น้ำมันก็ขึ้น ของก็แพง อย่าเพิ่งหมดแรง ฟังรองอธิบดี DBD แนะทางรอดกู้วิกฤตธุรกิจร้านอาหาร

 

 

      “ของก็แพง ยอดขายก็ตก ทำยังไงกันดีล่ะทีนี้”

      คงเป็นปัญหาปวดใจให้ผู้ประกอบการหลายคนที่กำลังทำธุรกิจอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องยาวนานมากว่า 2 ปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารจำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการ หรือมีรายได้ลดลง ตามรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่ามูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ลดลงเกือบ 7 หมื่นล้านบาท หรือราว 11 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับปี 2563) แถมปัจจุบันยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาซ้ำเติม ผู้ประกอบการควรรับมือเช่นไร ลองมาอัพเดตสถานการณ์แนวโน้มธุรกิจอาหารจาก รวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมวิธีรับมือไปพร้อมกัน

ร้านเล็ก เข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง แนวโน้มสดใส

      ก่อนที่จะไปฟังวิธีเอาตัวรอด รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ได้เปิดเผยข้อมูลถึงแนวโน้มธุรกิจอาหารที่กำลังจะกลับมาสดใสว่าจากการกลับมามากขึ้นของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ส่งผลให้ในปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะกลับมาเติบโตประมาณ 5.0 % – 9.9 % ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าภาพรวมอยู่ที่ 3.78 - 3.96 แสนล้านบาท โดยในปีนี้ธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มจดทะเบียนนิติบุคคลร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น

     โดยเฉพาะการขยายตัวในกลุ่มอาหารจานด่วน และร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวมากกว่าที่ผ่านมา เช่น ร้านอาหารที่ไม่มีหน้าร้าน หรือร้านรูปแบบใหม่ๆ ที่มีความคล่องตัวสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายเปิดอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย หรือปั๊มน้ำมันในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองหลักตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งคาดว่าร้านอาหารประเภทดังกล่าวจะได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภค เนื่องจากเป็นเมนูพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย และราคาไม่แพง เข้ากับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้ โดยมองว่าธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่ไม่ว่าใครก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ ดังนั้นหากสามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคได้ อนาคตย่อมสดใสแน่นอน

      “อาหาร คือ สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันไม่ว่าใครก็จำเป็นต้องกินต้องใช้ ดังนั้นไม่ว่ายังไงก็ยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ เพียงแต่อาจต้องปรับตัวตามสถานการณ์ โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราเองได้เชื่อมโยงกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการตรึงราคาต้นทุนวัตถุดิบ การจัดโปรโมชั่นพิเศษ การจัดฝึกอบรมอาชีพ การสอนเทคนิคการทำธุรกิจอาหาร เพื่อให้สามารถผลิตอาหารที่ดี ราคาไม่สูง ตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภคได้และร้านอาหารให้อยู่ได้”

แนะ 3 กลยุทธ์พิชิตธุรกิจโต

      โดยถึงแม้จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้น แต่เพื่อการเอาตัวรอดในสถานการณ์ช่วงนี้ให้ได้ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ฝากข้อคิดไว้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารไว้ 3 ข้อ ดังนี้

ดูเทรนด์การตลาด

      “การปรับตัวข้อแรกที่ผู้ประกอบการควรทำ คือ ศึกษากระแสที่เกิดขึ้น ดูเทรนด์แนวโน้มความต้องการของตลาด ว่า ณ ปัจจุบันนี้ มีสิ่งไหนที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ หรือเขามีปัญหาอะไรที่อยากได้รับการแก้ไข ไม่ใช่เคยทำอะไรก็ทำอยู่อย่างนั้น เช่น ตอนนี้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น มีการกินอาหารเป็นยา เพื่อสุขภาพ เราก็ควรจะลองปรับตัวตาม อย่างผู้บริโภคบางคนหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ได้ เราอาจใช้โปรตีนทดแทนจากพืช หรือแมลงเข้ามาทดลองทำเพื่อทดแทนดู สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจได้รับความสนใจอยู่เสมอ”

สร้างมูลค่าเพิ่ม เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม

      “นอกจากการปรับตัวตามเทรนด์แล้ว แทนที่จะจับกลุ่มผู้บริโภคที่กว้างแบบเดิม ให้ลองทำผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้นก็ดี ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น ยาสระผม แทนที่เราจะทำเป็นยาสระผมสำหรับคนทั่วไป เราอาจลองทำเป็นแชมพูสำหรับเด็ก แชมพูสำหรับผู้สูงอายุ ใส่ความเฉพาะกลุ่มลงไป จะทำให้สินค้าของเราน่าสนใจมากขึ้น แถมอาจได้ราคาดีขึ้นด้วย เพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ”

ปรับลดต้นทุน ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต

      “สำหรับวัตถุดิบที่แพงขึ้น ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมได้ จึงอาจต้องใช้การบริหารจัดการต้นทุนให้ดีดูว่าส่วนใดบ้างที่ทำให้เกิดการสูญเสียโดยใช้เหตุ เมื่อเราสามารถหาได้เจอ ก็สามารถลดต้นทุนได้ หรือบางครั้งอาจลองหาวัตถุดิบอื่นมาใช้ทดแทน แต่สิ่งสำคัญ คือ อย่าเอาเปรียบผู้บริโภค หากจะปรับราคาขึ้นก็ให้เหมาะสม เราอยู่ได้ ผู้บริโภคอยู่ได้ อย่างเคยเห็นร้านในโครงการหนูณิชย์พาชิมบางร้าน ที่จัดขึ้นโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขายราคาถูกแทบจะไม่ได้กำไรเลย แต่เขาก็ใช้วิธีถัวเฉลี่ยกันไป คือ ทำเมนูราคาถูกเพื่อดึงดูดลูกค้า เพื่อให้ขายอย่างอื่นพ่วงไปได้ด้วย นี่ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ SME สามารถนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย