เผยเบื้องหลังเหตุใดแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลก รุกธุรกิจ F&B แห่เปิดร้านอาหารและคาเฟ่

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

      การเปิดบริการ Coach café ของแบรนด์แฟชั่นจากสหรัฐฯ ที่ห้างใหญ่ใจกลางกรุงเทพเมื่อไม่นานมานี้หลายคนอาจมองเป็นเรื่องแปลกใหม่จึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกความสนใจจากสาวกแบรนด์และแม้กระทั่งคนที่ไม่ใช่กลุ่มลูกค้า แต่อันที่จริงแล้วการรุกเข้าธุรกิจ F & B (Food and Beverage) ของบรรดาแบรนด์แฟชั่นหรูเหล่านี้มีมานานหลายปีแล้ว เข้าใจว่าเริ่มตั้งแต่กระแสช้อปปิ้งออนไลน์ได้รับความนิยม ทำให้ “ทราฟิก” (traffic) หรือจำนวนลูกค้าที่เดินเข้าร้านลดลง แบรนด์ต่าง ๆ จึงต้องพยายามหาวิธีดึงลูกค้าให้กลับเข้าร้านอีกครั้ง

     จากการประมวล การที่แบรนด์แฟชั่นหรูหันมาเปิดร้านอาหารหรือคาเฟ่ทั่วโลกอาจเป็นด้วยเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่

เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดลูกค้า

      สำหรับคนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มมิลเลนเนี่ยลและ Gen Z พฤติกรรมการช้อปปิ้งคือซื้อหาทุกอย่างผ่านออนไลน์ แต่ก็ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังชอบที่จะไปเดินห้าง ไปดูของตามร้านอยู่ดี การเปิดร้านอาหารหรือคาเฟ่ที่เป็นของแบรนด์หรูจะสร้างความตื่นเต้น ช่วยดึงลูกค้าให้เข้าร้านมากขึ้นและอ้อยอิ่งอยู่ในร้านนานขึ้น มีข้อมูลระบุว่ายิ่งลูกค้าอยู่ในร้านนานขึ้นเท่าไรก็ยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น และแน่นอนว่าแม้การซื้อสินค้าออนไลน์จะสะดวก แต่ก็เองตามลำพัง มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การนัดเจอกันตามร้านอาหารหรือคาเฟ่ยังเป็นสิ่งจำเป็นเสมอ 

ขายสินค้าพ่วงประสบการณ์

      อย่างที่ระบุไว้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม การผนวกปัจจัยทางสังคมเข้ากับการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนมจึงเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ในอีกมิติหนึ่งที่สร้างความน่าสนใจ โดยเฉพาะลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์หรือบริการที่ได้รับมากกว่าตัวสินค้า ความประทับใจที่ได้จากแบรนด์จะกลายเป็นความทรงจำดี ๆ ในการช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม ลูกค้าได้ใช้ประสาทสัมผัสหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสหนัง หรือเนื้อผ้า การดมกลิ่นน้ำหอม การได้เห็นการจัดสินค้าในร้าน การมีอาหารและเครื่องดื่มบริการเพิ่มเข้ามา นอกจากลูกค้าได้ใช้ประสาทสัมผัสในการรับรส ยังสถานที่นัดพบเพื่อหย่อนใจกับมิตรหสายได้ ที่สำคัญร้านอาหารหรือคาเฟ่ภายใต้แบรนด์หรูเหล่านี้ยังช่วยตอกย้ำลูกค้าให้จดจำแบรนด์แนบแน่นขึ้นอีกด้วย  

ขยายไลน์จากสินค้าหรูไปยังร้านอาหาร

      แต่ละแบรนด์หรูมีความแข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเพิ่มสินค้าที่เป็นไลฟ์สไตล์เข้าไปอย่างร้านอาหารหรือคาเฟ่ยิ่งเป็นผลดี อาหารเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ท้าย ๆ ที่แสดงถึงความหรูหราไม่ต่างจากโลกแฟชั่น จึงเป็นเหมือนใบเบิกทางให้แบรนด์ได้มีพื้นที่บนสื่อโซเชี่ยลมากขึ้น อย่างที่ทราบกัน ผู้คนในยุคนี้นิยมวิถี “แชะก่อนชิม” ลูกค้าที่มาใช้บริการคาเฟ่ที่เป็นของแบรนด์ดัง โดยมากมักอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและอัพลงอินสตาแกรมหรือสื่อโซเชี่ยลอื่น ๆ ทำให้โลโก้และสินค้าของแบรนด์ปรากฏสู่สาธารณะ เป็นการตอกย้ำให้แบรนด์เป็นที่จดจำมากยิ่งขึ้น

เป็นการรักษาฐานลูกค้า

      การจับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมัดรวมกับแบรนด์แฟชั่นหรูเป็นอีกกลยุทธ์ที่ดึงกลุ่มลูกค้าวัยหนุ่มสาวให้ภักดีต่อแบรนด์ ที่ผ่านมา กลุ่มนี้จะแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์ผ่านสินค้าแบรนด์เนม เช่น แว่นกันแดด หรือน้ำหอมของดีไซเนอร์คนโปรด แต่ปัจจุบัน อาหารการกินมีส่วนอย่างมากในการสร้างประสบการณ์ให้กับคนรุ่นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเมื่อเทียบกับตัวสินค้าประเภทเครื่องประดับเครื่องแต่งกาย สำหรับลูกค้าวีไอพีหรือลูกค้าชั้นดี ทางแบรนด์หรือดีไซเนอร์อาจจัดอีเวนท์เชิญลูกค้ากลุ่มนี้มาเลี้ยงรับรองเพื่อแสดงความสำคัญก็จะเป็นการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้    

      ไปดูกันว่ามีธุรกิจคาเฟ่ หรือร้านอาหารใดบ้างที่เป็นของแบรนด์หรู

     Bar Luce ตั้งอยู่ที่สถาบันศิลปะร่วมสมัย Fondazione Prada ในเมืองมิลาน เป็นคาเฟ่ที่ออกแบบโดยเวส แอนเดอร์สัน อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน สีสันออกแนวพาสเทลหวาน ๆ 

      Gucci Osteria da Massimo Bottura ร้านอาหารแห่งนี้เป็นของแบรนด์กุชชี่ มี 2 สาขาคือที่ฟลอเรนซ์ อิตาลี และเบเวอร์ลี่ฮิลล์ แคลิฟอร์เนีย เป็นร้านที่กุชชี่รังสรรค์ร่วมกับแมสซิโม บอตทูร่า เชฟดาวมิชลิน 3 ดวง และคาริเม โลเฟซ เชฟสาวชาวเม็กซิกัน

      Ralph's Coffee & Bar เปิดบริการเมื่อปี 2016 ที่ลอนดอน และกลายเป็นหนึ่งในร้านยอดนิยมในเวลารวดเร็ว แรงบันดาลใจมาจากราล์ฟ ลอเรน ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ผู้ชมชอบการกินดื่มร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง นอกจากที่ลอนดอนแล้ว ที่แมนฮัตตัน นิวยอร์ก็มี Polo Bar เปิดบริการเช่นกัน

     Beige by Alain Ducasse เป็นร้าน 2 ดาวมิชลินของชาเนลที่เปิดบริการในย่านกินซ่าของโตเกียว โดยได้เชฟชื่อดังระดับโลกอย่างอลัง ดูคาสมาดูแล ตัวร้านออกแบบโดยปีเตอร์ มาริโน ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบเสื้อผ้าให้กับชาเนล

     Cafe Dior by Pierre Hermé มีสองสาขา พิกัดย่านกังนัม กรุงโซล เกาหลี และย่านกินซ่า โตเกียว ญี่ปุ่น เป็นการร่วมมือกับปิแอร์ แอร์เม่ เชฟขนมหวานเลื่องชื่อชาวฝรั่งเศส

     Vivienne Westwood Café คาเฟ่หรูของวิเวียน เวสต์วู้ด ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษผู้ฉีกทุกกฎของวงการแฟชั่น เปิดบริการย่านคอสเวย์เบย์ ฮ่องกง เสิร์ฟชาและของว่างเป็นหลัก

      The Blue Box Café สังกัดแบรนด์เครื่องประดับทิฟฟานี่ แอนด์ โค เปิดบริการเมื่อปี 2017 บนถนนฟิฟธ์เอเวนิว นิวยอร์ก ก่อนขยายสาขาไปยังแคลิฟอร์เนีย และห้างแฮร์รอดในลอนดอน

ข้อมูล

www.wasserstrom.com/blog/2021/08/03/why-are-so-many-restaurants-owned-by-fashion-designers/

www.prestigeonline.com/my/wine-dine/dining/did-you-know-luxury-fashion-brands-also-own-cafes-and-restaurants-around-the-world/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง