TEXT : ณัฏฐพัชร กมลพลพัตร
อย่างที่ทราบกันว่าก่อนหน้าวิกฤต COVID-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยรวมทั้งการโรงแรมนั้นเปรียบเสมือน “พระเอก” ที่จะเข้ามากอบกู้สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในเกือบทุกครั้งที่เครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศอย่าง ภาคการผลิต การเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม นั้นประสบปัญหา
ด้วยจำนวนรายได้สูงสุดก่อน COVID-19 ที่เคยทำได้ในปี 2562 กว่า 3.3 ล้านล้านบาท กับจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนกว่า 39-40 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมนี้มีเสน่ห์ดึงดูทั้งนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติให้เข้ามาสู่ธุรกิจนี้และแน่นอนว่าเมื่อมีนายทุนหรือ “นายจ้าง” ย่อมต้องมีอีกฝั่งคือ “ลูกจ้าง” ที่ย่อมต้องเข้ามาสู่โอกาสนี้ด้วยเช่นกัน ด้วยผลตอบแทนทั้งฐานเงินเดือนที่สูง สวัสดิการที่ดี เงินค่าบริการ (Service Charge) ที่บางโรงแรมมากกว่าเงินเดือนหรือโบนัสทั้งปีอีก ย่อมดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ได้อย่างง่ายดาย
สถาบันการโรงแรม มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาการโรงแรม วิทยาลัยการโรงแรม ทั้งในและต่างประเทศ มีนักศึกษาเข้าเรียนสาขานี้กันอย่างมากมายเพราะโอกาสที่มาหลังจากจบการศึกษานั้นมันค่อนข้างสดใส เพราะไม่มีเค้าลางหรือสัญญาณอะไรเลยที่จะมาบ่งบอกว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะล้มหายตายจากโลกนี้ไป” แม้จะมีวิกฤตเศรษฐกิจมากแค่ไหนแต่การท่องเที่ยวก็ยังโดดเด่นและผู้คนยังคงต้องเดินทางกันต่อไปอาจจะมีชะลอตัวไปบ้างแต่สุดท้ายก็ฟื้นตัวได้เร็วพิสูจน์ได้จากหลายวิกฤตทั้งวิกฤตสงครามอ่าวเปอร์เซีย วิกฤตโรคอีโบลา วิกฤตโรคซาร์ วิกฤตโรคเมอร์ สึนามิ แต่ใช้เวลาไม่นานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็กลับมาตั้งลำพร้อมทะยานได้อย่างแข็งแกร่งในทุกครั้ง
ก่อนช่วง COVID-19 มีข้อมูลสำรวจจากสมาคมโรงแรมไทย (THA) จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมไทยก่อนช่วง COVID-19 มีจำนวนแรงงานในระบบกว่า 1,630,419 ล้านคน มีโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศกว่า 32,564 โรงแรม มี Supply ด้านห้องพักในระบบ 1,254,168 ล้านห้องพัก (https://www.bangkokbiznews.com/news/873519)
แต่หลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 มีการประมาณการโดยสมาคมโรงแรมไทยในปี 2563 ว่าจากสถานการณ์ Lockdown ที่เกิดขึ้นส่งผลให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักจะทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมว่างงานทั้งชั่วคราวและแบบถาวรกว่า 1 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าถ้าเรามองกันในจำนวนแรงงานก่อนหน้า COVID-19 กับช่วงที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนต้องออกจากอุตสาหกรรมไป แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเหลืออยู่เพียง 630,419 คน หายไปจากระบบร้อยละ 61.3 เกินครึ่งของจำนวนแรงงานที่มีอยู่
เท่านั้นยังไม่พอนักศึกษาการโรงแรมและการท่องเที่ยที่จำเป็นต้องฝึกงานเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ก่อนออกมาสู่ตลาดแรงงานผลัดเปลี่ยนกับแรงงานที่เกษียณออกไปยังเผชิญภาวะที่เรียกได้ว่าเป็นการ “เรียนจบแบบออนไลน์” ไม่มีโอกาสได้ฝึกงานซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนสาขาการโรงแรมทำให้พัฒนาทักษะได้ไม่เต็มที่ทำให้ถ้าจะเข้าสู่อุตสาหกรรมก็ต้องเพิ่มทักษะการปฏิบัติงานกันเข้าไปใหม่ ส่วนพนักงานที่อยู่ในตลาดก็ประสบกับปัญหาปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายการลดการจ้างงานเพิ่มทำให้ต้องทำงานเกินหน้าที่และเกินกำลังไปมาก
แต่หลังจากที่วิกฤต COVID-19 ในทั่วโลกเริ่มคลี่คลาย ผู้คนเริ่มคุ้นชินกับวิถีชีวิตใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับมัน อุตสาหกรรมโรงแรมเหมือนจะกลับมาเป็นที่หมายปองของเหล่าบรรดานักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอีกครั้ง เชนโรงแรมใหญ่ๆ ต่างพาเหรดกันออกมาประกาศแผนการขยายกิจการกันอย่างกว้างขวาง อาทิ
- Marriott International เชนโรงแรมสัญชาติอเมริกัน วางแผนขยายกิจการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการเปิดโรงแรมให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี 2565 (https://www.thansettakij.com/advertorials/social-biz/486053)
- Accor เชนโรงแรมสัญชาติฝรั่งเศส เตรียมแผนขยายกิจการด้วยการเปิดตัวโรงแรมใหม่ปี 2565 กว่า 300 แห่งทั่วโลก (https://www.bangkokbiznews.com/business/984166)
- Intercontinental Hotels Group (IHG) เชนโรงแรมสัญชาติอเมริกัน เปิดเผยแผนการดำเนินงานในช่วง 1-5 ปีข้างหน้าว่า เครือ IHG จะเดินหน้าเปิดโรงแรมแห่งใหม่อีก 30-34 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวน 8,100 ห้อง (https://www.prachachat.net/tourism/news-863215)
- Radisson Hotel Group: RHG เชนโรงแรมสัญชาติอเมริกัน ตั้งเป้าเปิดโรงแรมครบ 100 แห่งในไทยภายในปี 2568 จากปัจจุบันมีโรงแรมภายใต้เครือเรดิสันในไทยจำนวน 6 แห่ง (https://www.bangkokbiznews.com/business/1012801)
ยังมีอีกหลายผู้ประกอบการที่เตรียมขยายธุรกิจโรงแรมในปี 2565 และในปีต่อๆ ไป ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นดูเหมือนอุตสาหกรรมโรงแรมของประเทศไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างน่าสนใจจากการเร่งขยายการลงทุนของเชนใหญ่ๆ ที่ในแต่ละ Property ย่อมตามมาด้วย Supply ห้องพักที่ระดับขั้นต่ำตั้งแต่ 100 ห้องขึ้นไปเพราะเป็นระดับที่สามารถ Drive Revenue ให้กับโรงแรมได้ดีรับลูกค้าได้หลายกลุ่มที่สำคัญแต่ละ Brand มีฐาน Loyalty Program ที่เป็น Member หลักหลายสิบล้านคนทั่วโลก
ซึ่งในสถานการณ์ปกติกรณีแบบนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ดีและมีแต่มุมมองเชิงบวก แต่ไม่ใช่กับในสถานการณ์ตลาดแรงงานโรงแรมในขณะนี้ที่จำนวน Supply แรงงานในระบบเริ่มมีอยู่อย่างจำกัดและนักเรียน นักศึกษาการโรงแรมที่ผลิตออกมาป้อนตลาดซึ่งบางคนถูกจองตัวตั้งแต่ยังเรียนไม่จบและไปฝึกงาน ที่จบออกมาแล้วก็ยังคงต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะสู่ความเป็นเลิศทางด้านสายงานบริการโรงแรมในแต่ละแผนกเพื่อแข่งขันในตลาดแรงงานได้ สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในสภาวะขาดแคลนแรงงานในมุมส่วนตัวของเฮียต่อจากนี้ คือ
1. ภาวะมนุษย์ทองคำ จะเกิดการแย่งชิงแรงงานในตลาดโรงแรม ในสถานการณ์เช่นนี้จากจำนวน Supply โรงแรมที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับจำนวนห้องพักที่เพิ่มขึ้นตลาดตอนนี้จะเป็นตลาดที่ “แรงงานมีอำนาจต่อรองสูง” ถ้าเป็นภาษาการตลาดก็คงเป็น “Buyer Market” เป็นตลาดที่ผู้ซื้อมีสิทธิเลือก” โดยเฉพาะแรงงานทักษะสูงและตรงตามคุณสมบัติที่เขาต้องการทั้งทักษะในงานและทักษะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกธุรกิจในปัจจุบันเพราะตลาดต้องการคนเข้าไปเติมเต็ม Project ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น แน่นอนว่าเมื่อคนหายาก การจูงใจ คือ สิ่งที่นายจ้างที่อยากได้แรงงานจะนำมาใช้ ฐานเงินเดือนที่ปรับสูงขึ้น สวัสดิการณ์ที่ดีขึ้น Benefit อื่นๆ จะถูก Offer เข้ามาในส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างงาน เช่น ห้องพักโรงแรมในเครือในราคาพนักงาน (Staff Rate) การทำ Co-Promotion ร่วมกับแบรนด์อื่นๆ เป็นสิทธิพิเศษให้พนักงาน
สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ แบรนด์ใหญ่ๆ จะมีอำนาจในการเลือกคนมากกว่าแบรนด์เล็กๆ เพราะสายป่านด้านการเงินจะยาวกว่า กลายเป็นเพดานเงินเดือนที่เป็นฐานของตำแหน่งต่างๆ ในโรงแรมอาจจะถูกปรับสูงขึ้นอีกครั้ง ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นแต่ในอีกมุมก็ต้องยอมรับเพราะในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา พนักงานโรงแรมก็ประสบเคราะห์กรรมและปัญหากันมาอย่างยากลำบากที่ยัง Survive และยืนหยัดอยู่ได้ก็ต้องมีอะไรที่มาฉุดรั้งไว้และทำให้รู้สึกว่า “คุ้มที่จะอยู่ต่อ” ต้องคิดเยอะขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะต้องเจอวิกฤตแบบนี้อีกหรือไม่ ทางหนีทีไล่จึงสำคัญ
2. ความยากในการหาแรงงาน และระยะเวลาที่ใช้ในการ Recruitment ตำแหน่งงานว่างต่างๆ จะใช้เวลานานขึ้น แน่นอนว่าในช่วง COVID-19 พนักงานโรงแรมกว่าล้านคนถูกเลิกจ้างทั้งชั่วคราวและถาวร (https://news.thaipbs.or.th/content/296402) มุมหนึ่งก็สร้างความลำบากให้กับพนักงานโรงแรมเป็นอย่างมาก แต่อีกมุมหนึ่งก็ทำให้พนักงานโรงแรมที่หมดอนาคตในสายอาชีพนี้ไปได้ค้นพบหนทางใหม่ๆ บางคนไปทดลองทำอาชีพอิสระ ที่นิยมที่สุดก็เป็น Driver ให้ Food Delivery ต่างๆ รายได้หนึ่งเดือนก็เกือบๆ ทำงานโรงแรมหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เหนื่อยเหมือนกันหรืออาจจะมากกว่าแต่ได้รับผลตอบแทนและ “เวลา” ที่มีอิสระมากกว่า หรือบางคนก็ไปทำสวน ทำการเกษตร ซึ่งต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ช่องทางการขาย การหาลูกค้ามันสะดวกขึ้นและเช่นเคยอาจจะงานหนักไปบ้างแต่ “เวลา” และอิสระคือสิ่งที่เข้ามาเติมเต็ม
ยังมีอีกหลายๆ ตัวอย่างที่ออกจากอุตสาหกรรมโรงแรมแล้วไปได้ดิบได้ดีซึ่งคนเหล่านี้ถ้าจะให้กลับเขามาอีกมักจะมีคำตอบอยู่สองอย่างคือ “ไม่” กับ “คิดดูก่อน” อาจจะมีส่วนน้อยที่จะตัดสินใจกลับมาทันทีเพราะบางคนก็กลัวว่า “จะโดน Layoff อีกหรือเปล่า” หรือ “ถูกลดค่าจ้างอีกไหม?” เมื่อสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้มีชีวิตที่ดีอยู่แล้วการจะให้กลับไปก็ต้องคิดกันให้ดีพอสมควรยิ่งเป็นยุคของ Work life balance แล้วด้วยหลายคนอาจจะเลือกไม่กลับมา
3. งานโรงแรมไม่ใช่อาชีพในฝันอีกต่อไป ผลพวงจากกระแสความเป็น Digitalization ทำให้ผู้คนคุ้นชินกับเทคโนโลยีมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นมีตัวอย่างผู้คนที่ได้รับความสำเร็จจากการเป็นผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ (Influencer) หรือเป็น Blogger, Youtuber, ฯลฯ ทำให้อาชีพเหล่านี้มักจะได้รับความนิยมในกลุ่มแรงงาน Gen Y, Gen Z, ที่เป็นแรงงานหลักในปัจจุบันมากกว่างานโรงแรม ผลพวงจากความไม่ใช่อาชีพในฝันเพราะต้องทำงานหนักทำให้ความสนใจเข้าสู่อุตสาหกรรมคนกลุ่มนี้ลดน้อยลง แม้แต่นักเรียนนักศึกษาที่เรียนสาขาการโรงแรมเมื่อจบมาก็อาจจะเลือกไม่เข้าสู่อุตสาหกรรมฯ เพราะมีช่องทางในการหาอาชีพมากขึ้นในปัจจุบัน มีตัวอย่างการทำเงินหลายวิธีการให้เลือกศึกษา แม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสำเร็จแต่ด้วย Personality ของ Gen นี้ที่อยากรู้อยากลองก็ไม่กลัวที่จะเริ่มต้นกับสิ่งเหล่านั้น
4. เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก่อนหน้านี้มีหลายชุดความคิดเชื่อว่าอุตสาหกรรมที่ต้องเป็น Human Touch อย่างโรงแรม ไม่สามารถนำเทคโนโลยีอะไรเข้ามาใช้ได้มากนักเพราะ “แขกต้องการสัมผัสกับการให้บริการโดยมนุษย์มากกว่า” อันนี้เป็นชุดความคิดที่เป็นจริงและไม่ผิดไปจากนี้ เพียงแต่เมื่อเราร้อยเรียงวิกฤตการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรมที่กำลังจะเกิดขึ้นกับแนวโน้มทั้ง 3 ข้อที่ผ่านมา เมื่อแก้ปัญหาที่ตัวบุคคลไม่ได้เทคโนโลยี คือ สิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ในที่สุด อาจจะไม่ได้เข้ามาด้วยความเต็มใจและอยากจะเลือกของผู้ประกอบการ แต่เมื่อธุรกิจต้องเดินไปข้างหน้าการปล่อยให้ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีอยู่ต่อไปย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดีนักที่จะให้เกิดขึ้น
ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆ จะถูกนำมาใช้มากขึ้นพร้อมกับการปรับข้อกฎหมายให้เอื้อต่อการใช้ที่จะมาพร้อมๆ กัน เช่น ระบบ Online Check In ที่ให้แขกเซ็น ร.ร.3 ได้โดยไม่ต้อง Print ออกมาเป็น Hard Copy เซ็นกันอีกทีตอนมาถึงโรงแรมและสามารถจัดเก็บไว้ในรูปแบบ Digital File โดยได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการว่าเก็บได้เวลามาตรวจสอบก็แค่เปิดไฟล์ให้ดูไม่ต้องมีเป็นแผ่นกระดาษเหมือนในทุกวันนี้ หรือแม้แต่การส่ง ร.ร.4 ที่อาจจะมีการอนุญาตให้ส่งเป็น E-Filling ได้เหมือนกรณีของการส่งรายชื่อแขกต่างชาติให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.30) ซึ่งในปัจจุบันยังต้องไปส่งที่อำเภอหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่นับรวมเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะเข้ามาช่วยลดปัญหาพนักงานขาดแคลน เช่น ระบบ IOT ต่างๆ ระบบ Robot ในบางเนื้องานที่เป็นงานประจำซ้ำๆ ใช้ทักษะไม่สูง ระบบ Keyless และ Mobile Key ที่ลดขั้นตอนการรอกุญแจและ Check In กับพนักงานไปได้ในตัว นี่คือ ตัวอย่างที่อาจจะเข้ามามีบทบาท เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในโรงแรมเริ่มรุนแรงมากยิ่งขึ้น
ฟังดูแล้วเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับพนักงานโรงแรมที่ก่อนหน้านี้โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ซึ่งหลายๆ สำนัก หลายๆ องค์การ ต่างออกมาวิเคราะห์วิจารณ์ว่าเป็นอาชีพที่ “เสี่ยงจะถูกเลิกจ้างมากที่สุด” หรือไม่ก็ “เป็นอาชีพดาวร่วงแห่งปี” เพราะจากวันนั้นที่เราประสบเคราะห์กรรมโดนเลิกจ้าง โดนลดเงินเดือน ตกงานเป็นเดือนๆ ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด วันนี้กลับกลายมาเป็นหลายโรงแรมกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การหาพนักงานที่ต้องการไม่ได้เพราะโลกปรับให้แรงงานต้องมีทักษะอื่นๆ ควบคู่กับทักษะงานบริการไปด้วย การเรียกค่าตัวที่สูงขึ้นสำหรับแรงงานทักษะสูง ในหลายพื้นที่แล้วและแม้จะ Offer ดีขนาดไหนบางทีก็ไม่ได้รับประกันว่าจะทำให้ “ได้คนที่ต้องการ” หรือแม้แต่ได้คนที่ต้องการมาแล้วก็ยังไม่แน่ใจว่าจะ “อยู่นาน” หรือเปล่า หลายที่ก็ยังคงต้องหาพนักงานกันต่อไป
แน่นอนว่าปัญหาการขาดแคลนแรงงานมุมหนึ่งไม่ได้เกิดมาแค่จากแรงงานในตลาดมีไม่เพียงพอแต่สิ่งที่มีเพิ่มขึ้นมานั่นคือ “ความคาดหวังของนายจ้าง” ที่ต้องการแรงงานทักษะที่สูงขึ้นตามเนื้องานและโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปมากขึ้นด้วยเช่นกัน
สุดท้ายแล้วอย่างหนึ่งที่เราพอจะยึดมั่นได้คือ “ความไม่แน่นอนไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้” ถ้าว่ากันตาม Iceberg Theory ส่วนที่โผล่พ้นน้ำตอนนี้คงเป็นอุปสรรคต่างๆ ที่เรามองเห็นจากการเร่งพลิกฟื้นการท่องเที่ยวซึ่งเราอาจจะหาวิธีหลบหลีกมันไปได้บ้างโดยมีเรือที่กำลังแล่นไปข้างหน้าซึ่งเปรียบเสมือนการเร่งขยายธุรกิจของกลุ่มทุนต่างๆ แต่ส่วนที่จมอยู่และกำลังจะเป็นปัญหาที่เรืออาจจะพุ่งชนก็คงเป็นการขาดแคลนแรงงานที่ถ้าไม่เร่งแก้เสียแต่เนิ่นๆ อาจทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงแรมสะดุดอีกครั้งก็เป็นได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี