Bounce ธุรกิจฟิตเนสเพื่อแม่ลูกอ่อน ลงทุนไม่ถึงหมื่นต่อยอดรายได้ปีละ 100 ล้านบาท

 

 

      จุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจของบรรดา mompreneur หรือคุณแม่ผู้ประกอบการทั้งหลายมักเกิดจากการหาทางออกให้กับปัญหาที่เผชิญ คิมเบอร์ลี เพอร์รี่ ผู้ก่อตั้งบริษัทบาวซ์ (Bounce) ซึ่งดำเนินการธุรกิจเกี่ยวกับฟิตเนสที่เน้นการใช้แทรมโพลีน (อุปกรณ์ออกกำลังกายที่เป็นผ้าใบขึงตึงกับคานยึดที่เป็นเหล็ก) ก็เป็นหนึ่งในนั้น ธุรกิจของเธอเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีก่อนภายใต้แนวคิด “ฟิตเนส การเชื่อมโยงกับคนรอบข้าง และความสนุกสนาน” จนได้รับความนิยม สามารถขยายสาขากว่า 200 แห่งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 47,000 คนต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง

      คิมเบอร์ลีวัย 37 ปี พื้นเพเป็นชาวออสเตรเลียนได้ย้ายมาปักหลักที่อังกฤษนานนับสิบปีเล่าว่าย้อนกลับไปปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่เธอลาคลอดและต้องย้ายตามคริส ผู้เป็นสามีมาอยู่ที่เฮาร์โลว์ เมืองเล็ก ๆ ห่างจากลอนดอนเกือบ 50 กิโลเมตรเธอรู้สึกแปลกแยกเนื่องจากเพิ่งย้ายมาใหม่ จึงไม่รู้จักใครเลย เมื่อบวกกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว “ตลอดที่ผ่านมา ฉันชอบเล่นกีฬาและทำความรู้จักผู้คนจากการเล่นกีฬา ฉันมาจากประเทศที่วัฒนธรรมการออกกำลังกายหยั่งรากฝังลึก ดังนั้น ตอนที่มาลอนดอนครั้งแรกตอนอายุ 18 ฉันก็เลือกไปเข้าชมรมเน็ตบอลเพื่อหาเพื่อน แต่หลังจากย้ายมาฮาร์โลว์ ชมรมเดียวที่ฉันพอจะไปร่วมได้ก็มีแต่ชมรมแม่และเด็ก”    

      คิมเบอร์ลีเล่าว่าเธออยากไปออกกำลังกายที่ยิม แต่ไม่มีที่ไหนที่เอื้อให้เธอสามารถนำลูกสาววัยแบเบาะไปด้วยได้เลย กอปรกับความผิดหวังที่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งในงานประจำที่บริษัทรับจัดอีเวนต์แห่งหนึ่ง ช่วงลาคลอด เธอเริ่มมองหาอาชีพใหม่แทนการเป็นมนุษย์เงินเดือน โดยปกติ คิมเบอร์ลีชอบออกกำลังกายและชอบเต้น และเธอเล่นแทรมโพลีนเพื่อรีดน้ำหนักที่เกินมาหลังคลอดอยู่แล้ว พลันความคิดเรื่องธุรกิจฟิตเนสก็ผุดเข้ามาในหัว

      คิมเบอร์ลีตัดสินใจทันทีว่าจะเปิดคลาสสอนออกกำลังกายด้วยแทรมโพลีน เธอจึงเข้าฝึกอบรมเพื่อให้ได้ใบอนุญาตมา จากนั้นก็ตั้งบริษัทบาวซ์ และหยิบยืมเงินจากสามี 200 ปอนด์ (ราว 8,600 บาท) เป็นทุนเริ่มต้นในการซื้อแทรมโพลีนมือสองขนาดเล็กมา 8 อัน และสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อประชาสัมพันธ์คลาสและประโยชน์ของการเล่นแทรมโพลีนโดยเน้นไปที่กลุ่มคุณแม่ลูกอ่อนในเมืองฮาร์โลว์    

      คลาสแรกที่เปิดสอน มีคุณแม่ลูกอ่อนจำนวนหนึ่งลงทะเบียนเข้าเรียนโดยคิมเบอร์ลีออกแบบท่าเต้นเองและเช่าพื้นที่ศาลาประชาคมของเมืองเป็นสตูดิโอเพื่อเรียนและสอน บรรดาคุณแม่ที่มาเข้าคลาสต่างพาลูกน้อยมาด้วยโดยปล่อยให้นอนอยู่ในรถเข็นเด็ก 3 เดือนผ่านไป เสียงตอบรับค่อนข้างดีทำให้คิมเบอร์ลีต้องเพิ่มคลาสสอน ไม่เฉพาะคุณแม่ลูกอ่อน บรรดาสาว ๆ ในเมืองก็ซื้อคลาส นอกจากสนุกสนานยังทำให้เผาผลาญพลังงานได้เฉลี่ย 600 กิโลแคลอรีใน 45 นาทีอีกด้วย

       รายได้ที่เพิ่มขึ้น คิมเบอร์ลีนำมาต่อยอดซื้อแทรมโพลีนเพิ่มเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น แต่ก็มาถึงจุดที่เธอไม่สามารถสอนทุกคลาสเองได้ทั้งหมด คลาสออกกำลังกายด้วยแทรมโพลีนของบาวซ์ได้รับความนิยมอย่างมาก ลูกค้าเริ่มทวีจำนวนทำให้เธอตัดสินใจจ้างเทรนเนอร์มาช่วยสอน ช่วงเวลานี้เอง การแข่งขันก็เริ่มขึ้นเมื่อยิมอื่นเริ่มเปิดคลาสเลียนแบบเธอ แม้คลาสของบาวซ์จะถูกจองเต็มตลอด และสตูดิโอของบาวซ์จะเป็นแห่งเดียวที่สามารถนำลูกมาออกกำลังกายได้ด้วย แต่เพื่อหนีจากคู่แข่งและพัฒนาธุรกิจให้เติบโต คิมเบอร์ลีเริ่มกลยุทธ์ขายแฟรนไชส์ในปี 2015

       หลังจากที่เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ คิมเบอร์ลีและทีมงานก็สามารถเทรนครูฝึกไปแล้ว 700 กว่าคนและมีสตูดิโอบาวซ์ผุดเพิ่มกว่า 320 แห่งทั้งในอังกฤษและต่างประเทศ สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ทางบาวซ์จะจัดหาอุปกรณ์และช่วยเลือกทำเลในการตั้งสตูดิโอให้ นอกจากค่าธรรมเนียมแล้ว ผู้ซื้อแฟรนไชส์ยังต้องจ่ายค่าบริหารจัดการที่บาวซ์เข้ามาดูแลให้ อาทิ การจัดตารางฝึก การออกแบบท่าเต้น การทำประชาสัมพันธ์และการตลาดให้ โดยบาวซ์คิดเป็นเปอร์เซนต์จากรายได้ของสตูดิโอ  

       มาร์ค มูลเลน ครูฝึกสอนการออกกำลังกายในลอนดอนแสดงความเห็นว่าที่บาวซ์ได้รับความนิยมก็เนื่องมาจากรูปแบบการออกำลังกายที่สนุก ทั้งยังเน้นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงจึงเท่ากับการสร้างสังคมเล็ก  ๆ ของผู้หญิงออกกำลังกายขึ้นมา “การเข้ายิมทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกกระอักกระอ่วนเพราะส่วนใหญ่เจอแต่สมาชิกผู้ชาย แถมบางทีไปแล้วก็เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้จะเล่นอะไร ทำให้ขาดแรงจูงใจ แตกต่างจากที่บาวซ์ที่เปี่ยมไปด้วยพลังของผู้หญิงที่ต้องการออกกำลังกาย ยิ่งมีแฟรนไชส์กระจายหลายสาขา ก็ยิ่งทำให้เข้าถึงบริการง่ายขึ้น”

       จากเงินลงทุนที่หยิบยืมสามีมา 200 ปอนด์ สามารถต่อยอดให้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ปีละ 3 ล้านปอนด์หรือราว 128.5 ล้านบาท คิมเบอร์ลีแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการมือใหม่ทำล้วนแต่เป็นการทดลองตลาดทั้งสิ้น หากประสบความสำเร็จก็ถือว่าดี แต่ถ้าไม่เวิร์กก็ให้ถือเป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด และก่อนดำเนินกลยุทธ์อะไร ควรหาข้อมูลให้แน่น ยกตัวอย่างตอนที่คิมเบอร์ลีจะเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ เธอลงทุนจ้างทนายเพื่อปรึกษาเรื่องนี้จนถ่องแท้ และสุดท้าย รักในสิ่งที่ทำ การได้ทำในสิ่งที่รัก เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือความยากลำบาก อย่างน้อยก็ช่วยกระตุ้นให้มีแรงฮึดฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ได้

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

ข้อมูล

www.bbc.com/news/business-53579590

www.thesun.co.uk/money/8681612/mum-of-one-started-3million-trampolining-business-with-just-200/

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย