ทำช่องยูทูบยังไงให้มีรายได้ 40 ล้านต่อปี คุยกับพี่หมีโซล่าร์เซลล์ ใช้ความรู้เป็นใบเบิกเงิน

Text: Neung Cch.

 

     ถ้าถามว่าอาชีพอะไรที่ทำรายได้ดีและเป็นอาชีพที่หมายปองคนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ยูทูบเบอร์คงเป็นตัวเลือกลำดับแรกๆ เพราะนอกจากรายได้ที่งดงามแล้วยังทำให้หลายคนได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักหรือมีความถนัดให้เป็นประโยชน์ เหมือนกับ พิสิษฐ์ ธรรมสิกขาลัย หรือที่พี่น้องชาวเกษตรกรเรียกกันติดปากว่า พี่หมีโซล่าร์เซลล์ ที่นำความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานเป็นใบเบิกทางสร้างรายได้กว่า 40 ล้านให้กับบริษัท AEC Export และเตรียมขยับเป็น 100 ล้านในอีก 3 ปีข้างหน้า

     ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อว่าเจ้าของช่องยูทูบ พี่หมีโซล่าร์เซลล์ คือ คนหนึ่งที่ไม่ได้สันทัดเรื่องสื่อโซเชียลมาก่อน แถมยังทำคอนเทนต์เชิงสาระให้ความรู้มากกว่าความบันเทิงที่ยากจะติดตลาด แต่เขากลับสามารถทำเงินได้ เขามีวิธีคิดอย่างไร SME Thailand Online จะพาไปล้วงความลับมาให้กับคนที่ต้องการทำยูทูบได้เป็นไอเดียกัน

 

ธุรกิจที่เริ่มจากการให้

     เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานสายอนุรักษ์พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมมาเป็น 10 ปี จึงอยากจะนำความรู้เรื่องการลดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะการใช้โซลาเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด มาช่วยลดเรื่องการปล่อยการเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงอยากจะนำความรู้ในเรื่องนี้มาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีหรือหลักการใช้ ทำให้เกิดเป็นที่มาของการทำยูทูบเพราะสามารถเล่าเรื่องได้ไม่จำกัด และทำให้คนเห็นภาพเข้าใจได้ง่าย

     เมื่อได้ช่องทางที่จะสื่อสารแล้ว พี่หมีบอกว่าขั้นตอนต่อไปของเขาคือ การเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะสื่อสารด้วย โดยเจตนาที่ทำช่องยูทูบขึ้นมาเพื่อกระจายความรู้ให้คนไทย และค่อยๆ โฟกัสไปที่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าเยอะ ซึ่งโดยทั่วไปถ้าพูดถึงผู้ที่ใช้ฟ้าเยอะมักนึกถึงกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม แต่พี่หมีบอกว่าจากประสบการณ์ของเขาในโรงงานส่วนใหญ่จะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องอนุรักษ์พลังงานประจำคอยให้ความรู้อยู่แล้ว

     ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่มีการใช้ไฟฟ้าเยอะคือ เกษตรกรเพราะประเทศไทยมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 138 ล้านไร่ ในการปลูกพืชผักผลไม้ล้วนต้องใช้น้ำ แต่ว่าพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่จะอยู่ลึกๆ เข้าไปจากถนนเส้นหลักจึงไม่มีไฟฟ้าใช้ๆ ทำให้เกษตรกรต้องใช้ปั๊มน้ำที่มาจากการปั่นไฟหรือน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นต้นทุนแพงแล้วยังทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

     ในขณะที่ถ้าเกษตรกรใช้ปั๊มน้ำมันโซล่าร์เซลล์ได้พลังานจากแสงอาทิตย์นอกจากจะช่วยลดต้นทุนและยังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ดังนั้นยูทูบช่องพี่หมีโซล่าร์เซลล์จึงโฟกัสคนดูไปที่กลุ่มเกษตรกร

     “วิธีการเข้าถึงกลุ่มเกษตร เราไปศึกษาต่อว่าเกษตกรอายุเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กแต่จะเป็นคนรุ่น Gen X อายุประมาณ 30- 60 ปี ภาษาที่ใช้ต้องไม่ใช่ศัพท์เทคนิคเกินไป ต้องเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เลือกทำสอนแบบง่ายๆ เป็นทฤษฏีพื้นฐาน ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจเป็นคอร์สสั้นๆ”

คลุกวงใน ใกล้เหมือนญาติ

     นอกจากคอนเทนต์ต้องทำให้เข้าใจง่ายๆ อีกวิธีที่จะทำให้ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของพี่หมีคือ การลงไปคลุกคลี ทำคลิปร่วมกับเกษตกร นอกจากจะได้ข้อมูลที่ลึกและตรงใจแล้ว ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ เมื่อคลิปออกอากาศแล้วเกษตรกรได้เห็นตัวเองในคลิปรู้สึกปลื้ม มีการแชร์ไปให้คนรู้จักทำให้เกิดเป็นกระแสปากต่อปากกระตุ้นให้คนดูยูทูปเยอะขึ้นโดยอัตโนมัติ

     “ระหว่างที่ลงไปพื้นที่มีเรื่องที่ประทับใจผมหลายอย่าง เช่น ไปถ่ายรายการที่สวนลุงปานแถวโคกหนองนาซึ่งไม่มีไฟฟ้า ผมก็ไปคุยกับสปอนเซอร์ออกแบบโซลาร์เซลล์เป็นแผงไฟเก็บแบตเตอรี่ เพื่อให้ลุงปานมีไฟฟ้าจะได้ใช้ตู้เย็น พัดลม พอถ่ายรายการเสร็จประมาณ 4 ทุ่ม ผมก็กลับไปนอนที่โรงแรมใจจังหวัดอุตรดิตถ์ ปรากฏว่าคืนนั้นมีพายุเข้าหอบบ้านลุงปานเหลือแต่เสา ลุงปานทักมา ผมก็รีบไปหาเขา ไปร่วมกับเพื่อนบ้านของลุงปานสร้างบ้านหล้งใหม่ขึ้นมา เขาก็ประทับใจเหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวเขาไม่ทิ้งเขาตอนมีทุกข์”

 

ให้ในสิ่งที่เกษตรอยากได้จริง

     จากประสบการณ์การทำรายการสามปีที่ผ่านมา พี่หมีย้ำว่าสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายของเขาชอบคือ ความรู้ที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย นำไปใช้ได้จริงแล้ว ยังไปช่วยเขาพัฒนาเขาด้วย

    “เวลาที่ผมนำความรู้เทคโนโลยีไปให้เขาจะเลือกเทคโนโลยีที่เขาสามารถเข้าใจทำได้ด้วยตัวเอง เพราะเคยทดลองให้ใช้ IoT เปิดปิดปั๊มน้ำผ่านมือถือ แต่พอสุดท้ายจริงๆ ในบางพื้นที่เกษตรกรไม่มี wifi หรือบางครั้งคุณลุงคุณป้าก็มีปัญหาเรื่องการ setup ทำให้เขาไม่อยากใช้ เราก็เหมือนต้องช่วยคิดว่าเขาเทคโนโลยีนี้เขาต้องการไหม บางอย่างเราต้องเลือกให้เขาว่าอันนี้ไม่จำเป็น เราก็เลือกที่จำเป็นง่ายๆ ให้เขาใช้ เวลาคิดงานให้เกษตรกรต้องคิดถึงขั้นตอนสุดท้าย เวลาเครื่องจักรสึกหรอต้องซ่อมอย่างไร ถ้าเทคโนโลยีเขาซ่อมไม่ได้ เราไม่เอา เลือกเทคโนโลยีที่เขาดูแลได้”

ยิ่งให้เหมือนยิ่งได้

     จากคลิปที่ให้ความรู้ที่เข้าใจได้ง่ายแล้ว ทำให้ผู้ติดตามเพิ่มเป็นหลักแสนแล้วยังทำให้ช่องยูทูปนี้เป็นช่องที่เกษตรกรได้สินค้าที่พวกเขาต้องการ

     “ตอนแรกทำเพื่อให้ความรู้เฉยๆ หลังๆ ก็มีเกษตรทักมาหาเราว่าอยากได้สินค้าประมาณนี้ เราก็ฟีดแบ็กจากเกษตรมาช่วยสปอนเซอร์พัฒนาโปรดักส์ที่เขาอยากได้จริงๆ ที่สำคัญสามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องจ้างช่างหรือวิศวกร จากนั้นก็เริ่มมีสปอนเซอร์ติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ รายได้ปีหนึ่งประมาณ 40 ล้านบาท ในปี 2565 ผมตั้งเป้าไว้ที่ 60 ล้านบาท และตั้งเป้า 100 ล้านใน 3 ปี”

ชัยชนะเกิดจากความกล้าที่จะเริ่มต้น

     กว่าสามปีที่ทำยูทูบจนมีแฟนคลับใช่ว่าเส้นทางจะราบเรียบ เพราะพี่หมีบอกว่าเขามีแต่ความรู้เรื่องพลังงาน แต่ไร้ประสบการณ์ทางด้านโซเชียลแต่ก็ทำให้ยอดคนติดตามจากหลักสิบเพิ่มเป็นหลักแสนได้

     “สิ่งแรกเราต้อง มีความตั้งใจ มุ่งมั่น เพราะว่า เป้าหมายเริ่มแรกเอาความรู้เรื่องประหยัดพลังงานไปให้เขา พอเรามีความตั้งใจ เจอปัญหาอะไรเราก็จะแก้ไขไปได้ เชื่อคำพูดอยู่คำหนึ่ง ชัยชนะทั้งหมดมาจากความกล้าที่จะเริ่มต้น” พี่หมีโซล่าร์เซลล์ กล่าวทิ้งท้าย                                                                                          

Tips การทำยูทูบให้สำเร็จ

  • สิ่งสำคัญต้องรู้ว่าทำคอนเทนต์ให้ใครดู
  • ถ้าจะทำคอนเทนต์สาย How to ต้องเน้นคอนเทนต์ที่คนดูได้ประโยชน์
  • ความสม่ำเสมอในการลงคลิปสำคัญมาก

 

ข้อมูลติดต่อ

Tel: 084 444 1494

Line: @AECbrand

Youtube: พี่หมีโซล่าร์เซลล์

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

พลิกตำรายา 150 ปี สู่อาณาจักรสุขภาพแห่งอนาคต ทายาทขุนอภิบาลบ่อพลับ ร่วมสร้างธุรกิจครอบครัว

เป้าหมายการทำธุรกิจของหลายคนอาจเป็นเรื่องรายได้ แต่สำหรับ ต๊อก-ปีรัชด์ อนันตพันธ์ และ แต๊ก-ปานชาติ มิตรกูล มีเป้าหมายสร้างแบรนด์ "อภิบาลบ่อพลับ" เพื่อให้ทุกคนได้ระลึกถึงตำรายาไทย 150 ปี จากบรรพบุรุษของเขาที่ชื่อ ขุนอภิบาลบ่อพลับ

tISI แบรนด์แฟชั่นย้อมสีธรรมชาติ ส่วนผสมลงตัวงานคราฟต์ไทยกับดีไซน์ร่วมสมัย ที่ฝันว่าวันหนึ่งจะไปตั้งขายอยู่กลางกรุงปารีส

ปัญหาหนึ่งของงานคราฟต์ไทย ที่ทำให้ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร แม้จะเป็นงานทรงคุณค่า ก็คือ ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงอยู่ในชีวิตประจำวันได้ แต่อาจไม่ใช่กับ tISI (ธิซายด์) แบรนด์แฟชั่นไทยน้องใหม่ที่มองว่าไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ หากสิ่งนั้นเป็นที่ต้องการอยู่แล้ว

สานต่อตำนาน 70 ปี ทายาทรุ่น 3 ปัดฝุ่น รร.แสงทองเฮอริเทจ สู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งนครพนม

เพราะความฝันที่จะสานต่อโรงแรมเก่าแก่ "แสงทอง" ที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น กรรณิการ์ หนูห่วง ทายาทรุ่นที่ 3 จึงตัดสินใจกลับ จ.นครพนม เพื่อหวังฟื้นฟูโรงแรมที่มีสถาปัตยกรรมโบราณให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว และโจทย์หินมากมาย