึงแม้ฝ่ายขายจะขายงานมาได้ แต่ก็ไม่สามารถรับออร์เดอร์จากลูกค้าได้ เนื่องจากให้คำตอบระยะเวลาการผลิตที่ชัดเจนไม่ได้ โดยเคยมีลูกค้ารอออร์เดอร์นานสูงสุดถึง 6 เดือน ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ เกิดจาก
1. ใช้วิธีผลิตแบบ Single station คือ ช่าง 1 คนต่อ 1 โมเดล โดยลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่แบกไม้ ตัดไม้ เลื่อยไม้ ไสไม้ ไม่มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนให้กับผู้ช่วย ทำให้ต้องใช้เวลาในการผลิตจากการเตรียมวัสดุและขึ้นโครงนานเฉลี่ยมากกว่า 50 ชั่วโมง/เฟอร์นิเจอร์ 1 ตัว ต้นทุนการผลิตจึงสูงขึ้น
2. ปัญหางานพ่นสีที่มีขั้นตอนมากเกินไปจากการทำงานซ้ำซ้อน เช่น การขัดผิวไม้และพ่นสีทำอยู่ในบริเวณใกล้กัน ไม่ได้มีการแยกห้องออกมาให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ทำให้ขณะที่พ่นสีอยู่ฝุ่นจากการขัดมาติดที่ชิ้นงานได้ ต้องกลับไปแก้ไขใหม่ โดยเคยต้องซ่อมงานใหม่สูงสุดมากถึงกว่า 200 จุด นอกจากนี้เมื่อพ่นสีเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องใช้เวลารอสีแห้งอีกกว่า 7 ชั่วโมงจึงจะสามารถเคลื่อนย้ายได้ งานใหม่จึงไม่สามารถทำต่อได้เลยทันที ทำให้รวมๆ แล้วต้องเสียเวลาในขั้นตอนการพ่นสีจนเสร็จเรียบร้อยต่อเฟอร์นิเจอร์ 1 ตัวนานกว่า 43 ชั่วโมง นอกจากนี้ห้องพ่นสียังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีกลิ่นสีฟุ้งกระจายออกมา จนเกิดการร้องเรียนจากชุมชน
3. เก็บสต็อกไว้มากเกินความจำเป็น ทำให้ต้นทุนจม เมื่อเก็บไม้ไว้นานยังอาจสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้ด้วย เช่น ไม้ขึ้นรา แตกหัก นอกจากนี้ยังไม่มีการจัดแยกประเภทและขนาดให้ชัดเจน ขาดการจัดลำดับการใช้งานก่อนมาหลัง ทำให้ต้องเสียเวลาในการค้นหาเมื่อต้องนำมาใช้งานจริง
ผลลัพธ์จากการเรียนรู้จริง ลงมือทำจริง
โดยหลังจากที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับโตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์ ทำให้แก้ไขปัญหาให้กับธุรกิจได้ ดังนี้
1.ใช้ระบบ Share workload ปรับการทำงานระหว่างผู้ช่วยช่างกับช่าง โดยให้ช่างเป็นผู้ประกอบอย่างเดียวประจำโต๊ะ และให้ผู้ช่วยเป็นคนเดินงาน เพื่อเตรียมขึ้นรูปชิ้นส่วนต่างๆ ให้เบื้องต้น ทำให้ลดขั้นตอนการทำงานลง สามารถส่งมอบงานได้เร็วขึ้น เช่น จากการผลิตโครงไม้สามารถลดลงจาก 50 ชั่วโมง เหลือเพียง 43 ชั่วโมง
2. ทำ Dolly เพื่อรองรับชิ้นงานเมื่อพ่นสีเสร็จ ทำให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยใช้เศษไม้ที่มีอยู่แล้วมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ขึ้นมา ทำให้ตัดขั้นตอนการรอสีแห้งซึ่งใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมงออกไป โดยสามารถพ่นสีตัวใหม่ต่อได้ในทันที จากขั้นตอนการพ่นสีทั้งหมดที่ต้องใช้เวลา 43 ชั่วโมงก็ลดเหลือเพียง 25 ชั่วโมงเท่านั้น
3. จัดทำบอรด์มาตรฐานการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ประเภทของไม้ที่ใช้ จำนวน ขนาด และบอรด์ควบคุมงานเข้า - ออก ตั้งแต่คำสั่งซื้อ จนถึงกำหนดเวลาส่งมอบงาน เพื่อใช้เป็นแนวทางและกำหนดเป้าหมายในการทำงาน จากปัญหาที่ทำให้สูญเสียโอกาสในการขาย เพราะไม่สามารถให้คำตอบระยะเวลาการผลิตที่แน่นอนได้ ก็สามารถทำได้
4. เคลียร์สต็อกเก่าออก วางระบบสต็อกใหม่ อะไรที่ไม่ใช่ ก็ทิ้ง อะไรที่ยังใช้ได้ แต่นานแล้ว ก็จัดทำโปรโมชั่นขายออกไป เพื่อให้ได้ทุนคืนกลับมา และประหยัดพื้นที่จัดเก็บ จากนั้นลองบริหารจัดการสต็อกใหม่ให้พอดีกับจำนวนการผลิต เช่น จากไม้อัดที่เดิมสั่งมาตุนไว้เดือนละแสนกว่าบาท ก็ปรับลดลงมาเหลือเพียง 5 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น ทำให้ช่วยลดต้นทุนจมในธุรกิจลงได้
SME เข้ามาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจ สามารถเรียนรู้ได้จากศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในแต่ละแห่ง ก็คือ รูปแบบของทฤษฎีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้จริงและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม จากผู้ประกอบการเคสตัวอย่างที่ได้เข้าร่วมพัฒนาปรับปรุงกับโตโยต้า ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ จากในชีวิตจริง
ยกตัวอย่างเช่น ภายในศูนย์การเรียนรู้โตโยต้าฯ แห่งที่ 3 นี้ นอกจากจะได้เข้ามาดูตัวอย่างการทำงานจริงของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ได้มาตรฐานแล้ว ยังได้เรียนรู้การวางแผนธุรกิจตลอดทั้งกระบวนการตั้งการผลิต จนถึงการส่งมอบงานให้ลูกค้า, การลดต้นทุนและเพิ่มกำไรให้ธุรกิจจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยระบบไคเซ็น (Kaizen) ซึ่งประกอบด้วย รู้ – รู้ปัญหาในกระบวนการผลิตที่เกิดขึ้น, เห็น – เห็นแนวทางการแก้ไข, เป็น – ทำเป็น ลงมือแก้ไขด้วยตัวเองก่อน โดยไม่ต้องใช้การลงทุนเยอะ, ใจ – เข้าใจ ใส่ใจ ดูแลทุกส่วนของธุรกิจอย่างใกล้ชิด, การบริหารจัดการสต็อกให้พอดี ช่วยลดต้นทุนจม เป็นต้น
โดยนอกจากศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3 แล้ว ในอนาคตบริษัท โตโยต้าฯ ยังมีเป้าหมายในการขยายศูนย์การเรียนรู้ฯ ต่อเนื่องให้ครบ 12 จังหวัด ตามเขตเศรษฐกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึงการเฟ้นหานวัตกรรมทางความคิดใหม่ๆ อาทิ การนำระบบกลไกอัตโนมัติ (Automation) มาปรับใช้กับโครงการฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มธุรกิจชุมชน นำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย
นับเป็นอีกตัวอย่างโครงการดีๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่หันมาให้ความสำคัญกับท้องถิ่นชุมชน อันเป็นฐานรากสำคัญต่อไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี