นอกจากตัวสินค้าที่ต้องมีคุณภาพดีแล้ว บรรจุภัณฑ์ถือเป็นอีกสิ่งสำคัญของผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อกระจายสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางถึงมือผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัย มีคุณภาพ และสะดวกต่อการใช้งาน ยังไม่นับถึงการทำการตลาดช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วย แต่เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการอีกมากที่ขาดความรู้และเข้าใจกับการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสมกับต้นทุนธุรกิจของตัวเอง วันนี้จึงมีข้อแนะนำดีๆ มาฝากกัน
ก่อนเลือกบรรจุภัณฑ์ ต้องรู้อะไรบ้าง
โดยก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สักตัวหนึ่งให้เหมาะสมกับประเภทของอาหาร เราควรพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- ลักษณะของสินค้า เป็นอาหารสด หรืออาหารแปรรูป
- รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่มีต้นทุนที่เหมาะสมกับราคา
- ความสามารถในการเก็บรักษาคุณภาพของอาหารได้ตามอายุการเก็บรักษา (Shelf Life)
- เทคนิคที่ใช้ในการบรรจุ
- การขนส่งและการจัดเก็บ
- ช่องทางการจัดจำหน่าย เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต, ตลาดสด, ออนไลน์ เป็นต้น
ข้อดี - ข้อควรระวังบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิด
โดยวัสดุที่นำมาใช้ทำบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดนั้นมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ลองมาดูข้อดีและข้อความระวังกัน
พลาสติก
ข้อดี : น้ำหนักเบา มีความคงทนและยืดหยุ่นสูง ป้องกันการซึมผ่านของน้ำและอากาศได้
ข้อควรระวัง : ตรวจสอบคุณสมบัติและความเหมาะสมในการบรรจุอาหารแต่ละชนิดในรูปแบบทั้งร้อนและเย็น ไปจนถึงประสิทธิภาพความแข็งแรงของพลาสติกแต่ละประเภท
กระดาษ
ข้อดี : เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม น้ำหนักเบา อยู่ในความสนใจของผู้บริโภค
ข้อควรระวัง : ประสิทธิภาพการกันน้ำ น้ำมัน และอากาศยังไม่ดีมากนัก อาจต้องใช้การเคลือบด้วยไขหรือพลาสติกมาช่วย ควรคำนึงถึงความปลอดภัยการเลือกใช้กระดาษแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับประเภทของอาหารที่ต้องการนำมาบรรจุ
โฟม
ข้อดี : ใช้งานง่าย สะดวก ราคาถูก
ข้อควรระวัง : ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จึงควรใช้อย่างจำเป็น และไม่ทนต่อความร้อน อาจทำให้เกิดสารปนเปื้อนได้หากนำมาใช้บรรจุอาหารที่มีความร้อน
วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง
ข้อดี : หาได้ง่าย เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ช่วยสร้างภาพลักษณ์และมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ได้
ข้อควรระวัง : ไม่คงทน การป้องกันซึมผ่านของน้ำและอากาศได้ยังไม่ดีพอ เหมาะกับอาหารบางประเภท
กระป๋องเหล็ก อะลูมิเนียม
ข้อดี : คงทน ส่งเสริมภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ดูดีแตกต่าง น่าสนใจ ป้องกันซึมผ่านของน้ำและอากาศได้ดี
ข้อควรระวัง : ราคาสูง จึงอาจต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับต้นทุนสินค้า และอายุการเก็บรักษา ไปจนถึงมีน้ำหนักมาก ต้องคำนวณความคุ้มทุนในการขนส่งให้ดีๆ
การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดสำหรับอาหารแต่ละประเภท
หลังจากพิจารณาตามปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ลองเปรียบเทียบหาความเหมาะสมจากอาหารแต่ละชนิดกับประเภทบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ใส่กัน โดยในที่นี้ขอเน้นไปที่กลุ่มอาหารแปรรูปเป็นหลัก
อาหารอบแห้ง
- ซองพลาสติก PE : ราคาถูก ปิดผนึกด้วยความร้อนได้ง่าย ไม่สามารถป้องกันความชื้น
- ซองพลาสติก PP : ป้องกันความชื้นได้ดี แต่ปิดผนึกยากกว่าฟิล์ม PE เนื้อพลาสติกใสมองเห็นสินค้าด้านในได้ชัดเจน
- กระดาษแก้ว (เซลโลเฟลน) : ป้องกันความชื้นได้ระดับหนึ่ง มักนิยมใช้ห่อปิดปลาย (Twist Wrap)
- กระป๋องพลาสติกใส : เห็นสินค้าได้รอบตัว แต่ควรปิดฝาด้วยเทปให้สนิทเพื่อป้องกันอากาศเข้า
- ถาดพลาสติกใสแบบกาบหอย (Clam Shell) : ควรปิดฝาด้วยความร้อน หรือใช้เทปใสปิดสนิทให้รอบถาด เพื่อปัองกันอากาศเข้า
- กระป๋องโลหะ : สามารถสร้างจุดเด่นที่ดีให้แก่สินค้าและแปลกใหม่ แต่มีมูลค่าสูง
- กระป๋องกระดาษ : คุณสมบัติคล้ายกับกระป๋องโลหะ แต่พิมพ์สวยงามได้ง่ายกว่า น้ำหนักเบากว่า
- ถุงฟิล์มพลาสติกหลายชั้น : มีให้เลือกทั้งแบบมีก้นวางตั้งได้ อาจแบบมีซิปล็อก เป็นบรรจุภัณฑ์รูปลักษณ์ใหม่ ง่าย สะดวกในการบริโภค รวมถึงสามารถใช้เทคนิคระบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น ระบบสุญญากาศ การเติมแก๊สได้ ซึ่งจะช่วยยืดอายุอาหารเก็บได้นานยิ่งขึ้น
อาหารหมักดอง
- กระป๋องโลหะ : เหมาะกับอาหารที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ มีขนาดมาตรฐานจัดหาเองได้ง่าย ไม่เหมาะกับอาหารที่มีความเป็นกรดสูง เพราะอาจกร่อนแล็กเกอร์ที่เคลือบด้านในกระป๋องได้
- บรรจุภัณฑ์แก้ว : เหมาะกับอาหารที่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อ โดยจะต้องใช้ฝาปิดสนิท ความใสและคุณสมบัติของแก้วที่มองเห็นสินค้าได้ชัดเจน ทำให้ช่วยเพิ่มคุณค่าของสินค้าได้
- ถุงพลาสติก PE : เหมาะกับการจำหน่ายวันต่อวัน
- ปี๊บ : เหมาะสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ขนส่ง โดยควรพิจารณาสารเคลือบที่เหมาะสม หรืออาจใช้ถุง PE อย่างหนาเป็นบรรจุภัณฑ์ชั้นในอีกทีด้วย
- ถุงต้มได้ (Retort Pouch) : โครงสร้างพื้นฐานเป็นฟิล์มเคลือบของ PET เคลือบกับเปลวอะลูมิเนียมและ CPP สามารถฆ่าเชื้อสินค้าพร้อมถุงได้ ถุงอาจมีราคาแพงแต่จะช่วยลดค่าขนส่งและช่วยถนอมคุณค่าอาหารได้ดีกว่าอาหารกระป๋อง
อาหารที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง
- ขวดแก้ว : มีขนาดขวดมาตรฐานจากผู้ผลิต ควรเลือกฝาที่มีคุณภาพสูง ทนอุณหภูมิฆ่าเชื้อได้
- กระป๋อง หรือ ซองพลาสติกทนความร้อนสูง (Retort Pouch) : มีขนาดมาตรฐานและฆ่าเชื้อได้ง่าย ถุงฟิล์มเคลือบหลายชั้นมีศักยภาพสูง
- ถุงพลาสติกในกล่องกระดาษลูกฟูก (Bag in Box) : พิจารณาใช้พลาสติกที่ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้ เช่น CPP สามารถลดต้นทุนขนส่งได้
เครื่องเทศและผงปรุงรส
- ขวดแก้ว : เก็บกลิ่นได้ดี อากาศผ่านได้ยาก สร้างภาพลักษณ์สินค้าให้ดูดี มีราคา
- ขวดพลาสติก : น้ำหนักเบา ควรเลือกพลาสติกที่มีความหนาแน่นสูง เช่น HDPE, PET เพื่อป้องกันกลิ่นซึม
- ถุงเคลือบหลายชั้นจากอะลูมิเนียม : สามารถเก็บรักษากลิ่นและป้องกันความชื้นได้ดี
ขนมเบเกอรี่และขนมหวาน
- กล่องกระดาษแป้ง : ราคาถูก สามารถพิมพ์ตกแต่งลวดลายได้หลากหลาย
- ถาดพลาสติกใสแบบกาบหอย (Clam Shell) : สามารถมองเห็นสินค้าด้านในได้ชัดเจน ถ้าใช้พลาสติกที่มีอัตราการซึมผ่านของก๊าซน้อย สามารถใช้เทคนิคระบบบรรจุภัณฑ์สมัยใหม่ เช่น การปรับสภาวะโดยการฉีดก๊าซเฉื่อย (ไนโตรเจนหรือคาร์บอนได้ออกไซด์) เพื่อยืดอายุอาหาร แต่ตัวฝาต้องปิดสนิทด้วยความร้อนได้
- ถาดพลาสติกหรือกระดาษที่ปิดฝาด้วยความร้อนบนแผ่นฟิล์ม : ราคาถูกกว่า แต่ต้องคัดเลือกประเภทของพลาสติกให้เหมาะกับสินค้า
- ถาดอะลูมิเนียมพร้อมฝา (อะลูมิเนียม, พลาสติก, กระดาษเคลือบพลาสติก) : มีราคาสูง แต่สามารถปกป้องรักษาคุณภาพสินค้าไว้ได้นาน เหมาะสำหรับแช่เย็นหรือแช่แข็ง
นมหรือไอศกรีม
- ถ้วยหรือขวดพลาสติกปิดฝาด้วยกระดาษหรือฟิล์ม : ราคาถูก แต่เก็บได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์
- ซองเคลือบหลายชั้น (Laminated Film) : ควรมีชั้นที่ป้องกันแสง UV เพื่อยืดอายุสินค้า
- กล่องเคลือบหลายชั้นดัวยกระดาษแข็งที่ใช้กับระบบฆ่าเชื้อ UHT : มีราคาสูง เพราะเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตสูง แต่สามารถถนอมรักษาอาหารได้นาน
จะเห็นได้ว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทก็มีคุณลักษณะ และความเหมาะสมในการบรรจุอาหารแต่ละประเภทที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงมีนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่ๆ ผลิตออกมาให้เลือกใช้มากมาย ดังนั้นนอกจากการปกป้องสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการแข่งขันทางการตลาด ราคาสินค้าที่จำหน่าย ไปจนถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างตรงจุด เพื่อสร้างแต้มต่อการแข่งขันให้ธุรกิจนั่นเอง
ที่มา : DIP
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี