ส่องไอเดียเพิ่มมูลค่าสินค้า จากขนแกะราคาตก ขายได้กิโลละ 22 บาท แปรรูปเป็นปุ๋ยส่งออกทำเงินหลักล้าน

 

 

      หากพูดถึงมองโกเลียสิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคือประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ภูเขา ทุ่งหญ้า ไม่มีทางออกทะเล และมีชนเผ่าเร่ร่อนที่ต้อนสัตว์เลี้ยงรอนแรมตามที่ต่าง ๆ โดยพักอาศัยใน “เกอร์” (ger) หรือกระโจม วันนี้จะพาไปสำรวจสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อของมองโกเลีย นั่นคือ “ขนแกะ”

      มองโกเลียเป็นที่เลี้ยงแกะมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทั้งประเทศมีแกะราว 30 ล้านตัวเทียบกับประชากรคนที่มี 3 ล้านกว่าคน แต่แกะที่มองโกเลียสายพันธุ์แตกต่างจากในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่เส้นใยขนแกะอ่อนนุ่มละเอียด สามารถนำไปผลิตเป็นเสื้อสเวตเตอร์ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และผ้าต่าง ๆ ใกล้เคียงกับผ้าแคชเมียร์ที่ทำจากขนแพะ

      ส่วนขนแกะของมองโกเลียที่ได้จากแกะพื้นเมือง 15 สายพันธุ์จะมีขนที่หนาและหยาบ ที่ผ่านมา ขนแกะมองโกเลียจะถูกนำไปใช้ทำฉนวนคลุมกระโจมเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในกระโจมให้อบอุ่นในฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป พื้นที่ต่าง ๆ ได้รับการพัฒนา ความเป็นเมืองได้แผ่ขยายมากขึ้นทำให้วิถีการอาศัยในกระโจมลดน้อยลง ความต้องการฉนวนขนแกะเพื่อคลุมกระโจมก็ลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ราคาขนแกะมองโกเลียตกต่ำสุดขีดเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2,000 ทูกริคหรือราว 22 บาทเท่านั้น

      ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ประกอบการท้องถิ่นในมองโกเลียจึงพยายามหาวิธีเพิ่มมูลค่าขนแกะด้วยการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่โดยมีความหวังว่าจะช่วยให้หลุดพ้นการพึ่งพารายได้จากการส่งออกขนแกะ และเป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรด้วย โซบาดรัค บายานจาฟ ผู้ประกอบการที่คลุกคลีกับธุรกิจขนแกะและเป็นตัวแทนการค้าของมองโกเลียในยุโรปเป็นหนึ่งในผู้ที่เริ่มบุกเบิกการพัฒนาขนแกะให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น

      ช่วงที่เขาเดินทางไปทำธุรกิจในยุโรป บายานจาฟได้มีโอกาสพบกับนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮัมโบลต์ในเยอรมนีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปขนแกะ จากการวิจัยพบว่าในขนแกะธรรมชาติอุดมด้วยแร่ธาตุไนโตรเจนและโปแตสเซี่ยมจึงเหมาะที่จะนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หลังจากที่ทำข้อตกลงขอใช้เทคโนโลยีของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเยอรมนี บายานจาฟก็ได้ลงทุนสร้างโรงงานและสั่งซื้อเครื่องจักรจากเยอรมนี โรงงานของเขาตั้งอยู่ในจังหวัดทูฟ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงอูลานบาตอร์ เมืองหลวงและเมืองใหญ่สุดของมองโกเลีย 

      ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขนแกะเริ่มต้นจากการทำความสะอาดขนแกะด้วยเครื่องจักรเพื่อกำจัดเชื้อโรคและแบคทีเรียน จากนั้นนำไปบดให้ละเอียดแล้วอัดเป็นแท่งเล็ก ๆ จากการทดสอบ ปุ๋ยที่ทำจากขนแกะนี้ใช้งานได้ยาวนานโดยสามารถบำรุงพืชและต้นไม้ได้นานสูงสุด 10 เดือนเลยทีเดียว

      หลังเดินเครื่องผลิต โรงงานของบายานจาฟได้ส่งออกปุ๋ยจากขนแกะไปยังเยอรมนี 20 ตันในปี 2019 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปีถัดมา โดยปี 2021 ที่ผ่านมา เขาสามารถส่งออกปุ๋ยขนแกะเพิ่มเป็น 80 ตัน คาดปีนี้ตัวเลขน่าจะทะลุ 220 ตันและทำรายได้ 240,000 ยูโรหรือราว 7.2 ล้านบาทเข้าบริษัท ซึ่งบายานจาฟอยู่ระหว่างมองหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาสร้างโรงงานผลิตแห่งที่ 2

     บายานจาฟเล่าว่าปุ๋ยขนแกะของเขาเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพสูง มีเกษตรกรรายหนึ่งพยายามปลูกผักบนพื้นที่ที่เป็นเหมืองเก่าแต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลังจากลองนำปุ๋ยขนแกะของเขาไปใช้ พืชผักกลับงอกงามดี บายานจาฟเผยแผนต่อไปว่าเขาต้องการนำปุ๋ยที่ผลิตไปสนับสนุนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในโรงเรือนเพื่อแข่งขันกับสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากจีน โดยขณะนี้เขากำลังหาพันธมิตรที่จะมาร่วมกันทำภารกิจนี้

     นอกจากนำมาทำปุ๋ยแล้ว ขนแกะมองโกเลียยังถูกนำไปผลิตเป็นฉนวนขนสัตว์เพื่อส่งออกอีกด้วย เอนทูย่า ดอร์จ อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งทอมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มองโกเลียกล่าวว่าขนแกะไม่เพียงเป็นตัวกักอากาศระหว่างเส้นใย แต่ภายในเส้นใยเองก็มีอากาศด้วย ทำให้มีคุณสมบัติในการรักษาอุณหภูมิได้ดี ขนแกะจึงเป็นวัสดุที่เหมาะสมที่สุดในการทำมาผลิตฉนวน

      ที่จังหวัดดาร์คาน เมืองอุตสาหกรรมของมองโกเลียที่ติดชายแดนรัสเซีย บริษัทยามบาดอร์จ เมนบายาร์ได้ผลิตฉนวนขนแกะปลอดเคมีและส่งออกไปยังญี่ปุ่น รวมถึงจำหน่ายในประเทศด้วย ฉนวนดังกล่าวสามารถรักษาอุณหภูมิได้เกือบ 7 เท่าเมื่อเทียบกับไฟเบอร์กลาส ทั้งยังทนไฟสูงอีกด้วย ไม่เท่านั้น ยังดูดซับเสียงและความชื้นได้ดีแม้จะใช้ในสภาพอากาศที่ชื้นสูง บริษัทยามบาดอร์จเผยการใช้ขนแกะที่เป็นวัสดุท้องถิ่นทำให้สามารถลดต้นทุนและทำให้สินค้าที่ผลิตออกมามีราคาถูกกว่าอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง

      อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพรมแดนมองโกเลียและจีนปิดชั่วคราวเพราะการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ฉนวนขนแกะต้องชะงักงันและได้รับผลกระทบ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายหันมามาทำตลาดในประเทศแทน เดชะบุญที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในมองโกเลียกำลังบูมทำให้พอชดเชยตลาดส่งออกได้บ้าง

      ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับขนแกะยังไม่หมดเท่านั้น บริษัทเฮเลน โบตานิคอล บิวตี้ สตาร์ทอัพของมองโกเลียได้รังสรรค์สบู่ขัดเซลล์ผิวที่ทำจากไขมันส่วนหางของแกะและห่อหุ้มด้วยวัสดุที่มีผิวสัมผัสคล้ายขนแกะ บายาสกาลัน บูเลนชูดูร์ ผู้ก่อตั้งบริษัทกล่าวว่าในการผลิตสบู่ บริษัทพยายามใช้วัตถุดิบในประเทศมากเท่าที่จะทำได้

      ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้รับการตอบรับดี มีการส่งไปจำหน่ายที่เยอรมนีและหลายประเทศในยุโรป นอกจากนั้น ยังวางจำหน่ายตามร้านสินค้าที่ระลึกในสนามบิน และสถานท่องเที่ยวด้วย ล่าสุด บริษัทได้พัฒนาสินค้าใหม่เป็นลูกบอลขนแกะกลิ่นหอมที่ใช้ใส่เครื่องอบผ้าเพื่อให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอม กลายเป็นสินค้าอีกชนิดที่ส่งออกไปเยอรมนีและสหรัฐฯ ทำรายได้ให้บริษัท  

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

https://asia.nikkei.com/Business/Startups/Mongolian-entrepreneurs-exploit-cheap-wool-for-new-products

 

 www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย