จากทีมแชมป์ประกวดแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยและเขียนแผนธุรกิจเมื่อ 15 ปีที่แล้ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัท Sellsuki (เซลสุกิ) ที่วันนี้มีรายได้หลักร้อยล้านบาท ปัจจัยอะไรที่ทำให้องค์กรของเขาเติบโตมาได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจและการแข่งขันที่หนักหน่วง
วันนี้สองผู้บริหาร Sellsuki (เซลสุกิ) ภัทร เถื่อนศิริ CEO และนันทวิทย์ จันทร์วาววาม CPO จะมาถ่ายทอดแนวคิดจากประสบการณ์ตรงที่ทำให้การบริหารองค์กรประสบความสำเร็จเพื่อเป็นประโยชน์กับ SME ได้นำไปปรับใช้
Starting Point
จุดเริ่มต้นของ Sellsuki (เซลสุกิ) ก็คงคล้ายกับ Startup หลายๆ บริษัทที่เริ่มจากไปประกวดแข่งขันจากเวทีประกวด Accelerators Program ต่างๆ จนประสบความสำเร็จกับโครงการ True Incube Batch 1 โดยใช้ไอเดียที่จะต่อยอดนำทักษะความเชี่ยวชาญด้าน Tech ไปผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญเรื่อง Business เพื่อเปิดบริษัทเทคโนโลยีสร้าง Platform ให้บริการลูกค้า
“ตอนนั้นคิดทำธุรกิจหลายอย่างมาก ตั้งแต่ทำเว็บขายเสื้อผ้าสามารถเลือกปกเสื้อเชิ้ตอัตโนมัติได้ รวมทั้งโปรเจ็กต์ทำแอปพลิเคชันสมุดนิทานขายบนระบบ IOS ซึ่งก็เฟลไป พอเฟลไปก็กลับมานั่งคิดกันว่าทำไมเราไม่ทำอะไรที่เกี่ยวกับการขายของออนไลน์เพื่อตอบรับกระแสทั้งในไทยและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีความต้องการซื้อขายของผ่านระบบแชท เกิดเป็นบริษัทเซลสุกิ ที่จะตอบโจทย์แชทคอมเมิร์ซให้ได้ 8 ปีที่แล้ว” นันทวิทย์ เล่าย้อนไปถึงที่มาของธุรกิจ
จากวันนั้นพวกเขาได้เรียนรู้อะไรมากมายที่หากถอดรหัสความสำเร็จของพวกเขาพอสรุปได้ดังนี้
1. Business Model ต้องชัด
ในการเริ่มต้นธุรกิจที่ดีคือ Business Model ต้องชัด หากสังเกตให้ดีหลายๆ ธุรกิจที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมักจะทำตามใจในสิ่งที่ตัวเองอยากทำหรืออยากได้ ผลิตสินค้าหรือบริการขึ้นมาโดยที่ยังไม่รู้ว่ามีกลุ่มลูกค้ามากน้อยแค่ไหน และกลุ่มลูกค้าชอบสินค้า/บริการหรือไม่ การเริ่มธุรกิจจาก Inside out อย่างเดียวคงไม่พอต้องคำนึงถึง Outside in ด้วย และการทำ business model ที่ดีง่ายๆ คือสามารถเริ่มต้นจากกระดาษเพียงแค่แผ่นเดียวก่อน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และโอกาสความสำเร็จก่อนที่จะลงมือทำเป็นธุรกิจจริงจัง
นอกจากนี้การทำ Business Model ไม่ควรทำแค่ตอนเริ่มต้นธุรกิจเท่านั้น ด้วยสถานการณ์หลายๆ อย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง ราคา ตลาด ฯลฯ จึงจำเป็นต้องนำเอาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มาอยู่ในสมการของ Business model ให้มากที่สุด เปรียบเสมือนการเช็กตัวเอง ป้องกันไม่ให้เกิดคำว่าสายไปแล้วเกิดขึ้นในการทำธุรกิจ
“3 ปีก่อนผมไปงาน LINE TV ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ปัจจุบันได้ปิดตัวไปแล้ว แสดงว่า Business model มันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ตัวผมเองก็ตระหนักว่าธุรกิจอาจจะต้องเจอ Disrupt ได้ตลอดเวลา ดังนั้นการทำ Business model ให้ชัดเจน จะช่วยลดความเสี่ยงได้หากต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงว่าทำแล้วจะรอดไหม เปรียบดั่งเราได้ทดลองแก้ไขปัญหาธุรกิจเหล่านั้นในจินตนาการก่อนหนึ่งครั้ง” ภัทร กล่าวสนับสนุน
2. Cost Structure
ลำดับต่อมาคือการทำ Cost Structure ให้ถูกต้อง การที่จะทำ Cost Structure ถูกต้องได้นั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรจะมีข้อมูลให้ได้มากที่สุด เช่น การแบ่ง Business Unit ในบริษัท Sellsuki (เซลสุกิ) จะแบ่งบัญชีออกเป็นตาม Business Unit เนื่องจากแต่ละหน่วยธุรกิจจะมีการทำธุรกิจและต้นทุนที่ไม่เหมือนกัน บางหน่วยธุรกิจอาจจะไม่มีต้นทุนทางตรงเลยต้นทุนส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนเงินเดือนพนักงาน กับอีกหน่วยธุรกิจที่ให้บริการการตลาดออนไลน์ก็จะมีต้นทุนทางตรงที่ต้องนำไปจ่ายบุคคลที่สามที่ค่อนข้างสูง และเมื่อเราแยกหน่วยธุรกิจได้ชัดเจนก็จะสามารถนิยามกลุ่มลูกค้าของหน่วยธุรกิจตัวเองได้ว่าเป็นใคร กลุ่มลูกค้าเหล่านี้มีจำนวนมากน้อยขนาดมากน้อยแค่ไหนในตลาด แล้วกลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังซื้อเท่าไหร่ คำนวณ เป็นต้นทุนต่อการได้มาลูกค้าหนึ่งรายได้อีกด้วย
3. Management
นันทวิทย์ อธิบายเพิ่มว่า เนื่องจากธุรกิจของ Sellsuki (เซลสุกิ) คือ เป็นผู้ช่วยธุรกิจออนไลน์ที่เน้นการบริการเป็นหลัก ดังนั้นการที่จะทำให้ลูกค้ามีความสุขพึงพอใจได้นั้นต้องอาศัยน้องๆ ทุกคนในองค์กร เพราะลำพังผู้บริหารคงไม่สามารถพูดคุยกับลูกค้าทุกคนได้ครบ
หนึ่งในวิธีบริหารจัดการองค์กรของ Sellsuki (เซลสุกิ) คือแนวคิด Ownership ให้พนักงานทุกคนมีความรู้สึกมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจมากที่สุด วิธีการคือ จะให้แต่ละแผนกได้มีอิสระในการบริหารแผนกให้เติบโตด้วยตัวเอง โดยหน้าที่ผู้บริหารคือ จัดการให้แต่ละแผนกแต่ละบ้านจัดการบ้านตัวเองได้ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดการตรงนี้มีประสิทธิภาพได้ต้องมีข้อมูลที่เปิดเผยให้แต่ละแผนกได้เห็นข้อมูลทั้งเรื่องการเงิน เรื่อง Human resource ในแผนกของตัวเอง หรือแม้แต่เทคโนโลยีที่จำเป็นที่จะช่วยให้การทำงานดีขึ้น
ในประเด็นนี้ ภัทร กล่าวเสริมว่า ทางบริษัทจึงพยายามทำทุกอย่างออกมาให้เป็นข้อมูลอย่างรวดเร็วที่สุด พยายามทำทุกอย่างให้เป็นดิจิทัล เช่น การออกออกใบเสนอราคา, Dashboard ข้อมูลการดำเนินงานของแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อที่จะให้แต่ละแผนกมองเห็นต้นทุนและรายได้ ทำทุกอย่างให้โปร่งใส่ตรวจสอบย้อนกลับถึงปัญหาได้
“ผมเชื่อว่า God is in the Details ถ้าเราทำงานละเอียดและหนักมากพอ นำมาประกอบกับข้อมูลที่เราได้รับรวดเร็วมากพอมันเป็น Key factor ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จและสามารถ Scale ขึ้นไปได้อีก”
Tips&Trick
วิธีทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของบริษัท
ในการที่จะทำให้พนักงานกว่า 90 คนมีความรู้สึกเป็น Ownership นั้นนันทวิทย์ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากไม่ใช่น้อย เพราะแต่ละคนมาจากแต่ละที่ ต่างความคิด บางคนมีความคิดเป็น Entrepreneur ในขณะที่บางคนอาจประสบการณ์ยังไม่พอ ในฐานะผู้บริหารต้องมองว่าแต่ละคนเหมาะกับอะไร สิ่งสำคัญคือ ต้องเปิดโอกาสให้เขาเติบโต พร้อมที่จะซัพพอร์ตทุกคนที่มีความพร้อม มีความสามารถ มีความรับผิดชอบ
4. กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง อย่ากลัวที่จะล้ม
หากลองพิจารณาถึงผู้ที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่รู้จักปรับตัวทั้งสิ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นันทวิทย์ จึงย้ำว่าการทำธุรกิจยุคนี้อย่าไปกลัวการเปลี่ยนแปลง
“มันอาจจะพูดง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยความกล้าใจสู้ และต้องมีความรับผิดชอบที่พร้อมจะพาทุกคนไปด้วยกัน แต่ในขณะเดียวกันความกล้าหาญต้องมาพร้อมกันเป็นทีม ไม่งั้นเหมือนคนๆ เดียวกำลังดึงเรือในน้ำเชี่ยว มันต้องลงจากเรือมาช่วยกันลาก คนที่เป็นผู้นำก็ต้องสัญญากับทุกคนว่าเราจะเปลี่ยน”
นันทวิทย์ ยกตัวอย่างว่าอย่างธุรกิจของเขา Sellsuki (เซลสุกิ) ก็ต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในช่วงเริ่มต้นที่ทำธุรกิจหลายธุรกิจก็ไม่ประสบความสำเร็จ
“เรารู้สึกว่าเราต้องล้มก่อน ไม่ได้อยากล้มนะ แต่รู้สีกว่าทำธุรกิจมันล้มได้ แต่ควรต้องล้มตอนไหน ถ้าเป็นช่วงที่อายุน้อยเราก็ยังไหวทั้งกำลังกายและกำลังใจ เพียงแต่ในการล้มแล้วต้องเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการทำธุรกิจ ก้าวต่อไปก็จะแม่นและง่ายขึ้น”
5. พัฒนาตลอดเวลา
กับช่วงเวลาที่ยังไม่ถึงสิบปีแต่ธุรกิจ Sellsuki (เซลสุกิ) สามารถเติบโตทำรายได้ร้อยล้านบาทแต่ผู้บริหารทั้งสองยังมองว่าพวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จ ในการทำธุรกิจยังมีเรื่องราวที่ต้องเรียนรู้อีกมากมาย
ในฝั่ง CEO อย่างภัทร แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ตัวเขาไม่เคยคิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว รู้สึกว่าตัวเองยังต้องไปต่อ โลกเปลี่ยนเร็วเราต้องไม่หยุดนิ่ง ยังมีความสนุกที่ได้เรียนรู้แล้วก็นำเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ช่วยเหลือลูกค้า สนับสนุนลูกค้า ถ้าลูกค้าประสบความสำเร็จเราก็ประสบความสำเร็จไปด้วยเช่นกัน
“เป้าหมายของตัวเองต้องการขับเคลื่อนธุรกิจ Sellsuki (เซลสุกิ) ไปให้ถึงพันล้านภายใน 3-5 ปีข้างหน้า”
ไม่ต่างจากนันทวิทย์ ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่งและประสบความสำเร็จ เพราะยังมีสิ่งที่ต้องทำต่ออีกมากมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ “PDPA” บังคับใช้จะวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคได้อย่างไร ก็ต้องศึกษาข้อมูลเรียนรู้เพิ่มในสิ่งที่ไม่รู้ นำไปประยุกต์ใช้ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับองค์กรและการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ
รวมทั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรต่อใน 4 area คือ 1. Sellsuki (เซลสุกิ) Services ที่ให้บริการสนับสนุนลูกค้าในการทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้น 2. Sellsuki (เซลสุกิ) Managements เช่น Order Management System, Warehouse Management, POS, Live Commerce ที่คอยช่วยอำนวยความสะดวกลูกค้าในการดำเนินธุรกิจออนไลน์ 3. Sellsuki (เซลสุกิ) Marketing Tools เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้การขายของออนไลน์ดีขึ้น และ 4. Sellsuki (เซลสุกิ) Solution เป็นศูนย์รวมของทั้งสินค้าและบริการของ Sellsuki (เซลสุกิ) ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์ลูกค้าในด้านความหวัง การต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยิ่งๆขึ้นไป
“ต้องเข้าใจสิ่งที่เราทำให้ลึกซึ้ง ผมเคย Thinking fast แล้วก็ลองผิดมาแล้วในช่วงวัยเยาว์แต่ปัจจุบันผมอายุ 37 ปีถ้าจะให้ล้มแบบเมื่อก่อน แต่ตอนนี้ก็อาจจะThinking slow ล้มแล้วลุก ดีกว่าเลิก”
ถ้าคุณไม่กลัวล้มและกล้าที่จะลุยต่อคุณสามารถที่จะมีโอกาสทำธุรกิจมีรายได้เป็นร้อยล้านเหมือนกับ Sellsuki (เซลสุกิ)
Text: Neung Cch.
Photo: เจษฏา ยอดสุรางค์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี