ตรายาง 1 อัน ก็สร้างธุรกิจได้ เรื่องจริงนำมาใช้ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองได้

 

     คุณคิดว่าตรายาง 1 อันจะสามารถทำอะไรได้บ้าง?

     โดยในที่นี่จะขอเล่าจากประสบการณ์คนใกล้ชิดเป็นรุ่นน้องที่รู้จักให้ได้ฟังกัน โดยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนในเวลานี้ ในการนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าอย่างการใช้ตรายางปั๊มโลโก้แบรนด์เป็นต้น

     เรื่องมีอยู่ว่ารุ่นน้องคนดังกล่าวของผู้เขียนนั้นได้เปิดร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่งขึ้นมาบนแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของประเทศ

     โดยการเริ่มต้นธุรกิจนั้นเธอใช้ทุนจากเงินเดือนที่เหลือเก็บในแต่ละเดือนมาร่วมหุ้นลงขันกับเพื่อนอีก 2 คน และอาศัยวันหยุดช่วงปลายสัปดาห์ รวมถึงวันหยุดนักขัตกฤษ์ต่างๆ สลับกันกับหุ้นส่วนเพื่อผลัดกันเดินทางมาดูแลร้าน โดยต้องบอกก่อนว่า ณ ตอนนั้นแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวยังไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมาเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ จึงยังไม่จำเป็นต้องลาออกจากงาน เพื่อมาเปิดร้านทุกวัน

     จากเงินทุนที่มีอยู่ไม่มากนัก เธอและเพื่อนมีกฎร่วมกันอยู่ข้อหนึ่ง คือ “จะลงทุนซื้ออะไร ก็ต้องคุ้มค่าได้ประโยชน์หลายทาง” โดยเธอและเพื่อนได้สั่งทำตรายางโลโก้ร้านขึ้นมา 1 อันในราคาไม่กี่ร้อยบาท จากที่เห็นในตอนแรกผู้เขียนก็ไม่เข้าใจว่าแค่ตรายางจะเอามาทำอะไรได้บ้าง

     หลังจากมีโอกาสเหมาะได้แวะไปเยี่ยมเยียนกิจการของรุ่นน้อง เธอก็เสิร์ฟชาเย็นมาต้อนรับ ตัวแก้วที่ใช้นั้นเป็นแก้วกระดาษสีขาวโล่ง ไม่มีสกรีนลวดลายใดๆ และสวมด้วยปลอกกระดาษให้จับถนัดมือขึ้นอีกชั้นหนึ่ง โดยบนตัวของปลอกกระดาษนั้นมีโลโก้แบรนด์ร้านประทับอยู่ ละสายตามาที่กระดาษทิชชูที่ยกเสิร์ฟมาพร้อมกันก็มีโลโก้แบรนด์ประทับมาด้วยเหมือนกัน เช่นเดียวกับถาดกระดาษใส่ขนมปังปิ้งสีครีมที่ผู้เขียนสั่งมาเพิ่มก็มีโลโก้ปั๊มติดอยู่ด้านนอกเช่นกัน อย่างน้อยๆ นี่คือ  3 จุดแรกที่ทำให้ลูกค้าได้เห็นโลโก้แบรนด์แล้ว

     “ทำเอาง่ายๆ เลยพี่ ยังไม่มีเงินสั่งสกรีนแก้วเยอะๆ ก็ซื้อแก้วกระดาษเปล่าและปลอกกระดาษมาใช้ก่อน ซื้อทีละ 50 - 100 ใบ รวมแล้วตกไม่เกิน 3 บาท แถมดูดีด้วย” เธอพูดขึ้นมาในขณะที่เห็นผู้เขียนกำลังพิจารณาแก้วชา

     เมื่อนั่งดื่มน้ำเย็นๆ ได้สักพัก ผู้เขียนก็ลองเดินสำรวจรอบร้าน โดยนอกจากจะเปิดเป็นร้านกาแฟแล้ว รุ่นน้องของผู้เขียนยังทำของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ ขายด้วย เช่น โปสการ์ดทำมือ, สมุด, ถุงผ้า, พัดไม้ไผ่, หมวก, พวงกุญแจ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าทุกอย่างดูดีมีราคาขึ้นมาได้หมด เพียงแค่ประทับตราโลโก้ร้านลงไปเท่านั้น

     “นี่เอาไปปั๊มลงได้หมดทุกอย่างเลยเหรอ” ผู้เขียนถามออกไป

     “ใช่พี่ ตรายางสมัยนี้เอาไปปั๊มลงอะไรก็ได้ ไม่ใช่แค่กระดาษ เขามีหมึกพิเศษที่ทำออกมาปั๊มลงบนอะไรก็ติดทนแก้ว พลาสติก ไม้ เหล็ก ฯลฯ ได้หมด อาจจะแพงกว่าหมึกตรายางทั่วไป งานอาจไม่เนี้ยบเหมือนสั่งพิมพ์ แต่ก็ถือว่าไม่ขี้เหร่ อย่างน้อยๆ ดีกว่าปล่อยสินค้าให้โล่งๆ แต่พอติดแบรนด์ลงไปก็เป็นของฝากของที่ระลึกได้ด้วย เพิ่มมูลค่าเข้าไปอีก บางคนเขาซื้อเพราะมีโลโก้เราติดอยู่นะ” เธอกล่าว

     จากที่ได้ลองคุยรายละเอียดกับเธอเพิ่มเติม เธอเล่าว่าวิธีการนี้เหมาะสำหรับคนที่ยังมีทุนน้อย หรือยังไม่อยากลงทุนทำสินค้าคราวละเยอะๆ แต่อยากทดลองดูตลาดไปก่อน ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วยอย่างยิ่งโดยเฉพาะในสภาพเศรษฐกิจท่ามกลางโรคระบาดเช่นนี้ อะไรที่สามารถช่วยประหยัดต้นได้ หรือดัดแปลงนำสิ่งที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ก็น่าจะช่วยให้เรารอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้ โดยไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ตรายางอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งอื่นๆ รอบตัวเราด้วย

    ก่อนจากกันวันนั้น ผู้เขียนได้เขียนโปสการ์ดส่งให้ตัวเอง และไม่ลืมประทับตราชื่อร้านเก็บไว้เป็นความทรงจำด้วย

     น่าเสียดายที่ในครั้งนี้อาจไม่ได้นำรูปบรรยากาศร้านจริงมาลงให้ดูด้วย เพราะปัจจุบันเธอได้เลิกกิจการไปหลายปีแล้ว เนื่องจากแต่งงานมีครอบครัว แต่เธอก็บอกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้ลองทำธุรกิจด้วยตัวเอง และถ้ามีโอกาสเข้ามาอีกเธอจะลองทำมันขึ้นมาอีกครั้งแน่นอน

TEXT : Sir.Nim

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

The Bus Collective เปลี่ยนรถบัสเก่าเป็นโรงแรมสุดชิค ผสานดีไซน์ล้ำกับการท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างลงตัว

โมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนรถบัสปลดระวางให้กลายเป็น “ที่พักระดับพรีเมียม” โปรเจกต์นี้ไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าใหม่จากทรัพยากรที่หมดอายุการใช้งาน แต่ยังตอบโจทย์เทรนด์ การท่องเที่ยวยั่งยืนที่กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก

Reborn Studio ปลุกชีวิตขยะทะเล แจ้งเกิด “Grom” อาร์ตทอยฝีมือคนไทย

ความสวยงามของทะเลใครๆ ก็สามารถมองเห็นได้ แต่ จินต์ สถาพรสถิตย์สุข กลับมองเห็นปริมาณของขยะที่ถูกซัดขึ้นมาอยู่ที่ชายฝั่งมากขึ้นในทุกๆ ปี เขาจึงเกิดไอเดียจัดการขยะด้วยการรีไซเคิลเป็นน้อง “Grom” อาร์ตทอยจากขยะพลาสติก