พนมบุ๊ค การเดินทางครั้งใหญ่ของวิศวกร เลือกเติบโตทางธุรกิจในถิ่นบ้านเกิด

 

     ความสุขอย่างหนึ่งของคนเรา คงหนีไม่พ้นการได้ทำในสิ่งที่ชอบ ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นในสังคม ดูเหมือนไม่ง่าย เพราะเราต่างพบว่าชีวิตจริงกับความฝันมักดำเนินไปด้วยกันไม่ค่อยจะสมดุล แต่ “พนม” สามารถแก้ Pain Point ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ด้วยการรวบรวมสิ่งที่ชอบเป็นจุดขาย แล้วสร้างอาชีพเลี้ยงตัวเองได้

     ถ้ากล่าวถึงร้านหนังสืออิสระเพียงหนึ่งเดียวในเมืองนครพนม คนอ่านหนังสือต้องรู้จัก พนมบุ๊ค สโตร์ ในขณะเดียวกันถ้าบอกว่าร้านกาแฟดีๆ ที่ขายหนังสือ คนหลายคนยังนึกถึง พนมบุ๊คสโตร์ เช่นกัน

     แมน - ธรรมนิตย์ พนมศักดิ์ อดีตวิศกรหนุ่มที่วันหนึ่งยอมลาออกจากอาชีพที่คนทั่วไปมองว่ามั่นคง เดินทางกลับบ้านเกิด เแล้วจับพลัดจับผลูกล้าลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่รัก สยบคำปรามาสจากบางคน ก่อตั้งร้านหนังสืออิสระคู่กับการขายกาแฟสไตส์สโลว์บาร์ มีภาพถ่ายฝีมือตัวเองประดับร้าน นำเสนอสิ่งที่ตัวเองรักและชอบจนเป็นที่รู้จักของทั้งนักเดินทาง คนอ่านหนังสือ และคนดื่มกาแฟ

     บนถนนอภิบาลบัญชา ช่วงย่านการค้ามีธนาคารเกือบทุกสำนักตั้งอยู่บริเวณนี้ พนมบุ๊คซ่อนตัวอยู่ในอาคารพาณิชย์สีเขียว ทางเข้าเต็มไปด้วยต้นไม้หลายกระถาง ประตูบานกระจกที่ต้องใช้แรงดึงผลักเปิด-ปิด มีจุดสังเกตแค่ “พนม” ตัวหนังสือสีขาวเหนือประตู

     แค่ผลักประตูเข้าไปกลิ่นอายของความเรียบง่ายทักทายให้ผมหลงรัก หนังสือถูกเก็บไว้บนชั้นติดผนังทั้งซ้ายและขวา ใช้สายตาประมวลคร่าวๆ ว่าคงแบ่งแยกย่อยได้ทั้งหนังสือรางวัล อย่างโนเบลและซีไรต์ รวมทั้งวรรณคดี วรรณกรรมต่างๆ ทั้งเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ ในนี้มีหนังสือทำมือเล่มเล็กที่หาอ่านไม่ง่ายรวมอยู่ด้วย

     กลางร้านมีบาร์กาแฟพร้อมเมล็ดให้เลือกหลายตัวสำหรับดริป ส่วนใครชอบดื่มกาแฟนมหรือสกัดเครื่องก็มีให้เลือกเช่นกัน แมนบอกว่าตอนนี้หลงรักศาสตร์กาแฟอีกอย่าง พยายามศึกษาให้รู้จัก รู้จริง ตั้งแต่แหล่งผลิต การโปรเซส จนมาถึงเรื่องคั่ว ซึ่งตัวเองกำลังทำอยู่ และจบท้ายด้วยการบรรจงสกัดเป็นเครื่องดื่มให้ลูกค้าซึมซับ

     เดินลึกเข้าไปหน่อยมีชั้นหนังสือที่ดูไม่ค่อยเป็นระเบียบมากนัก ไม่ได้มีไว้ขายอย่างชั้นด้านหน้า เป็นหนังสือสะสมที่เจ้าของชอบ ส่วนมากมีเนื้อหาเกี่ยวกับการถ่ายภาพสัตว์ป่า วิชาการพันธุ์ไม้ การจำแนกต้นไม้ กล้วยไม้ป่า เพราะตอนที่ทำงานประจำเป็นวิศวกร เวลาว่างก็เดินทางเข้าป่าถ่ายภาพ มีความสุขเสมอกับการเดินทางแบกกล้อง ตอนนั้นสร้างเพจชื่อ “Wildlife ไหนล่ะสัตว์” มีการจัดทริปเข้าป่า ดูสัตว์ ดริป กาแฟ ฟังดนตรีจากศิลปินรับเชิญ และบริจาคสิ่งของจำเป็นให้เจ้าหน้าที่

     แมนบอกว่า ตึกนี้เคยเป็นร้านตัดผมของพ่อ ชื่อ “พนมบาร์เบอร์” และพนมเป็นชื่อของพ่อ ตอนตั้งชื่อร้านเลยไม่ได้คิดอะไรเยอะจึงใช้ชื่อเดิม ยิ่งพนมเป็นชื่อของพ่อด้วย ยิ่งมีความหมายทางความรู้สึก เพราะพ่อสอนให้เรียบง่าย สอนให้ขยัน สอนทุกสิ่งทุกอย่าง ตึกหลังนี้จึงเต็มไปด้วยความทรงจำวัยเด็ก

     การตัดสินใจออกจากงาน เพื่อเป้าหมายสำคัญในการเติบโตที่บ้านตัวเอง คือ การเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต โดยส่วนใหญ่แมนจะทำร้านคนเดียว ไม่มีลูกจ้าง และคาแรกเตอร์ที่เป็นคนพูดน้อย การบริการจึงอาจไม่ดีเท่าร้านใหญ่ แต่ลูกค้าประจำส่วนมากก็เป็นคนที่นิสัยคล้ายกัน มาสั่งกาแฟ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นกับแมว แล้วกลับ เราต่างรักษาพื้นที่ของกันและกัน ให้เกียรติไม่ก้าวล้ำ

     ช่วงแรกๆ ร้านหนังสือเปิดแค่เสาร์-อาทิตย์จากเช้าจนค่ำ เพราะตัวเองยังทำงานประจำอยู่ในมหาวิทยาลัยนครพนม จนได้รับการตอบรับอย่างดี จึงมาเปิดเต็มตัวจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะใช้เวลาทำงานในร้านเกือบทุกวัน แต่แมนก็มีเวลาปิดร้านออกไปใช้ชีวิต หนังสือกับกล้องถ่ายรูปยังเป็นของคู่กายที่ขาดไม่ได้ทุกการเดินทางเช่นเดิม

     นครพนม จังหวัดเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงที่เคยมีผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าประชาชนมีความสุขอันดับหนึ่งของประเทศไทยสองปีซ้อน มันอาจจะเป็นแค่คำบอกเล่าที่ไม่ทำให้เราเห็นภาพ แต่สำหรับผม เมื่อได้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เห็นการแสดงออกของเมือง ที่ยังมีความสุขกับการใช้ชีวิตช้าๆ ภาพคนปั่นจักรยานยังพบเห็นได้ทั่วไป ยิ่งได้รู้จัก พนมบุ๊ค และรับรู้เรื่องราว ที่นี่อาจจะไม่ยิ่งใหญ่จนชับเคลื่อนทั้งเมืองได้ แต่ฟันเฟืองเล็กๆ เหล่านี้แหละ ที่มีค่าในการส่งต่อความสุขให้คนต่างถิ่นอย่างผมรู้สึกได้

     ครั้งหนึ่งแมนเคยบอกผมไว้อย่างแน่วแน่ว่า

     “พนมก็จะเป็นแบบนี้แหละ ยังคงช้าๆ ทำในสิ่งที่รัก ให้หล่อเลี้ยงได้ทั้งจิตวิญญาณและชีวิต ถ้าวันหนึ่งที่นี่เปลี่ยนไป ตอนนั้นคงไม่ใช่ พนม ละ”

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/PhanomBookstore/

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย