ในโลกปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ต่างขวนขวายความมั่งคั่งจากการเป็นผู้ประกอบการ บนถนนสู่การสร้างสตาร์ทอัพจึงคลาคล่ำหนาแน่นไปด้วยคนรุ่นใหม่ซึ่งปัจจุบันด้วยความที่ “เพศ” ไม่อาจแบ่งแย่งความสามารถ เราจึงเห็นผู้หญิงจำนวนมากก่อตั้งสตาร์ทอัพและนั่งเก้าอี้ซีอีโอ วันนี้เลยจะชวนดูภาพยนตร์ที่ฉายทางเน็ตฟลิกซ์เรื่อง “The Intern” (โก๋เก๋ากับบอสเก๋ไก๋) ที่แม้จะเป็นหนังตั้งแต่ปี 2015 แต่เนื้อหาไม่ตกยุคเลย
The Intern เป็นเรื่องราวของจูลส์ ออสติน (นำแสดงโดยแอนน์ แฮทธาเวย์) หญิงสาว Gen Y เจ้าของสตาร์ทอัพที่ดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มจำหน่ายเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่นออนไลน์ บริษัทของเธอเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังได้รับทุนสนับสนุนจากบรรดา VC (venture capitalist) จากสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ใช้เวลาเพียง 18 เดือนก็ขยายเป็นธุรกิจใหญ่มีพนักงานในการดูแลกว่า 200 คน ทำให้จูลส์ขึ้นแท่น e-entrepreneur ที่ประสบความสำเร็จสูง
แต่นั่นก็แลกด้วยการทุ่มเททำงานหนัก และความกดดันจากปัญหาในครอบครัวที่เริ่มก่อตัวเมื่อจูลส์ออกไปโลดแล่นสร้างรายได้ในฐานะหัวหน้าครอบครัวจนไม่มีเวลาให้ แล้วปล่อยให้สามีทำหน้าที่พ่อบ้านดูแลลูกสาวตัวน้อยแทน วันหนึ่ง ทีมงานของจูลส์ได้ทำโครงการ "Senior Intern" ซึ่งเป็นโครงการ CSR คัดเลือกผู้ฝึกงานวัยเกษียณที่มีอายุเกิน 65 ปีให้เข้ามาทำงานที่บริษัท และหนึ่งในผู้ที่ได้รับคัดเลือกคือเบน วิทเทเกอร์ (โรเบิร์ด เดอ นีโร) พ่อม่ายวัย 70 ปีซึ่งเคยทำงานในบริษัทผลิตสมุดรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์นาน 40 ปี
เบนมาเริ่มงานด้วยภาพลักษ์คนรุ่นเก่าที่ดูเนี้ยบ สวมสูทผูกไทด์พกผ้าเช็ดหน้าและหิ้วกระเป๋าหนัง บุคคลิกสุขุมเนิบช้า แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับบรรยากาศในออฟฟิศที่เหล่าพนักงานคราวลูกคราวหลานแต่งตัวตามสบายและวุ่นทำงานในโลกดิจิทัลโดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก อาจดูเหมือนมี culture shock แต่เบนก็ไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย เขาปรับตัวอย่างรวดเร็ว อาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมคอยให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหา ทำให้เบนกลายเป็นขวัญใจของคนในออฟฟิศ
เบนได้รับมอบหมายให้ทำงานกับจูลส์ ช่วงแรกจูลส์เพิกเฉยและไม่ยอมรับ แต่ความสุขุมคัมภีรภาพ ความช่างสังเกต ความใส่ใจในรายละเอียด การเป็นผู้รับฟังและไม่ด่วนตัดสิน และคำแนะนำในฐานะผู้อาบน้ำร้อนมาก่อนทำให้จูลส์ซึ่งเข้ากับคนได้ยากรู้สึกอุ่นใจ สงบ ละไว้วางใจเบนมากขึ้น กระทั่งเกิดปัญหาแมตต์ สามีของจูลส์นอกใจเธอ จูลส์จึงคิดละจากงานที่รักโดยจ้างซีอีโอให้มาช่วยบริหารองค์กรเพื่อเธอจะได้กลับไปกอบกู้ชีวิตครอบครัว แต่ข้อคิดจากเบนและคำพูดที่ว่าไม่มีใครรู้จักธุรกิจที่ปั้นมากับมือได้ดีเท่าตัวเองก็ทำให้จูลส์ฉุกคิดได้ นำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง
ถือเป็นภาพยนตร์ฟีลกู้ดที่ดูสนุก เพลิน ๆ ทั้งยังได้ข้อคิดหลายประการซึ่งบางข้อเหมือนไม่เกี่ยวข้องแต่ก็มีผลต่อการบริหารและดูแลธุรกิจ ข้อคิดที่ว่าได้แก่
การดูแลสุขภาพคือหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จ ในเรื่องเบนเข้านอนก่อน 4 ทุ่มและตื่นเวลาเดิมทุกเช้า การเข้านอนเป็นเวลาทำให้ร่างกายได้พักผ่อนเพียงพอ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรง นอกจากนั้น เบนยังออกกำลังกายสม่ำเสมอ กิจกรรมโปรดคือการฝึกไทชิ การออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าอยู่ในวัยใดล้วนทำให้ร่างกายแข็งแรง ความสมบูรณ์ของร่างกายมีผลอย่างมากต่อการทำงานอันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการเป็นผู้ประกอบการ
ต้องมีใครสักคนที่สามารถวางใจและแบ่งเบาภาระได้ การทำงานแบบ one man show อาจจะได้มาซึ่งความภูมิใจแต่ก็เป็นอะไรที่เหน็ดเหนื่อยมาก เมื่อกระจายงานแล้วให้เชื่อใจในทีมงาน ไม่จำเป็นต้องล้วงลูกทุกอย่าง เป็นเรื่องดีเสียอีกหากเราสามารถมีคนที่ไว้ใจและทำงานแทนได้ หรือหากไม่ลงคือ แ ค่รับฟังปัญหาก็ทำให้ใจเบาลงได้
ไม่มีใครเข้าใจความฝันของเราเท่าตัวเราเอง บริษัทของจูลส์ก่อตั้งได้เพียงปีครึ่งแต่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ถึง 5 เป้าหมาย แต่จูลส์กลับโดนสงสัยจากนักลงทุนในเรื่องความสามารถในการขยายธุรกิจ และแนะให้จ้างมืออาชีพมาบริหาร บทเรียนจากเรื่องนี้คือไม่มีผู้ประกอบการใดที่เก่งกล้าสมบูรณ์แบบ และเราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ อย่าเพิ่งละจากฝัน เชื่อมั่นในตัวเองและเป้าหมายที่วางไว้เพราะใครจะรู้ดีไปกว่าผู้ก่อร่างสร้างธุรกิจคงไม่มี
ไม่สายเกินไปที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในภาพยนตร์ เบนหัดบันทึกคลิปแนะนำตัวเพื่อสมัครงาน เมื่อได้งานในบริษัทสตาร์ทอัพ เขาก็เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์จากคนในออฟฟิศ และเพิ่งมีบัญชีโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะในโลกเทคโนโลยี ดังนั้น เตรียมพร้อมเสมอกับการเรียนรู้เพื่อก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน
จงเป็นเจ้านายที่เข้าถึงได้ จูลส์ไม่นั่งประจำที่ ชอบปั่นจักรยานในออฟฟิศ โฉบจากแผนกโน้นไปแผนกนี้ และมักมีส่วนในการทำงานกับทีมเสมอ บางทีก็ไปนั่งรับโทรศัพท์จากลูกค้าร่วมกับทีมคอลเซ็นเตอร์ก็มี ออฟฟิศของจูลส์จะมีโต๊ะส่วนกลางที่ทุกคนสามารถใช้งานได้ สไตล์การทำงานแบบนี้เป็นการทำลายกำแพงกั้นระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ทำให้รับรู้ปัญหา และช่วยกันแก้ไข เป็นการทำงานแบบทีมเวิร์กที่ดี
เชื่อในความสามารถของตัวเอง เป็นไปได้ว่าหลังเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ และประสบความสำเร็จ อาจมีช่วงเวลาที่ธุรกิจซบเซาหรือถดถอยจนทำให้เกิดรู้สึกสงสัยในตัวเองว่ายังไม่เก่งพอ ทำได้ไม่ดีพอ ที่ตัดสินใจไป ถูกต้องแล้วหรือ ขอให้เชื่อในตัวเอง มีคำพูดหนึ่งที่เบนกล่าวกับจูลส์ว่า “พึงระลึกเสมอว่าใครเป็นคนสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา คุณเป็นคนป่ายปีนเขาลูกนี้ คุณรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอกับอะไร คุณรับมือได้แน่นอนไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น”
อย่าประเมินคนรอบข้างต่ำ จากภาพยนตร์ ช่วงแรกจูลส์ต่อต้านเบน ไม่ให้แม้โอกาสในการพิสูจน์ตัวเองเพราะคิดว่าคนวัยอย่างเขาทำงานไม่ได้ และแอบส่งข้อความให้ทีมงานย้ายเบนไปแผนกอื่น แต่เมื่อมีเหตุที่ทำให้เบนได้แสดงศักยภาพ สุดท้าย จูลส์ก็ต้องร้องขอให้เบนกลับมาทำงานกับเธอ ข้อคิดคืออย่าตัดสินหนังสือจากปกจนกว่าคุณจะได้ลงมืออ่านมัน
เนื่องจากไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว เชื่อว่ามีคนวัยเกษียณอีกจำนวนมากที่ยังไม่อยากหยุดทำงานและยังอยากแสดงความสามารถ ภาพยนตร์เรื่อง The Intern ทำให้เห็นภาพคร่าว ๆ ของการทำงานร่วมกันระหว่างคนวัยเบบี้บูมเมอร์ กับคนวัยมิลเลนเนี่ยล ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้จากกันและกัน การใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาส่งเสริมกัน หากทำได้จะช่วยให้ธุรกิจพัฒนายิ่งขึ้นไป
TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี