นักทัศนมาตร จุดขายใหม่ในธุรกิจวัดสายตาประกอบแว่น

TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

 

     สำหรับคนที่ใช้บริการร้านจำหน่ายแว่นมาตลอดและอย่างยาวนานคงจะพอเห็นวิวัฒนาการของการบริการจากแวดวงร้านแว่นตาที่มี “ช่างแว่นตา” เป็นผู้วัดสายตาและประกอบแว่นให้ ซึ่งช่างแว่นตาเหล่านี้อาจเป็นเฮียหรือซ้อเจ้าของร้าน หรือพนักงานในร้านก็ได้ แต่ช่วงหลัง เราเริ่มได้ยินคำว่า “นักทัศนมาตร” เข้ามาเกี่ยวข้อง และร้านจำหน่ายแว่นสายตาบางร้านเริ่มขึ้นป้าย “ตรวจวัดสายตาโดยนักทัศนมาตร”

      หลายคนอาจไม่เคยได้ยินคำนี้ นักทัศนมาตรคือใคร ล่าสุด ผู้เขียนได้ไปวัดสายตาเพื่อตัดเลนส์ใหม่ ให้บังเอิญได้เจอกับ “พงศธร สงเสนา” นักทัศนมาตรประจำร้าน Burgundy Dipper สาขาลาดพร้าวซอย 1 มาให้บริการ ความแตกต่างแรกที่ค้นพบเมื่อเทียบกับร้านทั่วไปคือในการวัดสายตาที่ใช้ทั้งระบบคอมพิวเตอร์ และแบบให้อ่านจากแผ่นชาร์ทวัดการอ่านนั้นยาวนานนับชั่วโมง เรียกว่าละเอียดยิบเพื่อให้เกิดความแม่นยำที่สุด เทียบกับการวัดสายตาครั้งที่ผ่าน ๆ มาที่ใช้เวลาน้อยกว่ามาก

     ระหว่างอยู่ในร้านก็ได้พูดคุยกับพงศธรเกี่ยวกับอาชีพนี้ เขาเล่าว่าสาขาทัศนมาตรศาสตร์ต้องเรียนนานถึง 6 ปี ในไทยมีสอนที่มหาวิทยาลัย 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งเป็นที่แรกที่เปิดสอนเมื่อ 20 ปีก่อน ตามด้วยมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวเขาเองจบจากนเรศวร

     พงศกรกล่าวว่านักทัศนมาตร หรือ optometrist ไม่ใช่แค่คนวัดสายตาแล้วตัดแว่น ปัจจุบันมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยราคาแพง คนทั่วไปที่รับการฝึกอบรมก็สามารถใช้เครื่องวัดสายตาและให้บริการได้ แต่คุณสมบัติของนักทัศนมาตรมีมากกว่านั้น กล่าวคือสามารถตรวจคัดกรองเบื้องต้น วินิจฉัยปัญหาสุขภาพสายตา ถ้าเป็นปัญหาสายตาก็สามารถจัดการแก้ไข โดยการใช้เลนส์สายตา คอนแทคเลนส์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหาสายตาได้เลย แต่ถ้าเป็นปัญหาโรคเกี่ยวกับดวงตาที่แก้ไขไม่ได้ด้วยแว่นสายตา ก็ส่งต่อให้จักษุแพทย์

     เรียกได้ว่านักทัศนมาตรจะทำงานร่วมกับจักษุแพทย์โดยเป็นด่านหน้าในเรื่องของ primary eyecare อย่างร้านที่ผู้เขียนไปใช้บริการจะมีเครื่องมือแพทย์ที่เรียกว่า slit lamp เป็นเครื่องตรวจสุขภาพตาสำหรับจักษุแพทย์และนักทัศนมาตรใช้งานเท่านั้น นักทัศนมาตรสามารถคัดกรองอาการต่าง ๆ เช่น โรคต้อทั้งหลาย อาการเยื่อบุตาอักเสบ หรือเบาหวานขึ้นตา แล้วแนะนำให้ลูกค้าพบจักษุแพทย์ และยังทำหน้าที่ฟืนฟูการมองเห็นหลังผ่านการรักษาจากแพทย์อีกด้วย

     ปัจจุบัน ในไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบแว่นสายตาตามมาตรฐานสากลที่กำหนดให้ต้องมีบุคลากรเฉพาะทางด้านสายตาเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทัศนมาตรเป็นผู้ควบคุมดูแล ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพระบุปัจจุบันจำนวนร้านแว่นตาในประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 5,000 ร้าน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 7,000-10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขที่แท้จริงมีมากกว่า 7,000 ร้าน

     ขณะที่ร้านแว่นตาที่มีนักทัศนมาตรประจำคอยให้บริการน้อยกว่า 1 เปอร์เซนต์ จำนวนนักทัศนมาตรที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะมีไม่ถึง 500 คน และจำนวนที่ผลิตได้ในแต่ละปีประมาณ 70-80 คนซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดเพราะโดยมากกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลและสถานพยาบาล

    มีข้อมูลว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างผลักดันกฎหมายที่กำหนดให้ร้านแว่นตาต้องมีนักทัศนมาตรประจำ ก็คงเหมือนช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่บังคับให้ร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำร้าน จึงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ยากว่าในอนาคตหนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการมากที่สุดคืออาชีพนักทัศนมาตรนี่เอง

     สำหรับลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งมีพฤติกรรมใช้สายตาหน้าจอมือถือ หน้าคอมพิวเตอร์มากขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตา หรือแม้กระทั่งคนรุ่นเก่าที่คุ้นชินกับร้านแว่นตาแบบดั้งเดิม การใช้บริการจากนักทัศนมาตรจึงถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ไม่ใช่แค่วัดสายตาและประกอบแว่นแต่ยังรวมไปถึงการได้รับการดูแล การแนะนำที่น่าเชื่อถือจากมืออาชีพด้านสุขภาพตาด้วย

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

ปณิธาน มีไชยโย กับภารกิจปั้นเกษตรไทยให้คนทั้งโลกจดจำ จากตลาดท้องถิ่น สู่ชั้นพรีเมียมโลก

วันนี้ อ.ต.ก. กำลังเปลี่ยนบทบาทครั้งใหญ่ ไม่ใช่แค่ “จัดตลาด” แต่กลายเป็น “นักการตลาดระดับประเทศ” ที่ช่วยให้เกษตรกรไทยปั้นแบรนด์ เจาะตลาดพรีเมียม และพาของไทยไปยืนเคียงสินค้าระดับโลก      

Pennii Premium Popcorn   พลิกโฉมขนมขบเคี้ยว สู่ป๊อปคอร์นเพื่อสุขภาพ ด้วยนวัตกรรมระดับโลก

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ภายในครัวของคุณแม่ที่รักการทำอาหารอย่าง “หญิง-พรพิมล ปักเข็ม” สู่แบรนด์ Pennii Premium Popcorn ป๊อปคอร์นพรีเมียมเพื่อสุขภาพ ที่จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศ

เจนสอง 'สหไทย' พลิกห้างที่ถูกลืม สู่ค้าปลีกยุคใหม่ด้วยดิจิทัล

จาก “ห้างที่ไม่มีใครเหลียวมอง” สู่จุดเปลี่ยนที่ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นกลับมายืนได้อีกครั้ง สศิษฏ์ ปัญจคุณาธร ทายาทรุ่นที่สองของสหไทย พลิกภาพห้างที่เคยถูกลืมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วย 5 กลยุทธ์ที่ทำให้มีมากกว่า 100 ร้านค้าติดต่อเข้ามาให้เลือก