จากพนักงาน สู่เจ้าของกิจการ ส่อง 3 เคสตัวอย่างจากเรื่องจริง เตรียมตัวยังไงไม่ให้แป๊ก ธุรกิจอยู่รอดเป็นสิบปี

 

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเริ่มต้นความสำเร็จในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการหลายคนนั้น อาจเริ่มมาจากการเป็นพนักงานกินเงินเดือนที่มีความใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งอยากออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่ต้องทำยังไงถึงจะไปรอดได้ ธุรกิจเติบโตไปได้ด้วยดี  วันนี้เรามีเคสตัวอย่างจาก 3 ธุรกิจที่แต่ละแบรนด์คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจไม่ต่ำกว่าสิบปีมาฝากกัน

เจคิว ปูม้านึ่ง

ตั้งเป้าแล้วไปให้ถึง ทำให้ได้แล้วค่อยออก

     ย้อนไปเมื่อ 12 ปีก่อนจะมาเป็นเจ้าของอาหารทะเลเดลิเวอรีชื่อดังอย่างทุกวันนี้ สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ ผู้ก่อตั้ง เจคิว ปูม้านึ่ง ก็เคยทำงานเป็นพนักงานขายอยู่ในบริษัทแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความที่อยากหารายได้เพิ่ม จึงคิดเริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ พร้อมกันไปด้วย โดยได้ทดลองทำหลายอย่าง ประสบความสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง จนในที่สุดล้มเหลวมากกว่า จึงคิดอยากเริ่มต้นทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงน้อย

     ด้วยความที่ที่บ้านมีธุรกิจแพปูม้าอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงเริ่มทดลองจากนำของที่บ้านมาขายก่อน โดยเริ่มต้นจากขายส่งปูม้าสด แต่กลับมีปัญหาโดนยกเลิกออร์เดอร์กระทันหันอยู่บ่อยครั้ง จึงลองเปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาขายปูม้านึ่งส่งเดลิเวอรีแทน ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีอาชีพไรเดอร์อย่างทุกวันนี้ แต่ก็เลือกใช้วิธีจ้างวินมอเตอร์ไซต์แทน ด้วยความแปลกใหม่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงได้รับความสนใจจากสื่อมากมาย ส่งผลให้มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยก่อนที่จะตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจเต็มตัว เธอได้สร้างเงื่อนไขกับตัวเองไว้ว่า

     “ก่อนที่จะลาออกจากงาน เราตั้งเป้ากับตัวเองไว้ว่าจะต้องมียอดขายให้ได้เท่านี้ๆ ติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนถึงจะลาออก เพราะเอาเข้าจริงช่วงแรกที่ขายดี อาจเพราะเพื่อนช่วย เลยทำให้ยอดขายกระโดด ถ้าเราลาออกมาเลย  เดือนที่สองถ้าไม่มีคนซื้อซ้ำ เราก็อยู่ไม่ได้ เลยอยากฝากคนที่อยากลาออกมาทำธุรกิจว่าให้ลองตั้งเป้าสร้างเงื่อนไขกับตัวเองไว้สักหน่อย เพื่อให้มั่นใจว่าออกมาแล้วจะไปต่อได้”

Oh Veggies

หาโอกาสจากช่องว่างตลาดให้เจอก่อน ค่อยลงมือทำ

     Oh Veggies ผู้บุกเบิกตลาดผัก-ผลไม้ Ready to Eat รายแรกๆ ของไทยที่เริ่มต้นดำเนินธุรกิจขึ้นมาเมื่อ 15 ปี ซึ่งผู้ก่อตั้งขึ้นมาก็คือ “วุฒิชัย เจริญศุภกุล” อดีตพนักงานประจำที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง

     โดยก่อนที่จะตัดสินใจลงมือว่าจะออกมาทำธุรกิจอะไรดีนั้น สิ่งที่วุฒิชัยใช้ในการตัดสินใจ ก็คือ การสำรวจข้อมูลในตลาด สแกนหา Pain Point ความต้องการจากผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง จนในที่สุดเขาได้เห็นช่องว่างในตลาด โดยยุคนั้นเป็นยุคที่ผู้บริโภคเริ่มหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น มีผัก ผลไม้สดวางขายอยู่เต็มท้องตลาด แต่กลับไม่มีแบรนด์ใดที่หันมาจริงจังกับการแปรรูปเป็นผลิตัณฑ์ให้พร้อมรับประทานได้เลย จึงเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจให้กับเขาขึ้นมาได้นั่นเอง

     “ตอนนั้นรัฐบาลออกแคมเปญส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคผักกันมากขึ้นให้ได้วันละ 400 กรัม ซึ่งเราพบว่าทุกคนก็อยากมีสุขภาพดี แต่ด้วยความเร่งรีบในการทำงาน จึงทำให้เป็นเรื่องยุ่งยากในการเตรียมอาหาร เราลองไปเดินสำรวจซูเปอร์มาเก็ต ก็พบว่ามีผักผลไม้อยู่มากมาย แต่ยังไม่มีเป็นรูปแบบสำเร็จรูป Ready to Eat ที่พร้อมรับประทานได้เลย แต่ในเมืองนอกขณะนั้นเริ่มมีบ้างแล้ว เรามองเห็นโอกาสจากช่องว่างตรงนี้ ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา จึงค่อยตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจของตัวเอง”

Jinta Homemade Icecream

เมื่อถึงเวลาตัดสินใจต้องเลือก ก็ต้องเลือก

     เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล หรือ หนุ่ม อดีตพนักงานออฟฟิศที่ในวันนี้ได้กลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์ไอศกรีมโฮมเมดคุณภาพจากรสชาติสร้างสรรค์จนมีแฟนพันธุ์แท้รอติดตามเป็นลูกค้าประจำอยู่เสมอ โดยเหตุผลที่ทำให้เมธวัจน์ตัดสินใจเลือกทำอาชีพที่ 2 เพื่อหารายได้เสริมรวมถึงปูทางธุรกิจในอนาคตให้กับครอบครัว ก็คือ เขากำลังจะกลายเป็นพ่อคน

     ซึ่งอาชีพที่เมธวัจน์และภรรยาเลือกทำ ก็คือ ไอศกรีมโฮมเมดภายใต้แบรนด์ว่า “Jinta Homemade Icecream” หรือ จินตะ ไอศกรีมโฮมเมด ชื่อแบรนด์ ซึ่งนำมาจากชื่อลูกสาวคนโตของเขา (จิณณ์ตา) โดยช่วงแรกนั้นไอศกรีมของเขาไม่ได้มีลักษณะโดดเด่นอะไร รสชาติที่มีเหมือนกับไอศกรีมพื้นฐานทั่วไป รายได้ที่เข้ามาจึงแค่หลักพันกว่าบาทต่อเดือน กระทั่งต่อมาเขาได้เริ่มไปออกงานตลาดนัดสีเขียว ได้รู้จักวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ จึงทำให้สร้างสรรค์รสชาติที่แปลกใหม่ออกมา จนสร้างคาแรกเตอร์ให้กับแบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

     เมธวัจน์เลือกที่จะให้ภรรยาลาออกมาทำก่อน พร้อมกับดูแลลูกไปด้วย โดยมีเขาเป็นยังเป็นตัวหลักทั้งในงานประจำและการทำไอศกรีมขายไปด้วย โดยตื่นมาทำงานตั้งแต่เช้า เย็นกลับไปทำไอศกรีม พร้อมส่งลูกเข้านอน บางวันก็เผลอหลับไปโดยไม่รู้ตัว กระทั่งครั้งหนึ่งเขาเคยทำไอศกรีมส่งขายวันเดียวได้เงิน 3,000 บาท แต่เช้าวันรุ่งขึ้นต่อมากลับต้องเสียเงินในจำนวนเท่ากันจากการพักผ่อนไม่เพียงพอจนเกิดอุบัติเหตุไปชนกับรถยนต์เข้า จนสุดท้ายทำให้เขากลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง และตัดสินใจเลือกที่จะทำทางใดทางหนึ่งเพียงอย่างเดียว

     “ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าเราจะเหนื่อยเพื่ออะไร และไม่ควรต้องมาเสียเงินกับเรื่องแบบนี้ เพราะสุดท้ายหามาได้ก็ต้องจ่ายออกไปอยู่ดี เลยตัดสินใจรีบลาออกจากงานประจำ คือ จะทำงานประจำต่อไปหรือจะมาทำไอศกรีมต้องเลือกแล้ว ในที่สุดผมก็เลือกทำไอศกรีม พอธุรกิจเริ่มตั้งไข่ได้ ก็เลยตัดสินใจลาออกมา เพราะไม่สามารถทำงานหนักเพื่อให้ได้ดีทั้งสองอย่างได้พร้อมกัน ถ้ามั่นใจแล้วก็ควรเลือกสิ่งที่ใช่ที่คิดว่าจะเป็นอนาคตต่อไปได้”

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย