หลายคนคงคุ้นเคยกับกิมจิ อาหารขึ้นชื่อของเกาหลีที่ดังมาหลายปีในทั่วโลก แล้วปัจจุบันนี้ผู้บริโภคเกาหลีชอบทานอาหารประเภทไหนหลังจากวิกฤตโควิด-19 แล้วทำไมตลาดเกาหลีถึงน่าสนใจ วันนี้ทาง SME THAILAND ONLINE จะพาไปหาคำตอบกัน
ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า เกาหลีใต้เป็นตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยที่น่าจับตามอง เนื่องจากไทยมียอดส่งออกสินค้าไปเกาหลีใต้ขยายตัวสูงต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ย. 2564 ไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ มูลค่า 5,373 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ส่งออกมูลค่า 987 ล้านเหรียญสหรัฐ 21% อาทิ
- ยางพารา 62%
- อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 37%
- น้ำตาลทราย 27%
- ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 25%
- ปลาหมึก (มีชีวิต สด แช่เย็นแช่แข็ง) 11%
ปี 2565 คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ในภาคการผลิตของเกาหลีใต้อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะขยายส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้
เทรนด์อาหารในเกาหลีใต้ยุค Next Normal
ประเทศเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นด้านอาหาร และใช้อาหารเป็นหนึ่งใน Soft power ที่สำคัญที่ส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้เป็นที่ชื่นชอบไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกิมจิ ต็อกบกกี ไก่ทอด และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นอกจากนี้ อาหารและรูปแบบการทานอาหารของชาวเกาหลีใต้ยังสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อีกด้วย ทำให้เทรนด์อาหารหลักในเกาหลีใต้ในปัจจุบัน สามารถแบ่งได้ ดังนี้
1. เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ
- อาหารจากพืช (Plant-based food) อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากพืชในเกาหลีใต้กำลังเริ่มเติบโตขึ้น ตามข้อมูลของสหภาพมังสวิรัติของเกาหลี จำนวนผู้ไม่ทานเนื้อสัตว์ (ทานมังสวิรัติ) เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากสถิติแสดงให้เห็นว่า 1 ใน 5 ของประชากรเกาหลีใต้กำลังลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และจำนวนของผู้บริโภคกลุ่ม Flexitarian เพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มักจะเลือกทานอาหารทางเลือกจากพืชเมื่อมีโอกาส นอกจากนี้ กลุ่มมิลเลนเนียลยังมีบทบาทสำคัญที่จะเปลี่ยนนิสัยการบริโภคแบบดั้งเดิมและหันมาใช้ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- อาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง/โปรตีนสูง ในสังคมเกาหลี รูปร่างหน้าตามีความสำคัญ ผู้คนจึงให้ความสำคัญกับการรักษารูปร่างให้ดีอยู่เสมอ โดยปัจจุบันไม่เพียงแต่นักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายสร้างกล้ามเนื้อเท่านั้นที่ให้ความสนใจในอาหารที่มีโปรตีนสูง ผู้คนทั่วไปก็ให้ความสนใจเช่นกัน ในตลาดเกาหลีจึงมีผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูงเกิดขึ้น มากมาย นอกเหนือจากผงโปรตีนชงดื่มที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป
- อาหารดั้งเดิมที่เพิ่มคุณค่าทางอาหาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถือเป็นอาหารโปรดหรือ Comfort food ของชาวเกาหลี จากสถิติพบว่า ในปี 2563 ชาวเกาหลีบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ย 79.7 ซอง/คน/ต่อปี1 แต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็ไม่ใช่อาหารที่ดีต่อ สุขภาพมากนัก โดยเฉลี่ยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซองจะให้พลังงาน 500 กิโลแคลลอรี่ มีทั้งคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และ โซเดียมที่สูง ทำให้ผู้ที่ใส่ใจต่อสุขภาพหลีกเลี่ยงการรับประทานบะหมี่ดังกล่าว
- บริษัท Nongshim ผู้นำด้านการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลีและผู้ผลิตบะหมี่ Shin Ramyun ได้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบไม่ทอด (Non-fried) เพื่อตอบสนองต่อเทรนด์รักสุขภาพในปัจจุบัน โดยสามารถลดปริมาณแคลลอรี่ได้ถึง 30% (ซึ่งจะเหลืออยู่ที่ประมาณ 350 กิโลแคลลอรี่ต่อ 1 ซอง) และยังได้ขยายการผลิตเส้นแบบไม่ทอดในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติอื่นๆ ด้วย
- อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน/ วิตามินต่างๆ ในช่วงโควิด-19 ยอดจำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพในเกาหลีใต้เติบโตขึ้น 13% หรือคิดเป็น 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากผู้บริโภคมองหาวิธีเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง ให้ร่างกายแข็งแรงปลอดภัย จากโรคต่างๆ
- ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายโสมแดงเติบโตถึง 263% วิตามิน D เติบโต 212% และ Biotics เติบโต 192% ไม่เพียงแต่อาหารเสริมเท่านั้น ปัจจุบันยังนิยมน้ำแร่ธาตุวิตะมิน และสารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ มาผสมในอาหาร หรือทำมาในรูปแบบที่กินง่ายและมีรสชาติที่ดีขึ้น เช่น เครื่องดื่มผสม Probiotics Kombucha รสชาติต่างๆ เพื่อ ช่วยในการขับถ่าย เป็นต้น
2. เทรนด์อาหารตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม
- อาหารผู้สูงอายุ ในปี 2564 เกาหลีมีจำนวนผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีถึง 16.5% หรือ 8.53 ล้านคน ซึ่งถือว่าเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) และคาดว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเป็นสัดส่วน 43.9% ในปี 2583 ตลาดอาหารผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทรวงความปลอดภัย อาหารและยาเกาหลีใต้ได้ให้คำจำกัดความของอาหารที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ (Aging-friendly Foods) ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือแปรรูป โดยการปรับคุณสมบัติทางกายภาพของอาหาร เพื่อช่วยผู้สูงอายุในการรับประทาน อาหาร หรือย่อยอาหาร ให้เป็นรูปแบบที่ย่อยง่าย และมีการปรับองค์ประกอบทางโภชนาการให้เหมาะสม
- Meal kit หรือชุดวัตถุดิบที่ถูกจัดเตรียมมาสำหรับปรุงอาหารเมนูใดเมนูหนึ่ง โดยวัตถุดิบในกล่อง จะถูกล้างทำความสะอาด หั่นและปรุงรสมาเรียบร้อย พร้อมที่จะนำไปปรุงสุกสำหรับรับประทาน ปัจจุบัน Meal kit เป็นที่นิยมในเกาหลีใต้ เนื่องจากสะดวก รสชาติที่ดี และลดขยะอาหาร เนื่องจากจะจัดมาเป็นชุด ไม่เหลือเศษ เหมาะกับสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความเร่งรีบมากขึ้น
- อาหารเดลิเวอรี่ ตลาดอาหารเดลิเวอรี่ของเกาหลีใต้ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและจีน โดย ในปี 2563 มียอดผู้ในงานแอปพลิเคชัน Coupang Eats เพิ่มสูงถึง 748,000 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปีก่อนหน้า ไม่ เพียงแต่ Coupang Eats เท่านั้น ในเกาหลีใต้ยังมีบริษัทพัฒนาแอปพลิเคชัน Delivery อีกหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็น Baedal Minjok Yogiyo และ Shuttle โดยในปี 2564 บริษัท Woowa Brothers ผู้ดำเนินการแอพส่งอาหารอันดับ 1 ของเกาหลีใต้อย่าง Baedal Minjok ได้มียอดขายถึงเกือบ 2 พันล้านเหรียญ หรือเติบโตขึ้น 85.3% จากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมนี้ในช่วงโควิด-19
- Home Drinking เนื่องจากมาตรการและข้อจำกัดต่างๆ ในช่วงโควิด-19 ผู้บริโภคจึงเลือกที่จะดื่มแอลกอฮอล์ที่บ้าน แทนการไปดื่มที่ผับหรือบาร์ ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป และหันมาบริโภคไวน์มากขึ้นเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการดื่มที่บ้าน โดยในปี 2564 มูลค่าการนำเข้าไวน์ในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึง 76% จากปีก่อนหน้า เป็นมูลค่า 506.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศผู้ส่งออกไวน์มายังเกาหลีได้แก่ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ชิลีและสเปน ตามลำดับ ทั้งนี้ วิสกี้ก็เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น จึงมีมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในทางตรงกันข้ามมูลค่าการนำเข้าเบียร์ลดลง 1.7% ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
- อาหารรสชาติแปลกใหม่ ความนิยมของรสชาติอาหารที่แปลกใหม่และผสมผสานเข้ากับอาหารที่มีอยู่ เช่น Mint chocolate การผสมระหว่างมิ้นต์ที่เป็นสมุนไพร และช็อคโกแลตที่เป็นขนม เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในกลุ่มเจนเนอ เรชั่น MZ
และนี่คือเทรนด์อาหารในเกาหลีใต้ยุค Next Normal ที่ธุรกิจส่งออกสินค้าต้องรู้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และควรติดตามอุตสาหกรรมอาหารในเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโอกาสในการค้าและการ ส่งออกในอนาคต
ข้อมูลจาก :https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/777792/777792.pdf&title=777792&cate=586&d=0
https://www.mreport.co.th/news/government-news/328-Export-Thailand-to-South-Korea-2021
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี