ถอดแนวคิด Krispy Rice ซีเรียลข้าวไทย ทุนไม่หนาแต่พาแบรนด์ตีตลาดต่างประเทศได้ใน 3 ปี

 

 

      จากอดีตพนักงานประจำของแบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” วันหนึ่งเมื่อต้องตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง พงศ์กมล พงศ์สยาม หรือ ตั๊ก ก็ไม่ลังเลที่จะใช้ประสบการณ์จากงานที่ทำมาร่วมสิบกว่าปี ในการแสวงหาผลิตภัณฑ์เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของตลาด จนกระทั่งพบโอกาสจากช่องว่างในตลาด ด้วยการนำข้าวไทยมาดัดแปลงเป็นซีเรียลกลูเตนฟรี เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนแพ้กลูเตนจากแป้งสาลี ภายใต้แบรนด์ “Krispy Rice” by Rice Unicorn

      แต่การจะแจ้งเกิดธุรกิจให้ติดตลาดได้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้มีเงินทุนหนาเหมือนกับผู้เล่นรายใหญ่ นอกจากเรื่องราวที่น่าสนใจของผลิตภัณฑ์แล้ว วันนี้จึงมาเปิดเผยกลยุทธ์การทำธุรกิจของแบรนด์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น จนวันนี้ 3 ปีผ่านไปสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้

ส่งโรงแรมลองตลาดดูก่อน

     กลยุทธ์แรกที่พงศ์กมลนำมาใช้หลังจากเริ่มต้นผลิตสินค้าออกมา ก็คือ การเข้าไปลองตลาดส่งป้อนให้กับโรงแรมต่างๆ ก่อน โดยใช้วิธีส่งผ่านพาร์ทเนอร์ที่คอยทำหน้าที่จัดหาสินค้าให้กับโรงแรมอยู่แล้ว โดยช่วงแรกก่อนโควิด-19 จะมานั้น เธอส่งให้กับโรงแรมระดับ 5 ดาว มากกว่า 50 แห่งทีเดียว เพื่อนำไปเสิร์ฟอยู่ในไลน์อาหารเช้า เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้าที่แพ้กลูเตน ซึ่งวิธีดังกล่าวนอกจากจะทำให้ได้รู้ฟีดแบ็กความต้องการของลูกค้า ยังทำให้สินค้าสามารถกระจายออกไปได้กว้างขึ้น และช่วยประหยัดต้นทุนมากกว่าการต้องวิ่งส่งสินค้าเองด้วย แถมช่วยลดเวลาการทำงานลงอีกขั้นตอนหนึ่งด้วย

ดึงดูดลูกค้าด้วยแพ็คเกจจิ้งที่น่าสนใจ

      โดยในช่วงแรกที่เริ่มผลิตออกมาจำหน่ายและจัดส่งให้กับโรงแรมต่างๆ พงศ์กมลเล่าว่าแพ็กเกจจิ้งที่ใช้จะเป็นถุงฟอยล์เปล่าและแปะสติ๊กเกอร์ง่ายๆ เพื่อทดลองตลาดก่อน ต่อมาภายหลังเมื่อสูตรต่างๆ เริ่มลงตัวมากขึ้น รวมถึงหาดีไซน์และรูปแบบที่เหมาะสมได้แล้ว จึงค่อยตัดสินใจเริ่มสร้างแบรนด์ และปรับปรุงพัฒนาแพ็กเกจจิ้งให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น โดยจะเน้นใช้เป็นโทนสีขาว เพื่อสื่อถึงความสะอาด อนามัย และสุขภาพดี

       “ของต่อให้ดียังไง แต่ถ้าแพ็กเกจจิ้งไม่ดี ไม่สวย ความน่าเชื่อถือก็น้อยลง แต่การลงทุนของ SME รายเล็กๆ อย่างเราแต่ละครั้งก็ต้องคิดให้ดีคิดให้รอบคอบก่อน เราจึงไม่ได้สินใจลงทุนก้อนใหญ่เลยตั้งแต่แรก แต่จะใช้วิธีทดลองตลาดก่อน ดูให้มั่นใจว่าลูกค้าชอบไม่ชอบอะไร เราจะนำเสนออะไร เมื่อพร้อมแล้วจึงค่อยทำ เพราะการลงทุนแพ็กเกจจิ้งแต่ละครั้งต้องใช้เงินทุนค่อนข้างมาก ทั้งจำนวนการสั่งผลิตขั้นต่ำ รวมถึงไปค่าบล็อก ค่าสี ค่าฉลาก ฯลฯ มันมีส่วนประกอบเยอะ ทางที่ดีจึงต้องมั่นใจก่อนจึงค่อยสั่งผลิต การลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ต้องทำให้คุ้มค่าที่สุดด้วย ”

เลือกใช้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่เชื่อได้

       “เป้าหมายหลักของแบรนด์เรา คือ ตลาดส่งออกเป็นหลัก ดังนั้นการเลือกใช้วัตถุดิบทุกอย่างของเรา ตั๊กจึงเลือกจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ อย่างข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบเราก็เลือกใช้จากโรงสีเจ้าใหญ่ที่มีระบบควบคุมที่ดี มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างๆ อยู่แล้ว เพราะหากเราไปเอาข้าวกับเกษตรกรมา เราต้องส่งไปตรวจสอบคุณภาพ เพื่อขอ certificate เอง ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างแพง การเลือกใช้จากเจ้าที่มีมาตรฐานรองรับเลย จึงช่วยประหยัดได้มากกว่า ทั้งต้นทุนและเวลา อีกทั้งยังลดความเสี่ยงลงได้ด้วย สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจในช่วงแรกๆ ”

ใช้พาร์ทเนอร์ช่วย เร่งธุรกิจโตเร็ว

      อีกข้อที่สำคัญสำหรับการทำธุรกิจของ SME รายย่อย พงศ์กมลกล่าวว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องลงมือทำด้วยตัวเองทุกอย่าง การใช้พาร์ทเนอร์ คือ สิ่งที่เธอเลือกใช้มาตลอด เริ่มตั้งแต่การจัดส่งสินค้าไปให้กับโรงแรมต่างๆ ในช่วงแรก จนถึงการจับมือร่วมกันเพื่อต่อยอดธุรกิจออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การรับจ้างออกแบบแพ็กเกจจิ้ง เป็นต้น

      “จริงๆ ชาเลนจ์ของ SME คือ เรื่องของเม็ดเงิน ในเมื่อเงินเราไม่ได้หนา จึงต้องมีการคิดพลิกแพลงให้ได้มากที่สุดว่าจะหารายได้ยังไง ทำยังไงถึงจะลดต้นทุนได้ การหาพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมมือ คือ ตัวช่วยหนึ่งให้เราไปได้ไกลมากขึ้น เขามีจุดแข็งอะไร เรามีจุดแข็งอะไร ก็เอามาช่วยกันเสริมให้ดีขึ้น สมัยนี้เราไม่ควรต้องลงมือทำอะไรเพียงคนเดียวแล้ว”

หารายได้เพิ่มจากการให้บริการเสริม

      นอกจากการผลิตสินค้าที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว พงศ์กมลยังพยายามหารายได้เพิ่มจากต้นทุน ความสามารถที่มีอยู่ด้วย ได้แก่ 1. การรับผลิต OEM ให้กับสินค้าที่สามารถใช้เครื่องจักรและไลน์การผลิตเดียวกันได้ 2. การรับพัฒนาสินค้าแบบ One Stop Service ตั้งแต่ช่วยคิดสินค้า รับจ้างผลิต การขออย. การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง (มีพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วย) จนถึงระบบคลังสินค้า และการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าของแบรนด์ตามออร์เดอร์ที่สั่งซื้อเข้ามา โดยปัจจุบันสัดส่วนระหว่างการรับจ้างผลิตและผลิตสินค้าของแบรนด์อยู่ที่ 30 : 70

พัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ เพิ่มโอกาสในการขาย

      ปัจจุบันนอกจากซีเรียลจากข้าวแล้ว แบรนด์ยังได้แตกไลน์สินค้าผลิตผลไม้อบแห้งเพิ่มเข้ามาด้วยในชื่อ Krispy Fruit อาทิ ทุเรียน เพื่อเพิ่มตัวเลือกมากขึ้นให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค ซึ่งพงศ์กมลมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจและทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้ มากกว่าที่จะมุ่งเน้นผลิตสินค้าแค่เพียงชนิดเดียว

      “การมีสินค้าแค่ชนิดเดียว โอกาสที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ก็ยากกว่า แต่ถ้าเรามีให้เลือกหลายตัวให้เลือก เช่น มี 10 ตัว อย่างน้อยๆ ก็น่าจะต้องต้องโดนสัก 3 ตัวแหละ เราจึงต้องขยายสโคปการผลิตสินค้าให้มากขึ้น ยิ่งเราทำตลาดต่างประเทศด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีโปรดักต์หลากหลายให้เลือก เพราะเวลาสั่งออร์เดอร์เข้ามาแทนที่เขาจะสั่งแค่ชนิดเดียว ก็สั่งหลายๆ อย่างไปพร้อมกันรวมตู้คอนเทนเนอร์ได้เลย โอกาสในการขายสินค้าได้ของเราก็มากขึ้นตามไปด้วย” พงศ์กมลกล่าวทิ้งท้าย

       โดยปัจจุบันซีเรียลของ Krispy Rice มีจำหน่ายหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ซีเรียล Gluten Free รสนม, รสช็อกโกแลต ราคา 95 บาท และสูตร “Top 8 Allergen Free” ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับคนแพ้ กลูเตน, นมวัว, ไข่, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, ถั่วเปลือกแข็ง, ปลา และอาหารทะเล หรือสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง มีให้เลือก 3 รสชาติ คือ รสออริจินัล, รสช็อกโกแลต และรสสตรอว์เบอรี โดยจะมีส่วนผสมของผลไม้อบแห้ง เช่น กล้วย, สตรอว์เบอรี ลงไปด้วย จำหน่ายถุงละ 139 บาท โดยส่วนใหญ่เน้นส่งออกเป็นหลัก แต่สำหรับในไทยก็สามารถหาซื้อได้ที่วิลล่ามาร์เก็ตทุกสาขา และช่องทางออนไลนใน Shopee

ข้อมูลติดต่อ

https://web.facebook.com/riceunicorn.th/photos

โทร. 063 552 2626

TEXT : Nitta Su.

PHOTO : Krispy Rice, Sir nim

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ