TEXT : กองบรรณาธิการ
ซอฟต์พาวเวอร์ กำลังเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลในด้านการสร้างมูลค่าและยกระดับเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นทั้งการใช้ศิลปวัฒนธรรม อาหาร ดนตรี แต่ที่ดูจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้น กลุ่มคอนเทนต์และความบันเทิงที่เป็นรายการ ซีรีส์ หรือภาพยนตร์ ที่หลายประเทศประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างภาพจำและสื่อสารกับประชากรทั้งในและต่างประเทศ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น อเมริกาที่มักจะมีภาพยนต์เกี่ยวกับเรื่องอวกาศ หรือเทคโนโลยีที่เป็นการสื่อให้เห็นว่า รัฐบาลมีนโยบายและให้งบประมาณสำหรับเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง หรือประเทศอันดับ 1 ในด้านนวัตกรรมของเอเชียอย่างเกาหลีใต้ที่ในปีที่ผ่านมาได้ถ่ายทอดซีรีส์ “สตาร์ทอัพ” จนทำให้แฟน ๆ และคนทั่วไปเข้าใจถึงความหมายและบริบทของสิ่งที่กำลังสื่อสารได้อย่างลึกซึ้ง และเกิดปรากฏการณ์สตาร์ทอัพฟีเวอร์กันเลยทีเดียว สำหรับประเทศไทยก็มีนโยบายในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม 5F ซึ่งได้แก่ FOOD, FILM, FASHION, FIGHTING และ FESTIVAL
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้เดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ โดยการผลักดันคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมนำเสนอโมเดลทางธุรกิจ ผ่านรายการ “นิลมังกร เดอะเรียลลิตี้” ซึ่งเป็นการนำพลังของซอฟต์พาวเวอร์มาสร้างโอกาสการเติบโตให้กับผู้ประกอบการ การสื่อการถึงคีย์เวิร์ด “นิลมังกร” เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจถึงบริบทของธุรกิจนวัตกรรมในระดับท้องถิ่นต้องการนำพาธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับโลกยุคใหม่ที่ต้องมีคาแรคเตอร์ และอาวุธที่สำคัญต่าง ๆ ดังนี้
1. ใช้ของที่มีอยู่จากท้องถิ่นให้เป็น เป็นการนำสิ่งที่รู้จักหรือคุ้นชินมาต่อยอดเป็นสินค้าและบริการ เพื่อพัฒนาสิ่งใกล้ตัวให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด
2. นวัตกรรมต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ได้จำกัดแค่คำว่า “ล้ำสมัย” เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงความแปลกใหม่ หรือช่วยแก้กระบวนการผลิต หรือการตลาดแบบเดิม ๆ ซึ่งปัจจุบันสิ่งเหล่านี้สามารถมองหาได้จากเครือข่ายภาครัฐ งานวิจัย และมีหน่วยงานเป็นจำนวนมากที่พร้อมให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน และองค์ความรู้ที่มีอย่างไม่จำกัด
3. ทำในสิ่งที่ไม่ซ้ำใคร เพื่อสร้างความแตกต่างที่ตอบโจทย์ความต้องการของวิถีชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนไป
4. ความอดทนในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยให้มีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะตลอดเส้นทางในการดำเนินธุรกิจจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการฟันฝ่าทุกอุปสรรคทั้งการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการเรียนรู้จากคู่แข่งหรือผู้ที่ให้คำแนะนำเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง
5. ครีเอทีฟ อาวุธสำคัญสำหรับทุกธุรกิจ ซึ่งต้องผลักดันให้เกิดขึ้นทั้งวิธีการนำเสนอสินค้าหรือบริการ การสื่อสารผ่านการโฆษณา การสร้างคอนเทนต์ รวมถึงตัวตนของธุรกิจที่ต้องทันยุคทันสมัย และยังครอบคลุมไปถึงความสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
6. การสร้างแบรนด์แบบไทยเพื่อตลาดในประเทศไทย เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพระดับท้องถิ่นของประเทศไทยบางรายอาจยึดติดกับการเติบโตในระดับโลก บางครั้งกว่าจะก้าวไปถึงจุดดังกล่าวได้อาจจะต้องหันกลับมาคิด ผลิต และขายให้กับฐานลูกค้าในประเทศเพื่อทดสอบตลาด และสร้างฐานกลุ่มเป้าหมายให้มั่นคง ตลอดจนเป็นการสร้างอัตลักษณ์ในมิติของความน่าจดจำของแบรนด์ธุรกิจให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร
7. เป็นนักคิดและนักขาย ในการแข่งขันบนเส้นทางธุรกิจ เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพต้องวางแผนมาก่อนแล้วว่าจะผลิตอะไร เพื่อใคร ดังนั้น สิ่งที่ต้องมาควบคู่กันคือการเป็นนักขายที่สามารถหยิบกลยุทธ์ต่าง ๆ มาสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างรู้ใจลูกค้า นอกจากนี้ ยังต้องมองเป้ายอดขายเป็นเรื่องท้าทายเพื่อให้สินค้าและบริการถูกพัฒนาอยู่เสมอ
8. ทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คนทำธุรกิจจะต้องมีทักษะในการตอบคำถาม หรือแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ตลอดเวลา เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายไว้วางใจที่จะเลือกซื้อหรือใช้บริการในระยะยาว
9. เป็นผู้รับฟังที่ดี นอกจากการเป็นนักพูด - นักขายที่ดีแล้ว คุณสมบัติที่เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพต้องมีคือการรับฟังทั้งคำติชม ข้อคิดเห็น และการชี้แนะจากบุคคลรอบข้างอยู่เสมอ เพื่อทำให้ธุรกิจเกิดการพัฒนา และสามารถนำ Feedback เหล่านั้นมาวางแผนการรับมือปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดเป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้าในอนาคต
10. วิ่งตาม Passion คีย์เวิร์ดดังกล่าวคือความหลงใหล หรือความชื่นชอบส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นและความท้าทายที่จะทำสิ่งต่าง ๆ นั้นให้ออกมาดีที่สุด ดังสตาร์ทอัพและนักสร้างการเปลี่ยนแปลงหลาย คน เช่น สตีฟ จ๊อบส์ ที่วิ่งตามความชื่นชอบจนประสบความสำเร็จในระดับโลก
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี