ช่างตัดเสื้อหัวใสเปลี่ยนขยะเป็นเงิน รับออกแบบชุดจับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่เจ้าสาวถึงวงการนางงาม

 

 

     หากพูดถึงเทรนด์แฟชั่นซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างต่อเนื่องไม่มีแผ่วก็เห็นจะต้องยกให้เป็นเทรนด์ของ Upcycling Fashion ซึ่งเป็นแนวคิดการดัดแปลงเสื้อผ้า สิ่งทอหรือกระทั่งวัสดุที่ไม่ใช้ได้แล้วให้กลายเป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ เทรนด์นี้มีมานานนับทศวรรษแล้ว และเพิ่งมีการขานรับในวงกว้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ล้วนดีไซน์เสื้อผ้าแนวนี้ออกสู่ตลาด         

     ไม่เฉพาะแบรนด์แฟชั่น แม้กระทั่งร้านตัดเสื้อร้านเล็ก ๆ นอกกรุงมะนิลา เมืองหลวงฟิลิปปินส์ยังไม่พลาดที่จะเกาะกระแสแฟชั่นรักษ์โลกกับเขาด้วย นอร่า เบียนจา ช่างตัดเสื้อวัย 51 ปีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าเมื่อ 7 ปีก่อน  ร้านของเธอซึ่งอยู่ในย่านเซนทา ห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันออก 15 กม.เริ่มให้บริการออกแบบและตัดเย็บชุดราตรีจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เรียกง่าย ๆ ว่า “ขยะ” นั่นเอง โดยวัสดุที่ว่าประกอบด้วยกระสอบข้าวสาร หนังสือพิมพ์ พลาสติกจากสิ่งต่าง ๆ เช่น ถุงพลาสติก และพลาสสติกกันกระแทก

     ชุดที่ตัดเย็บจากวัสดุเหลือใช้เหล่านี้เป็นชุดเดรสที่ลูกค้าสวมใส่เพื่อออกงาน อาทิ ชุดปาร์ตี้วันเกิด ชุดสวมใส่ไปงานแต่งงาน ชุดที่ใส่บนเวทีประกวดนางงาม ไปจนถึงชุดที่ใส่ในงานอีเวนต์ต่าง ๆ กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการจะเป็นสายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลาเลน อัลคาเดล ลูกค้าคนหนึ่งของนอร่าแสดงทัศนะว่าการนำวัสดุที่เหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย          

      ขณะที่นอร่าเองก็มองว่าการนำขยะมาดัดแปลงให้เป็นเสื้อผ้า นอกจากเป็นแฟชั่นเข้ากระแสยังประหยัดเงินอีกด้วย เธอเล่าว่าเคยมีลูกค้ามาสั่งตัดชุดเพื่อใส่ประกวดนางงาม เธอรู้สึกดีใจที่ลูกค้าชนะการประกวดแม้ว่าชุดที่สวมใส่จะเป็นชุดเรียบ ๆ ไม่หวือหวาก็ตาม สิ่งที่ช่างตัดเสื้อวัยกลางคนผู้นี้ใช้มีเพียงจักรเย็บผ้าแบบใช้เท้าถีบกับทักษะและความชำนาญในการออกแบบและตัดเย็บให้ออกมาตามที่ลูกค้าต้องการ

     นอร่าเล่าอีกว่าวัสดุที่นำมาตัดเย็บแล้วทำให้ชุดดูดีคือพลาสติกกันกระแทกทั้งสีขาวและสีดำ โดยมากสีขาวจะนำมาตัดเป็นชุดเจ้าสาว หรือชุดเจ้าหญิงในเทพนิยาย ชุดที่นอร่ารังสรรค์ สนนราคาจะอยู่ระหว่าง 30-50 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,000-1,600 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นราคาสมเหตุสมผลเพราะบางชุดมาพร้อมเครื่องประดับศีรษะด้วย

     อย่างไรก็ตาม ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของนอร่าพอสมควรเนื่องจากการประกวดเวทีต่าง ๆ รวมถึงการจัดแฟชั่นโชว์ หรืองานอีเวนต์ต้องหยุดชะงัก เธอได้แต่หวังว่าเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ หากมีโอกาสเธอก็อยากจะจัดงานแสดงแฟชั่นเสื้อผ้าจากวัสดุเหลือใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมอาชีพ

     ข้อมูลในหัวข้อ Our World in Data ประจำปี 2021 โดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุภูมิภาคเอเชียเป็นแหล่งผลิตขยะจำนวนมาก ประมาณ 80 เปอร์เซนต์ของพลาสติกในทะเลทั่วโลกมาจากแม่น้ำในเอเชีย เฉพาะฟิลิปปินส์ประเทศเดียว สร้างขยะในทะเลมากถึง 1 ใน 3 ของขยะ 80 เปอร์เซนต์ที่กล่าวมา 

     การตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกในอุตสาหกรรมแฟชั่นนั้นมีมาระยะหนึ่งแล้ว ผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่า fast fashion ซึ่งบ่มเพาะพฤติกรรมการบริโภครวดเร็ว เบื่อเร็ว เปลี่ยนง่าย ทิ้งเร็วเป็นแฟชั่นที่ทำร้ายโลก ข้อมูลระบุ ปี 2018 ร้อยละ 4 ของขยะทั่วโลกหรือราว 92 ล้านตันเป็นขยะที่มาจากอุตสาหกรรมแฟชั่น และเคยมีรายงานจนเป็นเรื่องอื้อฉาวว่าปี 2017 แบรนด์แฟชั่นหรูแบรนด์หนึ่งจากอังกฤษทำลายสต็อคเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกมูลค่า 36.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่แบรนด์รองเท้ากีฬาดังก็แอบทิ้งรองเท้าค้างสต็อกเช่นกัน รวมถึงแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นอีกรายที่เคยถูกกล่าวหาว่าเผาสินค้าตกทิ้งรุ่นปีละ 12 ตัน

     อย่างไรก็ดี หลังโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แบรนด์แฟชั่นเหล่านั้นก็เริ่มปรับนโยบายใหม่เพื่อลดขยะ และสร้างสรรค์แฟชั่นที่ยั่งยืนขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา ยกตัวอย่าง Burberry ที่ร่วมมือกับแบรนด์ Elvis & Kresse นำสินค้าเครื่องหนังตกรุ่น 120 ตันมาดัดแปลงจนกลายเป็นสินค้าใหม่  หรือไนกี้ที่จับมือกับ MINIWIZ บริษัทไต้หวันที่ขึ้นชื่อด้านการสร้างผลิตภัณฑ์จากขยะในการสร้างช้อป Nike Kicks Lounge ในไทเปด้วยสนีกเกอร์กว่า 250 คู่ และผนังจากขวดพลาสติกรีไซเคิล 12,000 ขวด

     การอิงกระแสแฟชั่นยั่งยืนอาจช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์แต่อย่าลืมว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีผลต่อผู้บริโภคเช่นกัน นิตยสารฟอร์บรายงานว่า 93 เปอร์เซนต์ของผู้บริโภคคาดหวังว่าบริษัทหรือแบรนด์ที่ตัวเองชื่นชอบจะสนับสนุนประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านนี้ การซื้อสินค้าแฟชั่น upcycled ทำให้พวกเขามั่นใจและรู้สึกดีในแง่ของการไม่สร้างขยะเพิ่ม ไม่เพิ่มภาระให้กับโลก การจับกระแสแฟชั่นยั่งยืนจึงตอบโจทย์และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกต่อแบรนด์ด้วย

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3170918/gowns-made-plastic-waste-newspapers-and-rice-sacks

https://miniwiz.medium.com/why-the-upcycling-fashion-industry-will-play-an-essential-role-in-the-future-of-fashion-71bb8ccc252d

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย