หลายครั้งที่เรารับรู้ถึงการแสดงออกของความไม่พอใจในระบบการศึกษาไทย ทั้งในโลกโซเซียลและการบอกเล่าต่อๆ กันมา ประเด็นหนึ่งที่ไม่เคยตกจากการอภิปราย คือ การสอนให้จำมากกว่าให้คิด ซึ่งที่ โรงเรียนกาละพัฒน์ กำลังคิดสวนทางอยู่
“ที่นี่ เราให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าความรู้” ประโยคสรุปที่ ครูภา - กัญญารัตน์ เสนาวิจิตรกุล ครูใหญ่ของโรงเรียนกาละพัฒน์บอกผม
โรงเรียนกาละพัฒน์ จังหวัดภูเก็ต เปิดทำการเรียนการสอนมาครบ 11 ปี มีนักเรียนรุ่นปัจจุบันประมาณร้อยคนต้นๆ และจำกัดแค่ห้องละไม่เกิน 25 คน แยกเป็นชั้นอนุบาล 1 - 3 และประถมศึกษา 1 - 6 เท่านั้น
ครูภาเล่าว่าก่อนที่โรงเรียนจะเปิดที่นี่เป็นแค่ที่ดินเปล่าและทุกอย่างผุดขึ้นมาพร้อมกัน ทั้งอาคาร ครู พ่อแม่ และเด็กๆ มีผู้ร่วมอุดมการณ์ประมาณสิบกว่าครอบครัว เริ่มตั้งแต่การเทพื้น ปลูกต้นไม้ บนทางเดินที่นี่เด็กๆ ช่วยกันโยนก้อนหิน ทำพื้นที่ให้เป็นตะปุ่มตะป่ำ เป็นอุบายเพื่อให้ทุกคนค่อยๆ เดินให้ช้าลง เกิดความระมัดระวังมากขึ้นทุกย่างก้าวเวลาเดิน
จุดเด่นของการสอนที่นี่ คือ การสร้างพื้นที่ให้รู้สึกปลอดภัย อิสระ และได้รับความไว้วางใจจากครูและพ่อแม่ เมื่อได้รับความไว้วางใจ ก็จะตามมาด้วยความรับผิดชอบที่เกิดขึ้นเองด้วยความตระหนักรู้ในตัวตน แล้วเด็กจะมีความสุขและมีรู้สึกร่วมในการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ คุณครูจะมีกระบวนการสร้างฉันทะก่อนเรียน ทำให้นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ มีการชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมด้วยกัน พาเด็กลงพื้นที่ให้เห็นความจริง เอาปมปัญหามาสร้างให้เกิดนวัตกรรม ทำให้เด็กได้คิดต่อและเกิดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งแต่ละห้องมีเรื่องเรียนรู้แตกต่างกันออกไป ครูหาเนื้อหาที่เข้ากับช่วงวัยอิงกับแกนกลางของกระทรวง เชื่อมโยงกับบริบทของชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว แล้วออกแบบการเรียนรู้บูรณาการให้เข้ากับเนื้อเรื่อง เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากสิ่งที่ชอบและอยากเรียนจริงๆ ไม่ต้องมานั่งเปิดหนังสือตามครูสั่ง เพราะที่นี่ไม่มีแบบเรียน
ครูภาเล่าต่อถึงวิถีทางของนักเรียนกับการไปต่อ หลังจากจบประถมปลาย
“เราไม่มีการสอบ เด็กจะได้สอบจริงๆ ตอนไปเรียนต่อ ในการเตรียมตัวเด็กๆ เรามีกิจกรรมจิตศึกษาที่ช่วยบ่มเพาะเขาให้รู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่นและเข้าใจโลก ครูทำหน้าที่มอบโจทย์ให้เด็กได้ขบคิด หาทางพลิกมุมมองปัญหา เพื่อให้เกิดการสร้างกระบวนการค้นหาความรู้ มากกว่าการโยนความรู้ให้เด็ก เมื่ออยู่ประถมปลายเด็กๆ จะเริ่มมองตัวเองออกแล้วว่าตัวเองชอบอะไร มีเป้าหมายอะไร ระยะหนึ่ง ระยะสอง และต้องเตรียมตัวอย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้นเด็กๆ ต้องรู้จักรับมือกับความไม่สมหวังด้วย มีนักเรียนที่จบแล้ว สอบได้ที่เรียนต่อครบทุกคน ทั้งโรงเรียนระดับจังหวัด โรงเรียนเฉพาะทางตามความสนใจ และเด็กๆ ศิษย์เก่าย้อนกลับมาเล่าให้ฟังเสมอว่า สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเรียนแบบอื่นได้ เมื่อผ่านการเรียนที่นี่ไปแล้ว ที่อื่นก็ไม่ได้ยาก
“ที่กาละพัฒน์จะใช้ครูคนไทยในการสอนภาษาอังกฤษ เพราะเราต้องการครูที่มุ่งเน้นความสัมพันธ์เชิงบวกกับเด็กๆ เข้าใจธรรมชาติของเด็กที่นี่มากกว่า เราเชื่อเสมอว่าเมื่อรู้สึกปลอดภัย จึงไว้วางใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ เมื่ออ้างอิงจากผลการประเมินระดับชาติของโรงเรียน เมื่อผล O-NET ออกมาว่าพบว่านักเรียนบางคนได้ร้อยคะแนนเต็ม และอีกหลายๆ คนได้คะแนนที่สูงมากเช่นกัน นั่นแสดงให้เห็นว่า การเรียนด้วยความสุขทำให้ประสบความสำเร็จได้มากกว่า”
ในช่วงชีวิตของหลายคนคงเคยชินกับการต้องมานั่งทำข้อสอบเพื่อประเมินความรู้ที่ตัวเองมี ก่อนเลื่อนชั้นเรียน จำได้ไหมว่ารู้สึกตึงเครียดแค่ไหน เราต่างมองที่คะแนน คือ ตัววัดในพัฒนาการของผู้เรียน ในขณะที่โรงเรียนกาละพัฒน์ เอาห้องสอบไปวางไว้ในป่าแทน เอาผู้เรียนไปเผชิญกับความจริง แทนการนั่งกา ขีด เขียนในกระดาษคำตอบ
“การเดินทางไกลตามระดับของชั้น จึงเป็นการสอบปลายภาค ที่มีเป้าหมายเพื่อฝึกความอดทน กล้าเผชิญความกลัว ให้ปะทะกับความจริงว่าหิว เหนื่อย สูง ไกลเป็นอย่างไร ที่หาไม่ได้จากสังคมเมือง เมื่อเขาไปไม่ไหวแล้วจะมีอารมณ์แบบไหน แก้ไขปัญหาอย่างไร ให้ได้ไปต่อด้วยกันได้” ครูภาเล่าถึงข้อสอบที่ไม่ธรรมดาของโรงเรียน
ไม่กี่ชั่วโมงที่ใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน ได้คุยกับครูภา ฟังคำบอกเล่าของผู้ปกครองบางคน ผมเห็นด้วยกับวิธีการเรียนรู้แบบนี้ ได้รู้อีกด้วยว่าการรับเข้าเรียนที่นี่ ไม่จำเป็นต้องสอบคัดเลือก แค่มีทัศนคติที่ตรงกับปรัชญาของโรงเรียน ไม่เพียงแค่เด็กที่ต้องอยู่ร่วมกัน แต่ภาพบรรยากาศที่ผมเห็น ทั้งครูและผู้ปกครองต่างรู้สึกว่าทุกคน คือ ครอบครัวเดียวกัน
ถ้าเด็กเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ โรงเรียนคงไม่ต่างอะไรจากโรงเพาะชำ ไม่เพียงแค่ดูแล แต่ต้องบ่มเพาะให้พร้อมเจริญงอกงามต้นต่อต้นอย่างแตกต่างด้วยความเข้าใจ และกาละพัฒน์ คือ สถานที่หนึ่งที่ตอบโจทย์ได้ดี ตามความหมายของชื่อที่ว่า “เจริญงอกงามตามกาลเวลา”
PHOTO : วีรวัฒน์ งามเรียบ
ข้อมูลติดต่อ
https://www.facebook.com/KalapattanaSchool
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี