รู้จักมันญี่ปุ่น ทำไมถึงฮิตจัง ทำยอดขายพุ่งจริงในบ้านเรา

TEXT : กองบรรณาธิการ

 

     หน้าหนาวอย่างนี้ได้กินอะไรร้อนๆ อย่างมันเผาสักลูกก็น่าจะดี ซึ่งหากพูดถึงมันเผาที่อร่อยแล้วละก็ต้องนึกถึงมันเผาญี่ปุ่นแน่นอน เพราะมีรสชาติหวานอร่อย เนื้อเนียนนุ่มละมุนลิ้น ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคชาวไทยชื่นชอบมากทีเดียว เรียกว่าหากพูดถึงมันเผา ก็ต้องนึกถึงมันเทศญี่ปุ่นหรือมันหวานญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มเห็นนิยมบริโภคกันมา 5 - 6 ปีก่อนเห็นจะได้

     โดยความนิยมในการบริโภคดังกล่าวนี้ ไม่ได้พูดกันขึ้นมาแค่ลอยๆ จากการสังเกตเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจริงที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองก็รับรู้ได้ โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เพจ “ภาษาญี่ปุ่นหัดเดิน” ได้มีการรายงานว่าสำนักข่าวญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอว่า มันหวานญี่ปุ่นทำไมนิยมในเมืองไทย แม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ไทยยังแนะนำ’ วันนี้ลองมาไล่เรียงย้อนรอยดูกันหน่อยสิว่า จริงๆ แล้วมันหวานญี่ปุ่นกลายเป็นกระแสฮิตขึ้นมาในไทยไปได้ยังไง ซึ่งหากจะว่าไปก็ไม่ถือเป็นการเสียสมดุลนะ เพราะคนญี่ปุ่นเองก็ชอบกินผักชีไทยมากเหมือนกัน!

เริ่มต้นจากคนไทยชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น

     หากจะหาสาเหตุว่าเพราะเหตุในมันญี่ปุ่นถึงเป็นกระแสฮิตขึ้นมาในบ้านเราได้ ถ้าจะให้ลองสันนิษฐานน่าจะมาจากในยุคหนึ่งที่คนไทยเองมีการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศญี่ปุ่นกันมาก จึงมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อยจากมันเผาญี่ปุ่นเข้าและรู้สึกได้ถึงความแตกต่างจากมันเทศในบ้านเรา อีกทั้งร้านขายมันเผาในญี่ปุ่นเองก็มีให้พบเห็นได้ทั่วไปจนเป็นเรื่องปกติไม่ว่าในร้านอาหารหรือร้านรถเข็นริมทางที่เรียกว่า “Yaki Imo” หรือรถเข็นขายมันเผา จึงทำให้เกิดการบอกต่อว่าหากใครไปญี่ปุ่นแล้วอย่าลืมไปลองชิมมันเผาญี่ปุ่นให้ได้ จนนำมาสู่การนำเข้ามาขายในประเทศ และกระจายความนิยมไปยังร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่ในห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงรถเข็นริมทาง

    โดยในปี 2559 จากกระแสความนิยมมันญี่ปุ่นเริ่มเข้ามา จึงทำให้เกิดแฟรนไชส์มันหวานญี่ปุ่นขึ้นครั้งแรกในไทย มีชื่อว่า .”OIMO” (โออิโมะ) เจ้าของผู้ผลิต คือ บริษัท บางกอก ฟู้ด ซิสเต็ม จำกัด โดยเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้จากประเทศญี่ปุ่นและส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงมันหวานญี่ปุ่นด้วย เมื่อเห็นกระแสความนิยมดังกล่าวเกิดขึ้น จึงได้ต่อยอดเปิดเป็นแฟรนไชส์ร้านขายมันญี่ปุ่นเผาและแปรรูปเป็นเมนูอื่นขึ้นครั้งแรกในไทย

โควิดยิ่งทำให้ยอดขายพุ่ง

     โดยจากการรายงานของเพจภาษาญี่ปุ่นหัดเดิน ที่ได้นำเสนอข่าวความนิยมบริโภคมันญี่ปุ่นในไทยพบว่านอกจากเป็นอาหารยอดฮิตของคนญี่ปุ่นเองแล้วในช่วงฤดูหนาว ยังเป็นสินค้าส่งออกขายดีในต่างประเทศด้วย โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่แคนาดาและไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยมีการนิยมบริโภคกันมาก

     ซึ่งเกษตรกรรายหนึ่งในญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงโควิด-19 ระบาดนี้ ทำให้ยอดขายมันของเขาขายดีขึ้นจากเดิมถึง 15 เท่า และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะขายได้มากถึง 30 เท่า จากเนื้อหาในข่าวมีการรายงานเพิ่มว่าได้มีการเดินทางมาสำรวจตลาดในเมืองไทยจากนักข่าวญี่ปุ่นด้วย โดยพบว่ามีการจำหน่ายมากในห้างสรรพสินค้าและริมทางทั่วไป โดยจำหน่ายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 13,000 เยน หรือราว 400 บาท และนอกจากนี้องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ยังมีการจ้างอินฟลูเอ็นเซอร์ไทยให้มาทำคลิปแนะนำการทำอาหารจากมันหวานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย

     สอดคล้องกับข้อมูลเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่ทางเจโทร กรุงเทพฯ ได้มีการร่วมมือกับคาเฟ่และร้านขนมแบรนด์ดังในไทยจัดแคมเปญ Fruitful Japan ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์เสน่ห์ผลไม้ญี่ปุ่นเพื่อนำมาใช้ผสมผสานกับวัตถุดิบท้องถิ่นในไทย ก็ยิ่งเป็นการการันตีให้เห็นว่าความนิยมบริโภคมันญี่ปุ่นในไทยยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคชาวไทยแบบแรงดีไม่มีตก

อัพมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรไทย

     จากความฮอตฮิตของมันหวานญี่ปุ่น ทำให้จากที่เคยนำเข้ามาจำนวนมาก ก็เริ่มมีการพัฒนาการเพาะปลูกขึ้นในเมืองไทย โดยมีเกษตรกรไทยในหลายจังหวัดเริ่มมีการนำมันหวานญี่ปุ่นมาปลูก โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขายได้ราคาดีกว่ามันเทศไทยหลายเท่า รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ ทำให้หลายคนจากที่ปลูกเป็นอาชีพเสริมก็ลาออกจากงานเพื่อปลูกเป็นอาชีพจริงจังขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันมีการนิยมปลูกกันในหลายจังหวัด อาทิ เลย, มุกดาหาร, นครราชสีมา เป็นต้น

     โดยหากลองเปรียบเทียบราคามันเทศญี่ปุ่นกับมันเทศไทยพบว่าขายได้ราคาดีกว่า 2 - 3 เท่าทีเดียว โดยจากข้อมูลของตลาดไทย ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2546 พบว่าราคามันเทศไทยขายอยู่ที่ราคา 17 - 26 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนมันเทศญี่ปุ่นราคา 60 - 70 บาทต่อกิโลกรัม แต่จากการสืบคันข้อมูลเพิ่มเติมบนอินเตอร์เน็ตพบว่าหากเป็นมันเทศญี่ปุ่นที่นำเข้ามาจะมีราคาสูงถึง 400 บาทต่อกิโลกรัมทีเดียว จึงสรุปได้ว่ามันญี่ปุ่นที่จำหน่ายในไทยนั้น ปัจจุบันมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ นำเข้าจากต่างประเทศ และจากเกษตรกรไทยที่นำมาขยายพันธุ์เพาะปลูกเอง และนอกจากขายเป็นผลผลิตแล้ว ยังมีการต่อยอดจำหน่ายเฉพาะยอดมันชนิดต่างๆ เพื่อให้นำไปเพาะปลูกขยายพันธุ์ต่อด้วย

ของขึ้นชื่อจากญี่ปุ่น แต่ไม่ได้มีต้นเกิดจากญี่ปุ่น

     จากที่หลายคนเรียกว่ามันหวานญี่ปุ่น รู้ไหมว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่สายพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่มีให้เลือกหลายสายพันธุ์ทีเดียว แต่ก่อนจะไปแนะนำให้รู้จักกับสายพันธุ์ต่างๆ ที่โดดเด่น ขอเกริ่นประวัติให้ทราบก่อนว่าจริงๆ แล้วถึงแม้จะเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างชื่อเสียงให้รู้จักในหลายประเทศ แต่แท้จริงแล้วกลับมีต้นกำเนิดมาจากเม็กซิโกและอเมริกากลาง โดยผู้นำเข้ามา คือ เหล่าพ่อค้าต่างแดนที่เข้ามาทำการค้าขายกับคนญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 18 ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาจากการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ทำให้เจ้าเมืองมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ปลูกมันหวานเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะนอกจากจะปลูกง่ายแม้ดินคุณภาพต่ำ ยังเป็นพืชผลเกษตรที่ให้พลังงานดีด้วย ทำให้นับจากนั้นมาคนญี่ปุ่นก็เริ่มหันมาบริโภคมันหวานกันมากขึ้น กระทั่งราวศตวรรษที่ 21 ได้มีการต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น จึงทำให้กลายเป็นที่ครองใจคนญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้

     โดยมันหวานญี่ปุ่นมีหลากหลายสายพันธุ์ให้เลือก มีทั้งมันม่วง มันส้ม และมันเหลือง โดยแต่ละสีก็มีการแยกสายพันธุ์ออกมาอีก ซึ่งนอกจากใช้สีเป็นตัวแบ่งแยกสายพันธุ์แล้ว ยังมีการแบ่งตามรสสัมผัสหลังจากนำไปเผาแล้วด้วย เช่น Hoku-Hoku (โฮคุ-โฮคุ) หมายถึง รสสัมผัสที่นุ่มฟู แต่ไม่ฉ่ำ เนื้อคล้ายกับไส้ขนมเปี๊ยะถั่วเหลือง, Shittori (ชิตโตะริ) - รสสัมผัสนุ่มแบบเนื้อครีม และNettori (เนตโตะริ) - รสสัมผัสแบบนุ่มเหนียวหนึบ

ตัวอย่างสายพันธุ์ยอดนิยม ได้แก่

Beni Haruka มีต้นกำเนิดจากจังหวัดคาโกะชิมาในเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยน่าจะเป็นพันธุ์ที่คนไทยนิยมและรู้จักดีที่สุดแล้ว ลักษณะเด่น คือ เปลือกหรือผิวจะมีสีแดงม่วง ส่วนเนื้อด้านในจะมีสีเหลืองออกขาว เนื้อจะเนียนนุ่ม

Anno Imo เป็นมันสีส้มที่ขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย โดยให้รสสัมผัสนุ่มแบบเนื้อครีม มีให้ความหวานสูง โดยสีของเนื้อจะมีความคล้ายกับสีส้มแครอท

Silk sweet เป็นสายพันธุ์ใหม่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน โดยผิวเปลือกจะไม่เรียบ เป็นริ้วๆ หัวจะสั้น ทรงวงรี ส่วนเนื้อมันจะมีสีเหลืองอ่อน ให้ความหวานสูง เนื้อสัมผัสนุ่มราวกับไหม กินแล้วให้ความฉ่ำแทบละลายในปากได้เลย

Okinawa Beni-imo หรือม่วงโอกินาว่า เนื้อมันจะมีสีม่วงเข้ม รสหวานกำลังพอดี ถือเป็นสายพันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกในไทยค่อนข้างมาก

Okinawa-Kugani-Imo หรือส้มโอกินาว่า นับเป็นอีกมันญี่ปุ่นที่สามารถเพาะปลูกได้ง่ายที่สุดในบรรดามันญี่ปุ่นทั้งหมด และให้หัวเร็วเพียง 90 วัน ลักษณะเนื้อจะมีสีส้มเข้ม หวานปานกลาง นิยมนำไปทำเป็นมันนึ่ง หรือทำไส้ขนมต่างๆ เป็นอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกมากในเมืองไทยเช่นกัน

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: ENTREPRENEUR

จับตาผลกระทบการค้าชายแดนไทย เส้นทางธุรกิจแม่สอดเปลี่ยนเป็นสนามรบ

กับสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาใกล้ชายแดนไทยยังคงร้อนระอุนับตั้งแต่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังปกป้องประชาชน PDF “เข้ายึดฐานปฏิบัติการ 275 ในเมียวดี” ส่งผลต่อกระทบเส้นทาง “แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC)” ของไทย

ทำธุรกิจซัก-รีด ยังไงให้มีรายได้สาขาละแสน ล้วงความลับกับเจ้าของแบรนด์ ตั้งใจซัก

หนึ่งในธุรกิจที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “เสือนอนกิน” นั้นต้องมีธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญติดในลิสต์เป็นอันดับต้นๆ ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตเป็นพิเศษโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่สนใจเปิดธุรกิจนี้มากมาย แต่ถึงแม้จะเป็นธุรกิจเสือนอนกิน ใช่ว่าทุกคนจะเป็นเสือที่ได้กินธุรกิจนี้ง่ายๆ

Erabica Coffee ผู้ปักหมุด กาแฟน่าน ให้เป็นที่รู้จักระดับประเทศ

นี่คือสองสามีภรรยา ที่อยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่น่าน คิดสร้างแบรนด์กาแฟของตัวเองขึ้นมาในชื่อ Erabica (เอราบิก้า) กลายเป็นการยกระดับกาแฟน่านเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น