TEXT : Nitta Su.
PHOTO : Good Café, เจษฏา ยอดสุรางค์
ถ้าใครเคยเป็นแฟนคลับและประทับใจในความสวยของ Foto Hotel บูติคโฮเทลชื่อดังของภูเก็ต ที่ทุกมุมถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์คนรักการถ่ายภาพอย่างแท้จริงแล้วล่ะก็ คุณอาจหลงรัก “Good Café” แบรนด์คาเฟ่สุดฮอตของภูเก็ตที่แม้ช่วง 1 - 2 ปีแรกอาจอยู่ในช่วงทดลองหาแนวทางของตัวเอง แต่หลังจากขึ้นปีที่ 3 ปรับรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่ เริ่มมีการนำสูตรเบเกอรีพิเศษเข้ามาเสริมมากขึ้น ทำให้จากธุรกิจที่ไปได้เรื่อยๆ ก็กลับจุดติดขายดี จากช่วงเวลาแค่ไม่ถึง 2 ปีดีนักกลับขยายสาขาเพิ่มขึ้นมาแล้วปัจจุบันกว่า 19 แห่ง แถมยังมีรอจ่อคิวเปิดอีก 10 กว่าสาขา ซึ่งเจ้าของก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล “วีระชัย ปรานวีระไพบูลย์” ผู้ปลุกปั้นและสร้างชื่อให้กับ Foto Hotel โรงแรมในใจของคนรักการถ่ายภาพนั่นเอง วันนี้เราจึงชวนมาถอดแนวคิดธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอีกหนึ่งอย่างของเขากัน
สลับมุมคิด ชูโมเดลคาเฟ่ที่ขายขนมเป็นหลัก กาแฟเป็นรอง
“Good café จุดเริ่มต้นมันเกิดจากการที่เรามีพื้นที่ว่างอยู่ สมัยนั้นเทรนด์ คือ คนเริ่มไม่อยากทำงานในออฟฟิศกันมากเลย พอดีมีพื้นที่ตรงลานจอดรถประมาณ 8 ตารางเมตร ก็เลยลองเปิดเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ขึ้นมา ตัวเองก็จะได้ลงมานั่งทำงานในร้านกาแฟด้วย ตอนแรกเราทำแบบไม่ได้คิดอะไรมาก ก็เปิดเหมือนร้านกาแฟทั่วไป ช่วง 1 – 2 ปีแรกเรียกว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่
“แต่หลังจากเราเริ่มทำขนมมาขาย ตอนนั้นทดลองเอาเค้กกล้วยหอมที่เป็นซิกเนเจอร์ของ Foto Hotel มาขายด้วย ปรากฏว่าขายดีขึ้นมาก จากที่เงียบๆ คนเริ่มมาเยอะขึ้น จากเคยขายได้หลักร้อยก็เพิ่มเป็นหลายพันบาทต่อวัน ซึ่งเราพบว่าถ้าทำร้านกาแฟแบบเดิมคู่แข่งในตลาดค่อนข้างเยอะ เพราะทุกร้านชูกาแฟเด่นหมด เราเลยคิดใหม่ เปลี่ยนเป็นร้านขนมที่มีกาแฟดี เพราะส่วนใหญ่ร้านกาแฟทั่วไปมักมีขนมน้อย
“พอได้คอนเซปต์แบบนั้นก็พัฒนาได้ง่ายขึ้น อย่างลูกค้าเดินเข้ามาในร้านแทนที่จะเจอเคาน์เตอร์กาแฟก่อน ก็เจอตู้ขนมก่อน ลูกค้าจะเดินมาสั่งขนมก่อน และค่อยเลือกกาแฟ จากนั้นจึงเพิ่มเมนูขนมเข้ามาเรื่อยๆ โดยจะเป็นลักษณะของเบเกอรีที่มีการคิดธีมใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ รวมถึงนำเมนูขนมไทยต่างๆ มาดัดแปลงใส่ลงไปด้วย พอลูกค้าเยอะขึ้น ก็ขยายร้านให้ใหญ่ขึ้นเป็น 15 ตารางเมตร จนในที่สุด คือ 30 ตารางเมตร จนเริ่มติดตลาด ก็มีคนสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์ จนตอนหลังเลยทำเป็นระบบแฟรนไชส์ขึ้นมา แต่ของเราจะเป็นลักษณะกึ่งแฟรนไชส์กึ่งพาร์ทเนอร์ เหมือนคิดระบบให้คนเอาไปใช้”
จับทำเลรอง ช่วยประหยัดต้นทุนค่าเช่า
วีระชัยเล่าว่าวิธีการขยายสาขาทั้งในส่วนของแฟรนไชส์ และสาขาที่ดูแลเอง จะใช้วิธีให้เจ้าของพื้นที่ในแต่ละย่านเป็นผู้สำรวจมาให้ โดยหลักการเลือกทำเลที่ตั้งร้านในแต่ละสาขา จะไม่ได้เลือกทำเลทองที่มีผู้คนผ่านไปมาพลุกพล่าน เพราะนั่นย่อมเต็มไปด้วยคู่แข่งมากมาย แต่จะเลือกใช้วิธีหาทำเลรอง โดยทำเป็นคอนเซปต์คาเฟ่ใกล้บ้านอยู่ในแต่ละชุมชน โดยคนในชุมชนสามารถมากินได้ทุกวัน ราคาไม่แพง
ซึ่งเมื่อไม่ได้อยู่ในทำเลทองที่มีแต่คนแย่งชิงแข่งขันกัน จึงทำให้ได้ค่าเช่าค่อนข้างราคาถูก ช่วยประหยัดต้นทุนได้ ตัวอย่างทำเลต่างๆ ที่ Good Café ไปเปิด เช่น ล็อบบี้โรงแรม, ตึกเก่า ไม่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ เป็นการใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ จึงทำให้ไม่ต้องลงทุนเยอะ แถมยังนำพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์าทำให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่หลายธุรกิจต้องปรับตัว บางแห่งก็ต้องปิดกิจการลงชั่วคราว
“จริงๆ ก็เหมือนเรานำพื้นที่ว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร มาทำให้เกิดประโยชน์ เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัยพ์ที่เราเคยทำมาเช่นกัน เพียงแต่คราวนี้เรานำอาหารมาเป็นซอฟต์แวร์ในการขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่นั้นๆ ”
ใช้จุดแข็ง Brand + Design Thinking สร้างมูลค่าเพิ่ม
ถึงแม้จะอยู่ในทำเลรอง แต่วีระชัยก็สร้างจุดเด่นให้ร้านแต่ละสาขาขึ้นมา โดยการใช้ประสบการณ์ด้านงานออกแบบจากที่เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจโรงแรมเข้ามาช่วย รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ดิ้งที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในการทำ Foto Hotel มาใช้ด้วย
โดย Good Café ในแต่ละสาขาก็จะมีธีมที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ แต่จะมีจุดเด่นบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์คล้ายกัน เช่น เลย์เอาท์ร้านที่มักจะตั้งตู้ขนมอยู่หน้าร้านเสมอ หรือต้องมีแสงลอดเข้ามาจากภายนอก หรือต้องมีต้นไม้อยู่ในร้าน ซึ่งสาขาบางแห่งที่เป็นแฟรนไชส์ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ชื่อ Good Café แต่ก็มักจะมี by good café ห้อยท้าย หรือบางทีก็เอา good มาเล่น เช่น good forest, good morning เพื่อสร้างภาพจำเอกลักษณ์ที่โดดเด่นให้แต่ละสาขา
“เราจะไม่ทำร้านให้สวยมาก แต่จะเน้นสบาย บรรยากาศดี เพราะบางทีการทำร้านให้สวยมากเกินไป ลูกค้าอาจจะมาเยอะในช่วงแรก แต่หลังจากเขาเคยมาแล้ว ได้เช็คอินถ่ายรูปแล้ว การที่จะวนกลับมาซ้ำจะยากกว่า แต่ถ้าเป็นร้านที่นั่งสบาย ไม่ต้องตกแต่งอะไรมากเกินไป ราคาไม่แพง มีทั้งเครื่องดื่มและขนมให้เขาพร้อม จะทำลูกค้าสามารถกลับมาซ้ำได้บ่อยมากกว่า เพราะถ้าทำให้ร้านสวยมากเกินไป นอกจากใช้เงินเยอะแล้ว สุดท้ายเราอาจต้องอินเทรนด์ไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเราตั้งใจขายโปรดักต์หรือสถานที่ ซึ่งถ้าแบ่งเป็นสัดส่วนเราให้ความสำคัญกับพื้นที่ 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ เราจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาโปรดักต์”
ทำครัวกลาง ต่อยอดขยายแฟรนไชส์โตเร็ว
จากร้านกาแฟสาขาเดี่ยว เมื่อต้องสร้างระบบแฟรนไชส์ขึ้นมา วิธีที่วีระชัยเลือกนำมาใช้กับธุรกิจ คือ การสร้างโรงงานผลิตเล็กๆ ให้ทำหน้าที่เป็นครัวกลาง ผลิตและส่งอาหารป้อนให้กับสาขาต่างๆ โดยมีการนำเทคโนโลยีด้านการผลิตอาหารมาใช้ ซึ่งตัวขนมเองจะถูกอบมาให้สุกแล้วส่วนหนึ่งจากโรงงานผลิตประมาณอีก 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือทางร้านเพียงแค่นำมาอุ่นก็สามารถเสิร์ฟให้กับลูกค้าได้
วิธีการดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้สามารถควบคุมคุณภาพ และรสชาติของขนมได้แล้ว ยังช่วยให้สามารถลดขั้นตอนการทำงานลงได้ การฝึกพนักงานใหม่ก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ใน 1 ร้านใช้พนักงานเพียง 4 - 8 คน ก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว โดยประกอบด้วย พ่อครัว 1 คน, บาริสต้า 1 คน, แคชเชียร์ 1 คน, พนักงานเสิร์ฟอีก 1 คน หากมียอดขายเพิ่มก็จะเพิ่มตัวสำรองเข้าไปอีกตำแหน่งละ 1 คน
จากวิธีคิดที่เล่ามาจึงทำให้ปัจจุบัน Good Café สามารถขยายสาขาได้ถึง 19 สาขา แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่หลายธุรกิจต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก แถมกำลังเตรียมเปิดเพิ่มขึ้นมาอีก 10 แห่งในอีกไม่นานนี้ โดยมีเป้าหมายในปี 2566 จะเปิดให้ครอบคลุมครบเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ จากนั้นจึงจะขยายสาขานำร่องต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน
ซึ่งไม่แน่ในอนาคตเราอาจได้เห็น Good Café กระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วไทยเลยก็ได้ ด้วยโมเดลที่คิดเร็ว ทำเร็ว ดับเบิ้ลความสำเร็จต่อยอดไปได้ไกลเช่นนี้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี