ทำไมสลากล็อตเตอรี่ถึงขายดี เพราะคนไทยเกือบครึ่งประเทศ ประมาณ 30 ล้านคน มีพฤติกรรมที่ชอบเสี่ยงและลุ้น ด้วยพฤติกรรมชอบเสี่ยงโชคของผู้บริโภคไทยนี้ ทำให้มีการนำไปปรับใช้ในทางธุรกิจและเกิดเป็นรูปแบบธุรกิจต่างๆ ขึ้นมาอาทิ กล่องสุ่ม การทานอาหารรูปแบบ Chef’s Table ที่เล่นกับคำว่า “ไม่รู้” ต่อผู้บริโภค เป็นความเสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์
จากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” ปริยานุช เพ็งเจริญ นักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า พบว่า 3 อันดับที่คนไทยชอบเสี่ยงมากที่สุดได้แก่
1. เสี่ยงที่จะลุ้น 46.2%
ถ้าเทียบเป็นจำนวนประชากร สูงถึง 30 ล้านคน เช่น การลุ้นหวย การลุ้นรางวัลใหญ่จากการชิงโชค ยกตัวอย่าง โออิชิ ทำกิจกรรมส่งเลขใต้ฝา หรือน้ำดื่มสิงห์ กิจกรรมโชคใต้ฝา กรอกรับพ้อยท์ลุ้นแลกรางวัลใหญ่ โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.3 จะเข้าร่วมต่อเมื่อมีรางวัลใหญ่มาดึงดูด บ่งชี้ว่ากิจกรรมดังกล่าวมีปัจจัยดึงดูดร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำการตลาดชิงโชค ส่วนใหญ่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับการกิจกรรม Like&Share บนโซเชียลมีเดียแทนมากถึง 40.9% เพราะกิจกรรมมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทำได้ง่ายทุกที่ ทุกเวลา
2. เสี่ยงที่จะลงทุน 42.7%
เทียบเป็นจำนวนประชากร ได้ประมาณ 28 ล้านคน เช่น หุ้น กองทุน ทองคำ รวมถึงคริปโตเคอร์เรนซีที่กำลังมาในปัจจุบัน จากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทย พบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล คิดเป็น 32.9%
เหรียญที่คนนิยมลงทุนกันมากที่สุด อันดับ 1 คือ Bitcoin 53% อันดับ 2 Ethereum 25.3% อันดับ 3คือ Dogecoin 4.5% และอื่นๆ ตามลำดับ และระหว่างการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี (Crypto currency) กับ NFT พบว่า 91.5% ให้ความสนใจการลงทุนในรูปแบบคริปโตฯ มากกว่า การลงทุนในรูปแบบของ NFT
3. เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ 11.1%
เทียบเป็นจำนวนประชากร ประมาณ 7 ล้านคน เช่น การซื้อกล่องสุ่ม การรับประทานอาหารแนว Chef’s Table
โดยสินค้ากล่องสุ่มที่นิยมซื้อกันมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ขนมทานเล่น 26.8% เครื่องสำอาง 25.3% และเสื้อผ้า 23% ตามลำดับ Gen Z จะซื้อสินค้ากล่องสุ่มที่ราคาไม่เกิน 1,000 บาท ขณะที่ Gen Y ซื้อกล่องสุ่มที่ระดับราคาไม่เกิน 2,500 บาท
ขณะที่เสี่ยงที่จะเซอร์ไพรส์ – การทานอาหารรูปแบบ Chef’s Table ที่เล่นกับคำว่า “ไม่รู้” ต่อผู้บริโภค จากผลสำรวจพฤติกรรมคนไทย พบว่ากลุ่มตัวอย่างเคยไปใช้บริการ Chef’s Table อยู่ที่ 28.4% สาเหตุหลักที่คนส่วนใหญ่เลือกไปใช้บริการนี้ ได้แก่
1. เพื่อต้องการสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในมื้อพิเศษ 27.1%
2. เป็นการได้ลุ้นว่าเชฟจะรังสรค์เมนูอะไรมาให้รับประทาน 25.3% ส่วนใหญ่ระดับราคาที่กลุ่มตัวอย่างยอมจ่ายจะอยู่ที่ 2,000-4,000 บาท คิดเป็น 58.9% ถือว่าเป็นราคาที่สมเหตุสมผลที่คนส่วนใหญ่ยอมจ่ายเพื่ออาหารมื้อพิเศษ นอกจากนี้กลุ่ม Gen Y ยังเป็นเจนที่ยอมจ่ายมื้ออาหาร Chef’s Table ที่ระดับราคาสูงถึง 6,000 บาท
เมนูอาหารสุดฮิตที่คนนิยมรับประทาน คือ อาหารญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 55.8% ซึ่งที่จักกันดีคือ โอมากาเสะ รองลงมาคืออาหารตะวันตก อยู่ที่ 24.2%
อย่างไรก็ตาม พบว่าร้าน Chef’s Table มีมากขึ้น จึงทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ซื่อสัตย์กับร้านเดิม มีการค้นหาร้านอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่ก็มีการกลับไปใช้บริการซ้ำ ถ้าร้านเดิมมีการเปลี่ยนเมนู และติดใจฝีมือเชฟ แต่กรณีถ้าไปเจอร้านอาหารไม่ถูกใจ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะไม่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย แต่จะไม่กลับไปใช้บริการอีกแน่นอน จะเห็นได้กว่า การทำร้านอาหารแนว Chef’s Table ต้องมีมาตรฐานทั้งระดับราคา รสชาติ และเรื่องราวของเชฟที่มาครบถ้วน เพราะร้านรูปแบบนี้เล่นกับความรู้สึกเซอร์ไพรส์ของลูกค้า ถ้าไม่มีความแตกต่างก็ไม่สามารถสร้างจุดขายได้
“4R” กลยุทธ์พิชิตใจคนชอบเสี่ยง
R: RANDOM เสี่ยงลุ้น แบรนด์อาจจะต้องมีรางวัลที่น่าสนใจหรือรางวัลใหญ่ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความสนใจ และรู้สึกตื่นเต้น รวมทั้งยังเป็นการสร้างยอดขาย หรือเข้าร่วมแคมเปญนั้นๆ
R: RELIABLE เสี่ยงเซอร์ไพร์ส แบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจ ในการทำการตลาดประเภทนี้ ว่า สิ่งของที่ผู้บริโภคได้รับมีคุณภาพ เหมาะสมกับราคา
R: RICHNESS เสี่ยงลงทุน แบรนด์ต้องทำให้ผู้ลงทุนมีความมั่งคั่งทางการเงิน โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน และมีการสื่อสารออกไปให้ผู้ลงทุนรับรู้ ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
R: RISK ความเสี่ยงของผู้ชอบเสี่ยง แบรนด์ต้องให้ข้อมูลความเสี่ยงที่จะเปิดเผยได้ว่า บางอย่างนั้นมีความเสี่ยงสูง หรือความเสี่ยงต่ำ เพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่นและจริงใจในการทำการการตลาดเพื่อกลุ่มคนชอบเสี่ยง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี