Text: จีราวัฒน์ คงแก้ว
ทันทีที่ประเทศไทยปลดล็อกกัญชาออกจากสิ่งเสพติด ธุรกิจต่างๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชาก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แต่จะมีสักกี่รายที่เข้าใจและได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องจนสามารถทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น สำหรับ บริษัท มันดี จำกัด เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางจากกัญชา มาแชร์ (MASHARES) และ เรสเต่ (Reste’) เครื่องดื่ม อาหาร อาหารเสริมและเม้าท์สเปรย์จากกัญชา พวกเขาผ่านความโหดหินของการเริ่มต้นทำธุรกิจนี้มาแล้ว จนสามารถได้รับใบอนุญาตเป็นเจ้าแรกในไทย และมีผลิตภัณฑ์สุดว้าวออกมาสนองตลาดอย่างต่อเนื่อง พวกเขาทำอย่างไร ไปหาคำตอบจาก “เงิน-ปณัฐน์ชยพร กิติเกษมวรกุล” ซีอีโอเลือดนักสู้ แห่งบริษัท มันดี จำกัด
เริ่มต้นธุรกิจต้องทำในสิ่งที่แตกต่าง
“เงิน-ปณัฐน์ชยพร” เริ่มต้นการทำงานโดยอยู่ในวงการบันเทิง เธอทำเบื้องหลังละคร ภาพยนตร์โฆษณา อีเวนต์ และเป็นนักข่าว เธอไม่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจมาก่อน แต่อยากเป็นเจ้าของกิจการ และสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพรไทย จึงได้เบนเข็มมาเป็นผู้ประกอบการ โดยเริ่มจากทำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง แล้วใช้วิธีจ้างโรงงานผลิต ผลที่ได้คือ เสียค่าโง่ไปกับการถูกหลอก เพราะไม่ได้สินค้าตามที่ตกลงกันไว้ จนต้องสูญเงินไปถึงหลักล้านบาท
“เราไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่เคยทำธุรกิจและไม่มีความรู้มาก่อน มีแค่เงินเล็กน้อยในกระเป๋ากับความอยาก ลงทุนด้วยความอยาก ก็เลยเจ็บตัวเพราะความไม่รู้ ซึ่งคำว่าไม่มีความรู้นี้มูลค่าแพงมาก เราต้องเสียเงินไปถึงเจ็ดหลักกับคำนี้”
หลังเจ็บตัวเพราะถูกหลอก เธอจึงตัดสินใจบินไปเกาหลี เพื่อตะลุยหาความจริง เธอไปดูโรงงานผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานโลก ศึกษาตลาดเครื่องสำอางสัญชาติเกาหลีที่อยู่ในความนิยม ทำไมเครื่องสำอางเกาหลีถึงขายแพง และคนไทยถึงยอมจ่ายให้กับความแพงนั้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ไทยดีๆ กลับถูกด้อยค่าและไม่ให้ราคาเท่าแบรนด์นอก
“อยากรู้ว่าทำไมคนไทยกล้าซื้อของเกาหลีแพงๆ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ของคนไทยซึ่งก็มีดีทำไมเขาไม่ใช้ เลยบินไปเกาหลี ปรากฏเห็นแต่สมุนไพรไทยที่ถูกแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง พืชผักบ้านเราถูกทิ้งขว้าง แต่ต่างประเทศเขานำไปแปรรูปให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่า และเราก็กล้าซื้อแพง แต่พอเป็นสมุนไพรไทยเรากลับไม่ซื้อ เลยบอกกับตัวเองว่า ไม่เป็นไรฉันจะกลับเมืองไทย เพื่อจะทำสินค้าไทยให้มีมูลค่า แต่มูลค่าในที่นี้เรารู้ว่าคนไทยอาจไม่อยากใช้ ไม่เป็นไรไปโกยเงินต่างประเทศที่เห็นคุณค่าก่อนก็ได้ เราเลยได้เริ่มเปิดตลาดที่ประเทศไนจีเรีย แอฟริกา เพราะเขาชื่นชอบสมุนไพรไทยมาก โดยเริ่มจากทำสบู่ 3 สูตร ส่งไปให้เขา ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก”
ปณัฐน์ชยพร ได้ลูกค้าต่างประเทศจากการไปออกงานกับหน่วยงานภาครัฐ และเริ่มธุรกิจโดยการรับจ้างผลิต (OEM) ไม่ได้มีแบรนด์ของตัวเอง เธอบอกว่าชอบทำงานเบื้องหลัง และการได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็เป็นอะไรที่สนุกดี แม้จะไม่ได้มีสินค้าแบรนด์ตัวเองในตอนเริ่มต้นก็ตามที
จับกระแสกัญชา พัฒนาสินค้าให้ว้าว
ระหว่างทางของงานรับจ้างผลิต ปณัฐน์ชยพร มองหาสมุนไพรใหม่ๆ เพื่อนำมาสร้างมูลค่า และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ว้าวๆ ให้กับตลาด จนวันที่ได้ข่าวว่าประเทศไทยกำลังจะมีการปลดล็อกกัญชาให้ออกจากบัญชีสิ่งเสพติด เธอจึงเกิดความสนใจและเริ่มลงมือศึกษาอย่างจริงจังทันที โดยดูจากประเทศที่เริ่มมีการปลดล็อกกัญชา และสืบเสาะต่อไปว่ามีการนำส่วนไหนของกัญชา ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง แล้วประเภทไหนที่ได้รับความนิยมที่สุด
“พบว่าเขานิยมนำไปทำเป็นอาหารเสริม โลชั่น ครีม แม้กระทั่งในเรื่องของยา ก็มามองต่อว่าในสิ่งเหล่านี้อะไรล่ะที่เราถนัดแล้วสามารถหยิบจับมาทำได้ จึงมองที่เครื่องสำอางเพราะเราเป็นโรงงานเครื่องสำอางอยู่แล้ว พอเริ่มคิดก็ต้องมาหาคำตอบต่อว่า แล้วเราจะเอากัญชามาผสมกับสมุนไพรไทยตัวไหนที่จะเห็นผลดีที่สุด และจะไปซื้อใบกัญชาได้จากที่ไหน แหล่งปลูกไหนที่ได้รับใบอนุญาต พอศึกษาลึกลงไปก็พบว่ามันยังมีเรื่องของสารสำคัญอย่าง “THC” และ “CBD” อีก แล้วมันคืออะไรล่ะ แล้วที่เขาบอกว่ากัญชาเป็นสิ่งเสพติดคืออะไร ถึงจุดนี้มันเกิดความสนุกแล้ว เกิดเป็นความท้าทาย อยากล้วงลึกเข้าไปเพื่อทำความรู้จักกัญชาให้มากขึ้น”
ปณัฐน์ชยพร มีโอกาสเข้าร่วมงานแถลงข่าวของอย. ในวันที่มีการปลดล็อกกัญชา เธอได้รับฟังกฎหมาย และเงื่อนไข ได้พบกับเครือข่ายของเพื่อนผู้ประกอบการ โรงงานผลิต วิสาหกิจชุมชน โรงพยาบาลที่สนใจร่วมโครงการ ตลอดจนฟาร์มปลูกกัญชา เรียกว่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ที่เข้ามารับฟังนโยบายเพื่อเดินให้ถูกทางตั้งแต่ก้าวแรก
เธอศึกษาทุกอย่างจนตกผลึก หลังปลดล็อกยังเพียรหาซื้อใบกัญชาจากแหล่งปลูกที่อ้างว่าได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง เสียเงินรอบแรกไป 1.5 แสน ได้ใบกัญชามา 5 กิโล และเสียอีก 5 หมื่น กับใบกัญชาอีก 1 กิโล เบ็ดเสร็จหมดเงินไปกับใบกัญชาที่ยังไม่รู้ว่าจะเอามาต่อยอดเป็นอะไรแล้ว 2 แสนบาท
ผลิตภัณฑ์แรกที่พัฒนาคือชาจากใบกัญชา จากนั้นมาพัฒนาต่อเป็นสบู่สครับใบกัญชา สกัดเป็นน้ำมันกัญชาที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีลูกค้ามาจ้างผลิตเตรียมส่งเข้าร้านดังแล้ว ทว่าธุรกิจกลับต้องสะดุด เพราะสินค้าที่คิดว่าศึกษามาดีแล้ว เลือกแต่แหล่งผลิตที่ถูกต้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลับไม่สามารถยื่นจดอย.ได้
บู๊ให้สุด หยุดที่คำว่า “เจ้าแรก”
“ตอนนั้นตัดสินใจไปยื่นจดอย.เพราะอยากจะเป็นเจ้าแรก แต่ปรากฏถูกตีกลับมา ทำไมเขาถึงไม่อนุญาตล่ะในเมื่อเรามีใบซื้อจากแหล่งปลูกอย่างถูกต้อง มีเอกสารมาเป็นปึ๊งเลย ทำไมถึงไม่ได้ เขาบอกว่าเอกสารที่ให้มาผิดกฎหมาย เพราะต้องเป็นตัวจริงเท่านั้น ถามว่าตัวจริงใครจะให้เจ้าของก็ต้องเก็บไว้สิ ขั้นตอนเยอะมากเลย โทรไปถามแหล่งปลูกก็ไม่มีเอกสาร ตอนนั้นก็รับเงินลูกค้ามาแล้ว แต่ทำให้เขาไม่ได้ รู้สึกเหมือนเป็นคนโกหก ถึงแม้ว่าเราจะพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่เราไม่รู้เรื่องตรงนี้เลย ทำยังไง เราไม่ยอม เราต้องสู้ต่อเพื่อให้ลูกค้าได้ในสิ่งที่เขาคาดหวังให้ได้ ซึ่งต้องวุ่นอยู่กับการทำความเข้าใจระหว่างกองเสพติด กองเครื่องสำอาง และอย. ต้องรอระบบที่กำลังแก้ไขเสร็จเรียบร้อย ต้องสู้ไปกับแหล่งปลูกที่ทำให้เขาสามารถขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปพร้อมกันด้วย ซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 เดือนถึงสามารถขึ้นทะเบียนอย.ส่วนผสมของกัญชาได้เป็นเจ้าแรกของประเทศไทย ตอนนั้นกระโดดโลดเต้นมาก” เธอเล่า
การทำเครื่องสำอางจากกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งผู้ประกอบการต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนจึงจะสามารถผลิตและทำการตลาดได้ เธอบอกว่าต้องดูกันตั้งแต่ขั้นตอนการสกัดที่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์และตามหลักของอย. มีผลทดสอบจากแลบที่ได้รับความเชื่อถือ การใช้ประโยชน์จากกัญชา ต้องผ่านการอนุญาตอย่างถูกต้องตั้งแต่ระดับแปลงผลิต ซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบ รวมถึงการระบุถึงการอนุญาตให้ใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องสำอาง/หรือส่วนประกอบอาหารและเครื่องดื่มได้ เป็นต้น ต้องมีใบหลักฐานการรับ/ซื้อ ส่วนของกัญชามายื่นตามขั้นตอนที่กำหนด ตลอดจนการควบคุมปริมาณสารสำคัญ “THC” และ “CBD” เมื่อสกัดเป็นสารสกัดออกมาแล้วสำหรับในส่วนของ ใบ-ต้น-ราก(ไม่รวมดอก) ที่จะนำไปใช้ด้วย เหล่านี้เป็นต้น ง่ายๆ คือ ไม่สามารถทำแบบวิถีชาวบ้าน หรือคิดเองเออเองได้ แต่ทุกอย่างต้องอยู่บนเงื่อนไขของการควบคุมอย่างเข้มงวด อนุญาตแค่ไหนก็ทำได้แค่นั้น และข้อมูลทุกอย่างต้องถูกต้องตรงกันตามที่ขอจดแจ้งไว้กับ อย. จึงจะออกเลขที่ใบอนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์ได้
จากรับจ้างผลิตสู่แบรนด์ที่ว้าวด้วยกัญชา
หลังได้รับใบอนุญาตและเลือดนักสร้างสรรค์ที่มีอยู่เต็มตัว นี่จึงเป็นครั้งแรกที่บริษัทมันดี จะมีผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ของตัวเองเสียที โดยจุดยืนของพวกเขาคือต้องไม่ทำสินค้าแข่งกับลูกค้าของตัวเองและต้องไม่ก๊อปปี้สินค้าของลูกค้า ที่มาของ “มาแชร์” (MASHARES) แบรนด์เครื่องสำอางที่ใช้ภายนอกร่างกาย และ “เรสเต่” (Reste’) ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และเม้าท์สเปรย์ โดยเริ่มเป็นที่รู้จักจาก “มิกซ์กัญ” เครื่องดื่มสุขภาพที่มีใบกัญชา (สด) เป็นส่วนผสม โดยจับมือกับพันธมิตรอย่าง “PEAR Bubble Tea” แบรนด์ชานมไข่มุกสัญชาติไทย เพื่อขยายธุรกิจแนวสุขภาพร่วมกันอีกด้วย
“สินค้าที่เราทำออกมา เน้นว่า ต้องแตกต่าง ปลอดภัย ไม่แพง ใช้ได้เห็นผล และต้องมีมาตรฐานภายใต้กฎหมายที่ควบคุม” เธอบอกจุดยืนในการทำธุรกิจเพื่อให้ผลิตภัณฑ์กัญชาภายใต้แบรนด์ที่พัฒนาขึ้นเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น และเป็นสินค้าที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยเริ่มจากทดสอบตลาดในประเทศไทย รวมถึงเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยด้วย ก่อนปูทางสู่ตลาดส่งออกในอนาคต
ไอเดียสร้างสรรค์ นำมาสู่ผลิตภัณฑ์แปลกต่าง อย่าง ไข่มุกกัญชาที่นำไปเป็นส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่มได้หลากหลาย เม้าท์สเปรย์ที่ฉีดพ่นตอนกลางวันเพื่อระงับกลิ่นปาก หากฉีดกลางคืนช่วยให้นอนหลับสบาย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของน้ำมันกัญชา เวย์โปรตีนที่สกัดจากเมล็ดกัญชง และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพอีกหลากหลายเมนู รวมถึงผลิตภัณฑ์พร้อมดื่มที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายตัวด้วย ทั้งหมดคือผลผลิตจากการสู้ไม่ถอย กัดไม่ปล่อยของผู้ประกอบการไทยที่เชื่อว่า ทุกอุปสรรคต้องผ่านไปได้ และการทำธุรกิจให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นคือหนทางสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง
“วันนี้มีคนเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาเยอะขึ้น แข่งกันตั้งแต่เรื่องของราคาเเละผลิตภัณฑ์ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับเรา การทำสินค้าเรายังคงมุ่งเน้นว่า ต้องไม่เหมือนใคร มาตรฐานต้องได้ คุณภาพต้องได้ มีความปลอดภัย และต้องอยู่ภายใต้กฎหมายกำหนด ตั้งแต่วัตถุดิบที่ต้องมาจากแหล่งปลูกอย่างถูกต้องเท่านั้น เงื่อนไขพวกนี้จะยังเหมือนเดิม
ในกัญชามีตัวยาและคุณประโยชน์หลายอย่าง มีสรรพคุณและมูลค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะนำมาเป็นส่วนผสมของยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ซึ่งหากนำมาใช้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี มันจะมีค่าและมีมูลค่ามาก ดังนั้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ อยากให้ภาครัฐหรือส่วนที่เกี่ยวข้อง ออกมาให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคมากกว่านี้ เพื่อสร้าง ความเชื่อมั่น และเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภค ตลอดจนนานาประเทศด้วย” เธอฝากความหวังไว้ตอนท้าย
บริษัท มันดี จำกัด เว็บไซต์ : www.restethai.com FB : restethai |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี