คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่แบรนด์น้องใหม่จะฝ่าด่านแบรนด์รุ่นพี่กลายเป็นม้ามืดมาแรงทำยอดขายแซงทุกแบรนด์จนขึ้นแท่น Best Seller ในเซเว่นเพียงแค่ภายในหนึ่งเดือนเท่านั้น ถ้าบอกว่าเจ้าของสถิตินี้คือ บริษัท พอช เมดิก้า ไลฟ์เทค จำกัด หลายคนอาจนึกไม่ออก แต่ถ้าเอ่ยถึงแบรนด์ McPlus เจ้าของสินค้าไฟเบอร์มะนาว ไฟเบอร์มะขามที่มีสโลแกนฮาหลุดโลกอย่าง “ขี้ทุกขวด เจ็บปวดทุกซอง” ความขำทำให้แม้แต่คุณสรยุทธ์ยังต้องนำไปแชร์ในรายการเล่าข่าว คงทำให้หลายคนร้องอ๋อกันขึ้นมาทันที
นอกจากเป็นการฉีกกฎการโฆษณาของอาหารเสริมในประเทศไทยแล้ว บริษัท พอช เมดิก้า ไลฟ์เทค มีแนวคิดการทำตลาดอย่างไรยอดขายถึงได้พุ่งไว SME Thailand Online จะพาไปล้วงความลับกับ CEO คุณวโรดม โง้วศิริ
จากคลินิกความงามสู่โรงงานผลิตเครื่องสำอาง
คุณวโรดม เล่าให้ฟังว่า บริษัท พอช เมดิก้า ไลฟ์เทค นั้นก่อตั้งโดยน้องสาว แพทย์หญิงวิวรรณ เดชสุนทรวัฒน์ ที่เริ่มต้นจากการเปิดคลินิกความงามเมื่อปี พ.ศ.2547 แต่ด้วยเหตุบังเอิญหรือฟ้าลิขิตก็สุดแล้วแต่ เมื่อยารักษาโรคอ้วนช่วงสิบปีที่แล้วที่มีเพียงตัวเดียวได้ถูกระงับใช้และถูกปลดออกจากบัญชียาทั่วโลก แต่แพทย์หญิงวิวรรณได้ไปเจอสูตรอาหารเสริม ออกฤทธิ์ได้ใกล้เคียงยาเหมือนกันแต่ผลข้างเคียงน้อยกว่า จึงเกิดจุดประกายชวนน้องชายให้หันมาทำธุรกิจอาหารเสริม
“อาหารเสริมมันตอบโจทย์การทำธุรกิจ 3 ประการ ประการแรก เป็นธุรกิจที่มีอัตราผลกำไรสูงกว่าอุตสาหกรรมทั่วๆ ไป สองคุ้มค่าการลงทุน สามเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ทั่วโลกและเติบโตได้พัฒนาเป็นสินค้าตั้งแต่เส้นผมจรดเล็บเท้า”
เมื่อคุณหมอจับมือกับนักการตลาดสินค้าตัวแรกภายใต้แบรนด์ McPlus Activ ได้เริ่มเปิดตัวจำหน่ายที่ Watson ประมาณปี 2558 และเริ่มทยอยผลิตสินค้าตัวอื่นๆ ตามมาด้วยตระหนักดีว่าบริษัทไม่ควรพึ่งสินค้าเพียงตัวเดียว จะทำให้เกิดความเสี่ยงทางธุรกิจเกินไป
ก่อนทำต้องคิด ก่อนผลิตต้องวิจัย
ในทุกครั้งที่บริษัทจะออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นั้นจะเริ่มจากการทำวิจัย เพราะการ Research มันคือข้อมูลความจริงที่จะช่วยตอบคำถามเบื้องต้นได้หลายอย่าง เช่น ในเบื้องต้นก่อนที่จะผลิตอาหารเสริมช่วยนอนหลับ บริษัทก็ค้นคว้าและได้พบข้อมูลที่น่าสนใจจากกระทรวงสาธารณสุขคือ ประเทศไทยคนมีปัญหาเรื่องท้องผูกมากถึง 19 ล้านคน และก็เป็นตัวเลขจำนวนเดียวกันคนไทยมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
“เราก็ปักธงว่าทำสินค้าช่วยการนอนหลับ ช่วยขับถ่าย มีดีมานต์ถึง 19 ล้านคนซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อสามปีที่แล้วก่อนเกิดโควิด ปัจจุบันตัวเลขคนนอนไม่หลับอาจจะเพิ่มขึ้นอีกก็เป็นได้ แต่ถ้ามีคนนอนไม่หลับเพียงหลักแสนเราก็คงไม่ทำอาหารเสริมตัวนี้”
ดีมานต์มี สินค้าต้องต่าง วิธีขายต้องเด่น
ด้วยมาตรฐานการผลิตของบริษัทที่คิดค้นสูตรโดยทีมแพทย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ บริษัทฯ จึงได้รับการทาบทามจากทางเซเว่น ให้นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่าย และกลายเป็นสินค้า Best Seller ทั้งอาหารเสริมช่วยนอนหลับ Leep และไฟเบอร์มะนาว ไฟเบอร์มะขาม คุณวโรดมชี้แจงว่า การที่สินค้าขายดีได้นั้นจะต้องประกอบด้วยปัจจัยดังนี้
อย่างแรก สินค้าต้องมีคุณภาพ อาทิ อาหารเสริมช่วยนอนหลับที่ใช้วิธีไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง เมลาโทนิน (Melatonin) ที่มีบทบาทช่วยในการนอนหลับให้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
สอง สินค้าต้องมีความต่าง เช่น ก่อนจะผลิตอาหารเสริมช่วยขับถ่ายบริษัทได้ทำการวิจัยและค้นพบว่าในประเทศไทยมีสินค้าไฟเบอร์ในท้องตลาดหลายพันแบรนด์เฉพาะที่จำหน่ายในเซเว่นก็มีถึง 11 แบรนด์ แต่ประเด็นคือ ไฟเบอร์ส่วนใหญ่ร้อยทั้งร้อยมีรสมะนาวที่เป็น lemon คือ มะนาวเปลือกเหลือง ทว่าข้อมูลที่ทางบริษัทค้นคว้าพบว่าในความเป็นจริงแล้วเวลาขับถ่ายผู้บริโภคจะนึกถึง lime มะนาว เปลือกเขียวมากกว่า จุดนี้เองทำให้กำเนิดไฟเบอร์มะนาวเปลือกเขียวแบรนด์แรกของไทย พร้อมความแตกต่างด้วยแพ็กเกจจิ้งที่ต้องโดดเด่นเมื่อวางอยู่บนชั้นวางของ
สาม วิธีการเล่าเรื่อง บริษัทจะเน้นขายความฮา
“ที่เลือกใช้ความตลก ส่วนตัวเป็นคนชอบดูคาเฟ่ตั้งแต่เด็ก แล้วรู้สึกว่าความตลกมันเข้าถึงคนง่าย ดังนั้นในการโฆษณาไม่เน้นคำสวยๆ เช่น ช่วยให้ระบบขับถ่ายดี แต่จะหันมาใช้คำที่สนุกๆ เช่น หมดไส้หมดพุง ปู๊ดป๊าด รวมไปถึงการใช้ KOL ให้ขายความฮา รู้สึกว่าผู้บริโภคชอบเหมือนเห็นภาพมันสนุก ซึ่งตัวไฟเบอร์มะนาวเราเข้าไปขายในเซเว่นเดือนเมษายนปีที่แล้ว ภายในเดือนเดียวเรากลายเป็น Best Seller แล้วก็เป็นมาตลอดจนถึงทุกวันนี้”
สี่ ต้องทำการตลาดออนไลน์แบบมืออาชีพ
“เมื่อจำนวนสินค้ามากขึ้น รวมทั้งเกิดโควิด ช่วงโควิดเป็นช่วงที่คนอยู่บ้าน ตลาดออฟไลน์เป็นศูนย์ ถ้าจะอยู่รอดต้องออนไลน์ที่ทุกแบรนด์ก็มุ่งสู่ถนนออนไลน์เช่นเดียวกัน เราจึงต้องมีที่ปรึกษาช่วย เป็นที่มาได้ร่วมมือกับคุณภัทร เถื่อนศิริ บริษัท เซลสุกิ เข้ามาร่วมงานกับบริษัท โชคดีได้เซลสุกิวางแผนธุรกิจ วางแผน positioning สินค้า เอาสินค้าทำการโฆษณาออนไลน์ในงบน้อยแต่ได้ผลเยอะ ยังคิดอยู่ว่าถ้าไม่มีที่ปรึกษาดีขนาดนี้เราจะไปได้ขนาดไหน”
แม้วันนี้บริษัทจะทำรายได้ปีละ 9 หลัก แต่วโรดม บอกว่าสำหรับเขาแล้วถือว่ายังห่างไกลจากคำว่าสำเร็จอีกไกล เพราะยังมีเป้าหมายที่ต้องทำอีกมาก ที่เร็วสุดภายในปีนี้คือ การสร้างโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และสามารถผลิตได้หลากหลายขึ้น อาทิ แบบเยลลี่, soft jell รวมถึงเป้าหมายที่จะทำตลาดต่างประเทศ และการก้าวสู่การเป็นบริษัทมหาชน
“ที่บริษัทสามารถยืนหยัดมาได้เป็นสิบปีเพราะความอึด ถ้าชาวบ้านเขาทำงานกันได้ 10 ชั่วโมง พวกเราสามารถทำได้ 15 ชั่วโมง และไม่ได้ยึดติดกับวิธีเดิมๆ เพราะทางที่พาเรามาในวันนั้นอาจจะไม่ใช่ทางที่พาเราไปในอนาคตก็ได้ ต้องหมั่นหาไอเดียใหม่ๆ ที่สำคัญคือสินค้ามีคุณภาพมาตรฐาน”
การทำธุรกิจต้องปรับตัวอยู่เสมอ แค่วันนี้ถ้าคุณไม่มีจุดต่างเท่ากับรอวันตายอย่างเงียบๆ
Text: Neung Cch.
Photo: เจษฏา ยอดสุรางค์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี