รวมธุรกิจจากเรื่องขี้ๆ  เปลี่ยนของเสียให้มีค่าดั่งทอง

 

     เชื่อสิของทุกอย่างบนโลกย่อมมีประโยชน์ แม้แต่ของเสียอย่างอุจจาระยังสามารถนำมาดัดแปลงทำสิ่งของและธุรกิจได้ตั้งหลายอย่างเลย แถมเป็นสิ่งที่คุณอาจคาดไม่ถึงด้วย มีอะไรบ้างลองไปพิสูจน์กัน ปล.เพื่อความอภิรมย์ในการอ่านในบางช่วงบางตอนเราขอเรียกแทนของเสียสิ่งนั้นว่า “อุนจิ” ก็แล้วกัน

ถ่านหุงต้มจากอุนจิ

     ในหลายประเทศที่กำลังพัฒนาและไม่ได้มีรายได้สูงมากนัก การขับถ่ายอย่างถูกสุขลักษณะอาจไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เหมือนเช่นในเคนย่าที่บางส่วนยังใช้วิธีขับถ่ายกันในที่โล่ง ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง จนเป็นต้นตอของโรคท้องเสียและระบบทางเดินอาหารตามมา ด้วยเหตุนี้ Andrew Foote ซีอีโอหนุ่มสตาร์ทอัพแห่ง Sanivation จึงได้คิดค้นถ่านหุงต้มจากอุนจิของมนุษย์ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร

     วิธีการเริ่มตั้งแต่การจัดทำห้องส้วมขึ้นมาในชื่อ “Bluebox” เพื่อนำไปติดตั้งตามบ้านเรือนต่างๆ จากนั้นในทุกๆ เดือนจะมีการส่งพนักงานเข้าไปจัดเก็บของเสียเหล่านั้น โดยคิดอัตราค่าบริการเพียงเดือนละ 300 บาท โดยหลังจากจัดเก็บมาแล้วเจ้าอุนจิต่างๆ จะถูกนำเข้าสู่โรงงานผลิต เพื่อกำจัดเชื้อโรคในเตาพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ จนทำให้มูลของเสียมีความแห้ง และจึงนำมาผ่านความร้อนอีกครั้งผสมเข้ากับขี้เลื่อย ซากพืช และกากน้ำตาล และจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลมๆ ผลิตเป็นถ่านออกมา

     โดยช่วงแรกอาจเป็นเรื่องยากในการทำตลาด เหตุเพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในกลิ่นอันไม่พึ่งประสงค์ แต่จริงๆ แล้วกลิ่นดังกล่าวได้ถูกจำกัดไปตั้งแต่ขั้นตอนการอบด้วยความร้อนแล้ว จนปัจจุบันได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการนำมาใช้ในบ้านเรือน และธุรกิจต่างๆ เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อน หรือประกอบอาหาร เช่น การย่างบาร์บิคิว เป็นต้น เนื่องจากมีอายุการใช้งานให้ความร้อนที่ยาวนานกว่าถ่านไม้ปกติ แถมยังควันน้อย ทำให้ปล่อยคาร์บอนออกมาน้อยด้วย โดยถ่านจากอุนจิ 1 ตัน สามารถช่วยลดการตัดต้นไม้ได้ถึง 33 ต้นทีเดียว

เนื้อเทียมจากอุนจิ

     ในปี 2554 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้สามารถสกัดโปรตีนจากแบคทีเรียในอุจจาระของมนุษย์ได้ โดยเมื่อนำโปรตีนดังกล่าวสกัดออกมาผสมรวมกับคาร์โบไฮเดรต และไขมันจะสามารถผลิตเป็นอาหารที่มีลักษณะคล้ายเนื้อสัตว์ หรือเสต็กออกมาได้

     โดยนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวมีชื่อว่า Mitsuyuki Ikeda จากห้องปฏิบัติการวิจัย Okayama จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากความกังวลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการทำปศุสัตว์ ซึ่งมากถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ทำให้อยากแสวงหาแหล่งโปรตีนทดแทนใหม่ โดยอธิบายว่าในอุนจิของมนุษย์นั้นมีโปรตีนอยู่สูงมาก โดยเมื่อนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลแล้วจะทำให้ได้เนื้อหนึ่งก้อนที่มีโปรตีน 63 เปอร์เซ็นต์, คาร์โบไฮเดรต 25 เปอร์เซ็นต์, ลิพิด (Lipid – สารอินทรีย์ไม่ละลายน้ำ) 3 เปอร์เซ็นต์ และแร่ธาตุอื่นๆ อีก 9 เปอร์เซ็นต์

     ในส่วนของรสชาติและรูปลักษณ์นั้นได้มีการเติมสีผสมอาหารใส่ลงไปเพื่อให้ดูเหมือนชิ้นเนื้อจริง และเติมรสชาติออกมาให้คล้ายกลิ่นถั่ว ว่ากันว่าบางคนที่ได้ทดลองแล้วลงความเห็นว่าอร่อยกว่าเนื้อวัวจริงๆ เสียอีก โดยในช่วงต้นที่ทดลองทำออกมานั้นคิดต้นทุนแล้วราคาจะสูงกว่าเสต็กทั่วไปเกือบสิบเท่า ซึ่งหวังว่าในอนาคตหากพัฒนาให้ดีขึ้นราคาจะถูกลงจนเท่ากับเนื้อสัตว์ปกติ และเป็นที่ยอมรับจากผู้คนได้มากขึ้น มองข้ามรายละเอียดที่น่าเกลียด เพื่อผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

เบียร์คราฟต์จากน้ำในส้วม

     นอกจากเชื้อเพลิงและอาหารแล้ว น้ำเสียที่ได้จากการชำระชะล้างต่างๆ ไม่ว่าน้ำอาบ น้ำเครื่องซักผ้า ล้างจาน หรือแม้แต่จากชักโครก ท่อน้ำทิ้ง ทั้งหมดจะถูกนำมารวมกันอยู่ที่เดียวเพื่อผ่านการบำบัดน้ำเสีย ก็สามารถรีไซเคิลและนำมาผลิตเป็นน้ำดื่มหรือแม้แต่คราฟต์เบียร์ก็ได้เช่นกัน

     เหมือนเช่นที่บริษัท Half Moon Bay Brewing Company ผู้ผลิตคราฟต์เบียร์จากซานฟรานซิสโกได้ทดลองใช้นวัตกรรมรีไซเคิลน้ำแบบเดียวกับที่นักบินอวกาศจากองค์กรนาซ่าใช้ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศเป็นเวลานานผลิตเบียร์ IPA รุ่น Mavericks Tunnel Vision ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดยใช้น้ำที่ผ่านการรีไซเคิลแล้ว หรือจะเรียกว่า Greywater Beer (เบียร์จากน้ำสีเทาหรือเบียร์จากน้ำรีไซเคิล) ก็ได้ ซึ่งหลังจากผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วได้มีการนำมาให้กลุ่มผู้ร่วมทดสอบได้ทดลองชิมเปรียบเทียบกับเบียร์ตัวเดียวกันที่ใช้น้ำปกติด้วยการปิดตา ปรากฏว่าแทบแยกกันไม่ออก แต่ทั้งนี้เนื่องจากกฏหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ยังไม่อนุญาตให้มีการทำเครื่องดื่มจากน้ำรีไซเคิลมาขายได้โดยตรง ช่วงแรกจึงทำได้เพียงแค่การทำออกมาเป็นเบียร์ตัวอย่าง

     แต่จากนั้นไม่นานบริษัท Stone Brewing แห่งซานดิเอโก้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Half Moon Bay Brewing Company ก็ได้ทดลองผลิตภัณฑ์เบียร์จากน้ำรีไซเคิลออกมาอีกเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า "Full Circle Pale Ale" โดยว่ากันว่ารสชาติเยี่ยม นุ่มละมุน มีทั้งกลิ่นคาราเมล และกลิ่นผลไม้จากเขตร้อน ซึ่งจะทำผลิตออกสู่ท้องตลาดในอนาคตอย่างแน่นอน

     และนี่คือ ตัวอย่างของธุรกิจที่นำมาแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ของเสียที่ถูกทิ้งให้เปล่าประโยชน์ จริงๆ แล้วสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อไป ก็คือ การปรับทัศนคติของผู้คนให้เกิดการยอมรับ และเกิดความมั่นใจว่าเมื่อของเสียเหล่านั้นได้ผ่านกระบวนการต่างๆ มาแล้ว มันสามารถกินได้ ปลอดภัย อร่อย และคุ้มค่าจริงๆ

TEXT : กองบรรณาธิการ

ที่มา : https://www.digitaltrends.com/cool-tech/japanese-scientists-creates-meat-out-of-feces/

https://www.theguardian.com/sustainable-business/2016/mar/14/californian-craft-brewer-beer-recycled-water-environment

https://greennews.agency/?p=14926

https://www.euronews.com/next/2022/04/18/alternative-to-fossil-fuels-turning-human-waste-into-fuel-to-heat-homes-and-cook-food

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

HEH ร้านอาหารย่านภูเก็ต เชฟใช้เวลาในครัวให้เหมือนอยู่ในสนามแข่ง ไม่อยากเป็นแค่ Just Another Restaurant

“HEH (เห)” ร้านอาหารสไตล์  Australian Contemporary กลางเมืองภูเก็ต สร้างเมนูอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะไม่อยากเป็นเพียง แค่ร้านอาหารร้านหนึ่ง

จงปังนมสด ร้านดังแห่งสุราษฎร์ธานี แจ้งเกิดเพราะแบรนด์ดิ้ง และไอเดียทำคอนเทนต์จนเป็นไวรัล

"จงปังนมสด" ร้านดังเมืองสุราษฎร์ธานี ที่กำลังโด่งเป็นไวรัลขณะนี้ จากคลิปตัดต่อที่นำเสียงของเจ้าของเจ้าของร้านขนมปังชื่อดังย่านกทม. อย่าง "มนต์นมสด" มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจ