ทำธุรกิจใครก็อยากเติบโต แต่จะโตแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เหมือนกับ ศิรุวัฒน์ ชัชวาลย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหารตำมั่ว ที่เปิดเผยว่าการขยายกิจการสู่ผู้ผลิตเจ้าของแบรนด์น้ำปลาร้าตำมั่ว นั้นส่วนหนึ่งมาจากวิกฤตโควิดทำให้เขาได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนด้วยเช่นกัน
เมื่อมีตัวเร่งมาช่วยกระตุ้น แต่ผู้บริหาร ตำมั่ว” ร้านอาหารไทย - อีสาน เจ้าของสโลแกน “อาหารรสจัด ถนัดเรื่องตำ” ที่มีสาขามากถึง 120 สาขาทั่วประเทศ ก็ไม่ได้ผลีผลามแบบสุกเอาเผากิน เพราะเขาตระหนักดีว่า
“ผมอยากสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ค่อยๆ สร้างไป ไม่เน้นความหวือหวา แต่อยากให้เป็นความจำเป็นที่คนไทยขาดไม่ได้ เหมือนกับตำมั่วอยู่มากว่า 30 ปี”
ยกระดับน้ำปลาร้าสู่เครื่องปรุงคู่ครัวไทย
ต้องบอกว่าน้ำปลาร้าถือเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาโดยเฉพาะทางภาคอีสานของประเทศไทยที่ใช้น้ำปลาร้าเป็นเครื่องปรุงในครัว และเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่คนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลังเมื่อการขายของออนไลน์ได้รับความนิยมในบ้านเราและเหล่าศิลปินคนดังหรือยูทูบเบอร์ที่มีการรีวิวกินส้มตำน้ำปลาร้ายิ่งทำให้น้ำปลาร้าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กอปรกับช่วงโควิดที่ผ่านมาผู้บริโภคไม่สามารถมาทานอาหารที่ร้านได้หันมาทำอาหารทานเองที่บ้านมากขึ้น ทำให้ความต้องการน้ำปลาร้าในท้องตลาดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
“แต่ที่ผ่านมาน้ำปลาร้ามักถูกโจมดีในเรื่องความสะอาด น้ำปลาร้าก็คล้ายๆ น้ำปลาไปอยู่บ้านใครแล้วไม่ค่อยเปลี่ยนยี่ห้อ ถ้ารุ่นแม่ใช้แล้วก็มักใช้ไปจนถึงรุ่นลูกหรือรุ่นต่อๆ ไป เรื่องยากสุดคือ ทำอย่างไรให้ขวดแรกที่เขาซื้อไปได้มาตรฐานอย่างที่เขาต้องการ รสชาติมีความสม่ำเสมอ”
เพื่อให้ได้น้ำปลาร้าที่มีคุณภาพ บริษัทจึงเสริมจุดแข็งโดยได้เข้าไปลงทุนในโรงงานผลิตน้ำปลาร้าชื่อดังกว่า 20 ปีจากจังหวัดมหาสารคามคือ บริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ ถึง 51%
“ต้องบอกว่าเรามีประสบการณ์ขายส้มตำ 30 ปี มี 100 กว่าสาขาในทุกภูมิภาค เราเข้าอกเข้าใจคนกินดีว่าต้องการความสะอาดปลอดภัย ในการผลิตเราจึงใช้โรงงานที่ได้มาตรฐานส่งออก อาทิ มาตรฐาน GMP และ HACCP แล้วเรายังมีประสบการณ์ในการทำปลาร้า รู้แหล่งปลาชั้นดี ขั้นตอนวิธีการหมัก รสชาติหรือกลิ่นแบบไหนที่คนสะดวกใจที่จะทาน น้ำปลาร้าตำมั่วของเราผ่านการทดลองมามากมาย แม้แต่การหมักที่เคยคิดว่าถ้าหมักนานจะดีเหมือนไวน์ แต่จริงๆ มันมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของมันต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งปีได้ความนัว”
นอกจากการผลิตแล้ว บริษัทยังพร้อมรุกตลาดค้าปลีกด้วยการจับมือกับ Durbell บริษัทพันธมิตรที่เข้ามาช่วยกระจายสินค้าให้ครอบคลุมกว่า 30,000 ร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น
ศิรุวัฒน์ ยังทิ้งท้ายว่าตลาดน้ำปลาร้ายังโตได้อีกมาก มีร้านส้มตำเกิดขึ้นมากมายทั้งร้านเล็กร้านใหญ่ ดังนั้นน้ำปลาร้าก็ต้องเติบโตตาม ปัจจุบันทางบริษัทได้ผลิตน้ำปลาร้าตำมั่วออกมาทั้งหมด 4 สูตรคือสูตรดั้งเดิม เหมาะสำหรับทำแกงหรือน้ำพริก สูตรแม่น้อยสำหรับใช้ใส่ส้มตำ สูตรเข้มข้นและสูตรกัญชา
“ปีนี้น่าจะจบรายได้อยู่ที่ 200-300 ล้านบาทเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เราเพิ่งควบรวบกิจการกับโรงงานมาได้ปีเดียว แต่เราได้พาร์ตเนอร์ Durbell มาช่วยกระจายสินค้า ช่องทางจำหน่ายสินค้าเราเข้มแข็งมากขึ้น ลงไปถึงรากหญ้า ถือว่าโตเกินเป้าที่ตั้งไว้ แต่เรายังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น อยากให้ปลาร้าเราเข้าไปอยู่ในทุกครัวเรือน รวมทั้งเป็นสินค้าแบรนด์ไทยพร้อมส่งออกที่สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทย” ศิรุวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี