คุยกับ ลุงเดช รังษี Last Man Standing เจ้าของไร่ชาสุดฮอตแห่งดอยม่อนเงาะ ที่ยืนหยัดปลูกชามานานกว่า 30 ปี

TEXT : สุรางรัก

PHOTO : สองภาค

 

       คนเราจะประสบความสำเร็จได้ ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่? บางคนอาจเป็นวัน เดือน ปี หรือบางคนก็อาจครึ่งค่อนชีวิตเลยก็ได้

      ย้อนไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ในยุคที่ชาเริ่มเป็นพืชที่ถูกส่งเสริมให้นำมาทดลองปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย ณ ชุมชนหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในตำบลเมืองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่การดูแลของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ

      “เดช รังษี” คือ หนึ่งในชาวบ้านที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเพาะปลูกชากับภาครัฐเมื่อปี 2533 แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปเขากลับเป็นเพียงบุคคลเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่จากสมาชิกทั้งหมด 19 หลังคาเรือน เมื่อประสบการณ์ที่สั่งสมมาบวกกับผืนดินที่เฝ้าฟูมฟักกำลังออกดอกผลแห่งความสำเร็จ “ไร่ชาลุงเดช” ได้กลายเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวไร่ชาสุดฮิตของจังหวัดเชียงใหม่  แต่กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้เบื้องหลังที่มานั้นกลับอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของชายคนหนึ่งที่เป็น Last Man Standing ในการทำไร่ชาอู่หลงและชาเขียวคนสุดท้ายแห่งดอยม่อนเงาะด้วย

1.

      “มีคนพูดไว้ว่าทำไร่เมี่ยงหากใครขยันจะตัดหญ้า 2 ครั้งต่อปี แต่ถ้าทำไร่ชาในทุกๆ 2 สัปดาห์ เราต้องขึ้นไปถอนหญ้าครั้งหนึ่ง”

      นี่คือ สิ่งที่ลุงเดชเกริ่นให้ฟังในตอนต้นถึงความแตกต่างระหว่างการทำไร่เมี่ยงที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านกับการทำไร่ชาซึ่งเป็นงานละเอียดที่ต้องใช้ความพยายามและอดทนในการดูแลใส่ใจค่อนข้างสูง แต่ในยุคเริ่มต้นด้วยราคาตลาดที่จูงใจจึงทำให้ชาวบ้านหลายคนตัดสินใจหันมาเข้าร่วมทดลองปลูกชาตามคำแนะนำของภาครัฐ โดยราคาใบชาอู่หลงสดในตอนนั้นอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 250 บาท และชาเขียวเบอร์ 12 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 150 บาท แต่กว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้องใช้เวลา 1 – 2 ปี ราคาตลาดเมื่อวันนั้นกับวันนี้อาจแตกต่างไป ราคาใบชาแต่ละชนิดตกลงกว่าครึ่ง ฝันของชาวบ้านมีอันต้องสลายลง จึงทำให้หลายคนถอดใจและกลับไปทำไร่เมี่ยงเหมือนเดิม

      “คนอื่นเขาเลิกกันไปหมด เพราะไม่ได้อย่างที่หวัง แต่ลุงยังไม่ถึงที่สุด เมื่อลงมือทำแล้ว ก็ต้องลองให้รู้ก่อนว่าผลจะออกมาเป็นยังไง” ลุงเดชเล่าเหตุผลในการทำต่อ

      แต่แล้วจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้จิตใจเกิดความหวั่นไหวได้ เมื่อภรรยาคู่คิดกลับไม่ได้คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ลุงเดชตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งเพื่อเดินหน้าทำสิ่งที่คิดไว้ด้วยตัวลำพังเพียงคนเดียว โดยใช้เวลาทั้งหมดที่มีทุ่มเทให้กับงาน อยากทำเท่าไหร่ก็ทำ เหนื่อยก็พัก หิวก็กิน บางทีคืนไหนเดือนหงายมีแสงสว่างให้พอมองเห็น ลุงก็ขุดดินปลูกต้นชาไปด้วย

      “ลุงไม่ได้โกรธป้าเขานะ เขาคงใจเสียที่เห็นใครๆ ก็เลิกทำกันหมด ทุกคนมีเหตุผลของตัวเอง ป้าก็คิดของป้า ลุงก็คิดของลุง เมื่อคิดไม่ตรงกัน ก็ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้เลิกกัน แต่ก็ไปทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เพราะจิตใจคนเราบังคับกันไม่ได้” ลุงเดชเล่าย้อนความหลังในวันเริ่มต้นให้ฟัง

2.

       ผ่านไปหลายสิบปี หลังต่อสู้ด้วยตัวลำพังเพียงคนเดียว แม้ต้องผ่านอุปสรรคอีกหลายครั้ง เช่น ราคาขายไม่ได้ตามที่หวังไว้ ชาถูกตีกลับไม่ได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ ฯลฯ แต่ลุงเดชก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป จนกระทั่งเมื่อเริ่มมีความชำนาญมากขึ้น มีการนำตัวอย่างพืชอื่นๆ มาทดลองปลูก เช่น กล้วยไม้, เห็ดฮังการี เริ่มมีคนเข้ามาขอศึกษาดูงานขอความรู้มากขึ้นบวกกับภาพบรรยากาศที่สวยงามของผืนป่าและไร่ชาที่ปลูกลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได ทำให้ไร่ชาและลุงเดชเองเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีคนมาขอพักอาศัย จากหนึ่งคนเพิ่มเป็นสองคน เป็นกลุ่ม บอกต่อๆ กันมา จากที่ศึกษาดูงานเพื่อการเกษตร จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวที่อยากมาลองถ่ายรูปเก็บใบชาด้วยตัวเองไปโดยปริยาย

      “จริงๆ มันเริ่มดีขึ้นมาเมื่อ 4 – 5 ปีมานี้เอง แต่ลุงไม่ได้ตั้งใจที่คิดจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจ จุดเริ่มต้นจริงๆ คือ แค่ทำไร่ชา แต่เมื่อเริ่มมีคนมาศึกษาดูงานมากขึ้น เขาชอบบรรยากาศ ก็เริ่มขอเข้ามาพักบ้าง เตรียมอุปกรณ์ง่ายๆ มาทำอาหารกินกันบ้าง เลยบอกกันต่อปากต่อปากก็เลยพากันเรียกชื่อและตั้งชื่อให้ว่า ไร่ชาลุงเดช พอคนเริ่มเยอะขึ้น เราก็เริ่มหาบริการมารองรับจนพัฒนามาเป็นอย่างทุกวันนี้”

     โดยนอกจากปลูกชา ทุกวันนี้ที่ไร่ชาของลุงเดชจึงทำหน้าที่เป็นเสมือนพื้นที่ศึกษาดูงานและหน้าร้านนำผลผลิตจากโครงการหลวง และสินค้าเกษตรอื่นๆ มาจำหน่ายด้วย

       “ทุกวันนี้ปีๆ หนึ่งลุงคืนให้หลวงให้รัฐเป็นแสนๆ บาทนะ ลุงเอาชาสดไปขายให้เขา แล้วก็เอาชาอบแห้งกลับมาขายที่ร้าน ก็ได้ช่วยกระจายสินค้าให้โครงการหลวงไปด้วย”

3.

      กว่า 30 ปีแล้วที่วันนี้ลุงเดชยังคงยืนหยัดกับการทำไร่ชาที่ปลุกปั้นมากับมือ ถึงแม้บริบทในวันนี้อาจแตกต่างไปจากเดิมบ้าง จากแปลงสาธิตทดลองปลูกทางการเกษตร สถานที่ศึกษาดูงาน มาเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติสุดฮิต แต่ลุงเดชไม่ได้หวังอะไรมากไปกว่าการทำสิ่งที่มีอยู่วันนี้ให้ดีที่สุดด้วยตัวเอง โดยแม้วันนี้ไร่ชาลุงเดชจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นแก่เหล่านักท่องเที่ยว แต่ลุงก็ยังคงเจตนาเดิม ไม่ได้คิดอยากจะขยายกิจการให้ใหญ่โตมากขึ้นไปกว่าเก่าห้องพักที่มีอยู่ไม่ถึงสิบห้อง ก็ยังคงจำนวนไว้เท่าเดิม

      “ตราบใดที่ลุงยังมีชีวิตอยู่ ลุงจะคงไว้แค่นี้พอไม่ทำมากไปกว่านี้ แค่นี้ลุงก็มีความสุขแล้วไม่ได้อยากร่ำรวยมีเงินทองมากมายกว่าคนอื่น เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้มีมากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถยื้อชีวิตเราเอาไว้ได้ ไม่มีใครอยู่ได้ยั่งยืน ฉะนั้นเอาความสุขไว้ก่อนดีกว่า ข้อสำคัญที่ลุงคิดไว้เสมอ คือ อย่าลืมตัวเอง ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ขอให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี ใครจะคิดกับเรายังไงก็ปล่อยเขา อะไรที่ไม่ดีอย่าเอามาใส่ใจ ก็เหมือนกับบ้านที่เราคงไม่อยากนำขยะเข้ามา เราแค่ดูแลตัว ดูแลใจเราไว้ให้ดีก็พอ” ลุงเดชฝากแง่คิดเอาไว้

      จากความสำเร็จที่มีทุกวันนี้ได้ หากเปรียบเทียบในแง่ของการทำธุรกิจแล้ว ไม่ว่าใครก็คงอยากให้มีทายาทมาสานต่อกิจการด้วยกันทั้งนั้น แต่สำหรับลุงเดชแล้ว ลุงไม่ได้คาดหวังสิ่งใด ไม่บังคับ และไม่คิดทิ้งภาระให้กับใคร

       “ถ้าเราทำทางทำถนนไว้ให้แล้ว เขาไม่มาเดิน เราก็แค่ปิดเสีย ต้นไม้เราปลูกไว้ให้แล้ว รอให้เขามาเก็บเกี่ยว ถ้าเขาไม่มี เราก็ไปบังคับจิตใจใครไม่ได้ ที่ทำได้ ก็คือ ตัวเราเอง เราก็แค่ดูว่าจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง เราถนัดอะไร 1,2,3,4 ก็ทำอันนั้น ทำเท่าที่ทำได้”

       แต่โชคดีที่เหมือนลุงน่าจะคุยกับลูกๆ ได้เข้าใจ เพราะทุกวันนี้ทุกคนต่างกลับมาช่วยงานที่บ้านอย่างพร้อมเพรียง ในแต่ละวันต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่ขาดสาย โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวที่เป็นไฮซีซั่นลูกค้าหลั่งไหลเข้ามามาก ทำให้สามารถจ้างงานสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้มากกว่าหลายสิบคนทีเดียว

      และนี่คือ เรื่องราวของไร่ชาผืนสุดท้ายแห่งยอดดอยม่อนเงาะที่ความสูงระดับน้ำทะเล 1,425 เมตร ที่ยังหลงเหลืออยู่มาจนทุกวันนี้

 

ข้อมูลติดต่อ

https://web.facebook.com/lungdat

โทร. 081 163 3765

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย