เหตุใดเส้นทางการเป็น ฟาร์มเลี้ยงหมึกยักษ์เชิงพาณิชย์รายแรกของโลก จากบริษัทสเปนจึงเจอกระแสต้าน

 

     การทำฟาร์มเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เลี้ยงหอย หรือสัตว์น้ำอื่น ๆ อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผ่านมา เคยมีใครได้ฟังหรือได้ยินเกี่ยวกับการทำฟาร์มเพาะปลาหมึก (ซึ่งไม่ใช่ปลา) หรือไม่ แน่นอนว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น เมื่อนูวา เปสคาโนวา บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสัญชาติสเปนประกาศทำฟาร์มเพาะหมึกสาย หรือหมึกยักษ์ (octopus) เชิงพาณิชย์เป็นรายแรกของโลก โดยจะเริ่มดำเนินการในปีหน้า ข่าวนี้ก็เรียกทั้งเสียงฮือฮาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเวลาเดียวกัน

     ทั้งนี้ นูวา เปสคาโนวาได้เตรียมการมาหลายปีกระทั่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เมืองกาลิเซียทางตะวันตกเฉลียงเหนือของสเปนก่อสร้างแล้วเสร็จด้วยเงินลงทุน 7.5 ล้านยูโร พบนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร และมีนักวิจัย 40 คนเริ่มประจำทำงาน นูวา เปสคาโนวา

    โรเบอร์โต้ โรเมโร่ ผู้อำนวยการฝ่ายเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของนูวา เปสคาโนวาเผยในส่วนของฟาร์มเพาะหมึกยักษ์ซึ่งมีขนาดใหญ่นั้น บริษัทได้ลงทุนแล้วมากกว่า 65 ล้านยูโร ฟาร์มตั้งอยู่ที่เกาะคานารี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินการในกลางปี 2022 นี้และคาดว่าจนถึงปี 2026 จะสามารถเพาะหมึกยักษ์ได้ราว 3,000 ตัน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ การยื่นขอใบอนุญาตดำเนินการยังไม่ได้รับการอนุมัติจากเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด   

     ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สเปนแข่งขันกับเม็กซิโก และญี่ปุ่นมาตลอดในเรื่องของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนก็จะกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเลยทีเดียว ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรกรรมสหประชาชาติระบุ ช่วงปี 2010-2019 ตลาดซื้อขายหมึกยักษ์ทั่วโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปอยู่ที่ 27,200 ล้านดอลลาร์ แต่ปริมาณหมึกยักษ์ที่จับได้เพิ่มขึ้นเพียง 9 เปอร์เซนต์คิดเป็นปริมาณ 380,000 ตันเท่านั้น

     คำถามคือ ไม่เคยมีการเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์มาก่อน แล้วทำไมถึงมีความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้น โดยทั่วไป หมึกยักษ์เป็นอาหารยอดนิยมในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน เม็กซิโก และเอเชีย แต่ช่วงหลังความต้องการหมึกยักษ์ในตลาดเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผู้คนในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่เคยลิ้มลองก็หันมาบริโภคหมึกยักษ์มากขึ้น ส่งผลให้มีการจับหมึกยักษ์มากกว่าเดิม และราคาหมึกยักษ์ก็สูงขึ้นด้วย โดยประเทศที่นำเข้าหรือบริโภคหมึกยักษ์มากสุดในโลกได้แก่ อิตาลี เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสเปน

    ด้วยราคาที่จูงใจ และศักยภาพของตลาดที่ขยายใหญ่ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมประมงสนใจแนวคิดทำฟาร์มเพาะหมึกยักษ์เชิงพาณิชย์ บรรดาบริษัทประมงทั่วโลกต่างพยายามศึกษาและทดลองด้านนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากอัตราการตายของหมึกสูงมาก ทั้งนี้ การนำหมึกยักษ์ในธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงทำให้เกิดปัญหาหมึกมีความก้าวร้าว ทำร้ายตัวเองจนหนวดขาด และกินหมึกที่เลี้ยงในบ่อเดียวกันเอง 

     นอกจากอุปสรรคในการเพาะเลี้ยง โครงการเพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ในมุมของนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักกิจกรรมพิทักษ์สิทธิสัตว์หมึกยักษ์เป็นสัตว์ฉลาด หลายการทดลองพิสูจน์ให้เห็นว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ชนิดนี้มีพฤติกรรมที่ซับซ้อน สามารถเรียนรู้ได้ไว มันมีเซลล์ประสาท 500 ล้านเซลล์ซึ่งทำให้ฉลาดพอ ๆ กับสุนัขหรือเด็กวัย 3 ขวบ ผลการศึกษาของสถาบัน London School of Economics and Political Science ชี้หมึกยักษ์เป็นสัตว์ที่มีความรู้สึก มันเจ็บปวด ตื่นเต้น เศร้า หรือมีความสุขได้

    การไม่สนับสนุนให้มีฟาร์มเพาะพันธุ์หมึกยักษ์เพราะมองว่าจะเป็นการทรมานสัตว์ หมึกยักษ์ไม่ชอบถูกกักขังเพราะธรรมชาติของมันเป็นสัตว์ที่มีความอยากรู้อยากเห็น และชอบอาศัยลำพัง การขังรวมกันมาก ๆ ในกระชังจะทำให้พวกมันกัดกินกันเอง หากดึงดันจะทำฟาร์มหมึกยักษ์ก็เท่ากับส่งเสริมการทารุณสัตว์ แต่จะมีการนำกฏหมายมาใช้เพื่อระงับโครงการฟาร์มหมึกหรือไม่นั้นยังก้ำกึ่งอยู่

     โดยทั่วไปสหภาพยุโรปมีกฎหมายที่คุ้มครองสวัสดิการสัตว์ในฟาร์มอย่างเข้มงวดอยู่แล้ว แต่กฎหมายที่ว่าไม่ครอบคลุมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าหมึกยักษ์แตกต่างจากสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังทั่วไป ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศรวมถึงอังกฤษได้พิจารณาให้หมึกยักษ์เป็น “สัตว์มีกระดูกสันหลังกิติมศักดิ์” และต้องปฏิบัติต่อพวกมันเยี่ยงสัตว์มีกระดูกสันหลังทั่วไปด้วย ยกตัวอย่าง หากต้องผ่าตัวมันเพื่อการทดลองใด ๆ ก็ต้องให้ยาสลบก่อนเพื่อที่มันจะได้ไม่ทรมาน

     ด้านเดวิด ชาวาร์เรียส ผู้อำนวยการศูนย์เพาะเลี้ยงหมึกยักษ์ของนูวา เปสคาโนวายังต้องศึกษาต่อไปเรื่องความเฉลียวฉลาดของหมึกยักษ์ จากที่ทางฟาร์มทดลองเลี้ยงโดยเจ้าหน้าที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดก็ยังไม่เจอปัญหาใด ๆ ตามที่กล่าวมา อย่างไรก็ดี นูวา เปสคาโนวาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับขนาดแทงค์ที่ใช้เลี้ยง ความหนาแน่นของหมึกยักษ์ที่อยู่ในแทงค์ อาหารที่ป้อนอ้างเป็นความลับทางการค้า  

     ดูเหมือนว่าเส้นทางสู่การเป็นรายแรกของโลกที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมึกยักษ์เชิงพาณิชย์จะไม่ราบรื่นนัก นอกจากกระแสคัดค้านจากนักวิชาการและนักกิจกรรมพิทักษ์สิทธิสัตว์ ยังมีเรื่องของกฏหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง มาลุ้นกันอีกทีว่าหน่วยงานท้องถิ่นบนเกาะคานารีของสเปนจะอนุมัติให้นูวา เปาคาโนวาดำเนินกิจการฟาร์มหมึกยักษ์หรือไม่ 

 

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

ข้อมูล

www.reuters.com/business/environment/worlds-first-octopus-farm-stirs-ethical-debate-2022-02-23/

www.sciencealert.com/world-s-first-commercial-octopus-farm-planned-for-2023-amid-soaring-seafood-demand

www.euronews.com/green/2022/02/24/an-environmental-disaster-europe-will-soon-be-home-to-the-world-s-first-octopus-farm

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย