Pick Baan Hostel ที่พักที่ไม่ต้องจ่ายเงินสักบาท แลกกับความสามารถที่คุณมี

 

 

     "sleep on the origin นอนบ้านเก่าฟังเรื่องเล่าในตำนาน"

      ประโยคนี้จับใจจนสมองต้องสั่งให้ส่งข้อความไปสอบถามเรื่องที่พักกับแอดมินเพจ ตอนที่ผมมีแพลนจะไปเที่ยวลำพูน และ Pick Baan Hostel ทำให้ผมได้รู้ว่า แค่มีความสามารถบางอย่างและรักการใช้ชีวิตที่นี่ บางทีสิ่งที่คุณมีอาจเปลี่ยนเงื่อนไขการเข้าพัก โดยที่คุณไม่ต้องจ่ายด้วยเงินสักบาท

      ผมส่งข้อความออกปากอยากคุยกับ พี่ใหม่ - อุไรวรรณ ชัยพิพัฒน์ หลังจากที่ได้ซึมซับบรรยากาศรอบๆ ของ Pick Baan สักพัก บ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง 3 - 4 หลังที่ถูกสร้างให้อยู่ในแนวเดียวกัน มีระยะห่างให้ไม่รู้สึกว่าแออัด มีต้นไม้โอบล้อมให้ร่มเงา มีเสียงนกร้องตลอดเวลา ทำให้ไม่รู้สึกเลยว่าตรงนี้ คือ ใจกลางเมืองลำพูน เมืองเล็กๆ ที่นักท่องเที่ยวหลายคนใช้เป็นแค่จุดพัก เพื่อแวะผ่านแค่นั้น

      พี่ใหม่เล่าว่า Pick Baan เกิดจากที่ตัวเองเป็นคนคลั่งบ้านไม้ เมื่อย้ายจากกรุงเทพมาอยู่ลำพูนใหม่ๆ เกิดความเสียดายที่เห็นบ้านเก่า ตึกเก่าและไม่อยากให้หายไป เวลาไปเที่ยวก็ชอบเลือกที่พักแบบนี้ ไปเที่ยวญี่ปุ่น ได้เจอเรียวกังที่เอาไม้เก่าๆ มาทำ เลยเป็นเหตุให้อยากทำที่พักแนวนี้บ้าง

      ดั้งเดิมน่าจะสักประมาณ 5 - 6 ปีก่อน บริเวณนี้มีแค่บ้านหลังแรกหลังเดียว มีเพื่อนเปิดร้านขนมจีนหน้าปากซอย แล้วไปมาหาสู่กันบ่อยๆ และรู้จักกับลุงเจ้าของบ้านเลยได้เช่า ประกอบกับเป็นทำเลประหลาด มีต้นไม้เยอะมาก มีเสียงนกตลอดวัน อารมณ์แบบบ้านตาบ้านยายสมัยก่อน เลยทำให้มี Pick Baan ชวนให้คนเข้าพักกลับสู่บรรยากาศเก่าๆ ก่อนโควิดพี่ใหม่จัดที่พักให้มีแบบโอสเทลด้วย เป็นเตียงสองชั้นให้นอนรวม แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่น่าจะเหมาะหลังจากนี้ เลยหยุดให้บริการแบบห้องพักรวม

     สิ่งที่ผมสนใจที่สุด หลังจากที่พูดคุยกับพี่ใหม่ คือ การมีคนช่วยงานเป็นรุ่นๆ มีที่พักให้ฟรี แต่ต้องช่วยดูแลลูกค้า ซึ่งเป็นต้นทางในการสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้เข้าพัก และปูพื้นไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

      พี่ใหม่ยกตัวอย่างต่อว่าครั้งหนึ่งเคยมีเชฟเป็นผู้ช่วย Pick Baan ทำให้โดดเด่นในเรื่องอาหารการกิน ลูกค้ามีความสุขกับการมีส่วนร่วม อย่างครั้งนี้มีผู้ช่วย คือ น้องทราย เจ้าของแบรนด์ปัณณ์อารีย์ที่เก่งเรื่องงานคราฟท์ บรรยากาศของ Pick Baan จึงเต็มไปด้วยงานฝีมือ ส่วนอ้ายใหญ่ที่เป็นสามีเป็นคนรู้เรื่องวัดดี ทำให้มีเรื่องคุยกับลูกค้า เพราะเมืองลำพูนมีพระธาตุหริภุญชัยคู่บ้านคู่เมืองให้คนมาสักการะอยู่แล้ว ยิ่งได้คุยกับคนมีความรู้ ลูกค้าที่นี่เลยยิ่งประทับใจ

      พี่ใหม่บอกว่าโดยส่วนตัวเธอชอบเรื่องการทำงานแลกที่พักอยู่แล้ว เพราะเชื่อในพลังความสัมพันธ์ เวลาได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่นบ้าง ยิ่งเหมือนเป็นการชาร์จพลังให้ชีวิตด้วย จนกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Pick Baan มีเงื่อนไขนี้ขึ้นมา เป็นตัวเลือกให้กับคนที่พร้อมจะหาประสบการณ์

     ด้วยวิธีการและเสน่ห์ที่แตกต่างทำให้พี่ใหม่มีลูกค้าอย่างนักเขียน อาจารย์ทำดนตรีบำบัด นักแต่งเพลง และอื่นๆ ที่ยังคงติดต่อกันอยู่ในปัจจุบัน ด้วยมิตรภาพที่มากกว่าคนเคยรู้จักกัน

     พี่ใหม่ส่งท้ายว่า Pick Baan ทำธุรกิจไม่เหมือนโรงแรม คือ มีรายได้ แต่ไม่ใช่ธุรกิจจริงจัง มีช่วงเว้นจังหวะให้บ้านพักบ้าง ปิดซ่อมแซมบำรุงบ้าง ไม่อยากรู้สึกว่าบ้านขาดจิตวิญญาณ

     ล่าสุดผมเห็นข่าวว่ามีการรวมตัวของนักคิด นักสร้างสรรค์ และสถาปนิกในลำพูนก่อตั้ง Lampun City Lab เพื่อสร้างกิจกรรมให้กับเมืองชูให้ลำพูนน่าอยู่ น่าเที่ยว มีที่ตั้งไม่ไกลจาก Pick Baan ด้วย

      “มาซิ เดี๋ยวครั้งหน้าคุยกันได้ ถ้าอยู่หลายๆ วัน หรือจะมาทำงานแลกก็ได้นะ” พี่ใหม่เอ่ยปากเชิญผมให้กลับมาอีก พร้อมกับคำพูดส่งท้ายที่ผมแทบจะตอบตกลงทันที

 

ข้อมูลติดต่อ

https://www.facebook.com/pickbaan/

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย