การมีโรงงานรถยนต์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง นอกจากการจ้างงานภายในโรงงาน ก็ยังสร้างงานอื่นๆ ในชุมชนอีก 5 - 7 งาน ดังนั้นเมื่อถูกปิดจึงส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก เช่นเดียวกับการปิดโรงงานประกอบรถยนต์ Moraine ของ เจเนอรัล มอเตอร์ (GM) ในเมืองเดย์ตัน รัฐโอไอโอ ในปี 2008 ซึ่งเคยประกอบรถกระบะและรถเอสยูวีเฉลี่ยแล้ว 280,000 คันต่อปี ทำให้คนงาน 2,000 ครอบครัวตกงาน และทำให้คนในชุมชนอีกเป็นหมื่นต้องขาดรายได้
เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกบอกเล่าในหนังสารคดีเรื่อง The Last Truck: Closing of a GM Plant ที่ฉายทางช่อง HBO ในปี 2009 กำกับโดยคู่สามีภรรยา Steven Bognar และ Julia Reichert ถ่ายทอดความรู้สึกสูญเสียและความกังวลต่ออนาคตของเหล่าคนงานที่รับรู้ว่าโรงงานกำลังจะปิดตัว ไปจนถึงวันสุดท้ายที่ปิดการผลิตรถยนต์คันสุดท้าย โรงงานถูกทิ้งร้าง ชีวิตพวกเขาก็เคว้งคว้าง
1.
ณ โรงงานแห่งเดิม เมื่อมีข่าวว่ามหาเศรษฐีชาวจีนจะมาลงทุน ทำให้สองผู้กำกับเกิดแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่นี่อีกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่อง American Factory
ในปี 2014 บริษัทกระจกฝูเหยา (Fuyao) ภายใต้การนำของ ประธานเฉา หรือ เฉาเต๋อวัง มหาเศรษฐีชาวจีนที่เข้ามาซื้อโรงงาน Moraine เพื่อสร้างฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกา
ประธานเฉาเติบโตขึ้นในช่วงที่จีนต้องเผชิญภัยธรรมชาติ ผลกระทบจากสงคราม การปฏิวัติทางวัฒนธรรม ผ่านความยากจนมาตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากเรียนจบมัธยมต้นเขาออกจากโรงเรียนมาทำงาน ขายยาสูบ ขายผลไม้ เป็นพ่อครัว และซ่อมจักรยาน ผ่านงานสารพัด สัมผัสความทุกข์ยากของชีวิตในก้นบึ้งของสังคม
ช่วงต้นทศวรรษ 1980 เขาทำงานในโรงงานกระจก ขณะนั้นการนำเข้ากระจกรถยนต์จากญี่ปุ่นเพื่อใช้ในตลาดซ่อมรถยนต์มีราคาสูงถึง 1,000 - 2,000 หยวน ความเจ็บปวดนี้ทำให้เขาฝันถึงการผลิตกระจกรถยนต์ภายในประเทศ ในวัย 37 ปี เขารวบรวมทุนมาซื้อโรงงานขนาดเล็กที่กำลังจะเจ๊ง เริ่มผลิตกระจกสำหรับการซ่อมรถยนต์ ความมุ่งมั่นอุตสาหะกว่าสองทศวรรษของเขาทำให้อุตสาหกรรมกระจกรถยนต์ในประเทศจีนเติบโตจนแทนที่การนำเข้าได้ทั้งหมด และกลายเป็นผู้ผลิตกระจกให้กับบริษัทรถยนต์ทั่วโลก ซึ่ง GM ก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ด้วย เมื่อได้ไปที่โรงงาน GM ที่ปิดตัวไป ประธานเฉาจึงมองเห็นโอกาสขยายธุรกิจ ที่มาพร้อมกับการได้สร้างงาน ฟื้นชีวิตให้ชุมชนอุตสาหกรรมที่ล่มสลาย
2.
ในปี 2015 เฉาเต๋อวัง ลงทุน 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเริ่มต้นโรงงานฝูเหยาอเมริกา ซึ่งจะสร้างงานกว่า 800 ตำแหน่งให้ชุมชน เหล่าอดีตคนงาน GM กลับมีความหวังอีกครั้ง พวกเขาตื่นเต้น ทุ่มเททำงานหนัก ตั้งหน้าตั้งตารอวันที่จะเริ่มต้นเดินสายการผลิตอีกครั้ง เมื่อโรงงานเปิดเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม 2016 เขาลงทุนไปอีกเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปลายปีนั้นมีการจ้างงานกว่า 2,000 คน
แม้คนงานอเมริกันจะมีทักษะจากโรงงานประกอบรถยนต์ แต่งานใหม่นั้นแตกต่างไป เมื่อเปลี่ยนเป็นโรงงานกระจกรถยนต์ คนงานจากประเทศจีนจะมาสอนงานในเรื่องการผลิตกระจก โรงงานแห่งนี้จึงผสมผสานสองวัฒนธรรม อเมริกันและจีนเข้าด้วยกัน งานเปลี่ยนรายได้ก็เปลี่ยนด้วย ตอนทำงานกับ GM พวกเขามีรายได้ขั้นต่ำ 29 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง แต่เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งค่าตอบแทนขั้นต่ำอยู่ที่ 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง คนงานอเมริกันพยายามก่อตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเสียงของพวกเขาในบริษัทใหญ่ แต่จุดยืนของฝูเหยา คือ ไม่ต้องการสหภาพ เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และส่งผลเสียกับบริษัท
ไม่ว่าจะผลิตที่จีนหรืออเมริกา ฝูเหยากรุ๊ปต้องจัดส่งกระจกให้ลูกค้าได้ด้วยประสิทธิภาพที่เท่ากัน ราคา และคุณภาพเดียวกัน แต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะมีอุปสรรคทั้งจากด้านภาษา ความแตกต่างทางวัฒนธรรม การผสานแนวคิดเข้าด้วยกันจึงเป็นไปได้ยาก แถมสภาพแวดล้อมในการทำงานคนอเมริกันไม่คุ้นกับความร้อนจากเตาหลอมกระจก พื้นที่ระหว่างสายการผลิตค่อนข้างแออัด สถานการณ์รวมๆ ไม่น่าพอใจทั้งสองฝ่าย คนงานจีนมองว่าคนอเมริกันทำงานช้าไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่คนงานอเมริกันก็เริ่มตั้งคำถามกับการทำงานที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ
3.
ประธานเฉาจึงส่งตัวแทนทีมงานอเมริกันไปดูงานที่โรงงานในประเทศจีน พวกเขาได้เห็นคนงานจีนทำงานอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สายการผลิตไหลลื่นเป็นจังหวะ คนงานจีนก็แปลกใจเมื่อรู้ว่าคนงานอเมริกันทำงาน 8 ชั่วโมงต่อกะ ทำรายได้วันละร้อยดอลลาร์ มีวันหยุดถึงเดือนละ 8 วัน ขณะที่คนจีนทำงาน 12 ชั่วโมงต่อกะ หยุดเดือนละ 1-2 วัน ได้กลับบ้านแค่ปีละครั้งหรือสองครั้ง
เมื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากจีนกลับมาปรับใช้ที่อเมริกา ก็ไม่ได้ผลดีนัก จากเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ฝูเหยาอเมริกาขาดทุนไปแล้ว 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ต้องพลิกสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุด มีการปรับโครงสร้างใหม่ เปลี่ยนทีมผู้บริหารอาวุโสชาวอเมริกันมาเป็นคนจีน ประธานฝูเหยาอเมริกาคนใหม่มุ่งมั่นสร้างการทำงานเป็นทีมภายใต้หลังคาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน เพื่อเปลี่ยนบริษัทให้ทำกำไร และทุกคนก็จะได้ส่วนแบ่ง
วัฒนธรรมการทำงานแบบจีนแตกต่างไปจากคนอเมริกา ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน บริษัทฝูเหยาเคยถูกร้องเรียนเรื่องความปลอดภัยถึง 11 ครั้ง คนงานอเมริกันรู้สึกว่าพอเดินผ่านประตูโรงงานเข้ามา ก็เหมือนทำงานอยู่ในประเทศจีน คนงานจีนทำงานไม่หยุด อยู่ในโรงงานแทบตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ในวันอาทิตย์ หากงานเร่ง ก็แทบไม่พักกินข้าว เพื่อให้ผลิตได้ตามเป้าหมาย คนงานอเมริกันไม่ยอมถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา คนงานอย่างน้อย 3,000 คน เข้ามาทำงานและจากไป หากไม่ถูกไล่ออกก็ลาออกเอง พวกเขาเต็มไปด้วยความเครียด
ในที่สุดสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐ หรือ UAW ก็เข้ามาแทรกแซงให้มีการลงมติ รับหรือไม่รับการตั้งสหภาพแรงงานที่ฝูเหยา คนงานอเมริกันหลายคนเชื่อว่าสหภาพจะเข้ามาช่วยให้ความเป็นธรรมกับพนักงาน ช่วยให้ค่าตอบแทนสูงขึ้น และคอยดูแลความปลอดภัยพนักงาน ขณะที่บางคนก็คิดต่างไป การมีงานทำก็เป็นเรื่องดีแล้ว พวกเขาไม่อยากตกงานอีก
บริษัทฝูเหยาเพิ่มค่าจ้างให้พนักงานทุกคน 2 ดอลลาร์ และจ้างสถาบันแรงงานสัมพันธ์มาต่อสู้กับสหภาพแรงงาน เปิดการอบรมเพื่อสื่อสารกับคนงานว่าในยุคนี้คำขู่หยุดงานประท้วง ไม่น่ากลัวสำหรับนายจ้างอีกต่อไปแล้ว เพราะถึงจะไม่ถูกไล่ออก แต่นายจ้างก็จะหาคนที่เหมาะสมกว่ามาแทนที่คุณตลอดไปได้
คนงานหญิงอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งถูกยึดบ้านหลังจาก GM ปิดโรงงาน ต้องไปอาศัยอยู่ชั้นใต้ดินบ้านพี่สาวหลายปี จนกระทั่งปีที่ได้กลับมาทำงานกับฝูเหยา เธอมีเงินจ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ ได้ฉลองคริสต์มาสในบ้านของตัวเอง และรู้สึกเป็นอิสระอีกครั้ง เมื่อเธอเข้าร่วมประชุม UAW ภาพที่เธอชูป้ายสนับสนุนสหภาพปรากฏในข่าว เธอถูกบริษัทเพ่งเล็งและถูกไล่ออกในที่สุด เธอถามตัวเองว่า“ฉันเป็นคนงานที่ดี ฉันควรเข้ามาเกี่ยวพันถึงขนาดนี้หรือ เอาทั้งชีวิตมาเสี่ยง”
เมื่อการลงมติเสร็จสิ้น ฝูเหยาเป็นฝ่ายชนะ 60 เปอร์เซ็นต์ โหวต “ไม่รับ” สหภาพแรงงาน พนักงานที่สนับสนุนสหภาพแรงงานถูกไล่ออกไปเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นบอกว่า “จีเอ็มให้ชีวิตที่ดีกับผม แต่มันจบลง ตอนพวกเขาปิดตัว เราจะไม่มีวันทำเงินขนาดนั้นได้อีก คืนวันเหล่านั้นจบลงแล้ว”บางทียุคของ Blue Collar ที่มีสหภาพแรงงานมาสร้างความมั่นคงในชีวิตอาจถึงเวลาจบลง
4.
อย่างไรก็ดี แม้แต่คนงานที่ภักดีกับองค์กรก็ยังเป็นจุดอ่อน ประธานฝูเหยาอเมริกาพาประธานเฉาเดินดูโรงงานที่ปรับปรุงใหม่ การใช้เครื่องจักรแทนคน คือ การสร้างมาตรฐาน เปลี่ยนคนงานที่เหลือแทนที่ด้วยแขนกล เพราะพวกเขาทำงานช้าเกินไป
บริษัทกระจกฝูเหยาอเมริกาเริ่มทำกำไรตั้งแต่ปี 2018 จ้างคนงานอเมริกันประมาณ 2,200 คน และจีน 200 คน โดยค่าจ้างเริ่มต้นยังคงเป็น 14 ดอลลาร์ ไม่ใช่เพียงแค่ที่โรงงานฝูเหยาอเมริกาเท่านั้น มีการคาดการณ์ว่าคนงานทั่วโลก 375 ล้านคน จำเป็นต้องหางานอื่นทำ ภายในปี 2030 เพราะการเข้ามาแทนที่ของเครื่องจักรอัตโนมัติ
American Factory ถ่ายทำตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2015 จนถึงสิ้นปี 2017 ตั้งแต่วันที่เริ่มต้นอย่างมีความหวัง มีแต่ความตื่นเต้น จนกระทั่งอะไรๆ แย่ลง ผู้กำกับตั้งใจให้หนังเรื่องนี้เป็นสื่อกลางเปิดพื้นที่ให้ทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้พูด ถ่ายทอดทั้งมุมมองความรู้สึกของคนงานและนายจ้าง ความแตกต่างของวัฒนธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน การเข้ามาแทนที่ของเครื่องจักรในเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ โดยแทรกแซงหรือชี้นำ แต่ปล่อยให้คนดูรับฟัง แล้วตัดสินเอาเอง
หนังเรื่องนี้ได้ออกฉายทาง Netflix ในปี 2019 ในฐานะหนังสารคดีเรื่องแรกของบริษัท Higher Ground Productions ที่ก่อตั้งโดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชล โอบามา ซึ่งมาจับงานด้านสารคดี ได้ช่วยให้หนังเรื่องนี้ออกสู่สายตาชาวโลก ซึ่งนอกจากได้รับความสนใจในหลายแวดวง ยังได้รางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2020 และรางวัลอื่นๆ จากอีกหลายสถาบัน
อดีตประธานาธิบดี บารัก โอบาม่า คิดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้หนังมีพลัง ก็คือ ความจริงที่ไม่ได้มีสีขาวหรือสีดำ แต่เต็มไปด้วยสีเทา ฉากเปิดเรื่องที่เห็นสภาพอากาศในมิดเวสต์ ภาพของคนงานในชุดยูนิฟอร์ม ทำให้ มิเชล โอบามา รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องราวของตัวเธอเองด้วยเหมือนกัน สิ่งที่ทำให้พ่อเธอภูมิใจและมีเป้าหมาย คือ ยูนิฟอร์มและงานนั้น และการที่พ่อเลี้ยงดูครอบครัว ส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยได้ หนังเรื่องนี้สะท้อนภาพเหล่านั้นออกมา ซึ่งก็เป็นภาพของชนชั้นแรงงานที่มีความฝันแบบอเมริกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี