เอาสินค้าไปขายในเซเว่นยังไงไม่ให้โดนปฏิเสธ พร้อมเทคนิคดีๆ จาก SME ที่สร้างธุรกิจโตในโมเดิร์นเทรด

 

     

     เชื่อว่า SME หลายคนที่ผลิตสินค้ามาแล้วหนึ่งในสถานที่ที่อยากจะนำไปของไปขายคือ เซเว่น อีเลฟเว่น เพราะนั่นคือโอกาสในการทำเงินอย่างมหาศาล

ทำไม เซเว่น ถึงเป็นหมุดหมายในฝันของ SME

     ก่อนที่จะไปดูวิธีนำสินค้าไปขายในเซเว่น หลายคนอยากรู้ว่าเซเว่นมีข้อดีอะไรถึงดึงดูดให้เหล่า SME ต้องการนำสินค้าไปขาย มีการคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2564 - 2566  ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ Modern Trade ในประเทศไทย มีแนวโน้มการเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 1.5-2.5% โดยปัจจัยหนึ่งมาจากการที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างตรงจุดเพราะกระจายตัวอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ มีความหลากหลายของสินค้าและผลิตภัณฑ์ จึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบายภายใต้ภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

     ยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ปัจจุบันเซเว่นมีจำนวนสาขาในประเทศมากถึง 13, 283 สาขา โดยเฉลี่ยในแต่ละสาขามีลูกค้าเข้าร้าน 1,000 คนต่อวัน ฉะนั้นวันหนึ่งมีลูกค้าประมาณ 13 ล้านคน และโดยเฉลี่ยคนหนึ่งซื้อสินค้าครั้งละประมาณ 3 ชิ้น ทำให้มีการซื้อขายสินค้าผ่านเซเว่นประมาณ 40 ล้านชิ้นต่อวัน

สินค้าที่ขายในเซเว่นมีอะไรบ้าง

     ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเอาสินค้าไปขายในเซเว่นก็ต้องรู้ก่อนว่า เอาของมาขายในเซเว่น ต้องรู้ว่าเซเว่นขายอะไรบ้าง โดยสินค้าที่ขายในเซเว่นแบ่งได้เป็น

 Non Food

  • ของใช้ส่วนตัว
  • ของใช้ในครัวเรือน
  • บุหรี่

 

Ready to eat (frozen & chilled)

  • อาหารหลัก
  • อาหารรองท้อง
  • ฟาสต์ฟูด
  • ขนมปัง นมสด

 

Dry Grocery

  • อาหารแห้งและเครื่องปรุงรส
  • ขนม

 

Beverage & Ice cream

  • แอลกอฮอล์
  • ซอฟต์ดริ๊งค์
  • ไอศกรีม

 

วิธีการเตรียมตัวก่อนนำสินค้าไปขาย

สิ่งแรกต้องเตรียมสินค้าให้พร้อม ทั้งเรื่องคุณภาพ มาตรฐานต่างๆ เช่น มาตรฐานาอาหารหรือ อย.  เครื่องหมายรับรองมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมหรือ มอก.

  • นำเสนอสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.cpall.co.th

เมื่อเตรียมสินค้าเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปก็เพียงแค่ ลงทะเบียนเพื่อนำข้อมูลต่างๆ ของสินค้าไปกรอกให้ครบถ้วนในเว็บไซต์ โดยการตรวจสอบเบื้องต้นของทางบริษัท จะดูจากความน่าสนใจของสินค้าเป็น หลักรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาวางขายซึ่งจะต้องไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ของบริษัท จากนั้นถึงจะมีการสรุปว่าสินค้าที่พิจารณาผ่านความเห็นชอบในรอบแรกหรือไม่

  • นัดหมายพรีเซนต์

หากผ่านการพิจาณรณาดังกล่าว ขั้นต่อไป เจ้าหน้าที่ของบริษัทจะดำเนินการนัดหมายเพื่อมานำเสนอรายละเอียดสินค้า ตลอดจนแผนการตลาดสนับสนุนสินค้าดังกล่าว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดทำข้อมูลและนำเสนอแก่คณะกรรมการคัดเลือกสินค้าของบริษัทเพื่อร่วมพิจารณาตามหลัก เกณฑ์สำคัญๆ อาทิ แนวโน้มและทิศทางของการตลาด กลุ่มลูกค้า รวมถึงโอกาสเติบโตในอนาคต

  • ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าพิจารณามาตรฐานโรงงานกระบวนการผลิต

สำหรับผู้ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและโรงงานการผลิตรวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกฏหมายที่ระบุไว้มีความปลอดภัยและถูกหลักอาชีวอนามัย ตลอดจนคำนึงถึงสภาพแวดล้อม

  • พิจารณาศักยภาพในการผลิตและส่งมอบสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

และเมื่อคุณผ่านมาตรฐานในเรื่องการผลิตและโรงงานแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการกำหนดวันจำหน่ายสินค้าและกำหนดยอดสั่งผลิตในล็อตแรก ซึ่งจะมีรายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆ เช่นรูปแบบการกระจายสินค้าจะเป็นไปในลักษณะใดครอบคลุมทุกสาขาหรือต้องการเจาะจงเฉพาะพื้นที่

จากนั้นก็กำหนดวันจำหน่ายผลิตล็อตแรกระบุรายละเอียดและข้อกำหนดต่าง

เปิดสูตรสร้างธุรกิจโตในร้านเซเว่นฯ  

     เฉลิมพงษ์ ศรีโรจนันท์ เจ้าของธุรกิจเครื่องสำอาง Royal Beauty เล่าว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Royal Beauty เกิดขึ้นจากแนวคิดและความตั้งใจที่อยากจะเปลี่ยนชีวิตของคนให้ดีขึ้น เพราะเมื่อคนเราหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้น โดยใช้เวลาพัฒนาและคิดค้นอย่างจริงจังไปพร้อมๆ กับการทำวิจัยตลาด เพื่อหาช่องว่างทางการตลาด เพราะต้องยอมรับว่าสินค้าประเภทเครื่องสำอางเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งจากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูงก็ต้องการสินค้าที่ดูดีเหมือนกับสินค้าที่วางในเคาน์เตอร์แบรนด์ ไม่ใช่สินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ธรรมดาอย่างที่เข้าใจ เราจึงนำจุดนี้มาพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ดูพรีเมี่ยม ในราคาเพียงซองละ 39 บาท ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ทำให้ในวันนี้บริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น ยาวนานถึง 7 ปี มากกว่า 20 รายการ 

     ภักดี เดชจินดา เกษตรกรผู้ปลูก กล้วยหอมทองไร่ภักดี เปิดเผยว่า ปัจจุบันกล้วยหอมทองไร่ภักดีส่งขายให้เซเว่น อีเลฟเว่นอยู่ที่ประมาณวันละ 20,000-30,000 ลูก ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นสินค้าจากภายในไร่เองประมาณ 30% ที่เหลือมาจากไร่ขนาดเล็กอื่นๆ ที่ทางไร่ให้คำแนะนำในการปลูก และเข้าไปควบคุมคุณภาพสินค้า ซึ่งกว่าจะได้เข้ามาจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่นได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะสินค้าจะต้องมีคุณภาพตรงตามที่กำหนด ดังนั้นจึงต้องแสวงหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งทางเซเว่น อีเลฟเว่นเองก็เข้ามาให้ความช่วยเหลือ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคด้านต่างๆ ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการจัดเก็บสินค้า

     “แม้จะสามารถนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่นได้แล้ว ก็ต้องอย่าประมาท เพราะต้องเข้าใจว่าสินค้าที่วางจำหน่ายนั้นมาจากหลายพาร์ทเนอร์ หากไม่รักษาคุณภาพและมาตรฐานก็คงไม่สามารถอยู่ในตลาดได้นาน ยิ่งเป็นสินค้าเกษตรที่มีรอบช่วงเวลาสั้นก็ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการรักษาคุณภาพและมาตรฐานให้ดีที่สุด พร้อมๆ ไปกับการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ”

     เจิ้น-โสรัจ มหรรณพกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูลเกิ้ล จำกัด เจ้าของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพแบรนด์ เกรนเน่ย์ (Grainey) เล่าว่า ช่วงแรกเน้นการทำตลาดต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ส่งออกไม่ได้ จึงต้องหันมาทำตลาดในประเทศแทน และตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศก็คือตลาดโมเดิร์นเทรด ซึ่งเซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็นตลาดโมเดิร์นเทรดที่เข้าถึงกลุ่มคนได้ง่าย จึงตัดสินใจนำสินค้าเข้าไปนำเสนอ ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องการนำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด แต่ด้วยราคาที่อาจจะสูงเกินไป อาจทำให้ขายได้ยาก ทางทีมเซเว่น อีเลฟเว่น จึงให้กลับไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถขายได้ในราคา 10 บาท ซึ่งเราก็ทำการคิดค้นจนสำเร็จและนำสินค้าตัวแรก “กราโนล่า บาร์” ไปจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ในที่สุด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 

     นอกจากมาตรฐานแล้วขนาดและราคาสินค้าก็เป็นสิ่งที่ SME ต้องคำนึงถึงหากต้องการขายของในแซเว่น

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย