Case Study : ส่อง 3 Power Brand แชร์ประสบการณ์ใช้นวัตกรรม เห็นผลจริงทางธุรกิจ

 

 

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ นวัตกรรม คือ สิ่งสำคัญในการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน แต่กลับพบว่าผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงและใช้นวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ ลองมาฟังบทเรียนจาก 3 Power Brand เพื่อใช้นวัตกรรมสร้างโอกาสให้ธุรกิจจากภาวะวิกฤต จากเวทีงานเปิดตัว The Founder II ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อนำเสนอมุมมองของบุคคลตัวอย่างที่สามารถสร้างทางรอดในวิกฤตจำนวน 25 ราย ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ 1. Pandemic ผู้ก่อตั้งองค์กรที่สามารถปรับตัวได้ดีในช่วงวิกฤตโควิด–19 2. Climate Change ผู้ก่อตั้งองค์กรที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และ 3. Economic Crisis ผู้ก่อตั้งองค์กรที่มีแนวทางดำเนินงานสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

ชนรรค์ สมบูรณ์เวชชการ

กรรมการผู้จัดการ บริษัท อ้วยอันโอสถ จำกัด

กลยุทธ์ : ใช้นวัตกรรมสร้างโอกาส อย่าหยุดแค่ลูกค้ากลุ่มเดิม

     “อ้วยอันโอสถ เราเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาสมุนไพรโบราณที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 75 ปี โดยเริ่มต้นจากร้านขายยาจีนและยาสมุนไพรโบราณมาก่อน และพัฒนาเปิดโรงงานผลิตยาเพื่อจำหน่ายเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ซึ่งหลักในการดำเนินธุรกิจที่เราใช้มาตลอด ก็คือ 1. การผลิตสินค้าที่ดีมีคุณภาพ โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ และ 2.การสื่อสารการตลาดที่ดีเพื่อไปให้ถึงผู้บริโภค โดยก่อนหน้านั้นคนมักมองภาพว่าสมุนไพรเป็นยาของผู้ใหญ่ เราจึงได้มีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เพื่อผลิตยาสมุนไพรสำหรับเด็กเพิ่มขึ้นมาด้วย ให้มีรสชาติรับประทานได้ง่ายขึ้นในรูปลักษณ์แพ็กเกจจิ้งสีสันสดใส เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเด็กได้มากขึ้น จากนั้นเราก็เริ่มต่อยอดไปยังกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยมีใครนึกถึงมาก่อน เช่น ยาสมุนไพรสำหรับนักกีฬา

      “โดยจากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เข้ามา ฟ้าทะลายโจรกลายเป็นสมุนไพรยอดนิยมที่ขายดีมาก และยังช่วยกระตุ้นให้สมุนไพรอื่นๆ ขายดีขึ้นด้วย หน้าที่ของเรานอกจากพยายามผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคแล้ว สิ่งที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมนอกจากการเจาะตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ ก็คือ เราควรทำให้สมุนไพรจากที่ใช้เพื่อเป็นยารักษามาเป็นการใช้เพื่อการดูแลสุขภาพตัวเองให้มากขึ้นด้วย รวมถึงส่งเสริมให้เป็นอีกหนึ่งของดีของไทยไม่ต่างจากการนวดแผนไทย หรือสปา ทำให้เกิดมุมมองนำไปต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้จากการศึกษาอย่างชัดเจนรู้จริง การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย และการตลาดที่ดี”

แง่คิด : “การนำนวัตกรรมมาใช้ อย่างแรก คือ ควรเข้าใจในธรรมชาติของธุรกิจตัวเองให้ท่องแท้ก่อนนำสิ่งใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ DNA ของคนรุ่นเก่ายังคงอยู่เป็นแกนกลางคุณค่าทางใจ”

สรณัญช์ ชูฉัตร

บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้ารายแรกของไทย

กลยุทธ์ : นวัตกรรมจะเป็นผลสำเร็จได้ ต้องทำให้เกิดอิมแพค

      “การจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาตัวหนึ่งจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องเลือกทำจากสิ่งที่ทำให้เกิดอิมแพคได้มากๆ ก่อน เหมือนเช่นที่เราตัดสินใจสร้างรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าขึ้นมาเป็นเจ้าแรกในไทย แทนที่จะสร้างรถสปอร์ตหรูซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า เพราะเรามองถึงปริมาณจำนวนการใช้งานจริง เพื่อผลิตออกมาแล้วสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทันที โดยตั้งแต่เริ่มการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตผู้คน หนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตขึ้นมาก ก็คือ Food Delivery ทำให้มีไรเดอร์ขับรถรับ-ส่งของเกิดขึ้นมากมาย เราจึงมองที่กลุ่มนี้ก่อน ซึ่งหากเราผลิตรถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้าขึ้นมาน่าจะสามารถสร้างอิมแพค ช่วยลดการสร้างคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้กับโลกได้มากกว่า และยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้งานจริงได้ด้วย

     “โดยการจะตัดสินใจสร้างนวัตกรรมอะไรขึ้นมาก็ตาม เราต้องตอบทั้ง 3 องค์ประกอบนี้ให้ได้ก่อน ได้แก่ 1.เป้าหมายธุรกิจ คือ เรามีความตั้งใจสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยลดปัญหามลภาวะให้กับโลกอยู่แล้ว 2.ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลเองก็อยากส่งเสริมธุรกิจที่นำนวัตกรรมมาใช้ขับเคลื่อนมากขึ้นอยู่แล้ว และ 3. ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้ โดยรถที่เราทำออกมาไม่เพียงลดมลภาวะให้สิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยให้ผู้ขับขี่เองมีรถคุณภาพดีใช้ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้เขาได้ด้วย เมื่อทั้ง 3 ส่วนมีความต้องการและดำเนินไปในเส้นทางเดียวกัน โอกาสที่สินค้าจะได้รับการยอมรับและไปต่อได้ก็มีมากกว่า”

แง่คิด :  “เมื่อ 10 - 20 ปีก่อน เราพูดถึงเทคโนโลยีกันมากว่าจะมาช่วยเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ดีขึ้นได้ ยุคต่อมา ก็คือ การเอาลูกค้ามาเป็นศูนย์กลาง แต่ผมมองว่าวันนี้ถึงยุคแล้วที่เราควรเปลี่ยนเป็นคำว่า “เอาโลกมาเป็นศูนย์กลาง” ได้แล้ว จากแต่ก่อนเราอาจเคยแก้ปัญหาให้คนสิบคน ได้เงินมาก็ระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราสามารถแก้ปัญหาให้โลกได้ โอกาสมันเยอะมากกว่า ใหญ่กว่า และเราอาจได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ยังไม่มีการแข่งขันมากก็ได้”

สุนทร เด่นธรรม

บริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน)

กลยุทธ์ : แม้จะเริ่มจากธุรกิจสิ่งเล็กๆ แต่อย่าหยุดที่จะมองภาพใหญ่ด้วย

     “เดิมเราก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาจาก Business Model แบบพื้นฐานเลย คือ รับจ้างบริหารทรัพยากรบุคคล คิดเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง หักวันมาสาย วันลาของพนักงาน ทำภาษีให้กับองค์กรต่างๆ โดยเน้นไปที่องค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งการจะรับทำสเกลที่ใหญ่ได้ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ช่วงแรกเราก็ใช้ของต่างประเทศ จนทำมาได้ 3 ปี เราก็พัฒนาซอฟแวร์ของตัวเองขึ้นมา จากซอฟต์แวร์การคิดภาษี, จ่ายเงินเดือน ฯลฯ ก็ค่อยๆ ขยับมาทำซอฟร์แวร์การพัฒนาบุคคลมากขึ้น เช่น การคัดเลือกบุคลากร การวัดผลงาน วัดศักยภาพ จนถึงการฝึกอบรม จากเล็กๆ จนตอนนี้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว

     “โดยเรามีพันธกิจ คือ ช่วยพนักงานของลูกค้าเราให้ทำงานได้ดีขึ้น และมีชีวิตส่วนตัวที่มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเรามีแพลตฟอร์มช่วยฝึกฝนต่างๆ จากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เรามองเห็นเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของคนทำงานมากขึ้น องค์กรต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในรูปแบบการทำงานที่มีทางเลือกมากขึ้น การทำงานไม่ได้หมายถึงที่ออฟฟิศอย่างเดียวเสมอไป นอกจากนี้ควรมีการดูแลพนักงานแบบเฉพาะเจาะจงลงเป็นบุคคลอีก เพราะคนแต่ละเจนเนอเรชั่นมีความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งผมมองว่าการที่จะทำให้องค์กรต่างๆ ปรับตัวไปรอดได้เวลาเกิดวิกฤต สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่คือ Business Model Innovation การคิดหรือการแก้ไขปัญหาอย่างมีนวัตกรรม ซึ่งสามารถทำได้เร็ว และมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจะทำให้เราแตกต่าง ทำให้ได้เปรียบกว่าการแข่งขันในเรื่องต้นทุน ราคา และสามารถสร้างประสบการณ์และมูลค่าได้ยั่งยืนกว่า เหมือนเช่นที่บริษัท ฮิวแมนิก้าฯ เราพยายามนำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรจนปัจจุบันมีผู้ใช้บริการด้าน HR Solutions มากกว่า 3,000 องค์กร ซึ่งเราเองก็เริ่มมาจากเล็กๆ จากที่ไม่มีเทคโนโลยีของตัวเองด้วยซ้ำ แต่เราก็ไม่หยุดพัฒนา โดยมองภาพใหญ่ว่าสักวันเราต้องให้บริการซอฟร์แวร์ที่มีราคาย่อมเยา แต่คุณภาพเทียบเคียงไม่แพ้บริษัทระดับโลกให้ลูกค้าได้เลือกใช้งานได้ ดังนั้นอยากฝากทุกคนว่าแม้จะเริ่มทำจากเล็กๆ แต่อย่าหยุดฝันที่จะมีภาพใหญ่ สร้างแผนของตัวเองขึ้นมา และทบทวนตัวเองตลอดเวลา นี่คือ หัวใจของการมี Business Model Innovation ที่ดี”

 แง่คิด : เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ แต่ความคิดเชิงนวัตกรรม การบริหารจัดการที่ดีในการสร้างโมเดลธุรกิจต่างหาก คือ สิ่งสำคัญ

 

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย