แม่บ้านชาวเวียดสู้ชีวิต จำต้องเปิดร้านอาหารอินเดียโดยไม่ตั้งใจ แต่ทำไมธุรกิจกลับไปได้สวย

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

      เมื่อแม่บ้านคนหนึ่งสู้ชีวิต ต้องการหารายได้ช่วยครอบครัว แล้วต้องเจอกับชีวิตที่สู้กลับ แต่เธอไม่ยอมแพ้ ดิ้นรนจนได้เป็นผู้ประกอบรายเล็กที่อยู่รอดได้และมีแนวโน้มที่ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างยั่งยืน เรากำลังพูดถึง “เหงียน ถิ เกี่ยว ฮั่น” สตรีชาวเวียดนามวัย 45 ปี เจ้าของร้านอาหารอินเดียในสิงคโปร์ผู้ไม่เคยรู้จักอาหารที่ตัวเองขายมาก่อน แต่เรียนรู้สูตรจากเชฟชาวจีน

     ฮั่นเดินทางจากเวียดนามมาอาศัยอยู่กับสามีชาวสิงคโปร์เมื่อ 10 กว่าปีก่อน สามีเป็นเชฟที่ร้านอาหารญี่ปุ่น ส่วนฮั่นเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 2 คน กระทั่งปีที่แล้ว สามีล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ไม่สามารถกลับไปทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นได้ ฮั่นจึงคิดหารายได้จุนเจือครอบครัว หลายปีก่อน เธอเคยมีประสบการณ์ทำงานเป็นแม่ครัวที่เชนร้านอาหารเวียดนาม “นาม นาม” เธอจึงวางแผนว่าอยากเปิดร้านในศูนย์อาหาร (hawker) เพื่อขายอาหารเวียดนาม เช่น เฝอ (ก๋วยเตี๋ยวน้ำ) ปอเปี๊ยะสด และปอเปี๊ยะทอดที่เธอคุ้นเคยและถนัด

     จากนั้นฮั่นก็มองหาทำเล จับพลัดจับผลูเธอไปประมูลได้พื้นที่ที่ศูนย์อาหารแม็กซ์เวล ฟู้ด เซ็นเตอร์ แต่ความไร้ประสบการณ์และความไม่รู้ทำให้เธอประมูลได้ร้านอาหารอินเดีย ซึ่งตามกฎของศูนย์อาหาร ผู้ประมูลพื้นที่ได้จะต้องขายอาหารอินเดียเท่านั้น ไม่สามารถเปลี่ยนไปขายอาหารอย่างอื่นได้ ความไม่อยากเสียพื้นที่ เธอจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อ การเป็นเจ้าของร้านอาหารอินเดียจึงเกิดขึ้นด้วยความไม่ตั้งใจ

      “พอรู้ว่าร้านที่ประมูลได้ไม่สามารถขายอาหารเวียดนาม หรืออาหารจีน ต้องขายอาหารอินเดียเท่านั้น ฉันก็มึนแปดด้าน ไม่รู้จะขายอะไร จึงปรึกษาฟรานซิสซึ่งเป็นเพื่อนชาวอินเดีย เพื่อนก็แนะนำว่าขายอัปปัมสิ อัปปัมก็คือแพนเค้กสไตล์ทางใต้ของอินเดีย ซึ่งฉันก็ว่าดีเหมือนกันเพราะร้านอินเดียในศูนย์อาหารนี้ส่วนใหญ่ขายข้าวกับแกง”

     ด้านฟรานซิส เฟอร์นันเดซเล่าว่าที่แนะนำฮั่นไปอย่างนั้นเพราะเขานึกถึงความทรงจำในวัยเด็ก “พ่อกับแม่ผมมาจากเกรละ รัฐทางใต้ของอินเดีย อัปปัมเป็นอาหารประจำถิ่นในแถบนี้ ตอนเด็ก ๆ ผมชอบกินอัปปัมโรยน้ำตาลทราย พอนึกถึงอาหารที่เคยกินก็เลยอยากให้เพื่อนทำขาย”

     ข้อมูลระบุอัปปัมเป็นแพนเค้กชนิดหนึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้าและกะทิหมักด้วยยีสต์ เมื่อหมักได้ที่แล้ว ตัวแป้งจะนำมาทำให้สุกในกระทะเหล็กอันเล็ก ตัวขอบจะบางกรอบ ตรงกลางแป้งจะนุ่มใส่ใส้ต่าง ๆ เช่น มะพร้าวขูดและน้ำตาล ถั่วลิสงบดกับน้ำตาล หรือไส้ชีสกับไข่ เป็นต้น จะว่าไปคล้ายขนมถังแตกในไทย แต่อัปปัมมีทั้งไส้หวานไส้คาวและทานเป็นอาหารเช้า หรืออาหารว่างคู่ชา กาแฟได้

    ฮั่นเริ่มต้นจากการตระเวนชิมอัปปัมตามร้านต่าง ๆ หาสูตรจากยูทูบ และที่ทำให้คืบหน้ายิ่งขึ้นเมื่อฮั่นมีโอกาสได้เจอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งจึงขอความช่วยเหลือให้หาเชฟที่จะมาช่วยสอนทำอัปปัมให้ ซึ่งสส.คนนั้นก็ส่งรายชื่อเชฟจำนวนหนึ่งที่น่าจะรู้วิธีทำอัปปัมให้เธอ หลังรับทราบเรื่องราว ปรากฏว่ามีเชฟคนหนึ่งติดต่อมาเพราะต้องเห็นจและต้องการช่วยเหลือ

     เชฟคนดังกล่าวซึ่งไม่เปิดเผยชื่อกลับเป็นเชฟเชื้อสายจีน “ผมบอกเธอไปว่าผมไม่เชี่ยวชาญอาหารอินเดียนะ แต่ผมมีประสบการณ์ในแวดวงอาหารมานาน คิดว่าน่าจะพอคลำสูตรจากตำราหรืออินเทอร์เน็ตได้” เชฟชาวจีนผู้นั้นเมตตาถึงขนาดมาช่วยสอน ช่วยชิม และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดสรรงบในการทำธุรกิจ “ฮั่นเป็นคนที่กระตือรือร้นและมีความตั้งใจมาก เห็นแล้วผมก็ยินดีช่วยเต็มที่เลย” 

      ใช้เวลา 4 เดือนเต็มในการลองผิดลองถูกจนได้สูตรลงตัว ฮั่นก็ได้ฤกษ์เปิดร้าน “Mr.Appam” เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นอกจากไส้ดั้งเดิม เช่น มะพร้าวกับน้ำตาล และไข่กับชีส อัปปัมที่ร้านเธอยังมีแบบแตกต่างจากที่อื่น เช่น ตัวแป้งผสมใบเตย และไส้แปลก ๆ หลากหลายขึ้น ได้แก่ ไส้ช้อคโกแลต ไส้ไอศกรีมกะทิกับกล้วยหอม ไส้ถั่วลิสงกับน้ำตาล

     ฮั่นกล่าวว่าช่วงเปิดร้านแรก ๆ เธอกังวลมากว่าจะไม่มีคนซื้อเพราะเธอไม่ใช่คนอินเดียแต่กลับขายอาหารอินเดีย กลัวลูกค้าไม่เชื่อใจ อย่างไรก็ตาม จากยอดขายที่ค่อนข้างแผ่วก็เริ่มกระเตื้องขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความน่าสนใจของเจ้าของร้านที่ไม่ใช่อินเดีย ทำให้ลูกค้าอยากลอง กอปรกับอัปปัมของทางร้านรสชาติดีตามต้นตำรับ ทั้งยังมีหลายไส้ให้เลือก ลูกค้าจึงแวะเวียนมาอุดหนุน มีทั้งลูกค้าเชื้อสายอินเดีย และลูกค้าชาวจีน

      “อัปปัมไม่ใช่อาหารหลักที่ทำให้อิ่มจนทานเป็นอาหารกลางวันหรืออาหารเย็นได้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะมาซื้อช่วงสาย หรือบ่ายเพื่อเป็นของว่างทานกับชา กาแฟ” ฮั่นเล่าวว่าเธอขายได้เรื่อย ๆ แต่ช่วงวันหยุดจะขายได้เยอะขึ้น วันละนับร้อยชิ้น ทำให้เธอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว เรื่องราวของฮั่น หญิงเวียดนามผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้แก่โชคชะตาถูกเผยแพร่ผ่านสื่อทำให้ชาวเน็ตจำนวนมากเข้ามาชื่นชมต่อความวิริยะอุตสาหะของเธอ หลายคนถึงกับจะเดินทางไปอุดหนุนเลยทีเดียว คาดว่าจนถึงขณะนี้ ยอดขายอัปปัมที่ร้าน Mr. Appam น่าจะพุ่งขึ้นจากเดิม

ที่มา:  www.8days.sg/eatanddrink/hawkerfood/vietnamese-housewife-opens-mr-appam-hawker-stall-maxwell-649301

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย