งานนี้ไม่ได้มีแต่โชคร้าย รวมธุรกิจได้ดี เพราะโควิด

TEXT : กองบรรณาธิการ

              

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิดได้สร้างบาดแผลและรอยช้ำให้กับหลายธุรกิจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตดังกล่าวก็กลับสร้างลู่ทางรายได้ใหม่ๆ ให้กับธุรกิจเช่นกัน ไปจนถึงการเริ่มต้นธุรกิจใหม่จากชีวิตวิถีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ใช้เวลาว่างจากการ Work From Home ทำงานอยู่บ้าน หรือความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้ามาสร้างโอกาสให้ธุรกิจใหม่ ธุรกิจไหนได้อะไรจากวิกฤตโควิดบ้าง ลองไปดูกัน

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7155.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “OverBrew Specialty Coffee” ร้านกาแฟสเปเชียลตี้เล็กๆ ในจังหวัดนครสวรรค์

วิกฤติธุรกิจ : รายได้ที่ร้านตกฮวบ และเป็นโรงคั่วเองต้องหาวิธีระบายเมล็ดกาแฟออกไป

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : Cold Brew Bucket ชุดทำกาแฟสกัดเย็น

     จากการต้องหาหนทางระบายเมล็ดกาแฟที่คั่วอยู่ในมือออกไป แต่วิธีการ คือ ต้องตอบโจทย์ตลาด และยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน จึงทำให้ ศิวะ ศรีวิชัย ต้องคิดหาทางออกให้กับธุรกิจ จนมานึกถึง “Cold Brew Bucket” ชุดทำกาแฟสกัดเย็น เพื่อช่วยตอบโจทย์ลูกค้าให้สามารถชงกาแฟกินเองที่บ้านได้ง่ายๆ ทำครั้งหนึ่งเก็บไว้กินได้หลายวันในคอนเซปต์ Brew From Home ซึ่งปกติในท้องตลาดจะมีเพียงไซส์เล็ก 1 ลิตร หรือไม่ก็ไซส์ใหญ่ 10-20 ลิตร ไปเลย เขาจึงคิดทำไซส์กลางออกมาความจุ 3 ลิตร โดยนำเข้าอะไหล่และนำมาประกอบดัดแปลงด้วยตนเอง ทำให้ราคาถูกกว่านำตัวเครื่องเข้ามาเลย จนปัจจุบันในวิกฤตที่ยังไม่ผ่านพ้นได้กลายเป็นรายได้หลักของธุรกิจไปแล้วก็ว่าได้

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7130.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “Le Pes Villas Resort Khanom” รีสอร์ตในอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

วิกฤติธุรกิจ : ห้องพักกว่า 39 ห้องต้องปิดว่าง รายได้เท่ากับศูนย์

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : Le Pes Kitchen แบรนด์อาหารปักษ์ใต้สำเร็จรูป

     จากรายได้ที่แทบจะเป็นศูนย์ แต่มีพนักงานให้ต้องดูแลกว่า 22 ชีวิต ทำให้ พัชรนันท์ เลิศพัชรีไชย ต้องหาวิธีสร้างรายได้เพื่อพยุงธุรกิจให้รอด ด้วยความที่ครอบครัวมีฝีมือในการทำอาหารปักษ์ใต้บวกกับมีธุรกิจแพปลาเป็นของตัวเอง ทำให้ได้วัตถุดิบสดใหม่ จึงกู้วิกฤตโดยการเปลี่ยนรีสอร์ตให้กลายเป็นครัวอาหารปักษ์ใต้รสเด็ดส่งขายผ่านช่องทางออนไลน์ไปทั่วประเทศภายใต้ชื่อแบรนด์ “Le Pes Kitchen” และสร้างตัวเองให้เป็นที่รู้จักขึ้นมาบนโลกโซเชียลด้วยการทำคลิปวิดีโอขึ้นมาหนึ่งตัว โดยหลงจากเผยแพร่ออกไปเพียง 4 สัปดาห์ ทำให้มีคนเข้าไปกดดูมากกว่า 1.2 ล้านคน จากรายได้ที่คิดว่าขอแค่พยุงให้ผ่านพ้นไปได้กลับกลายเป็นขายดี จนต้องให้พนักงานทำโอทีเพิ่ม แถมยังสร้างชื่อเสียงกลับมาให้รีสอร์ตเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วย

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7102.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : Fun Café Bangkok คาเฟ่สีขาวสะอาดตา ย่านบางรัก

วิกฤติธุรกิจ : ลูกค้าต่างชาติหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ นักท่องเที่ยวไทยยังไม่กล้ากลับมาใช้บริการเหมือนเก่า

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : ไอเดียคาเฟ่ในรูปแบบห้องพัก

     จากรายได้ลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของโฮลเทล เหลือเพียงคาเฟ่เล็กๆ ที่เปิดอยู่ด้านล่าง ซึ่งมีเมนูซิกเนเจอร์อันโด่งดังอย่าง “Fun Signature Canvas Cake” ที่ให้ลูกค้าสามารถแต่งหน้าเค้กเองได้ต่อยอด ทำให้ ฤทธิชัย พินิจวิชา คิดดัดแปลงห้องพักที่มีอยู่ในส่วนของโฮสเทลมาเปิดเป็นที่นั่งคาเฟ่แบบไพรเวท ซึ่งนอกจากจะสร้างความมั่นใจและปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการแล้ว ยังสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้อารมณ์ห้องพักโฮลเทลที่สามารถนอนเกลือกกลิ้งถ่ายรูปเล่นได้ โดยคิดค่าบริการห้องละ 600 บาท/ 2 คน มีเวลาให้นั่งเล่นได้ 1 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งค่าห้องสามารถนำมาใช้เป็น Voucher แลกอาหารเครื่องดื่มได้เช่นกัน ทำให้จากห้องพักที่เคยว่างก็กลับขายได้ แถมมีลูกค้ารอต่อคิวเข้าใช้บริการจำนวนมาก

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7169.html

ชื่อ - ลักษณะธุรกิจ : “Sawadee”  อโรม่าบาล์มโฉมใหม่ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ สดชื่นแบบไทย

โอกาส : เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นมา โดยใช้เวลาว่างจากการ Work From Home ที่ต้องทำงานอยู่กับบ้านคิดพัฒนาสูตรบาล์มของตัวเองขึ้นมา ในรูปแบบของอโรม่าบาล์มโฉมใหม่ที่ไม่ฉุนรุนแรงเหมือนยานวดรุ่นเก่า โดยแรกๆ ทำขึ้นมาเพื่อช่วยเรื่องการนอนหลับให้กับคุณแม่จากสุคนธบำบัด (การบำบัดด้วยกลิ่น) เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย หลังจากทำใช้เองจนเป็นที่ถูกอกถูกใจทุกคนในบ้าน จึงพัฒนาต่อยอดเพื่อจำหน่าย สร้างแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองขึ้นมา จากแค่ในเมืองไทย ก็เริ่มเตรียมลู่ทางบุกตลาดต่างประเทศไว้แล้วด้วย

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7461.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “Sticky” ร้านลูกอมแฮนด์เมดในออสเตรเลีย

วิกฤติธุรกิจ : ขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เป็นลูกค้าหลัก ยอดขายในเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับศูนย์

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : ช่องทางการทำตลาดแบบใหม่ผ่านการไลฟ์สด ทำให้ยอดขายพุ่งกว่า 230 เปอร์เซ็นต์

     “Sticky” ร้านลูกอมแฮนด์เมดในออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก แต่เมื่อเจอวิกฤตโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก รายได้ในเดือนมีนาคม 2563 เท่ากับศูนย์ จนเกือบต้องปิดร้านในอีก 28 วันข้างหน้า แต่สุดท้ายก็พบทางสว่างที่ปลายอุโมงค์ โดยใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียไลฟ์สดภาพกระบวนการทำที่น่าตื่นตาตื่นใจ ทำให้มีลูกค้าแห่มาติดตามจำนวนมาก ผ่านไปเพียง 2 เดือนมีคนมาดูไลฟ์มากถึง 20,000 คน และมียอดเข้าชมวิดีโออีกหลายแสนครั้ง ผลประกอบการประจำปีเพิ่มขึ้น 230 เปอร์เซ็นต์

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7041.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “ข้าวขาหมู พ.4” ร้านข้าวขาหมูในตำนานย่านดินแดง ที่เสิร์ฟความอร่อยมานานกว่า 40 ปี

วิกฤติธุรกิจ : ลูกค้าหายไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะรายได้หลักมาจากการกินที่ร้านถึงครึ่งหนึ่ง

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : “ขาหมูสู้ Covid” ขาหมูสำเร็จรูปที่สามารถเก็บได้นานโดยรสชาติไม่เปลี่ยน

     จากปัญหารายได้ที่ลูกค้าหายไปเกินครึ่ง เพราะไม่สามารถเปิดให้นั่งรับประทานที่ร้านได้ ทำให้ กรพล แก้วกรรณิพากร ทายาทรุ่นที่ 2 ต้องคิดหาวิธีช่วยธุรกิจของครอบครัวเพื่อเพิ่มยอดขายจากรายได้ที่หายไป เมื่อนั่งรับประทานที่ร้านไม่ได้ในที่สุดเขาก็คิดค้นชุด “ขาหมูสู้ Covid” ขาหมูพร้อมรับประทานที่สามารถเก็บได้นานโดยรสชาติไม่เปลี่ยน ซึ่งทำจาก “เครื่องซูวี” (Sous-Vide) หรือเครื่องทำอาหารภายใต้สุญญากาศ โดยการควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้คงที่ตามที่กำหนด จนในโควิดระลอก 3 ที่ผ่านมาจึงพัฒนาเมนูใหม่ขึ้นมา คือ ข้าวมันไก่สมุนไพร ออกมาเพิ่มเติม จนทุกวันนี้กลายเป็นการแตกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มรายได้ขึ้นมาให้ธุรกิจอีกทาง

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7033.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “ไชน่าทาวน์” โรงแรมในตึกเก่าแก่ที่อยู่คู่เยาวราชมากว่า 100 ปี

วิกฤติธุรกิจ : ขาดรายได้จากแขกผู้เข้าพัก ซึ่งส่วนใหญ่ คือ นักท่องเที่ยวชาวจีน

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : บริการเดลิเวอรีที่รวบรวมของอร่อยจากเยาวราชมารวมไว้ในที่เดียว

     จากรายได้ห้องพักที่หดหาย จึงทำให้ นวลหง อภิธนาคุณ กรรมการผู้จัดการ โรงแรมไชน่าทาวน์ คิดหาทางออกให้กับธุรกิจ ด้วยการพลิกวิธีหาเงินจากธุรกิจอาหาร โดยรวบรวมอาหารอร่อยจากร้านดังในย่านเยาวราชมาเสิร์ฟให้กับลูกค้าแบบเดลิเวอรีที่โรงแรม เช่น เซตมิชลิน รวมเมนูเยาวราชที่ได้รางวัลมิชลิน พร้อมขนชุดจีนที่สะสมไว้มาให้เช่าถ่ายรูปชิคๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า เกิดเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ที่ใครๆ ก็รอต่อคิว จนธุรกิจสามารถอยู่รอดได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ต้องเผชิญโควิดอีกหลายระลอก

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/6682.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “Hug” (ฮัก) แบรนด์สินค้าสุขภาพเล็กๆ วางจำหน่ายในร้านสุขภาพชื่อดังในห้างสรรพสินค้า โรงแรม รีสอร์ตต่างๆ และช่องทางออนไลน์

โอกาส : เจลแอลกอฮฮล์จากวัตถุดิบธรรมชาติ

     เป็นการสร้างโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคต่างต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสเปรย์หรือเจลแอลกอฮฮล์เพื่อฆ่าเชื้อโรค แต่จากส่วนใหญ่ที่มีในท้องตลาด คือ จะมีส่วนผสมของสารเคมีเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้ ภมรรัตน์ พรรณรัตนพงศ์ ผู้ก่อตั้ง ได้คิดค้นเจลแอลกอฮอล์ธรรมชาติจากอ้อยออร์แกนิกขึ้นมา ซึ่งมีความเข้มข้นเหมาะสมกับการทำความสะอาด ช่วยฆ่าเชื้อและบำรุงผิวไปในตัว มีกลิ่นหอมจาก Essential Oil  ธรรมชาติ ไม่เหนียวเหนอะหนะ อ่อนโยนต่อผิวเด็กและคนที่แพ้ง่าย จนกลายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/6817.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “อารีฟู้ดส์” แบรนด์อาหารแช่แข็งพร้อมอุ่นขายทั้งคาวและหวาน ส่งให้กับครัวร้อนในซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

วิกฤติธุรกิจ : รายได้ลดลงจากปิดตัวของห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ การจะซื้อกับข้าวหรืออาหารแบบตักร้อนในถาดรวมใหญ่ก็ลดลง จนนำมาสู่รายได้ที่ลดลงอย่างมาก ขณะที่รายจ่ายไม่ได้หดหายตามไปด้วย

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : การผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ป้อนแม็คโคร และสร้างแบรนด์ “เฮง เฮง เฮง”  สินค้าช่วงตรุษจีน

     จากปิดตัวของห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ รวมถึงการซื้อกับข้าวหรืออาหารแบบตักร้อนในถาดรวมใหญ่ก็ลดลง ทำให้ จุไรรัตน์ รามจาตุ กรรมการผู้จัดการ ต้องคิดหาทางออกให้ธุรกิจด้วยการปรับสายพานการผลิตสู่อาหารแช่แข็งพร้อมทานมากขึ้น เพราะอายุของอาหารเก็บได้นานกว่า พร้อมเริ่มผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ส่งขายให้กับห้างแม็คโคร ตั้งแต่เมื่อกลางปี 2563 ล่าสุดต้นปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวแบรนด์ “เฮง เฮง เฮง” สินค้าช่วงตรุษจีนมีทั้งไก่ไทยต้ม, เป็ดพะโล้, หมูสามชั้นพะโล้ ฯลฯ ทำให้เครื่องจักร 6 ไลน์ผลิตในโรงงานกลับมาทำงานได้คึกคักอีกครั้ง

https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/6186.html

ชื่อ- ลักษณะธุรกิจ : “All About You” ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สกินแคร์และเครื่องสำอางออร์แกนิกชั้นดีจากทุกมุมโลก

วิกฤติธุรกิจ : หน้าร้านสาขากว่า 30 แห่งที่อยู่ในห้องต้องปิดตัวลง

สิ่งใหม่ที่ค้นพบ : ค้นพบช่องทางการตลาดใหม่จากออนไลน์ เปลี่ยนทรัพยากรบุคคลจากหน้าร้านมุ่งสู่ออนไลน์

     เพื่อแก้ปัญหาจากหน้าร้านสาขากว่า 30 แห่งที่ต้องปิดตัวลง เพราะห้างสรรพสินค้าไม่สามารถเปิดได้ ทำให้ กฤษฎิ์พนธ์ เมฆภานุวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของแบรนด์ ต้องหันมาบุกช่องทางออนไลน์จริงจังมากขึ้นในทุกช่องทาง ไม่ว่าโซเชียลมีเดียหรือมาร์เก็ตเพลส โดยเปลี่ยนพนักงานหน้าร้านที่ปิดไปให้รับบทบาทเป็น Call Center ทำหน้าที่โทรหาลูกค้าที่เป็นสมาชิก All About You ซึ่งอยู่ในฐานข้อมูล โดยดูว่าลูกค้าคนไหนขาดสินค้าอะไร แล้วทำโปรโมชั่นเข้าไปนำเสนอด้วยความสุภาพ ไม่ยัดเยียด ส่วนพนักงานแบ็กออฟฟิศก็มาช่วยแพ็กสินค้า เพื่อให้สามารถส่งของถึงลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งวิธีเหล่านี้ก็ทำให้ยอดขายที่เคยหยุดนิ่งค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมาได้ และช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

กว่าจะเป็น สุขกับป๊อกกี้ ร้านลับ ชื่อเท่ เมืองสัตหีบ ที่ใครมาก็ต้องได้ความสุขกลับไป

“สุขกับป๊อกกี้” คาเฟ่ & ร้านอาหารชื่อแปลกหู อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่แค่ฟังก็รู้ว่าต้องเป็นพื้นที่แห่งความสุข

บ้านอยู่ดีมีความสุข เกาะสีชัง กับแนวคิดทำธุรกิจให้มีขยะน้อยที่สุด

เราไม่สามารถลดขยะให้เป็นศูนย์ได้ แต่สามารถลดให้น้อยลงได้ แค่ลองตั้ง Mindset ค่อยๆ ลงมือทำไปทีละนิด ไม่ว่าใครก็ทำได้ เหมือนกับ “บ้านอยู่ดีมีความสุข” ที่พักเล็กน่ารักบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ที่เริ่มต้นทำจากจุดเล็กๆ ไปทีละอย่าง

บ้านๆ น่านๆ ตำนานที่พัก+ห้องสมุด รายแรกของไทย ใช้สิ่งที่รักต่อยอดธุรกิจโตกว่าทศวรรษ

เพราะความรู้ ความบันเทิง ความรื่นรมย์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ แต่มันอยู่ในชีวิตเราทุกรูปแบบ นี่คือ เหตุผลที่ทำให้ "ชโลมใจ ชยพันธนาการ" (ครูต้อม) อดีตครูสอนวิชาภาษาไทยผันตัวมาเป็นเจ้าของที่พัก “บ้านๆ น่านๆ” ที่มีจุดขาย คือ มีห้องสมุดไว้สำหรับหนอนหนังสือเป็นรายแรกของไทย