คิดแบบ Startup ทำแบบ SME วิธีปั้นธุรกิจให้แข่งกับรายใหญ่ได้ สไตล์คู่รักนักธุรกิจเจ้าของแบรนด์ Pynpy’

 

 

       จากกระแสการบริโภคแบบรักษ์โลก ที่ช่วยลด ละ เลิกการสร้างปริมาณขยะให้กับระบบนิเวศน์ “ผ้าอนามัย” เป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกพูดถึงและมักมีนวัตกรรมทางเลือกใหม่ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ ตั้งแต่ถ้วยอนามัย ผ้าอนามัยซักได้ ผ้าอนามัยออร์แกนิก จนถึงล่าสุด คือ กางเกงในอนามัย ซึ่ง Pynpy’ คือ กางเกงในอนามัยสัญชาติไทยแบรนด์แรกของไทย ที่ทำออกมาเพื่อเหมาะกับสรีระของผู้หญิงไทยและผู้หญิงเอเชียโดยเฉพาะ

      โดยแค่เปิดตัวครั้งแรก ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค ซึ่งเพียงเดือนเดียวก็สามารถขายได้หมด 300 กว่าตัว แถมเปิดตัวมาได้ 2 ปี มีฐานลูกค้าที่เป็นแฟนพันธุ์แท้แล้วกว่าหลายพันคนด้วยกัน ปัจจุบันมีจำหน่าย 2 รุ่น ได้แก่ Classic Cut ราคา 1,190 บาท และรุ่น Seamless แบบไร้ขอบ เว้าสูง ราคา 1,290 บาท อะไรทำให้ผู้บริโภคยอมเปิดรับแบรนด์ได้ทั้งที่เป็นสินค้าใหม่ และการทำสินค้านวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จแบบ SME ควรต้องคิดเช่นไร ลองไปรับฟังพร้อมกัน

     อรกานต์ สายะตานันท์ - กานต์ และ Tomas Prochazka สองนักธุรกิจคู่รักเจ้าของแบรนด์ Pynpy’ ได้วิเคราะห์ว่าการที่กางเกงในอนามัย Pynpy’ เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จได้อย่างวันนี้ น่าจะมาจากวิธีคิดสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1. คิดให้ใหญ่เข้าไว้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะใหญ่ตาม

      โดยถึงแม้จะเริ่มต้นจาก Pain Point จุดเล็กๆ จากประสบการณ์ของตัวเอง (อ่านข่าวต้นเรื่องได้ที่ www.smethailandclub.com/entrepreneur/8068.html ) แต่ทั้งคู่มองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นไม่ได้เล็กเลย เพราะหากสามารถทำออกมาได้สำเร็จจะสามารถช่วยเหลือผู้คน และเป็นทางเลือกให้กับผู้หญิงในไทยได้มากกว่าหลายสิบล้านคนทีเดียว

     "ปัญหาเกิดขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ที่เริ่มต้นมาจากตัวเราก็จริง ซึ่งเคยไปเที่ยวใกล้กับช่วงที่ประจำเดือนกำลังจะมา แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามาวันไหน ทำให้ต้องใส่รอไว้ จนกระทั่งผ้าอนามัยหมด แต่ประจำเดือนดันมาในช่วงกลางคืน เป็นเหตุฉุกเฉินทำให้เราเตรียมตัวไม่ทัน จากวันนั้นเราก็คิดถึงวิธีแก้ไขปัญหา บวกกับมีความสนใจเรื่องการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คน และสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เราจึงพยายามหานวัตกรรมเพื่อมาตอบโจทย์ เพราะนอกจากปัญหาที่ไม่รู้ว่าประจำเดือนจะมาเมื่อไหร่แล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ผ้าอนามัยอีกหลายอย่าง เช่น ความไม่สบายตัว บางคนก็แพ้ผ้าอนามัย เราอยากทำให้วันที่มีประจำเดือนกลายเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่เราสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และคล่องตัว ซึ่งคิดว่าหากทำได้ก็จะสามารถช่วยเหลือผู้หญิงได้อีกหลายสิบล้านคนให้มีทางเลือกมากขึ้น" ทั้งคู่เล่าที่มาจุดเริ่มต้นการคิดค้นนวัตกรรมให้ฟัง

      โดยเมื่อมีการตั้งเป้าหมายและมองภาพใหญ่ไว้ตั้งแต่ต้น จึงทำให้ไม่ว่าจะลงมือทำอะไรก็ตามจึงต้องทำให้ครอบคลุมทุกส่วน ตัวอย่างเช่น มาตรฐานทุกตัวที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากเป็นเรื่องความปลอดภัย เพราะต้องนำมาใช้กับจุดซ่อนเร้น

     โดยในกระบวนการทำงานจะแบ่งทีมออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ทีมวิศวกรสิ่งทอและสูตินารีแพทย์ในไทย เพื่อออกแบบให้เหมาะกับสรีระของผู้หญิงไทย และมีประสิทธิภาพสามารถซึมซับรองรับประจำเดือนได้ดี และ 2.ทีม R & D จากห้องแลปที่ยุโรป เพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล โดยหากมีมาตรฐานใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาแบรนด์ก็ต้องคอยอัพเดตอยู่เสมอ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ผู้บริโภค

      ซึ่งจากเหตุผลที่กล่าวมานี่เอง จึงทำให้แม้จะเป็นสินค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีผลิตมาก่อนในไทย แต่ลูกค้าก็สามารถยอมรับได้ไม่ยาก ไปจนถึงการต่อยอดการเติบโตต่อไปในอนาคตก็สามารถทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากในไทยแล้ว แบรนด์ยังมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียด้วย เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีสรีระและความต้องการใกล้เคียงกับคนไทย

2. ประยุกต์วิธีคิดจากโปรดักต์ดิจิทัล สู่สินค้าใช้จริงในชีวิตประจำวัน

      โดยก่อนหน้าที่จะมาทำแบรนด์ Pynpy’ นั้นทั้งกานต์และโทมัสเคยมีประสบการณ์ในการทำแอปพลิเคชันที่เป็นดิจิทัลโปรดักต์มาก่อน ซึ่งใช้วิธีคิดและกระบวนการทำงานแบบรวดเร็วที่เรียกว่า “Agile Methodology” คือ การเน้นที่เป้าหมายเป็นสำคัญ โดยที่วิธีการและขั้นตอนสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีต่อสถานการณ์นั้นๆ

       “เราแค่เอาองค์ความรู้ที่เคยทำดิจิทัลโปรดักต์มาปรับใช้กับสินค้าที่เป็น Physical Product หรือสินค้าที่จับต้องได้ โดยใช้เทคโนโลยีและ AI เข้ามาช่วยจัดการ ดังนั้นจึงช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการทำงานลง แต่ได้ประสิทธิภาพสินค้าที่มากขึ้น อย่างเวลาได้รับฟีดแบ็กอะไรจากลูกค้า เราก็สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ทันที วิธีการทำงานแบบ Agile Methodology จะเป็นเหมือนภาพวงล้อ คือ กระจายออกไปได้หลายทิศทาง

       “สมมติเจอปัญหาที่ 1 เราอาจลองแก้ด้วยวิธีที่ 1, 2, 3, 4 ในหนึ่งปัญหาอาจมีหลายสิบโซลูชั่นให้เลือก อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้โซลูชั่นอะไรในเวลานี้เท่านั้น หรือในขณะที่เราก้าวออกมาแล้ว 1 ก้าว ก็อาจถอยหลังกลับไปอีก 2 ก้าวก็ได้ ไม่มีอะไรตายตัว ผิดกับวิธีการทำงานสมัยก่อนที่เรียกว่า “Waterfall” เป็นการทำงานแบบเรียงลำดับ 1, 2 3 4 มีเส้นทางเดียวคล้ายกับสายน้ำตกที่ต่อเนื่องกันมาเรื่อยๆ ซึ่งอาจไม่ทันกับความของผู้บริโภคทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาในวันนั้น จึงอาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับวันนี้แล้วก็ได้ หากเรายังช้าอยู่”

       นอกจาก 2 ปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ก่อนจากกันวันนั้น ทั้งคู่ยังได้ฝากแง่คิดเล็กๆ ไว้ให้กับเพื่อนผู้ประกอบการอื่นๆ ด้วยว่า

      “เราอาจทำนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่จะช่วยให้พัฒนาต่อยอดเป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดได้ คือ เราต้องฟังเสียงจากผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้งานจริงให้มากที่สุด ยกตัวอย่าง ช่วงแรกเราทำไซส์ออกมาแค่ S – 3XL แต่พอเราได้ลองพูดคุยกับลูกค้าจึงทำให้รู้ว่าจริงๆ เขาอยากมีตัวเลือกมากกว่านั้น เราจึงปรับเพิ่มไซส์ขึ้นมาให้มีตั้งแต่ 3XS – 5XL รวมทั้งหมด 11 ไซส์ ครอบคลุมทุกสรีระผู้หญิงไทยได้หมด

     "อีกข้อที่อยากฝาก คือ อยากให้ทำสินค้าที่มีประโยชน์ ช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้คนได้ เพราะนอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้นได้แล้ว ในทางธุรกิจเองสินค้าที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ก็มักจะได้รบการตอบรับที่ดีและอยู่ในตลาดได้ยืนยาวกว่าสินค้าทั่วไปนั่นเอง” คู่รักเจ้าของแบรนด์ Pynpy’ กล่าวทิ้งท้าย

 

TEXT : Surangrak Su.

PHOTO : Pynpy’

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย