TEXT : อรุษา กิตติวัฒน์
ช่วงนี้ค่ายสตรีมมิ่งวิดีโอพากันนำหนังเก่าๆ ที่เคยสร้างความประทับใจกลับมาฉายให้ดูอีกครั้ง The Hundred-Foot Journey หรือ “ปรุงชีวิต ลิขิตฝัน” ก็เป็นอีกเรื่องที่พลาดไม่ได้ แม้จะฉายมาตั้งแต่ปี 2014 เรื่องราวของครอบครัวร้านอาหารอินเดียที่ไปเปิดร้านอาหารฝั่งตรงข้ามร้านอาหารฝรั่งเศสดีกรีดาวมิชลินของมาดามหัวรั้น จนก่อสงครามพร้อมกับเส้นทางความสำเร็จของหนุ่มพ่อครัวอินเดียที่ก้าวขึ้นไปเป็นเชฟดาวมิชลิน ก็ยังชวนให้รื่นรมย์อิ่มเอมไปกับบรรยากาศแสนโรแมนติกของเมืองชนบททางตอนใต้ของฝรั่งเศส และการปรุงอาหารที่ชวนน้ำลายสอ (โดยเฉพาะฉากทำออมเล็ตในตำนาน ที่ทำให้มีคนบ้ากินออมเล็ตกันไปพักใหญ่) และถ้ามองในมุมของผู้ประกอบการ อาจจะได้แง่คิดมาจากธุรกิจทั้งสองไม่มากก็น้อย
1.
ฮัสซาน คาดัม เกิดในครอบครัวที่ทำธุรกิจร้านอาหารในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มายาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ทวด ร้านอาหารแห่งนี้เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับเขา โดยมีแม่เป็นครูผู้สอนให้ใช้ทุกประสาทสัมผัสรับรู้รสชาติแห่งชีวิตที่อยู่ในส่วนผสมทุกอย่าง แต่แล้วคืนหนึ่งก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นหลังจากมีการเลือกตั้ง ทำให้ไฟไหม้ร้านอาหาร แม่จากไป ครอบครัวคาดัมสูญเสียทุกอย่าง พ่อจึงตัดสินใจพาฮัสซานและพี่น้องอพยพไปอยู่กรุงลอนดอน ฮัสซานฝึกหัดทำอาหารด้วยตัวเอง หนึ่งปีผ่านไปพวกเขาพบว่าอากาศที่นั่นหนาวเกินไปและผักก็ไร้ชีวิต พวกเขาจึงออกเดินทางตามหาสถานที่สักแห่งในยุโรปที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และสร้างธุรกิจร้านอาหารอีกครั้ง
หลังจากขับรถขึ้นเทียบท่ารอตเตอร์ดัมสู่แผ่นดินยุโรป ออกเดินทางแวะชิมผลผลิตในหลายท้องถิ่น ข้ามหลายประเทศ จนเดินทางไปถึงตอนใต้ของฝรั่งเศส รถตู้บุโรทั่งเกิดเบรกแตกใกล้หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า “แซงค์อ็องโตแนง” หญิงสาวคนหนึ่งขับผ่านมา จึงช่วยลากรถเข้าไปในหมู่บ้าน ระหว่างทางพ่อมองเห็นบ้านร้างหลังใหญ่ที่ปิดป้ายประกาศขาย
มากาเร็ต หญิงสาวคนนั้นนำอาหารที่มีในบ้านมาเสิร์ฟเป็นมื้อค่ำ ขนมปังโฮมเมดที่เธออบเอง น้ำมันมะกอกจากสวนที่ลุงของเธอทำเองทุกปี ชีสจากวัวในทุ่งหญ้าหลังบ้าน ทั้งหมดเป็นของธรรมชาติในท้องถิ่น อาหารมื้อนั้นทำให้ครอบครัวคาดัมรู้สึกเหมือนตายไปแล้วได้ขึ้นสวรรค์ พอเช้ามืดวันใหม่พ่อก็เดินไปสำรวจบ้านร้างที่เห็นเมื่อคืน พบว่าเคยเป็นร้านอาหารมาก่อน ด้านในมีลานในร่มเหมือนร้านเก่าที่มุมไบ แถมที่นี่ยังมีวัตถุดิบคุณภาพ ถือเป็นพื้นที่สมบูรณ์แบบสำหรับเปิดร้านอาหาร พ่อตัดสินใจซื้อบ้านร้างหลังนี้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านของพี่น้องคาดัม
ไม่มีใครเห็นด้วยเพราะฝั่งตรงข้าม ห่างไปเพียงร้อยฟุต มีร้านอาหารฝรั่งเศสระดับดาวมิชลินอยู่ “เลอ โซล เปลอเรอร์” ได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสที่ดีที่สุดในระยะ 50 ไมล์ มีชื่อเสียงขนาดที่ว่าประธานาธิบดีฝรั่งเศสก็ยังมารับประทานอาหารที่นี่ พี่น้องคาดัมเชื่อว่าเจ้าของร้านเดิมคงย้ายกลับไปปารีสเพราะไปไม่รอด พ่อถามกลับไปว่าประธานาธิบดีจะสั่งเมนูแกงไก่มาซาลาใส่เมล็ดมะม่วงหิมพานต์และกระวาน หรือแพะทันดูรีสูตรเด็ดของฮัสซานได้ไหม แม้ลูกๆ แย้งว่าคนฝรั่งเศสไม่กินอาหารอินเดีย เพราะมีอาหารประจำชาติที่แสนจะภาคภูมิใจอยู่แล้ว แต่พ่อก็เชื่อว่าพวกเขายังไม่เคยลองชิม เขาตัดสินใจลงทุนในฐานะที่มีประสบการณ์ทำธุรกิจร้านอาหารมาทั้งชีวิต มองเห็นความเป็นไปได้ เชื่อมั่นในอาหารของตัวเอง และความสามารถของลูกชาย
2.
ฮัสซานเดินสำรวจห้องครัวพบชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยคู่มือมิชลินไกด์ และยังมีตำราอาหาร ของ เลอ กอร์ดอง เบลอ อยู่ด้วย ในนั้นมีเรื่องราวของอาหารและศาสตร์การทำอาหารระดับสูง เขารู้สึกตื่นเต้นอยากเรียนรู้การทำอาหารฝรั่งเศส และเมื่อรู้ว่ามากาเร็ต ทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟและกำลังฝึกเป็นเชฟที่ร้านฝั่งตรงข้าม ก็ขอให้เธอแนะนำตำราอาหารให้
หลังจากที่ครอบครัวคาดัมช่วยกันรีโนเวทร้านจนเสร็จ พ่อก็พาลูกๆ ไปยืนแจกใบปลิวประชาสัมพันธ์ร้านอาหารอินเดีย “เมซอง มุมไบ” ที่กำลังจะเปิด อาหารที่ร้านปรุงด้วยเครื่องเทศดั้งเดิม โดยเชฟอาหารอินเดียที่เก่งที่สุดในโลกตะวันตกแล้วชี้ไปยังฮัสซาน
วันก่อนเปิดร้าน ขณะที่กำลังจัดโต๊ะ มาดามมัลเลอรี เจ้าของร้าน เลอ โซล เปลอเรอร์ เดินเข้ามาทักทายในฐานะเพื่อนบ้านและขอดูเมนู พ่อห้ามลูกๆ ไม่ทัน วันต่อมาเมื่อพ่อกับฮัสซานเข้าหมู่บ้านไปซื้อวัตถุดิบที่ต้องใช้ ก็พบว่าถูกมาดามมัลเลอรีเหมาไปหมดแล้ว สองพ่อลูกต้องขับรถไปถึงอีกหมู่บ้านห่างไป 50 ไมล์ พอกลับถึงร้านก็เหลือเวลาไม่พอปรุงเนื้อแกะให้สุกดี ฮัสซานจึงใช้ความรู้ที่อ่านจากตำราอาหาร ใช้ไวน์แดงหมักเนื้อแกะ ซึ่งไม่เคยใช้ในอาหารอินเดียมาก่อน เขาบอกพี่ชายที่กำลังสติแตกว่า “ถ้าอยากอยู่รอดเราต้องปรับตัว ต้องหัดใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรา แล้วก็ภาวนาให้มันออกมาดี”
ในที่สุดอาหารก็เตรียมพร้อมทันเวลา ร้าน เมซอง มุมไบ เปิดกิจการ พ่อใส่สูทออกไปยืนรอลูกค้าด้านนอก แต่ไม่มีใครมาเลย พี่น้องคาดัมบอกพ่อว่าที่นี่ไม่เหมือนอินเดีย ที่จะไปยืนเรียกทุกคนที่ผ่านไปมาให้เข้าร้านได้ พ่อกลับเข้าไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดประจำชาติ และให้ลูกสาวแต่งชุดส่าหรีออกมายืนทักทายคนที่เดินผ่านหน้าร้าน ทำทุกวิธีเพื่อเรียกลูกค้า ซึ่งเป็นคนที่กำลังจะไปร้านอาหารฝั่งตรงข้าม ชวนคนเข้ามาสัมผัสรสชาติและประสบการณ์ใหม่ๆ
พ่อกับมาดามมัลเลอรีกลายเป็นคู่ปรับ เธอร้องเรียนนายกเทศมนตรีเรื่องร้านอาหารอินเดียเปิดเพลงเสียงดัง เลี้ยงไก่โดยไม่มีใบรับรอง สิ่งปลูกสร้างไม่ปลอดภัย พ่อติดสินบนคนล้างจานอีกฝ่ายเพื่อหาข้อมูลและโจมตีกลับด้วยการกว้านซื้อนกพิราบที่ต้องใช้สำหรับเมนูพิเศษต้อนรับรัฐมนตรีจนหมดตลาด ทำให้ต้องเปลี่ยนจากนกพิราบซอสทรัฟเฟิลเป็นไก่ทอด
ฮัสซานทำ นกพิราบซอสทรัฟเฟิล จากสูตรที่เจอในตำราอาหารเก่ามาขอโทษมาดามมัลเลอรีแทนพ่อ เธอชิมแล้วเททิ้งลงถังขยะบอกเขาว่าเสียเวลาเปล่า ยังไม่ดีพอ ชายหนุ่มกลับไปด้วยความผิดหวัง เธอเองก็หลบไปสงบจิตใจเพราะลึกๆ ก็รู้ว่าเขามีแววเป็นเชฟที่อนาคตไกล และอาจเป็นคนที่จะทำให้ฝันของเธอเป็นจริงได้
3.
ในฝรั่งเศสสิ่งที่เชฟทุกคนให้ความสำคัญ คือ ดาวมิชลิน คู่มือมิชลินไกด์เป็นเสมือนไบเบิล และดาวมิชลินก็เป็นดาวศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งดวง คือ ดี สองดวง คือ ยอดเยี่ยม และสามดวง คือ สุดยอดร้านอาหาร ร้าน เลอ โซล เปลอเรอร์ คือ ทั้งชีวิตของมาดามมัลเลอรี เธอได้ดาวดวงแรกมาเมื่อ 30 ปีก่อน หลังจากสามีตายจากไป เธอสานต่อความฝันดาวดวงที่สองเพื่อเขามาตลอด
นอกจากฮัสซานมีพรสวรรค์ ก็ยังมีพรแสวง ตั้งแต่วันแรกที่ได้จับตำราอาหารฝรั่งเศส เขาก็ทุ่มเทศึกษาและทดลอง นอกตำราเขาได้เรียนรู้วัตถุดิบท้องถิ่นจากมากาเร็ต การเก็บเห็ด การใช้เบ็ดตกปลา วิธีทำให้ข้าวโพดหวานนุ่ม เธอเล่าว่าเรียนทำอาหารมาตั้งแต่อายุ 12 ปี เริ่มจากฝึกทำ 5 ซอสพื้นฐานแห่งอาหารฝรั่งเศส ได้แก่ เบชาเมล, เวลูเต, ฮอลแลนเดซ, มะเขือเทศ และ เอสปันญอล ให้อร่อยเสียก่อน
ถึงจะมีวิธีทำอยู่ในตำราก็ไม่ได้ช่วย ต้องทำด้วยใจ ค้นหาด้วยตัวเอง ฮัสซานฝึกทำ 5 ซอสพื้นฐานมาให้มากาเร็ตชิม เธอเล่าว่ามาดามมัลเลอรีรู้ได้ในคำเดียวว่าคนไหนจะเป็นเชฟที่ดีได้ เมื่อมีใครมาสมัครงาน ไม่มีการสัมภาษณ์ แต่จะให้ทำออมเลต แล้วชิมคำเดียวก็ตัดสินได้ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน และเมื่อชิมซอสทั้งห้าที่ฮัสซานทำ เธอให้ผ่าน สำหรับเธอเขาเป็นเชฟยิ่งกว่าเชฟคนไหนที่เธอเคยเจอมา
ในคืนวันชาติฝรั่งเศส ฮัสซานไปเก็บเห็ดกลับมา พบคนกำลังลอบวางเพลิงร้าน แม้ช่วยกันดับไฟได้ทัน เขาก็ถูกไฟลวกมือทั้งสองข้าง มาดามมัลเลอรีรู้ว่าใครเป็นคนวางเพลิง จึงเรียกพนักงานทุกคนมารวมกัน และบอก ฌอง ปิแอร์ เชฟหลักของร้านให้เก็บของออกไป “เธอเป็นเชฟ ฉันไม่ได้จ้างให้มาวางเพลิง” แล้วก็ถือถังน้ำและแปรงไปขัดล้างข้อความ “ฝรั่งเศสมีไว้ให้ชาวฝรั่งเศส” ที่กำแพงร้านคู่ปรับ ท่ามกลางสายฝน พ่อถือร่มออกมา ทั้งคู่สงบศึกกัน
ฮัสซานขอให้มาดามมัลเลอรีชิมออมเล็ตสูตรของเขา แต่มือของเขาบาดเจ็บ เธอต้องช่วยลงมือปรุง “มันอร่อย” เธอสัมผัสรสชาติจัดจ้าน มีทั้งเย็นและร้อนในปาก มีทุกอย่างพร้อมกัน ซึ่งกว่าเชฟจะทำแบบนี้ได้ ก็ต้องใช้เวลานาน เธอยอมรับเขาเข้าทำงาน แต่พ่อปฏิเสธเสียงแข็ง มาดามมัลเลอรีมานั่งรอฮันซานทั้งคืน จนพ่อออกมานั่งคุย เธอยอมรับว่าต้องการตัวฮัสซานเพราะอยากได้ดาวดวงที่สอง แต่เธอก็เป็นบันไดให้เขาได้ก้าวหน้าสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ และเขาสมควรได้รับ เพราะมีพรสวรรค์ พ่อตัดสินใจเปิดโอกาสให้ฮัสซานได้ออกไปเรียนรู้ เติบโต และตามหาความฝันของตัวเอง
4.
ฮัสซานเก็บของออกเดินทางตามความฝันไปอีกฝั่งถนนห่างออกไป 100 ฟุต ยกระดับจากพ่อครัวอาหารอินเดีย ไปฝึกงานเชฟในร้านอาหารฝรั่งเศสระดับดาวมิชลิน เขาเรียนรู้วิธีทำซอสพื้นฐานกับมาดามมัลเลอรี ทำใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากเละเทะจนเชี่ยวชาญ
เมื่อมาดามมัลเลอรีชิมอาหารของเขา สัมผัสกลิ่นบางอย่างที่เข้ามาตัดกับเนื้อสัตว์อย่างลงตัว เมื่อรู้ว่าเขานำเครื่องเทศมาเพิ่มรสชาติ จึงถามว่า “ทำไมถึงเปลี่ยนสูตรที่ทำกันมาสองร้อยปี” ชายหนุ่มตอบว่าเพราะสองร้อยปีอาจจะนานเกินไปแล้ว ฮัสซานได้เป็นเชฟหลักคุมเมนูพิเศษ พิราบราดซอสทรัฟเฟิล ที่จะเสิร์ฟให้รัฐมนตรีที่จะมารับประทานอาหารค่ำ
หลังจากได้ดาวมิชลินดวงแรกมา มาดามมัลเลอรี จะเตรียมแชมเปญที่ไม่เคยได้เปิดไว้รอคอยปีถัดไป และผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากรอคอยมา 30 ปี ในที่สุดเธอก็ได้ดื่มแชมเปญขวดนั้นฉลองดาวดวงที่สอง และร้านอาหารที่มีดาวสองดวงแล้ว ต่างก็ต้องการตัวฮัสซานมาเป็นเชฟเพื่อไปสู่ดาวดวงที่สาม
ฮัสซานออกเดินทางจากหมู่บ้านชนบทไปทำงานร้านอาหารสุดหรูในกรุงปารีส ซึ่งมีแนวคิดว่าการกิน คือ ประสบการณ์แห่งรสสัมผัสอันหลากหลาย รส กลิ่น และการกระตุ้นสมองส่วนเฉพาะ ที่นี่เขาจะได้บรรลุถึงระดับสูงสุดของการทำอาหารที่ไม่ใช่แค่ศิลปะอีกต่อไป หากเป็นวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ในเวลาเพียงปีเดียวเขาได้เปลี่ยนโฉมร้านอาหารฝรั่งเศสด้วยเครื่องเทศรสจัดจ้าน รสชาติที่ร้อนแรง และส่วนผสมที่แปลกใหม่ ฮัสซานกลายเป็นเชฟที่มีชื่อเสียงระดับโลก อยู่ในจุดสูงสุดของอาชีพ ดูเหมือนฝันเป็นจริงแล้ว แต่ทว่าเขากลับรู้สึกว่างเปล่า
วันหนึ่งฮัสซานได้ชิมข้าวกล่องที่เพื่อนเชฟนำมาจากบ้าน รสชาติอาหารเมนูบ้านๆ ที่ภรรยาทำให้สามีด้วยความรัก ด้วยวัตถุดิบที่ส่งมาจากบ้านเกิด ทุกคำทำให้คิดถึงบ้าน เขาจึงเข้าใจว่าทำไมอาหารเมนูเดียวกันที่ปรุงร่วมกับมากาเร็ต ในร้าน เลอ โซล เปลอเรอร์ จึงรสชาติดีกว่า เพราะวัตถุดิบที่มีรสชาติเฉพาะของท้องถิ่นนั่นเอง แล้ววันสำคัญที่ทุกคนรอคอยอย่างใจจดใจจ่อก็มาถึง วันประกาศผลดาวมิชลิน แต่เชฟคนสำคัญกลับไม่ได้อยู่ที่นั่น ฮัสซาน ทิ้งดาวดวงที่สาม เดินทางกลับไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งมาดามมัลเลอรีส่งต่อร้าน เลอ โซล เปลอเรอร์ ให้เขาและมากาเร็ตดูแลเพื่อคว้าดาวดวงที่สามของพวกเขาเอง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี