กว่า 5 ทศวรรษกับการเติบโตของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายใต้แบรนด์ “DEESAWAT” (ดีสวัสดิ์) แม้มีช่วงที่ต้องสะดุดจากการผลัดเปลี่ยนมือของผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นคนก่อตั้งธุรกิจในลักษณะเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบดั้งเดิมฝังมุก แต่เมื่ออุบัติเหตุชีวิตเกิดขึ้นเมื่อต้องสูญเสียบิดาไป การต้องมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวของวัยรุ่นวัย 19 ปี ที่แทบไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวธุรกิจมาก่อนเลย ทำให้ จิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ ต้องสู้แบบหลังชนฝา เพื่อนำพาธุรกิจให้รอด ในวินาทีนั้นเขาไม่มีฟอร์ม ไม่มีความกลัวใดๆ คิดอะไรได้ ก็ลงมือทำเลย ลุยไปแบบลูกทุ่งๆ ตั้งแต่เดินเข้าไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานรัฐ การตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินไปงานเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก เพื่อจับลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของงาน ทั้งที่ยังไม่มีอะไรอยู่ในมือเลย แถมสุดท้ายเขาก็ได้ออร์เดอร์กลับมากู้วิกฤตให้ธุรกิจ
คิดแบบผู้รอด
- ตั้งเป้าหมาย แล้วพุ่งชน
ในวันที่ยังเป็นมือใหม่ แต่จำเป็นต้องนำพาธุรกิจไปให้รอด เมื่อเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ไม่สามารถส่งออกได้ นอกจากการพยายามมองหาสิ่งที่ตลาดต้องการแล้ว สิ่งที่จิรวัฒน์เลือกทำ คือ การตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อไปงานเฟอร์นิเจอร์ระดับโลก โดยเป้าหมายของเขาเพียงหนึ่งเดียว ก็คือ การมองหาลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของงานที่ดูว่ามีคุณภาพแค่เพียงรายเดียว เพื่อนำกลับมากอบกู้วิกฤตของธุรกิจให้ได้
- ไม่อายที่จะขอความรู้
จากที่ไม่ได้เตรียมตัวทำความรู้จักธุรกิจจากพ่อมาก่อน ในวันที่พ่อไม่อยู่ เมื่อต้องมารับผิดชอบธุรกิจให้ไปต่อ จิรวัฒน์ไม่อายที่จะเดินดุ่มๆ เข้าไปหาหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความรู้ เช่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตัวเอง
- หาทางไปต่อให้กับธุรกิจ
เมื่อลูกค้าประจำที่ทำ OEM ด้วยกันมายาวนานต้องเกษียณตัวเอง เขาก็ไม่รีรอที่จะสร้างแบรนด์จริงจัง ปรับทิศทางธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เพื่อให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของตัวเองเป็นที่รู้จักมากขึ้น
- สร้างความท้าทายให้ตัวเองอยู่เสมอ
นอกจากนี้เขายังพยายามตั้งโจทย์ธุรกิจให้กับตัวเองอยู่เสมอด้วยการนำสินค้าส่งเข้าประกวดในเวทีรางวัลต่างๆ มากมาย เพื่อเป็นการพิสูจน์การทำงานของตนเอง และทำให้สินค้าถูกยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง ทั้งรางวัล DEmark (Design Excellence Award) ในไทย และ G Mark (Good Design Award) จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
หลัก 3 ป
โดยหลักการทำธุรกิจภายใต้แบรนด์ดีสวัสดิ์ที่จิรวัฒน์นำมาใช้มีอยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ที่เรียกว่า “3 ป” ได้แก่
- เปิด
การเปิดรับข้อมูลข่าวสาร โอกาสธุรกิจใหม่ๆ เทรนด์โลก โดยในที่นี้เขามองว่าพันธมิตรและเครือข่าย คือ สิ่งสำคัญ เขาจึงพยายามนำตัวเองไปแฝงตัวอยู่ในสมาคมต่างๆ เพื่อให้เป็นชุมชน ศูนย์การของข่าวมูลข่าวสาร โดยปัจจุบันเขามีตำแหน่งเป็นนายกหลายแห่งด้วยกัน อาทิ สมาคมเฟอร์นิเจอร์ไทย, สมาคมธุรกิจไม้ นอกจากนี้สำหรับพนักงานเองเขายังเปิดใจรับฟังลูกน้อง มีการให้จัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นภายในบริษัทด้วย
- ปรับ
นอกจากเปิดกว้างแล้ว จิรวัฒน์มองว่าการเรียนรู้ตลอดเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเขามองว่าผู้ประกอบการธุรกิจควรเรียนรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เมื่อรู้แล้วต้องยอมรับให้ได้ แต่อย่ายอมแพ้ แต่ควรนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นตามที่เหมาะสมกับตัวเองเหมือนคติประจำใจที่เขาใช้มาตลอด “ไม่สูงก็เขย่ง ไม่เก่งก็ต้องขยัน” นอกจากนี้เขามองว่าสำหรับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบันที่เกิดวิกฤตขึ้นมากมาย ผู้ประกอบการ SME ควรวางแผนธุรกิจให้สั้นลง แต่มีความชัดเจนขึ้น เพื่อการปรับตัวได้ทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
- ปลง
แต่สุดท้ายเมื่อได้ทำทั้ง 2 ข้อที่กล่าวมาแล้ว แต่เกิดติดขัด ไม่สามารถไปต่อได้ ไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง เขากล่าวว่าควรต้องทำใจยอมรับให้รวดเร็ว มูฟออน และเดินหน้าต่อไป เพื่อเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ต่อไป อย่าท้อ เครียด ผิดหวังกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
อยู่แบบผู้รอดในวิถี Toyota Way
การต้องเป็นผู้รอดให้ได้ ทำให้จิรวัฒน์กลายเป็นผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์และหลักการทำธุรกิจแบบกล้าชน กล้าเสี่ยง พร้อมรับมือกับทุกความท้าทายที่เข้ามา จนวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไทยที่รู้จักในตลาดโลก แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็มีเตรียมพร้อม ศึกษาข้อมูล กลยุทธ์ และวางแผนไปแล้วอย่างดี ซึ่งการ Challenge ตัวเองอยู่ตลอดเวลา การพัฒนาปรับปรุงขึ้นอย่างต่อเนื่องตรงกับหลักการของ TOYOTA WAY หรือ วิถีแห่งโตโยต้า ซึ่งมีอยู่ 2 เสาหลัก ได้แก่
1. การปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ความท้าทายตนเอง, หลักไคเซ็น (ลดเลิกขั้นตอนที่ไม่จำเป็น) และเก็นจิ เก็นบุดสึ (ไปดูให้เห็นจริงถึงปัญหา)
2. การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน ประกอบด้วย การยอมรับนับถือกัน และ ทีมเวิร์ก เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจยุคปัจจุบันที่ต้องรับมือกับสถานกาณ์วิกฤตมากมายที่เกิดขึ้น
***ข้อมูลจากโครงการ “ถอด DNA ความสำเร็จแบบวิถีโตโยต้า” ในหัวข้อ “แนวคิดในการทำธุรกิจแบบ TOYOTA WAY”
โดย SME Thailand x โตโยต้าธุรกิจชุมชนพัฒน์
สนใจเข้าร่วมกิจกรรม คลิก https://toyotatsi.com/course
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี