ขายขนมโฮมเมดยังไงให้ธุรกิจอยู่ได้เป็นสิบปี เก่ง Sydney เจ้าของขนม Biscotti ทุกชิ้นต้องบาง 2 มิลลิเมตร

 

 

     ย้อนไปสักสิบปีการจะยึดอาชีพทำเบเกอรี่โฮมเมดอย่าง Biscotti ขนมที่หลายๆ คนในยุคนั้นอาจไม่ค่อยรู้จัก ที่สำคัญเป็นการขายแบบไม่มีหน้าร้านคงเป็นเรื่องยากที่จะมีใครคิดบุกเบิกตลาดนี้

     แต่ เก่ง-นครินทร์ นุตาลัย ที่อยากทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและนำความรู้ที่ได้ไปร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ พยายามหาทางออกเปิดตลาดในเมืองไทย แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยความท้าทายหลายประการ ตั้งแต่ตัวขนมยังไม่เป็นที่รู้จัก เมื่อนำไปฝากขายจึงมักถูกปฏิเสธ ยังไม่นับรวมถึงความพิถีพิถันที่ขนมทุกชิ้นของเขาจะต้องมีความบางเพียง 2 มิลลิเมตร แต่เขาก็ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้และสร้างแบรนด์ขนม เก่ง Sydney ขึ้นมาจนกลายเป็นขนมที่มีลูกค้ายอมจองคิว 6 เดือน กลายเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงเขาและครอบครัวมากว่าทศวรรษ

จากเด็กนิเทศสู่เชฟซิดนีย์

     เหรียญมีสองด้านฉันใดชีวิตของเก่งก็ไม่ต่างจากนั้น เพราะอาชีพเชฟในสมัยก่อนอาจยังไม่เป็นที่นิยมและดูเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงเหมือนสมัยนี้ทำให้เก่งตัดสินใจไปคว้าปริญญาตรีนิเทศศาสตร์ตามความประสงค์ของทางบ้าน ก่อนจะทำตามฝันตัวเอง ไปเรียนต่อทางด้านทำอาหารที่โรงแรมดุสิตธานีที่ยิ่งเรียนก็ยิ่งสนุกจึงบุกไปหาความรู้ต่อที่ สถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ (Le Cordon Bleu) ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

     “เราเรียนจบแล้วก็ทำงานอยู่ที่โน่น แต่ว่าทางบ้านอยากให้กลับมาช่วยทำธุรกิจอพาร์ทเม้นต์ เรียกให้เรากลับมาแต่ปรากฏว่าพอกลับมางานทุกอย่างลงตัวเรียบร้อยแล้ว แม้จะโชคร้ายไม่ได้ช่วยธุรกิจที่บ้านแต่ก็ถือว่าโชคดีเพราะเราเลยตัดสินใจนำวิชาชีพที่ตัวเองชอบไปเรียนมาทำขนมขาย”

ได้เวลาโชว์ฝีมือ

     ถึงแม้เก่งจะสามารถทำอาหารได้ทั้งของคาวและของหวาน แต่ในความคิดของเขาอาหารคาวเป็นของที่เหมาะกับทานร้อนๆ เสิร์ฟแบบสดใหม่ หากคิดจะขายอาหารคาวต้องมีหน้าร้าน การทำขนมจึงเป็นคำตอบของการเริ่มต้นธุรกิจของเก่ง

     หลังจากที่ได้สำรวจตลาดในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลานั้นเก่งพบว่าขนมส่วนใหญ่ที่วางขายในท้องตลาดจะเป็นขนมที่มีรสหวานจัดหรือไม่ก็มันจัด ทำให้คิดถึงคนรอบตัวที่เป็นผู้สูงวัยมักมีโรคเบาหวาน ความดัน พลันทำให้เขานึกไปถึงทำขนม Biscotti ที่เป็นขนมของอิตาลี ซึ่งขนมตัวนี้มีความ healthy มากที่สุดในบรรดาที่เขาได้ไปเรียนมาเพราะไม่มีการใส่ เนย น้ำมัน ใส่แค่ ไข่ แป้ง น้ำตาล ขนมตัวนี้จึงน่าจะเหมาะที่จะทำตลาด  

     “ขนมมีลักษณะคล้ายคุ้กกี้แต่จะหนา มีความแข็ง กรอบ ในเวลานั้นเรียกได้ว่ายังไม่มีร้านค้าไหนทำนอกจากโรงแรม และในโรงแรมก็จะทำขนมที่เป็นแบบดั้งเดิมคือ แผ่นใหญ่ เพราะคนอิตาลีนิยมนำมาไปจุ่มในชา กาแฟ แต่มันขัดกับนิสัยคนไทยที่ชอบทานกรอบๆ ผมจึงนำมาทำให้ทานง่ายขึ้น”

ขนมพร้อม ขาดแต่ที่ขาย

     ถ้าสิบปีก่อนการขายออนไลน์เฟื่องฟูอย่างในปัจจุบัน นครินทร์ คงไม่ต้องขับรถตระเวนไปหาร้านฝากขนมตามตลาดชื่อดัง อย่าง อตก. บองมาร์เช่ สัมมากร ซึ่งการหาร้านขนมฝากขายว่ายากแล้ว การแนะนำให้เจ้าของร้านรู้จักขนมก็ยากไม่แพ้กัน ด้วยความที่เป็นขนมที่ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมความหวังที่จะได้ขายขนมแทบเป็นศูนย์

    “ไปเจอร้านหนึ่งที่บองมาร์เช่ ตอนแรกเจ้าของร้านก็ไม่อยากรับเพราะเขาไม่รู้จักขนม ผมกับแฟนต้องอธิบายให้พี่เจ้าของร้านฟังว่าขนมนี้ก็คล้ายๆ คุ้กกี้ ก็ต้องพูดอธิบายอยู่นานจนเขาจะยอมรับฝาก”

     เมื่อขนมที่อยู่ในมือกว่า 10 ถุงมีที่วางขายแล้ว ช่วยบรรเทาความเหนื่อยพวกเขาให้หายไปแต่ไม่ถึงสองชั่วโมง ก็มีสายโทรศัพท์เรียกเข้า ซึ่งเมื่อ นครินทร์ รับสายได้ยินเสียงปลายทางพูดว่า “ขนมที่ฝากขายหมดแล้วมีอีกไหม”

งานโฮมเมด ที่เครื่องจักรทำไม่ได้

     สาเหตุที่ขนมขายดีตั้งแต่เริ่มต้นนั้น นครินทร์ บอกว่าเป็นเพราะว่าตัวเขาพิถีพิถันในการทำทุกอย่าง และมีการปรับรสชาติให้เหมาะกับคนไทย โดยทั่วไปถ้าเป็นขนมคุ้กกี้หรือขนมเค้กจะอบเพียงครั้งเดียว แต่สำหรับขนม Biscotti นี้ เขาต้องทำการอบถึงสองครั้ง และเมื่ออบเสร็จแล้วต้องใช้มีดหั่นทุกชิ้นเพื่อให้ขนาดเล็กที่สุดคือ 2 มิลลิเมตร

     “เคยไปจ้างให้ช่างทำเครื่องตัด ปรากฏว่าทำเครื่องหั่นได้เล็กสุด 2 เซ็นติเมตร แต่เราต้องการ 2 มิลลิเมตร เพราะถ้าหนาเกินไปคนสูงวัยทานไม่ได้ พวกเบเกอรี่ถ้าไม่ใส่ไขมันเป็นส่วนประกอบมันจะแข็ง ต้องทำให้บางได้ทานง่าย คนไทยชอบกรอบ คล้ายๆ ข้าวเกรียบ”

     เก่งบอกว่าหัวใจสำคัญของการทำอาหารคือคุณภาพ เขาจะไม่ยอมให้ขนมที่ไม่ได้มาตรฐานหรือรสชาติผิดเพี้ยนออกไปสู่ตลาด จะทำให้ลูกค้าไม่เชื่อถือ ด้วยความใส่ใจนี้ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขนมของเขาจึงได้รับการบอกต่อแบบปากต่อปาก จากลูกค้าที่ซื้อไปทานเองก็เป็นลูกค้าในองค์กรออฟฟิศ อาทิ พนักงานแบงก์ พนักงานการไฟฟ้า ที่มักซื้อไปฝากลูกค้าหรือไปสวัสดีปีใหม่

     “ช่วงที่พีคที่สุดขนมต้องรอคิวกัน 6 เดือน ช่วงนั้นทำขนมตั้งแต่ตี 5 ไปปิดไฟตอน 4 ทุ่ม เป็นแบบนี้สองปี จนมีลูกเราก็เริ่มแบ่งเวลาให้ลูกมากขึ้น เมื่อลูกเราโตรอเวลาที่พร้อมกว่านี้เราก็อาจเปิดโรงงานผลิตขนมซึ่งเป็นเป้าหมายต่อไป”

     หลายคนอาจวัดความสำเร็จของธุรกิจเป็นตัวเลข แต่สำหรับเก่งเขามองว่าความสำเร็จของเขาในวันนี้คือ คือการได้มีเวลาอยู่กับคนที่รักและยังได้ทำในสิ่งที่ชอบนั่นคือการทำขนม ที่เขาเรียกมันว่า “ความสุข”

 

ข้อมูลติดต่อ

โทรศัพท์ 08 3305 0992

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย