ฟังเรื่องเล่าเศรษฐกิจไทย จากเมนูฮอตข้าวเหนียวมะม่วง

 

 

     เรียกว่ากลายเป็นเมนูทอล์คออฟเดอะทาวน์ไปแล้ว สำหรับ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่ตอนนี้ไม่ว่าหน้าฟีดเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียไหนๆ ก็มีให้เห็นอยู่เต็มไปหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะจากกระแสของ "มิลลิ" แร็ปเปอร์สาวไทยที่กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์บนเวทีคอนเสิร์ต Coachella 2022 เท่านั้น แต่เพราะหน้าร้อนอย่างนี้ ก็คือ ฤดูความอร่อยของผลไม้ไทยและเหล่ามะม่วงที่ออกดอกออกผลเต็มต้นด้วยนั่นเอง จึงมีการดัดแปลงนำมาทำเมนูของหวานต่างๆ กินอร่อยในหน้าร้อนกันนั่นเอง

     ด้วยรสชาติหวานมันอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์นี้ จึงทำให้ไม่เพียงเป็นอาหารหวานที่โปรดปรานของคนไทย ในระดับโลกเองข้าวเหนียวมะม่วงยังติดอยู่ในลิสต์ 50 สุดยอดอาหารหวานอร่อยของโลกจากสำนักข่าว CNN ในปี 2561 อีกด้วย ซึ่งหากลองมองให้ดีๆ ในข้าวเหนียมมะม่วงหนึ่งจานจริงๆ แล้วมีเรื่องน่าสนใจของวัตถุดิบซ่อนเอาไว้อยู่มากมายที่ล้วนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วยกันทั้งนั้น วันนี้เพื่อให้การกินข้าวเหนียวมะม่วงของคุณดูพิเศษขึ้น ลองมาทำความรู้จักที่มาของวัตถุดิบต่างๆ ให้ดีขึ้นกันว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู

     ถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำคัญของเมนูข้าวเหนียวมะม่วงเลย โดยรู้กันดีว่าหากจะทำข้าวเหนียวมูนให้ออกมาเรียงเม็ดสวย ขาวใส ต้องใช้ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงูเท่านั้น ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงูนั้นไม่ได้มีเพาะปลูกอยู่ทั่วไป แต่เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมประจำภาคเหนือ มีปลูกกันมากโดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย โดยตัวข้าวเมล็ดจะเล็ก เรียวยาว นุ่ม วลานึ่งเสร็จแล้วจะเรียงเม็ดสวยขึ้นเงามันวาวสวยน่ารับประทาน แม้ทิ้งไว้ทั้งวันก็ไม่เละ ไม่ดำ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักให้ผลผลิตต่อรวงน้อย จึงนิยมนำมาใช้เฉพาะทำขนมหวาน หรือเมนูที่ต้องการใช้ข้าวเหนียวคุณภาพเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงูมีราคาสูงกว่าข้าวเหนียวในท้องตลาดทั่วไป โดยหากเป็นข้าวเหนียวทั่วไปราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 25 – 40 บาท แต่ถ้าเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงูราคาจะสูงกว่าถึงกิโลกรัมละ 30 – 70 บาท แต่หากมีการคัดเกรดและรับรองพิเศษมาจากแหล่งดังอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ราคาสูงถึงกิโลกรัมละร้อยกว่าบาทเลยก็มี

     ด้วยความที่เป็นพืชพื้นถิ่น ปัจจุบันจึงได้มีการส่งเสริมข้าวเหนียวเขี้ยวงูพันธุ์ 8974 จากศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ยกระดับเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของดี 1 ใน 6 รายการสินค้า GI ของจังหวัดเชียงรายไปแล้ว และด้วยเหตุนี้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจึงถูกขนานนามให้กลายเป็นราชาของข้าวเหนียวไปโดยปริยาย

     โดยหากลองมองดูการส่งออกข้าวเหนียวไทยในภาพรวมของตลาดต่างประเทศ พบกว่าปี 2564 มีการส่งออกที่ปริมาณ 150,570 ตัน มูลค่า 3,108.40 ล้านบาท และปี 2565 ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ มีปริมาณอยู่ที่ 29,312 ตัน มูลค่ารวม 594.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.98 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ มาเลเซีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, เมียนมา, ลาว, สิงคโปร์ เป็นต้น

มะม่วงอกร่อง – มะม่วงน้ำดอกไม้

      โดยมะม่วงที่นิยมนำมากินคู่กับข้าวเหนียวมูน หรือข้าวเหนียวมะม่วงนั้น จะมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ มะม่วงอกร่อง และมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยแต่เดิมที่นิยมนั้น คือ มะม่วงอกร่อง โดยจะให้รสชาติหวานฉ่ำ และหอม เป็นมะม่วงพันธุ์โบราณพื้นบ้านของไทยมานาน แต่หากินได้ยาก มีขายน้อย เพราะจะออกเพียงช่วงมีนาคม – เมษายนเท่านั้น

     ซึ่งต่อมามะม่วงที่มีการพัฒนาสายพันธุ์และนิยมนำมาใช้กินคู่กับข้าวเหนียวมูนเพิ่มขึ้นมา ก็คือ มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งเวลาสุกแล้วลูกจะสีเหลืองนวลสวยกว่า ไม่ดำ ตัวลูกก็โตกว่าและเนื้อเยอะ จึงเป็นที่นิยมนำมาขายมากกว่า แต่ถ้าถามถึงรสชาติมะม่วงน้ำดอกไม้จะมีรสเปรี้ยวอมหวานเพิ่มเข้ามาจะไม่หวานเจี๊ยบ และหอมเหมือนกับมะม่วงอกร่อง

     โดยหากพูดถึงภาพรวมของตลาดผลไม้ไทยแล้ว มะม่วง คือ ผลไม้ที่มีการส่งมากที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยในปี 2564 ไทยมีการส่งออกมะม่วงทุกประเภท ทั้งมะม่วงสด มะม่วงอบแห้ง มะม่วงแช่เย็น ประมาณ 149 ล้านตัน มูลค่ารวม 5,9977 ล้านบาท คิดเป็นค่าเฉลี่ย 5 ปี (ปี 2560 – 2564) ตกเฉลี่ยปีละ 4,500 ล้านบาทมากเป็นอันดับ 1 ของโลกนั่นเอง โดยแหล่งเพาะปลูกมะม่วงที่ใหญ่ที่สุดในไทยจะอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง อาทิ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ภ สุโขทัย กำแพงเพชร และนครสวรรค์

       

น้ำตาลทรายขาว

      น้ำตาลมีอยู่หลายประเภท แต่น้ำตาลที่นิยมนำมาใช้ทำข้าวเหนียวมูนเพื่อกินกับมะม่วง ก็คือ น้ำตาลทรายขาว เพื่อให้ได้ข้าวเหนียวมูนที่ขาวใสนั่นเอง โดยหากพูดถึงผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกในปี 2562 จะอยู่ที่ราว 179.7 ล้านตัน (น้ำตาลทรายดิบ) ผู้ผลิตรายใหญ่ คือ อินเดีย (19.1 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 (8.1 เปอร์เซ็นต์) แต่หากนับเป็นผู้ส่งออกบราซิล คือ ผู้ส่งออกอันดับ 1 (46.4 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณส่งออกน้ำตาลดิบโลก) และไทยอยู่ในอันดับ 2 (18.0 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณส่งออกน้ำตาลดิบโลก)

     แต่หากนับเฉพาะน้ำตาลทรายขาวแล้วละก็ ไทยจะมีสัดส่วนการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกทีเดียว โดยอยู่ที่ 20.4 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณส่งออกน้ำตาลทรายขาวทั่วโลก โดยส่งออกในปริมาณ 4 ล้านตัน ตลาดหลัก คือ กัมพูชา, ไต้หวัน และซูดาน ส่วนการบริโภคภายในประเทศในปีเดียวกันนั้นอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน หรือราว 19 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณจำหน่ายน้ำตาลของไทย

กะทิ

     นับเป็นอีกส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเพิ่มความหอมมันให้กับเมนูข้าวเหนียวมะม่วง โดยกะทิถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักของอาหารไทยทั้งหวานและคาวเลยทีเดียว โดยมะพร้าวที่นำมาทำกะทิจะเรียกว่ามะพร้าวแกง แหล่งเพาะปลูกมะพร้าวที่สำคัญของไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และชลบุรี โดยมีเนื้อที่เพาะปลูกในปี 2564 อยู่ราว 8 แสนไร่ ผลผลิตประมาณ 9 แสนตัน ราคาต่อผลเฉลี่ยอยู่ที่ 13 – 15 บาท ซึ่งด้วยลักษณะเฉพาะตัวที่มีไทยจึงมีมะพร้าวแกง GI เป็นของตัวเองด้วย โดยมีอยู่ 2 แหล่งสำคัญ คือ 1. มะพร้าวอินทรีย์เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยพื้นดินเป็นทรายระบายน้ำได้ดี กะทิของที่นี่จึงหวานหอมไร้กลิ่นหืน และมีโภชนการสูง ถึงขั้นเคยถูกและนำมาใช้ปรุงอาหารคาวหวานในงานประชุมอาเซียนปี 2562 มาแล้ว 2. มะพร้าวทับสะแก เนื้อมะพร้าวสีขาวหนา มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง กะทิจึงหอมมัน ถึงขั้นเคยมีคนบอกว่าถ้าจะทำข้าวเหนียวมูนให้อร่อยต้องกะทิมะพร้าวจากทับสะแกเท่านั้น

     โดยในตลาดโลกนั้นไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะพร้าวมากเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย โดยในปี 2563 ไทยส่งออกอยู่ที่สัดส่วน 27.65 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 186 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกรายใหญ่ คือ จีน, สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง. สิงคโปร์, ออสเตรเลีย ในขณะที่อินโดนีเซียมีสัดส่วนที่ 32.50 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 219 ล้านเหรียญสหรัฐ

     สำหรับการส่งออกกะทิของไทยนั้นในปี 2563 ไทยมีการส่งออกสินค้ากะทิสำเร็จรูปปริมาณ 271,711 ตัน คิดเป็นมูลค่า 428 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกกะทิสำเร็จรูปที่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย เป็นต้น แต่ถึงจะมีการส่งออก แต่ก็มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศด้วย โดยตลาดนำเข้ากะทิสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยในปี 2563 ได้แก่ เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยในปี 2563 ไทยนำเข้าสินค้ากะทิสำเร็จรูปปริมาณ 65,119ตัน คิดเป็นมูลค่า 93.86 ล้านเหรียญสหรัฐ

     ที่เล่าๆ มานี่เฉพาะมูลค่าจากวัตถุดิบหลักในแต่ละปีที่สามารถทำเงินให้กับเศรษฐกิจไทยได้นะ แต่ยิ่งมีกระแสส่งมาด้วยแบบนี้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะส่งผลเพิ่มขึ้นมากอีกเท่าไหร่ ยังไม่นับรวมการเติบโตในด้านอื่น เช่น บรรจุภัณฑ์ แม่ค้าขายข้าวเหนียว-มะม่วง ไปจนถึงการเติบโตของฟู้ดเดลิเวอรี รายได้ที่เพิ่มขึ้นของไรเดอร์ และอีกอื่นๆ อีกมากมาย นี่แค่กระแสเดียวนะ ลองคิดดูว่าถ้ามีอีกหลายกระแสช่วยๆ กัน ไม่รู้เศรษฐกิจเราจะดีมากขึ้นแค่ไหนเลย

 

เล่ากันว่าประวัติความเป็นมาของข้าวเหนียวมะม่วงนั้น อาจไม่ได้มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครหรือชาติใดเป็นผู้คิดค้นเมนูนี้ขึ้นมา แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการบันทึกของมิชชันนารีราวปี 2419 ที่มีการกล่าวถึงข้าวที่กินกับผลไม้ สำหรับในไทยนั้นว่ากันว่ามีการนิยมกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการพูดถึงในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน จากบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ถึง “ข้าวเหนียวใส่สีโศก” สันนิษฐานว่าหมายถึงข้าวเหนียวสีเขียวจากน้ำใบเตยคั้น ส่วนการกินข้าวเหนียวมูนกับมะม่วงสุกจริงๆ น่าจะเริ่มแพร่หลายในปลายสมัยรัชกาลที่ 5

TEXT : กองบรรณาธิการ

ที่มา :

https://www.mangozero.com/mango-with-stickyrice-mango-month/?fbclid=IwAR1gupshrmqb8TmDBVy313JoIqoqDGMk2uazGXmTjM9qruN_sG_xzr8NhYI

https://www.u-rice.com/rice-knowledge/glutinous-rice-kieaw-ngoo/?fbclid=IwAR3wGzt7R_qFuXo7cElDIToXBdF8n1H25Porlla-UAkJcUkp0dCFByW9JNw

https://plus.thairath.co.th/topic/money/101401

https://api.dtn.go.th/files/v3/60f7d503ef41404c21342ef0/download?fbclid=IwAR1iOWjLcw-r-KPzd9CBy7O9jEghF7BiUjzct1lPt-gG3nAcIIRz-6uVlTA

https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/agriculture/sugar/IO/io-sugar-21?fbclid=IwAR0Vs8Fam7kJL3dwoudYEojSAWusI4By0EubXtpuMkMcpmkx6kMr0w4gCMI

https://www.greenery.org/articles/g101-coconut-milk/?fbclid=IwAR0qWXisNBVmNopEv5vSGHyKzPSJPKh_MIjB6jjaZMeo1KVZzH_VMJ0iaV0

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น